ตามรอยน้ำพุร้อน (๗)

อ่าน: 3945

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นยูเรเซียน ซึ่งล้อมรอบด้วยแผ่นเปลือกโลก ๒ แผ่นคือ แผ่นมหาสมุทรอินเดีย และแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก แผ่นดินไหวมักเกิดมากบริเวณตรงรอยต่อระหว่างแผ่น ในขณะที่บริเวณภายในแผ่นมีแผ่นดินไหวเกิดน้อยกว่าและมักไม่รุนแรง โดยมากเกิดตามแนวของรอยเลื่อนใหญ่ๆ ประเทศไทยอยู่ในเขตที่ถือว่าค่อนข้างปลอดแผ่นดินไหวพอสมควร

บริเวณเสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวของประเทศไทย ( ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี) เปรียบเทียบร่องรอยรอยเลื่อน

บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ระบุไว้ ๓ ครั้งแล้ว และนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ก็มีรายงานแผ่นดินไหวในประเทศไทยว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่มีขนาดเล็กรับรู้ ได้โดยการวัดด้วยเครื่องมือเท่านั้น

ครั้งสำคัญที่ตรวจพบในประเทศไทยก็มีไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง ได้แก่ :

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในป่าเขา ไม่มีบันทึกความเสียหาย ศูนย์กลางอยู่ที่น่าน มีขนาด ๖.๕ ริคเตอร์ ใกล้รอยเลื่อนปัว

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ แผ่นดินไหวสามารถรู้สึกได้ที่กรุงเทพฯ ขนาด ๕.๖ ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ใกล้แนว รอยเลื่อนเมย-วังเจ้า

เมื่อ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ แผ่นดินไหวสามารถรู้สึกได้ที่กรุงเทพฯ ขนาด ๕.๙ ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์

๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ แผ่นดินไหวที่บริเวณอำเภอพาน จังหวัดเชียงรายและใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเสียหายมากกับโรงพยาบาลอำเภอพาน รวมทั้งวัด และโรงเรียนต่าง ๆ ศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ขนาด ๕.๑ ริคเตอร์

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และ ๒๕๓๙ แผ่นดินไหวในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยรุนแรง เกิดความเสียหายบ้าง หลายครั้งในบริเวณจังหวัดเชียงราย และใกล้เคียงรวมทั้งบริเวณชายแดนไทย-ลาว และไทย-พม่า

ขนาด แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศ ระดับ ๕-๖ ริคเตอร์ จะเกิดขึ้นประมาณ ๖-๘ ปีต่อครั้ง แผ่นดินไหวระดับ ๓.๕ ริคเตอร์ จะรู้สึกได้โดยทั่วไปสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลาง แต่ไม่ทำความเสียหายให้แก่อาคาร

รอยเลื่อนภาคเหนือและตะวันตก

เขตรอยเลื่อนต่างๆจึงมีความสำคัญกับการเกิดแผ่นดินไหวและมีผลกระทบต่อประเทศไทย รอยเลื่ื่อนเหล่านี้ ได้แก่

รอยเลื่อนในเขตตะวันตกของประเทศไทย-ตะวันออกของประเทศพม่า : เขตรอยเลื่อนสะแกง เขตรอยเลื่อนพานหลวง

ทั้ง ๒ รอยเลื่อนมีแนวแยกต่อเนื่องมาทางตะวันตกของประเทศไทย ไล่จากทางตอนบนลงมาตอนล่าง : เขตรอยเลื่อนเมย-วังเจ้า เขตรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และเขตรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์

รอย เลื่อนในเขตภาคเหนือของประเทศไทย : รอยเลื่อนแม่ทา, เขตรอยเลื่อนแพร่-เถิน รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ และรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด)

ปริญญา นุตาลัย และคณะ (๑๙๘๕) แบ่งขอบเขตแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (Seismic Source Zone) บริเวณประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เป็น ๑๒ เขต โดยอาศัยสภาพลักษณะทางเทคโทนิก (tectonic setting) และโครงสร้างทางเทคโทนิก (tectonic structure) ประกอบกับประวัติการเกิดแผ่นดินไหวที่บันทึกได้เป็นบรรทัดฐาน โดยเฉพาะอาศัยแผนที่ธรณีวิทยา แผ่นดินไหว (seismotectonic map) ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลเหล่านั้นด้วย

