ตามลม(๒) : ชื้นแล้วติดพัดลมไล่ไอน้ำ…จะดีมั๊ยนะ

อ่าน: 1654

ระหว่างรอว่าจะทำยังไงกับคำตอบที่ได้จากการแปลความหมาย “ความชื้นสัมพัทธ์สูง” อีกโจทย์ก็ถูกส่งมาให้ “ขอติดแอร์หน่อยเหอะ มันร้อนจนทำงานไม่ไหว” ตึกที่ปรึกษามาใหม่อยู่ชั้นบนของตึกที่ส่งปัญหาแรกมาปรึกษา

ก็เป็นอะไรที่ปวดขมับอีกรอบ เพราะการตามแกะรอยความรู้เรื่องความชื้นสัมพัทธ์ทำให้ได้พบกับอะไรที่ทำให้สะดุ้งเมื่อนำความรู้มาเชื่อมโยงกัน

เวลารักษาโรคผิวหนัง ก็มักจะเห็นคนไข้มาด้วยง่ามเท้าเป็นเชื้อรา ประวัติที่ให้จะบอกว่าเท้าไม่เคยแห้ง เดี๋ยวแห้งเดี๋ยวเปียก บางทีเท้าก็เข้าไปอยู่ในที่อับเท้าลมเข้าไม่ถึง รองเท้าชื้นๆ

ได้เรื่องให้กระตุกคิดอีกแล้ว  ที่ไหนมีความชื้น ที่นั่นเชื้อโรคชอบ  อย่างนี้ถ้าแก้ปัญหาคราวนี้ได้ดีก็เท่ากับได้ ๒ เด้ง แก้ความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงให้ต่ำ แล้วจะได้แถมการป้องกันคนอีกหลายคนให้ปลอดภัยขึ้นจากเชื้อโรคที่แพร่ในอากาศได้

ทีนี้ก็ต้องมาหาวิธีลดความชื้นสัมพัทธ์แล้วซิ เอาละซิลดยังไงดี  อยู่ดีๆติดพัดลมเป่าเข้าไปไล่ไอน้ำดีมั๊ยนี่ อย่าเพิ่งดีกว่า ลองเอาจานเลี้ยงเชื้อมาลองรับเชื้อไปเพาะดูดีกว่า จะพบมั๊ยเจ้าเชื้อที่กลัวว่าจะแพร่โรคนี่นะ

พอแกะรอยได้เรื่องเชื้อโรคปนเปื้อนได้ในอากาศ เลยตามค้นดูว่ามีอะไรที่ยังไม่รู้อีกมั๊ยเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ไปเจอคำอธิบายมาว่าอย่างนี้

“เมื่อไรความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเกิน ๖๐% เมื่อนั้นจุลชีวทางอากาศจะเติบโตได้ดี จะไม่ให้เชื้อโรคแพร่ก็ต้องคุมให้ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ราวๆ ๔๐- ๖๐% ”

ไชโย ในที่สุดก็ได้คำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญทิ้งไว้ให้แกะรอยเองแล้ว มิน่า จึงให้ข้อมูลไว้แค่ “ความชื้นสัมพัทธ์” เขาเข้าใจว่า พวกเรามีความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรคกับความชื้นสัมพัทธ์นี่เอง

คนเขากลัวเชื้อโรค เขาจึงปรึกษามาให้หาวิธีป้องกันให้หน่อย ได้คำตอบอย่างนี้ไปตอบเขาว่าใช่เลยพื้นที่เขามีโอกาสให้เชื้อโรคโต เขาก็จะยิ่งกลัว เอาอย่างนี้เหอะวางจานเพาะเชื้อพิสูจน์ให้เห็นกับตาจะจะดีกว่า แต่จะวางตรงจุดไหนดีละผลออกมาแล้วจึงไม่เถียงกัน   วางไม่ดีคำตอบสุดท้ายของทีมแก้ปัญหาจะกลายเป็นขอ “สร้างตึกใหม่” ซะเองได้นา ตอนนี้ไร้เครื่องมือวัดความชื้นสัมพัทธ์ด้วยซิ

