พลาสติก (๑๐) : ตัวดูดน้ำ

อ่าน: 2795

เคยมีข้อปรึกษามาว่า จะมีวิธีทำลายผ้าอนามัยสำเร็จรูปที่ผู้คนนำมาใช้ ดูแลคนป่วยได้อย่างไรโดยไม่เผา โจทย์นี้ทำให้ถกเถียงเรื่องประเภทขยะจะจัดเป็นพวกไหนถูกต้อง ตอนนั้นไม่นึกว่ามันเป็นพลาสติกหรอก

วันนี้เมื่อรู้ว่ามันเป็นพลาสติกก็เหมือนเปิดโจทย์ใหม่ให้ ยิ่งมารู้ว่าวัสดุที่ใช้มีเจ้าตัวดูดน้ำ ของเล่นที่เคยทำร้ายเด็กเมื่อกว่า ๒๕ ปีที่แล้วอยู่ด้วย ยิ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่ทำให้อึ้ง เพราะเจ้าตัวนี้มันไม่สามารถย่อยได้

เพิ่งได้เฉลยว่าที่ย่อยไม่ได้เพราะมันเป็น Polymers gel  ชื่อเต็มๆ  Sodium polyacrylate  หรือ acrylic sodium salt polymer

มีความสามารถในการดูดซับน้ำอย่างยิ่งยวด (Absolute Absorbent Polymer) สามารถดูดซับน้ำได้ถึง ๘๐๐ เท่าของน้ำหนัก มันจึงเพิ่มขนาดได้เมื่อมีน้ำ และลดขนาดได้เมื่อน้ำระเหยไป

หน้าตาของเล่นที่อยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นรูปสัตว์

คุณสมบัติของมันมองมุมแปลกน่าสนุก จึงยังมีคนหัวใสนำไปผสมในของเล่นพลาสติก แล้วปล่อยออกมาเป็นของเล่นเด็กหน้าตาต่างๆที่แช่น้ำแล้วขยายขนาดได้ หรือไม่เปียกน้ำ

อันตรายของของเล่นแบบนี้อยู่ที่ หากเด็กไม่รู้กลืนลงท้องไป การขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า ๕ เท่า จะทำให้เกิดปัญหาทางเดินอาหารอุดตัน ลำไส้ทะลุได้ เอาออกได้ต้องผ่าตัดเท่านั้น แก้ไม่ทันเด็กก็ไม่รอด

เกิดหลุดรอดลงไปในหลอดลม ไม่ต้องรอให้มันขยายตัวเต็มที่หรอก เสียชีวิตได้เลย เพราะหายใจไม่ออก

คุณครูทั้งหลายเท่ากับช่วยฉีดวัคซีนความรู้ให้เด็กๆช่วยดูแลกัน ถ้าได้สอนเด็กๆ ให้รู้จักโทษใกล้ตัวด้วยเมื่อชวนเรียนเรื่องพลาสติก

ซ้าย - น้ำตานางเงือก หรือ เซเวนคัลเลอร์ คริสตัลบอล เป็นชื่อที่เรียกกันในวงเด็กๆ  ขวา - เจลใส่ตู้ปลา

ถ้าใครเจอมันอยู่ในท้องตลาดที่ไหน แจ้งข่าวได้ที่ สคบ. สายด่วน ๑๑๖๖ หรือกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก โทร. ๐-๒๑๔๓-๐๓๘๗-๘ ได้ เพื่อช่วยกันป้องกันภัยให้เด็กๆจากความไม่รู้ไม่ว่าของใคร

โทษทางกม.กรณีจำหน่ายก็เบาหน่อย นำเข้ามาก็หนักกว่า ๑๐ เท่าในด้านค่าปรับ เริ่มที่ ๕๐,๐๐๐ บาท โทษหนักจำคุก สำหรับผู้จำหน่ายไม่เกิน ๖ เดือน ผู้นำเข้า ๕ ปี

ความสามารถดูดซับน้ำของมัน ก็มีคนหัวใสนำไปผลิตดินวิทยาศาสตร์มาใช้ปลูกต้นไม้ หาดูได้ไม่ยากที่มุมร้านขายต้นไม้ในศูนย์การค้า ดินนี้มีวางขายคิดราคาเป็นกิโลกรัม มีคนนำไปประยุกต์ใช้ในสวนเกษตรขนาดใหญ่แล้วด้วย สวนป่าก็เป็นที่หนึ่งที่นำไปใช้

เจ้าตัวดูดน้ำนี้เพิ่งมีการเผยแพร่ให้รู้จักเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ มาจากการเอา sodium acrylate และ acrylic acid มาผสมกันเป็นโพลีเมอร์

มันช่วยรักษาความคงตัว เพิ่มความหนืด  รีดน้ำที่เจือปน และเสริมคุณสมบัติให้ใช้ง่ายเมื่อเปียกน้ำ อุตสาหกรรมสบู่ ผงซักฟอกจึงใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ด้วย  ไม่แปลกใจแล้วว่าผงซักฟอกเป็นญาติกับพลาสติกได้ยังไง

พลาสติกที่ประกอบอยู่ในผ้าอนามัยสำเร็จรูป เรียง PE ไว้นอกสุดกันน้ำรั่ว เจ้าตัวดูดอยู่กลางไว้ดูดน้ำ โดยฉาบมันไว้บนกระดาษ PP อยู่ในสุดกันผ้าอนามัยเปียก

เมื่อย่าของลูกเมตตาลูกหลาน ยอมใช้ผ้าอนามัยสำเร็จรูป ท่านใช้มันไปไม่เกิน ๒ แผ่นต่อวัน ตรงท่านช่วยสอนว่า เจ้านี่ ๑ แผ่น ซับน้ำได้วันละราว ๕๐๐ ซีซี  เห็นชัดเรื่องฤทธิ์ซับน้ำเนอะ (คนเราปล่อยปัสสาวะต่อวันราว ๑ ลิตรต่อคนต่อวัน)

ไม่แปลกใจแล้วที่ฟังมาว่า ในตัวกรองน้ำมันในถังน้ำมันเครื่องยนต์ พลาสติกหุ้มสายต่างๆ มีเจ้าตัวดูดน้ำด้วย

ได้เรื่องว่าถ้าไม่เผา จะประหยัดเชื้อเพลิงเผา แถมมาด้วยความเสี่ยงมะเร็งที่ลดลงของคนงานเผาขยะ  ๒ เด้งนี้คุ้มแล้วกับการจัดการเล็กๆ เรื่องพลาสติกในผลิตภัณฑ์ที่ปรึกษา

« « Prev : พลาสติก (๙) : ของเล่น

Next : พลาสติก (๑๑) : ดินวิทยาศาสตร์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "พลาสติก (๑๐) : ตัวดูดน้ำ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.42793893814087 sec
Sidebar: 1.3805351257324 sec