พลาสติก (๔) : มาด้วยกัน

อ่าน: 1666

แม้ว่าคุณสมบัติของพลาสติก ๓ ก๊กจะแยกกันทางกายภาพ แต่คุณสมบัติแก่นจริงๆของสารประกอบก็เหมือนกันอยู่ดี เป็น “ถ่านกับน้ำ”  ดังนั้นจึงแทบไม่เชื่อว่าที่แท้แล้ว พลาสติก ยาง สายสวนทางการแพทย์อย่างเช่น catheter จะเป็นญาติสายเดียวกัน

ที่ว่าแยกก๊าซแล้วได้พลาสติกมีจุดน่าสนใจ จึงไปค้นต่อว่าก๊าซตัวไหนนะที่เป็นญาติสายเดียวกับพลาสติก แล้วได้มาอย่างนี้

แยกน้ำมันดิบแล้วจะได้ก๊าซหลักๆ 4 ชนิด คือ ก๊าซอีเทนและโปรเพน  ก๊าซโซลีนธรรมชาติ ( Natural Gasoline)  ก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม และมีก๊าซลูกหลงคือคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลพลอยได้

ลองไล่เรียงก๊าซแล้วถอยห่างออกมาอีกก้าวก็จะเห็นภาพว่า ในกระบวนการอุตสาหกรรมน้ำมันดิบ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอื่นๆแฝงอยู่ตลอดเส้นทาง

แม้แต่ก๊าซลูกหลงอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ไม่วายไม่เว้นให้คุณค่าเรื่องสร้างรายได้ เมื่อนำไปจัดการต่อให้แห้งและบริสุทธิ์ขึ้น แล้วเก็บบรรจุไว้ในรูปของแข็งและของเหลว ก่อนนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมเพื่อเพิ่มรสซ่า  ใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตเบียร์และเหล้าไวน์เป็นตัวป้องกันไวน์ ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ  ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสดแช่แข็ง ทั้งเนื้อ ปลา สัตว์ปีก ผักสด ผลไม้สด อาหารสำเร็จรูป ใช้ในเครื่องดับเพลิง และอุตสาหกรรมบันเทิง จิปาถะ  ใช้ดับเพลิงเหมาะกับเพลิงที่เกิดจากไฟฟ้า น้ำมัน ผ้า

เกล็ดน้ำแข็งที่เห็นคลุมอาหารแช่แข็งนั่นแหละเกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์  น้ำแข็งแห้ง น้ำยาดับเพลิง หมอกควันบนเวทีแสดง นั่นก็เป็นอีกรูปหนึ่งของก๊าซตัวนี้

ก๊าซอีกตัวที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ คือ ก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม ที่ใช้กันทั่วไปตามบ้านเรือน รถแท๊กซี่ รถยนต์ ซึ่งได้มาจากก๊าซโปรเพนกับบิวเทนผสมกัน ส่วนผสมของทั้ง 2 ก๊าซจะต่างออกไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นกระบวนการใด ถ้าเป็นการกลั่นน้ำมันดิบ ก็จะได้โปรเพน 20%  บิวเทน 80% ถ้าเป็นการแยกก๊าซธรรมชาติ จะได้โปรเพน 60% บิวเทน 40%

เดี๋ยวนี้รัฐบาลพยายามจูงใจให้รถยนต์หันกลับมาใช้ NGV แทนที่ LPG อยู่เย้วๆ

ก๊าซโซลีนธรรมชาติหรือ Natural Gasoline (NGL) หรือก๊าซโซลีนธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งก๊าซที่ได้มา ให้ประโยชน์ทั้งใช้ในประเทศและส่งออก ก๊าซนี้ประกอบด้วยเพนเทนและเฮกเซน กายภาพที่เห็นในอุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศจะเป็นของเหลวใส  ไม่มีสี หนักครึ่งหนึ่งของน้ำ ค่าความถ่วงจำเพาะเท่ากับ 0.66 ไวไฟ และระเหยได้ที่อุณหภูมิสูง

