น้ำท่วม(๑๑)
หลังวอร์รูมสลายตัว งานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของรพ.ในวันต่อๆมาก็หลอมรวมเข้ามาสู่ระบบปกติ การพาตัวออกไปในพื้นที่ของภาคสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งที่ทำกันน้อยลงๆ เหลือแต่งานตามผู้ใหญ่เข้าไปเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านความช่วยเหลือ และนำพาผู้ใหญ่ที่ต้องการ มีกิจกรรมในพื้นที่เข้าไปในพื้นที่แค่นั้นเอง
ในช่วงแรกๆที่วอร์รูมสลายตัว ผู้ที่ทำหน้าที่ตามผู้ใหญ่เข้าไปในพื้นที่เขาพนมก็มีแต่เจ้านาย และน้องหมอรองแพทย์ฯ ในเขตเทศบาลก็เป็นลูกน้องในทีมของฉัน
การตามสถานการณ์ทำให้รู้ว่ามีการจัดการเชิงระบบ ในส่วนของความช่วยเหลือระดับจังหวัดขึ้น ส่วนระบบนั้นมีการดำเนินการอย่างไร มีแต่ข้าราชการผู้ปฏิบัติในฝ่ายปกครองที่รับทราบ ใครที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีเครือข่ายก็จะไม่สามารถเข้าถึง รู้กันแต่ว่ามีการจัดกลุ่มผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือ ตามระดับความเดือดร้อน
หลังรับรู้เรื่องราวข้างบนนี้ ฉันก็ไม่ได้ใ่ส่ใจอีกเพราะเห็นด้วยกับการจัดกลุ่มผู้สมควร ได้รับความช่วยเหลือตามระดับความเดือดร้อน และเมื่อให้ลูกน้องติดตามสถานการณ์ในเขตเทศบาล ก็พบว่าผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการดูแลอย่างดีจากเทศบาลอยู่แล้ว
การบ้านที่ครูอึ่งส่งมาซึ่งตัดสินใจไว้ว่าจะช่วยถึงตัวคน จึงยังไม่เสร็จลง
วันหนึ่งมีโทรศัพท์จากน้องชวาลนุช ศิษย์วงน้ำชาที่บังเอิญได้รู้จักกันในกิจกรรมที่อสม.จัดขึ้น เธอติดต่อมาเพื่อเชื่อมโยงให้ได้คุยกับใครคนหนึ่ง ซึ่งต้องการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยแบบตรงตัว และตรงโจทย์ของความจำเป็น เธอต้องการตรวจสอบข้อมูลที่เธอมี
เมื่อได้คุยกันจึงรู้ว่าเธอต้องการให้เม็ดเงินที่เธอมี ส่งถึงมือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เธอไม่มั่นใจว่าข้อมูลเธอนั้นเที่ยงตรงเพียงใด เพราะเงื่อนไขของผู้ที่เธอจะช่วย คือ ผู้เดือดร้อนที่ยังไม่มีใครช่วยเลยและไม่มีบ้านอยู่ คนดีคนนี้เรียกตัวเองว่า “ตุ๊กตา”
โชคดีที่ลูกน้องคนหนึ่งคุ้นเคยกับพื้นที่เขาพนม จึงไปตามข่าวมาได้ ได้ความมาว่า มีพื้นที่เดียวที่ยังไม่สะเด็ดน้ำเรื่องของที่อยู่อาศัย มีความไม่นิ่งของข้อมูล และมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับการจัดการ พื้นที่ที่ว่านี้ คือ หมู่บ้านคลองแห้ง ตำบลหน้าเขา อ.เขาพนม
แลกเปลี่ยนข้อมูลไปมา ก็มาถึงข้อตัดสินใจตรงกันว่า ไปเห็นของจริงกับตาดีกว่า วันนี้ ฉันและน้องตุ๊กตาจึงได้เข้าไปเขาพนมกันมา ไปแล้วก็พบเรื่องราวที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง
เรื่องแรกที่จะบอกคือ ยังมีผู้ตกค้างจากบัญชีรายชื่อที่รัฐ จะให้ความช่วยเหลือหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งยังคงต้องรวบรวมข้อมูลอยู่ทุกวัน
เรื่องที่ ๒ ก็คือว่า ยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขที่รัฐตั้งอยู่จำนวนกว่า ๑๐ ครัวเรือน และเงื่อนไขที่รัฐตั้ง กำลังเพาะเมล็ดของความขัดแย้งต้นใหม่ขึ้นมาในหมู่บ้านแห่งนี้ ทุกข์ของชาวบ้านยังอยู่อีกยาว ถ้าไม่จัดการความขัดแย้งนี้ซะแต่ต้นลม
เรื่องที่ ๓ ที่ไม่พ้น ขอบอกครูอึ่งว่าการบ้านมีคำตอบแล้ว รายละเอียดจะทำส่งในบันทึกต่อๆไปเน้อ ตามให้คะแนนด้วย
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔
« « Prev : พลาสติก (๑๑) : ดินวิทยาศาสตร์
ความคิดเห็นสำหรับ "น้ำท่วม(๑๑)"