ตามลม(๑) : ความชื้นเป็นเหตุให้จับงาน

อ่าน: 1312

ตั้งแต่รับงานด้านการป้องกัน ก็มีหลายเรื่องที่ต้องทบทวนความรู้ของตัวเองกันใหม่ ความเก่าของสถานที่ทำให้มีเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อป้องกันคนเป็นโจทย์ส่งมาให้หาทางออกเสมอ

หลายๆเรื่องที่ส่งมาก็มักจะไม่พ้นการไปเกี่ยวข้องกับเชิงกลของของไหล ซึ่งทั้งทีมที่ได้รับมอบให้รับผิดชอบมีความรู้พื้นฐานเหลืออยู่น้อยจริงๆ มันก็เลยจัดการกับคำปรึกษาไม่ได้หรือได้ช้า ไม่รู้ก็ต้องพึ่งคนอื่น กว่าคนอื่นจะมาช่วยได้เรื่องราวปัญหาก็ยังคงอยู่เป็นปีๆ

มีวันหนึ่งทีมงานได้เอ่ยปรึกษาผู้รู้ที่กระทรวงฯ  มีปัญหาตรงนี้ทำอะไร อย่างไรได้บ้าง เขาก็แนะนำผู้เชี่ยวชาญให้ ดีใจเหมือนได้แก้วที่รู้ว่ามีผู้เชียวชาญให้ปรึกษา ก็ให้เขาติดต่อผู้เชียวชาญคนที่ว่าให้มาช่วยดูของจริงในพื้นที่ให้หน่อย อะไรที่เป็นต้นเหตุของปัญหา อะไรนั้นควรแก้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญมาแล้วก็บอกว่า “ผมมีเครื่องมือวัดความชื้นสัมพัทธ์ เดี๋ยวผมจะวัดให้ที่ไหนเท่าไร” วัดแล้วก็นำค่ามาแปลบอก ตรงนั้นตรงนี้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง และนี่คือเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา จะแก้ปัญหาก็ให้แก้อย่าให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์สูง บอกกันแล้วเขาก็กลับ

เอาละซิ ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญให้มาแค่นี้เอง ทำอะไรต่อดีละนี่ เริ่มต้นปรึกษาแล้วลงเอยด้วยคำตอบที่ทำให้ยังไม่รู้จะแก้ยังไง แล้วจะปรึกษาทำไม

ก็ต้องคุยกันเองต่อ “รู้ค่าความชื้นสัมพัทธ์แล้วแก้ยังไง จะแก้เรื่องอะไร”  เสียงที่ได้ยินคือ เงียบๆๆๆ ก็เป็นอะไรที่บอกให้รู้ว่ามันงง ไม่รู้จะทำอะไรต่อ

ความจำเ็ป็นให้เกิดลูกฮึด เอาวะ ลองใช้ความรู้เท่าที่มีลองดู ทำจากจุดเล็กๆเท่าที่ทำได้ไปก่อน ย้อนกลับไปทวนพื้นฐานความรู้เดิมกันมีความรู้เรื่องอะไรดึงมาใช้กัน ผลปรากฏว่าข้อเสนอให้แก้ปัญหากลายเป็น “รอสร้างตึกใหม่” เฮ้อ เงินไม่มีสร้างตึกใหม่ แล้วปัญหานี้จะแก้ได้หรือนี่

ก็ต้องทวนความในเรื่องนิยามคำ (อีกแล้ว) ไม่ทวนไม่ได้แล้ว เพราะกำลังเข้าใจกันไปคนละทางสองทาง ปล่อยให้เข้าใจต่อ จะเสียเวลา เสียพลังกับการถกเถียงกันเรื่องงานเปล่าๆปลี้ๆ  งานนี้ยังคุยกันอีกนาน ปล่อยไปจะเพี้ยนจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันได้ เริ่มต้นจากคำว่า “ความชื้นสัมพัทธ์” นี่แหละ ฟังแล้วเข้าใจอะไรบ้าง ก่อนจะไปถึงการแก้ปัญหา