ตัวสุดท้ายในเส้นทางของการแยกก๊าซ ก็เป็นก๊าซอีเทนและโปรเพน มันเป็นตัวเอกของเรื่องพลาสติกตรงที่ ก๊าซอีเทนคือสารตั้งต้นของการผลิตเอทธิลีน  ก๊าซนี้หนักกว่าอากาศ  ความถ่วงจำเพาะ 1.0469

ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีก๊าซอีเทนผสมในสัดส่วน 6-8%  ผ่านกระบวนการแยกก๊าซแล้วจะได้ก๊าซอีเทนที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 95%  นำไปผลิตเป็นก๊าซเอทธิลีน และส่งต่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผลิตต่อเป็นพลาสติก

เครื่องใช้รอบๆตัวเราหลายอย่างเลยนะที่ผลิตจากก๊าซเอทธิลีน บางชนิดเมื่อเอ่ยชื่อขึ้นมาไม่น่าเชื่อเลยว่า นั่นแหละพลาสติก

เส้นใยสังเคราะห์ผลิตเสื้อผ้า เชือก แห อวน พรมปูพื้น สายไฟฟ้า ท่อน้ำ ผงซักฟอก เหล่านี้เป็นพลาสติกนะ ยิ่งตัวสุดท้ายนี้ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นญาติกันได้  อย่าลืมใช้แบบพอเพียงด้วยนะจ๊ะ จะเป็นกุศลช่วยลดโลกร้อน ต่อไปเมื่อสัมผัสสิ่งของเหล่านี้อย่าลืมนึกถึงพลาสติกไว้เน้อ

คุณค่าด้านเศรษฐกิจที่เล่าไว้ข้างบนยังไม่ใช่แค่นั้นนะ  ในยุคที่น้ำมันแพงและเริ่มขาดแคลนซะขนาดนี้ ถ้ากรอเทปม้วนกลับแบบย้อนรอยกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ก็เห็นร่องรอยแนวโน้มว่าขยะพลาสติก จะมีมูลค่าเพิ่มแบบพรวดพราดในอนาคต  ในฐานะแหล่งน้ำมันดิบแห่งสำคัญของโลก ไม่ได้โม้นะ

ใช่แต่ในประเทศญี่ปุ่น อเมริกาที่ลองอยู่ ในขณะนี้ในบ้านเราก็มีองค์กรท้องถิ่นแห่งหนึ่งกำลังลองเชิงอยู่  องค์กรที่ว่านี้คือ เทศบาลเมืองหัวหิน

การลองนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 1 มีนาคม 2553 นับถึงวันนี้ก็ผ่านมาครบปีแล้ว เมื่อใช้ขยะพลาสติก 100 ส่วน ไปลองดู ก็น่าสนใจตรงที่ว่าได้น้ำมันดิบคืนมาตั้ง 60 ส่วน ซึ่งเป็นน้ำมันดิบที่ขายให้โรงกลั่นน้ำมันได้ด้วย (เทศบาลเมืองหัวหินนำน้ำมันนี้ไปขายให้โรงกลั่นบางจาก ในราคาหน้าโรงกลั่นได้ถึงลิตรละ 18 บาท)

ยังมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจในการจัดการขยะพลาสติกอยู่อีกนะ

ที่มาของข้อมูล :

1. http://www.pttplc.com/th/ptt_core.asp?page=ps_pr_fe_ga_01#top

2. http://www.facebook.com/note.php?note_id=198228136857918

« « Prev : พลาสติก (๓) : ต้นเรื่อง

Next : ตั้งใจเผชิญ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 sakura ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 เวลา 17:15

    โอ้โห น่าสนใจมากๆ เลยค่ะ ได้ข่าวว่าตอนนี้ทางเทศบาลวารินชำราบก็ประสบผลสำเร็จในการแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันแล้วด้วยค่ะ มีซุบซิบมาอีกว่าทางทีมงานของเขาใจถึงขนาดเอาน้ำมันที่กลั่นได้ไปเติมรถยนต์ของตัวเองเลยทีเดียว ส่วนที่พิษณุโลกก็กำลังทำการทดลองอยู่เช่นกันค่ะ โดยเทศบาลทั้งสองแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีตัวเดียวกันค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.10783791542053 sec
Sidebar: 0.52364897727966 sec