« « Prev : ตามลม(๑) : ความชื้นเป็นเหตุให้จับงาน

Next : ตามลม(๓) : วัดอุณหภูมิก่อนตัดสินใจ…ดีกว่าน่า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กุมภาพันธ 2011 เวลา 23:15

    อยู่ดีๆ พี่หักมุมไปหาเชื้อโรค กลับตัวไม่ทันครับ ฮาๆๆๆๆ

    http://www.dehumidifiertips.com/

    เครื่องกำจัดความชื้น บางอันเป็นระบบไฟฟ้า บางอันใช้สารเคมี ผมลองค้นๆ ดู อันที่ง่ายที่สุด คือดูดอากาศผ่านทราย(ข้าวสาร)ครับ แต่ทีนี้ ถ้าทรายหนาเกินไป ก็จะดูดลมผ่านได้ยาก (เปลืองไฟพัดลม ไม่มีประสิทธิภาพ) แต่จะลองดูก็ได้นะครับ เมื่อทรายเปียกชื้น ก็เปลี่ยนทรายหรือเอาข้าวสารไปตากแห้ง

    ถ้าจะให้อากาศในห้องปิด หมุนเวียนอย่างเพียงพอ อากาศที่เครื่องพ่นออกมาต่อชั่วโมง ควรเป็นสามเท่าของปริมาตรห้องครับ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กุมภาพันธ 2011 เวลา 0:32

    ผมฟันธงมา 10 กว่าปีแล้วว่า ดีที่สุดคือ อุณหภูมิ 27 คชสพ 70% ครับ

    40-60% มันต่ำเกินไปสำหรับคนไทย และ เชื้อโรคไทยด้วยครับ เพราะต่างก็วิวัฒนาการร่วมกันมานับพันปี

    ชื้นเกินไปเชื้อโรคบางตัวชอบครับ แต่แห้งเกินไปเชื้อโรคบางสกุลก็ชอบอีก ก็เกากันแคว้กๆ สายกลางดีที่สุด คือประมาณ 70% ครับ

    ไม่เชื่อไปถามเชื้อที่ทำให้เกิด eczyma ดูสิครับ มันชอบอากาศแห้งเพื่อเจริญเติบโต พออากาศชื้นมันก็ dormant (เฉื่อย) ส่วนพวกเชื้อหวัดมันชอบชื้นๆ

    ความร้อน ความหนาว มากน้อยเกินไป ก็ทำนองเดียวกันครับ

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กุมภาพันธ 2011 เวลา 0:51

    ทำอากาศชื้นเกินไปให้แห้ง ยากอยู่ วิธีที่นิยมกันคือ ทำให้เย็น เพื่อให้ คชสพ. 100% แล้วควบแน่นออกมาเป็นหยดน้ำ จากนั้นทำให้ร้อนขึ้น เพื่อลด คชสพ.

    ส่วนทำอากาศที่แห้งเกินไปให้ชื้นนั้นค่อนข้างง่าย คือฉีดพ่นละอองน้ำเข้าไป ในอากาศ

    ในประเทศเมืองหนาวมักมีปัญหาอากาศแห้งเกินไป สามารถซื้อหาเครื่องทำความชื้นได้ มีขายทั่วไปตาม drug store ครับ

    ส่วนในประเทศแถบเรามักมีปัญหาอากาศชื้นเกินไป (เกิน 70% ในความเห็นผม) จะทำให้แห้ง มันแพงมาก ไม่คุ้มทุน ก็เลยยอมป่วยกันไปดีกว่า พัฒนาภูมิต้านทานกันไป

    วิธีง่ายๆ คือ อย่าติดแอร์บ้าน เพราะพออากาศเย็น คชสพ. มันจะสูงขึ้น ทั้งที่คชสบ. เท่าเดิม เปิดพัดลมเพดานอ่อนๆ จะดีกว่าติดแอร์ รวมทั้งมีการออกแบบบ้านให้มีการระบายความร้อนตอนกลางวันให้ดี จะได้ไม่ร้อนมากตอนหัวค่ำที่กลับมาจากทำงาน

    นศ.ป เอกผมคนหนึ่งกำลังทำวิจัยเรื่องนี้มา 10 ปีแล้ว (ไม่ยอมจบสักที)