ทวนแล้วก็พบว่ามีคำอยู่หลายคำที่คุ้นเคยจนลืมความหมายกันไปแล้ว แถมใช้มันพูดอยู่ทุกวันหรือพูดจากปากเองด้วยซิ  อาทิ  ความชื้น ความชื้นสัมบูรณ์ ความชื้นสัมพัทธ์  ความกดอากาศ  น้ำค้าง

เมื่อคลี่คำและความหมายก็เห็นประโยชน์ว่าการแปลมาอย่างนี้จะเกิดการเข้าใจของจริงตรงกว่าเมื่อได้ยินคนเอ่ยคำ จึงขอยกมาบันทึกไว้ใช้งานต่อ :

“ความชื้น” บอกถึง “ความแห้ง-เปียกของอากาศ”

“ความชื้นสัมบูรณ์” บอกถึง “น้ำหนักของน้ำในรูปไอที่ทำให้อากาศในพื้นที่จำกัดหนึ่งๆเปียก”

“ความชื้นสัมพัทธ์” บอกถึง  “ความสามารถรับเพิ่มไอน้ำได้อีกของอากาศจำนวนหนึ่งที่มีข้อจำกัดในการรับไอน้ำไปปนได้เต็มที่จำนวนหนึ่งที่อุณหภูมิหนึ่งๆเท่านั้น”

“ความดันอากาศ”   บอกถึง “แรงกดที่อากาศในบริเวณนั้นได้รับรอบทิศ  มีผลต่อความสามารถของอากาศในการรับสิ่งเจือปนเข้าไป”

“จุดน้ำค้าง” บอกถึง   ไปถึงจุดนี้เมื่อไรอากาศก็เปียกรับไอน้ำไว้เต็มที่แล้วจนไม่มีที่ให้ไอน้ำใหม่แทรกตัวได้อีก อุณหภูมิตรงจุดที่ทำให้ไอน้ำควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำนี่แหละคือจุดที่ว่า

กลับมาที่เรื่องเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญบอกไว้ อ้อ เริ่มเข้าใจแล้วละ :

เขามาบอกว่า พื้นที่ต่างๆในบางตึก อากาศในบางจุดรับไอน้ำเข้าไปแทรกอยู่จำนวนมาก ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน มิน่าจึงทิ้งโจทย์ไว้ให้หาทางแก้กันเอง

« « Prev : ตามรอยน้ำพุร้อน (๗)

Next : ตามลม(๒) : ชื้นแล้วติดพัดลมไล่ไอน้ำ…จะดีมั๊ยนะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กุมภาพันธ 2011 เวลา 18:04

    ความชื้นสัมบูรณ์เท่ากัน แต่ถ้าอุณหภูมิเย็นลง (เช่นติดแอร์) ก็ทำให้คช.สัมพัทธ์เพิ่มนะครับ

    วิศวกรไทยเชื่อตามฝรั่ง (อีกแล้ว) ว่าจุดอยู่สบายของคนไทยคือ T= 25C และ คชสพ = 50%

    สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมมาสอนว่า ไม่น่าจริง มันน่าจะเป็น 27/ 70 เสียมากกว่า เพราะผิวหนังและระบายคายความร้อนคนไทยเราวิวัฒนาการต่างจากฝรั่ง 25/50 นั้นคนไทยเราหนาวแล้ว ไม่ได้สบายดังที่ลอกตำราฝรั่งมา แถมยังต้องเสียค่าแอร์ และค่าทำแห้ง อากาศ อีกปีละ หลายพันล้าน (ค่าโง่) …ก้าก

    เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนได้ยินเสียงตะโกนของผม แต่น้อยมาก ผมมันคนไม่มีพรสวรรค์ด้านเผยแพร่

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กุมภาพันธ 2011 เวลา 22:01

    เชื่ออาจารย์ค่ะว่า ค่าไม่น่าจะอยู่ที่ ๒๕ แต่เป็น ๒๗ ประสบการณ์นี้มาจากที่ตัวเองอยู่สบายนะคะ ใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานอีกและ..อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.076341867446899 sec
Sidebar: 0.1051070690155 sec