ซ้าย  - รอยเลื่อนบริเวณใกล้ด้ามขวาน ขวา - รอยเลื่อนในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งตรวจพบ

แหล่งที่จะมีกำเนิดแผ่นดินไหวน่าจะ ตกอยู่ในเขตภาคตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องมาจากเขตแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวแนวตะนาวศรี (เขต F) และเขตภาคเหนือของประเทศไทย (เขต G)

นอกเหนือจากเขตตะวันตกและเหนือของประเทศไทย การเกิดแผ่นดินไหวซ้ำและผลกระทบต่อประเทศไทยจะมาจากแผ่นดินไหวที่มีขนาด ๗ ริคเตอร์หรือมากกว่า ซึ่งมักจะเกิดอยู่นอกประเทศไทย อาทิ เขตพรมแดนจีน-พม่า, ประเทศพม่า ( ขนาด ๗.๓ ริคเตอร์ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๓) , ประเทศจีนตอนใต้ ในทะเลอันดามันและ หมู่เกาะสุมาตราตอนเหนือ ซึ่งคือส่วนหนึ่งของแนวเกิดแผ่นดินไหวภูเขาแอลป์-หิมาลัย (Alpine-Himalayan Belt) และอยู่ในเขตแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (seismic source zone) อื่น ๆ ระดับแค่รู้สึกถึงความสั่นไหวได้แต่ไม่มีผลกระทบเสียหายรุนแรง บางครั้งสามารถรู้สึกสั่นสะเทือนได้ที่กรุงเทพฯ

แนวแผ่นดินไหวแถบรอยเลื่อนด้านตะวันตกของขอบทวีปที่เกิดติดต่อกันมาในทะเลอันดามัน

ที่เกิดในบริเวณเขตพรมแดนไทย-พม่า (ขนาด ๕.๓ ริคเตอร์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ ที่พรมแดนไทย - พม่า เกิดจากรอยเลื่อนเชียงแสน) , ไทย-ลาว, ภาคเหนือ และตะวันตกของประเทศไทย (คือ เขตแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว เขต F และ เขต G) มักจะมีขนาดเล็กถึงขนาดปานกลาง สามารถรู้สึกสั่นไหวได้ในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันตก และบางครั้งที่ กรุงเทพฯ ด้วย

ตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเขตที่มีเสถียรภาพทางเทคโทนิก ค่อนข้างปลอดจากแผ่นดินไหว

พื้นที่ตั้งประเทศไทยจึงอาจเรียกได้ว่าค่อนข้างสงบ ไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรงนัก น่าจะอยู่อันดับเขตเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวต่ำ (low seismic risk zone) ถึงเขตเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวปานกลาง (intermediate seismic risk zone)

ลองตามดูข้อมูลแผ่นดินไหวที่ปรากฎในอดีตที่ผ่านมาของบ้านเรา แล้วนำประวัติศาสตร์อีกช่วงหนึ่งมาปะติดปะต่อ ได้เห็นภาพใหม่ที่ควรมองประเด็นเพิ่มในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อาคารผู้ป่วยที่ได้งบมาก่อสร้างไม่เคยเลยที่ส่วนกลางจะได้คิดเรื่องการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ได้อาคารที่มีโครงสร้างปลอดภัยพอเมื่อเกิดแผ่นดินไหว….เฮ้อ….ทำตามกฎหมายอาคารไม่ได้หรอก นี่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแล้วเพราะตึกถล่ม จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายชดเชยให้คนไข้ได้ละนี่

ที่มาของข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยาโพสต์ไว้ในอินเทอร์เน็ต

« « Prev : ตามรอยน้ำพุร้อน (๖)

Next : ตามลม(๑) : ความชื้นเป็นเหตุให้จับงาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามรอยน้ำพุร้อน (๗)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.017867803573608 sec
Sidebar: 0.10493111610413 sec