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กุมภาพันธ 2011 เวลา 11:14

    ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้หรอก แต่เล่าสิ่งที่ผ่านพบ
    - ความชื้นสัมพัทธ์นี้นักวิชาการเกษตรศึกษาแบะเอามาใช้ประโยชน์มานาน เพื่อคัดเลือกสายพันธ์พืชที่เหมาะสมเฉพาะถิ่น มีข่าวสมัยหนึ่งว่า “ข้าวหอมดอกมะลิ 105″ ที่เราเรียกสั้นๆว่า ข้าวหอมมะลิ นั้นคุณภาพดีเหลือเกิน ราคาดี ไอ้กันและหลายประเทศพยายามเอาไปปลูกบ้าง แต่นักวิชาการข้าวไทยบอกว่าไม่มีทาง หรืออีกนานกว่าที่เขาจะ breed พันธ์ใหม่ขึ้นมาได้ เพราะ ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวประจำถิ่นที่มีสภาพเฉพาะของเขา โดยเฉพาะดิน(ที่ต้องมีความเค็มนิดๆ) และมีความชื้นสัมพัทธ์เฉพาะของเขา เอาไปปลูกได้ แต่ไม่หอม…
    - การผลิตมะเขือเทศ เพื่อส่งโรงงานทำน้ำมะเขือเทศนั้น ทางภาคเหนือให้ผลผลิตสูงมากต่อต้นต่อไร่ แต่โรคก็มากเหลือเกิน ตรงข้ามเมื่อมาปลูกอีสาน ผลผลิจสู้ไม่ได้ แต่โรคน้อยลงมามากหลายเท่าตัว เพราะอีสานอากาศแห้ง จนนักวิชาการเกษตรบางท่านพูดเล่นๆกันว่า “อีสานคือเขตปลอดโรคมะเขือเทศ” จึงมีโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศในอีสานเต็มไปหมด รวมทั้งโครงการหลวง และเราส่งออกน้ำมะเขือเทศด้วย
    - แม่ยายผมที่ท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้วนั้น ท่านย้ายจากตรังบ้านเกิดไปอยู่กับลูกสาวสุดท้อง กับผม เหตุผลที่สำคัญหนึ่งนอกจากอยากอยู่กับลูกสาวคนเล็กแล้วคือ ท่านเป็นหอบหืด อยู่ทางใต้ ท่านต้องเผชิญกับเรื่องนี้มากรักษาตัวมาตลอด แต่ไปอีสาน อาการเกือบไม่เกิดขึ้นเลย ยกเว้นในช่วงฤดูฝน ก็เพราะอีสานอากาศแห้ง ท่านมีความสุขมากที่ไม่ต้องเผชิญกับหอบหืดเหมือนอยู่ทางใต้ที่ชื้นกว่ามาก
    - เคยบันทึกใน G2K ว่า พันธ์ข้าวที่นักสังเสริมการเกษตรเอาไปแจกชาวบ้านบางพันธ์นั้นไม่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ที่คำชะอี มุกดาหาร เป็นหุบเขา นักเกษตรพบว่า ข้าวที่ทางราชการแจกไปไม่ออกรวง หรือมีโรคมาก ผลผลิตต่ำ แต่เมื่อเปลี่ยนเอาพันธุ์ใหม่เข้าไปก็ปกติ โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านที่เขาพัฒนาตัวเขาเองมานับร้อย พันปีมาแล้ว
    - ทราบว่าในโรงงานหลายประเภทต้องควบคุมความชื้นสัมพัทธ์อย่างเคร่งครัดเลยทีเดียว

    เรื่องความชื้นสัมพัทธ์มีความสำคัญมาก ที่ประชาชนทั่วไปรู้น้อย
    เราฟังกรมอุตุประกาศทุกวันเรื่องนี้ แต่ไม่เข้าใจว่ารู้แล้วเอาไปใช้อะไรได้

