พลาสติก (๑๑) : ดินวิทยาศาสตร์
การตอบโจทย์ไม่เผา เป็นแค่การแก้ปัญหาระหว่างทางของการจัดการกับขยะผ้าอนามัยสำเร็จรูป ไม่เผาแล้วจะทิ้งอย่างไรยังไม่มีคำตอบ
เดิมไ้ด้คำตอบแล้วว่า การจัดการที่ยอมรับสำหรับ PE , PP คือ ฝังกลบ หรือไม่ก็นำไปรีไซเคิล แต่เจ้าตัวดูดอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี ตรงนี้ทำให้ต้องการรู้จักเจ้าตัวดูดให้มากกว่านี้
ไปเจอเพิ่มว่า สารอุ้มน้ำ (High water absorbing polymer) อย่างเจ้าตัวดูด มาจากการผสม polymer กับ สารหลายตัว โดยอาศัยความสัมพันธ์ของธาตุ ๔ ตัวที่จะเกาะเกี่ยวกัน คือ ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟลูออรีน
สารที่เกิดขึ้นใหม่มีคุณสมบัติต่างกันในเรื่องการอุ้มน้ำ บางชนิดดูดน้ำบริสุทธิ์ได้ประมาณ ๒๐๐-๔๐๐ เท่าของน้ำหนักแห้งของตัวสาร บางชนิดดูดน้ำเร็ว บางชนิดดูดน้ำแล้วอุ้มน้ำไว้แน่น บางชนิดอุ้มไม่แน่น บางชนิดคงรูปร่าง บางชนิดดูดน้ำได้น้อยลงถ้าเป็นน้ำประปา
ผ้าอ้อมเด็กหรือผ้าอนามัย ใช้ polyacrylate สารนี้ดูดน้ำเร็วและเก็บน้ำไว้ในตัวของสาร น้ำที่ถูกดูดจึงไม่ซึมออกไป
เจ้าตัวดูดน้ำใช้ ไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (vinylacetate-ethylene copolymer) รูปร่างจึงไม่เปลี่ยนเมื่อแห้งลง ใช้ polyacrylamide ดูดน้ำเข้าตัวช้าๆ ขนาดจึงค่อยๆโต
มีการอุ้มน้ำและไม่ปล่อยออก ทำให้บางตัวมีผลเหมือนดินเหนียวที่อุ้มน้ำไว้แน่นจนพืชใช้ยาก มุมนี้ทำให้นึกถึงดินที่จะเลือกเป็นที่ฝังกลบมากทีเดียว ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าขุดหลุมฝัง
ในดินทรายหรือดินเนื้อหยาบที่มีน้ำไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ถ้าน้ำถูกดูดไว้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพืช แต่ถ้าน้ำถูกอุ้มไว้แน่น พืชก็ไม่สามารถเอาน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่ต้องนึกถึงผลกระทบเวลาจะเลือกที่ฝัง
อย่างนี้จะทิ้งผ้าอ้อมอนามัยไปให้เทศบาลฝังกลบก็ไม่น่าจะดีนัก ไม่รู้จะสร้างผลกระทบให้ต้นไม้แถวนั้นๆหรือเปล่า ยิ่งรู้ว่ามันอยู่ในดินได้ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี แต่ไม่รู้ว่าสลายเมื่อไร และ PE,PP ใช้เวลาสลายเกือบ ๕๐๐ ปี ก็ยิ่งต้องทบทวนวิธีจัดการซะใหม่
มีคนให้ทางออกว่าถ้าเอา polyacrylamides มาผสมด้วย เพราะดูดน้ำไม่เร็วเหมือน polyacrylate น้ำที่ดูดไว้จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ พืชจะดูดน้ำไปใช้ได้ เพราะแรงดูดน้ำของรากพืชแรงกว่าแรงดูดน้ำไว้กับตัวของมัน ทำให้น้ำที่มันดูดไว้แห้งลงไปอยู่ใกล้รากต้นไม้ เวลาหน้าฝนก็ใช้มันอุ้มน้ำแทนดินได้
ในวงวิชาการเกษตรก็มีหลัก ถ้าให้โพลีเมอร์ดูดน้ำไว้จนมีน้ำหนักเกินกว่า ๔๐๐ เท่าของน้ำหนักแห้งหรือมากกว่า แล้วนำดิน ๖ เท่าลงไปคลุก จะได้ดินสำหรับปลูกต้นไม้ที่ประหยัดน้ำ ประหยัดแรงงาน ประหยัดพลังงาน และประหยัดเวลา
นับว่าเรื่องนี้ช่วยให้เกิดปิ๊งแวบ ได้เรื่องไปลองหาทางออกเพื่อจัดการขยะผ้าอนามัยให้ลงตัวโดยไม่เผาแล้วละ
« « Prev : พลาสติก (๑๐) : ตัวดูดน้ำ
ความคิดเห็นสำหรับ "พลาสติก (๑๑) : ดินวิทยาศาสตร์"