พลาสติก (๓) : ต้นเรื่อง

โดย สาวตา เมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 เวลา 1:16 ในหมวดหมู่ การจัดการ, จัดการสิ่งแวดล้อม, พลาสติก, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1732

ไม่ใคร่มีเลยที่ตั้งแต่ตื่นนอน ถึงเข้านอน พลาสติกจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ทุกครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาโลกร้อน พลาสติกจึงถูกกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนอยู่เสมอ

เพิ่งรู้นะว่าต้นกำเนิดพลาสติก คือ เซลลูโลส ซึ่งจะได้จากพืช  และน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมาเป็นล้านๆปี

พลาสติกจึงเป็นสารประกอบที่มี “ถ่านกับน้ำ” เป็นแก่นของมัน แล้วคนยุคนี้ก็ไปได้มันมาจากการสกัดน้ำมันดิบ

ในการกลั่นน้ำมันดิบ จะมีสารหลายตัวเกิดขึ้นตามจุดเดือด อะไรมีจุดเดือดต่ำจะออกมาก่อน ตั้งแต่ ก๊าซธรรมชาติ ตัวทำละลาย เบนซิน น้ำมันก๊าด ดีเซล น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเตา ยางมะตอย ถ่านโค้ก รวมๆแล้วแยกสารชนิดต่างออกมาได้ประมาณ 80 ชนิด

จากน้ำมันดิบมาเป็นพลาสติกนั้นอยู่ในขั้นตอนที่เกิดก๊าซ  เมื่อได้ก๊าซจะได้พลาสติกก็ต้องส่งเข้าโรงงานแยกก๊าซ แล้วทำให้ได้มาซึ่ง “ถ่านกับน้ำ” ซึ่งจับกันอยู่และใช้ชื่อว่า ” ไฮโดรคาร์บอน”

แต่ละชนิดของพลาสติกต่างกันตรงจำนวนไฮโดรเจนและคาร์บอน  ยิ่งมีคาร์บอนมาก ไฮโดรเจนมาก ก็ยิ่งมีเนื้อใส ตัวอย่างเช่น ถุงเย็น(ถุงโอเลี้ยง) กับถุงร้อน (ถุงใส่ก๋วยเตี๋ยว)

ถุงเย็นทำจาก ethylene ในแต่ละโมเลกุลของ ethylene จะประกอบด้วย คาร์บอน 2 ตัว ไฮโดรเจน 4 ตัว ถุงเย็นจะมีสีขุ่น

ส่วนถุงร้อน ทำจาก propylene ในแต่ละโมเลกุลของ propylene จะประกอบด้วย คาร์บอน 3 ตัว ไฮโดรเจน 6 ตัว ถุงร้อนจะใสกว่า

สารก่อนเป็นพลาสติกเรียกว่า Monomer หลายๆ Monomer มารวมกันก็เปลี่ยนชื่อเป็น Polymer ซึ่งบางคนนำไปเรียกพลาสติกเพื่อความเก๋

การเข้ามารวมกันของ Monomer จะเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดก็ได้ รูปแบบจัดเรียงเวลามารวมกันต่างแบบกัน มีทั้งเรียงเส้น (linear) แตกกิ่ง (branch) และสานเป็นร่างแห ( Crosslinked) ใช้แยกคุณสมบัติของพลาสติกได้เลย

การเรียงตัวของ Monomer ที่ไม่เหมือนกัน เป็นที่มาของพลาสติกสามก๊กเหล่านี้

ก๊กแรก   หลอมเหลว ไหล เมื่อเจอความร้อน แข็งตัวเมื่อเย็นลง (Thermoplastic)

มีทั้งเรียงเส้น และเรียงกิ่ง  เรียงเส้นแข็งน้อยกว่าเรียงกิ่ง
เป็นพลาสติกที่สามารถนำมา Recycle ได้ไม่รู้จบ พบเห็นได้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน ของใช้ ถังน้ำ กะละมัง เชือก หลอดดูดโอเลี้ยง ขวดแชมพู หลอดยาสีฟัน แปรงสีฟัน ถุงพลาสติก เยอะแยะไปหมด

ก๊กที่ 2.  เจอร้อนเมื่อไรจะแข็งตัว เย็นลงก็ยังเหมือนเดิม  (Thermosets)

เรียงร่างแห (crosslinked) จับยึดกันแน่น ทนความร้อนได้สูง ไม่สามารถนำกลับมา Recycle ได้
ที่เห็นในชีวิตประจำวันได้แก่ หูหม้อ จุกกาต้มน้ำ ลูกล้อยูรีเทน ทีเห็นมากคือจาน ชาม ที่เรียกว่า เมลามีน

ก๊กที่ 3. ยืดได้ที่อุณหภูมิห้องอย่างน้อย 2 เท่า ของความยาวที่มี และหดกลับเหมือนเดิมได้ทันที (Elastomers)

เรียงแบบร่างแหอย่างถาวร เรียกว่า Polyisoprene  นัยหนึ่งก็คือยางธรรมชาตินั่นแหละ ไม่สามารถ Recycle ได้

เดี๋ยวนี้มีอีกก๊กเกิดใหม่ สามารถ Recycle ได้ ชื่อว่า Thermoplastic Elastomers (TPEs) ใช้ทำผลิตภัณฑ์ประเภทseals , Stopper,handles , ส้นรองเท้า

ที่เห็นและใช้อยู่ทุกวันก็นี่เลย ด้ามแปรงสีฟันที่มียางกันลื่นนั่นแหละ ความหนาแน่น  0.85-1.05

ก๊กใหม่นี้ทางการแพทย์ก็มีใช้แล้ว คือพวก catheter

« « Prev : พลาสติก (๒) : หมายเลข

Next : พลาสติก (๔) : มาด้วยกัน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:36

    ตามอ่านเรื่องพลาสติก ไ้ความรู้มาก
    เกรงแต่หัวใจจะเป็นพลาสติก ละ แย่เลย


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.12588691711426 sec
Sidebar: 0.54180002212524 sec