    สรุป หนทางสุดท้ายหนึ่งที่เกี่ยวกับโรคกับคนที่เกี่ยวกับความชื้นสัมพัทธ์ คือ นอกจากรักษาด้วยหยูกยา การแก้ความชื้นสัมพัทธ์แล้ว หนทางเลือกสุดท้ายที่น่าพิจารณาคือ เรื่องการ Relocation คือย้ายคนป่วยไปที่อื่นที่มีสภาพความชื้นสัมพัทธ์ไม่เป็นปัญหา แต่หากเกิดในง่ามเท้าที่เกี่ยวกับอาชีพ คุณหมอรู้ดีที่สุดครับ

    ไม่มีอะไรแค่เล่าให้ฟังเฉยๆ อิอิ

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กุมภาพันธ 2011 เวลา 21:50

    #1 กำลังค้นหาวิธีง่ายๆมาเป็นทางเลือกในการจัดการอยู่พอดี ได้เติมมาอีกทางเลือก…ดีค่ะ

    #4 ความชื้นสัมพัทธ์กับภาคใต้ นี่เป็นเรื่องปวดขมับเลยละพี่บู๊ด
    เรื่องข้้าวหอมมะลินี่น้องเคยเดาว่า มันต้องปลูกในดินเค็มจึงออกมาดี ถือว่าหลักที่ใช้เดาถูกเผงเลย ใช้ได้ๆ ชมตัวเองหน่อย…อิอิ
    ไม่รู้เพราะการสกัดเอากลิ่นออกมาศึกษาเป็นเรื่องหนึ่งที่ตะวันตกกำลังทำเพื่อตัดต่อพันธุกรรมข้าวบ้านเขาให้เป็นเหมือนบ้านเราหรือเปล่า

    เรื่องของเขาช้าก็จริง แต่ไปเงียบๆแบบติดจรวดในขณะที่เราลืมเป็นนักร้องไปแล้ว
    เรื่องจริงโผล่ผ่านจอมาเมื่อไร เราก็แสดงบทนักร้องประท้วงเขาตามหลังทุกทีไป

    คนทำเกษตรถ้าเข้าใจเรื่องความชื้นสัมพัทธ์ก็พอจะเดาความเสี่ยงของตน และกำหนดเวลาการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมและลงตัวได้ ใช่ไหมพี่

  • #6 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กุมภาพันธ 2011 เวลา 21:55

    #2 ว่าจะไปดูทางระบายอากาศและช่องลมในตึกว่าเขามีอยู่เป็นอย่างไรบ้างค่ะอาจารย์
    พัดลมนั้นมีแน่ แต่ไม่รู้ว่าเขาใช้มันอย่างไรอยู่บ้างค่ะ

    ความชื้นบางจุดสูงจนผนังนอกตึกมีราขึ้นได้ ถ้าไปเห็นความสัมพันธ์จากที่จริง คงเห็นภาพความสัมพันธ์และตามรอยไปถึงต้นเหตุได้มังค่ะ

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กุมภาพันธ 2011 เวลา 0:20

    “คนทำเกษตรถ้าเข้าใจเรื่องความชื้นสัมพัทธ์ก็พอจะเดาความเสี่ยงของตน และกำหนดเวลาการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมและลงตัวได้ ใช่ไหมพี่” เอาคะแนนเต็มไปเลย ใช่เลยครับ หลักฐานยืนยันคืออย่างนี้

    หลายปีก่อน พี่และคนข้างกายเดินทางไปสำรวจต้นแม่น้ำลำตะคอง โคราชว่ามันมาจากไหน ไหลไปไหน กเิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทาง สำรวจแบบคร่าวๆ สุ่มสัมภาษณ์เกษตรกรตามริมน้ำลำตะกอง ไปพบคุณลุงคนหนึ่ง นั่งคุณลุงดีใจที่มีคนมาคุยเรื่องน้ำ เรื่องการเกษตร เรื่องผลกระทบ ปรากฏการณ์ต่างๆตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากภาวะการณ์ต่างๆ

    แล้วลุงก็ไปเอาบันทึกเล่มหนึ่งมาให้ดู เราตกใจ เพราะลุงแกใช้สมุดเล่มใหญ่ ตีตารางรายวันทั้งเดือนทุกเดือนเป็นปี หลายปี ทำการบันทึกทุกวัน วันไหนลุงไม่อยู่ให้ลูก ให้เมียบันทึก จะมีขาด เว้นไปบ้างก็ไม่มาก

    บันทึกอะไร ก็ 1. อุณหภูมิ เช้า เที่ียง เย็น
    2. ปริมาณน้ำฝน โดนลุงใช้วิธีวัดแบบง่ายๆ คือเอากระป๋องนมมาติดบยเสาเล็กๆตั้งใว้กลางสวน ทำสเกลง่ายๆลอกปริมาณน้ำฝนข้างกระป๋อง หากฝนตกก็ไปดูปริมาณน้ำฝนแล้วเอามาจดลงในสมุด สัมพันธ์กับอุณหภูมิ
    3 มากกว่านั้นคือ ลุงจะสังเกตุ ธรรมชาติในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ว่า มีหมอกลงไหม มีแมงอะไรมาให้เห็นบ้าง ต้นไม้เกิดอะไรผิดปกติบ้าง …..
    เป็นการบันทึกประจำวันที่ลุงทำไว้แล้วก็เอามาประมวลผลเมื่อนานเข้าลุงก็รู้ทันทีว่า หากร้อนชื้นสักสองสามวันจะเกิดอะไรบ้าง สวนผลไม้ของลุงต้องเตรียมตัวอะไรบ้างในการป้องกัน ดูแล รักษา ก่อนที่จะเกิดความเสียหายมาก ฯลฯ

    คุยไปคุยมา ถึงรู้ว่าลุงคือดีตพนักงานกรมอุตุนิยมวิทยา มีความรู้เรื่องการบันทึก ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ และพยากรณ์สิ่วที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดีทีเดียว มันไม่ถูกร้อยเปอร์เซนต์ แต่มีความไกล้เคียงมาก

    พี่เอาประสบการณ์นี้ไปให้พ่อแสนที่ดงหลวงทำโดยพี่ซื้อปรอทที่มี 2 ตุ้ม ที่เรียกตุ้มเปียกและตุ้มแห้ง ขายในร้านขายหนังสือเรียนทั่วไปเพราะเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ไม่เคยเอามาใช้ในชีวิตจริง ราคาไม่แพง ประมาณ 200 บาทมั๊ง มีเสกลบอกความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ พ่อแสนก็บันทึกไว้ ดีมากทีเดียว พ่อแสนชอบใจ

    ชาวบ้านทั่วไปมีความรู้เบื้องต้นนี้ดี เช่นในช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูฝน จะมีฝนตกลงมาแบบตกเดี๋ยวเดียวแล้วหยุด อากาศทั่วไปร้อนมากๆ ชาวบ้านเขารู้ว่าเห็ดหลายชนิดจะออก เพียงสองสามวันให้หลัง ชาวบ้านจะหิ้วตะกร้าเข้าป่าไปเก็บเห็ดกัน ทั้งกินเอ ทั้งขายเต็มสองข้างถนน

    แต่กรณีบันทึกทุกวันนั้น ดูจะยากหากใจไม่ให้และเงื่อนไขครอบครัวไม่เหมาะ แต่หากจะร่วมมือกันระหว่างครู นักเรีนน เยาวชนนอกโรงเรียน กลุ่มชาวบ้าน อาจจะมีส่วนใดบ้างที่มีเงื่อนไขทำได้ นี่ก็เอาประสบการณ์นี้ไปเผยแพร่ในลาวแล้วครับ เพิ่งเริ่มเท่านั้นครับ

    เรื่องนี้พี่เคยเขียนใน G2K นานมาแล้วครับ

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กุมภาพันธ 2011 เวลา 0:56

    ความชื้นสัมพัทธ์ใกล้ 100% ก็ตอนหมอกลงไงครับ ยิ่งควรจะเอาน้ำ/น้ำค้าง/หมอกลงดินให้มากที่สุด ใช้ตาข้าย หรือใบไม้ดักก็ได้

    ตลิ่งแม่ปิงเป็นหน้าผา+น้ำจะไม่มีอยู่แล้ว!!!


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.15945601463318 sec
Sidebar: 0.68344187736511 sec