ตามรอยน้ำพุร้อน (๖)
การเปลี่ยนของเปลือกโลกแผ่นเดียว ทวีปเดียวมาเป็น ๑๓ แผ่น นั้นเริ่มจากแยกเป็น ๒ แผ่น ทำให้เกิด ๒ ทวีปก่อน ลอเรเชีย อยู่ทางเหนือ กอนด์วานา อยู่ทางใต้
ต่อมาทั้ง ๒ แผ่นก็แยกเพิ่ม ลอเรเซียแยกเป็น อเมริกาเหนือ และยูเรเซีย
กอนด์วานาแยกเป็น อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย แอนตาร์กติก และอินเดีย
แล้วต่อมาแผ่นเหล่านี้ก็มาแยกตัวต่อเป็น ฟิลิปปินส์ อาหรับ สกอเทีย โกโก้ แปซิฟิก นาซกา
ซ้าย- แผ่นทวีป ขวา-รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ( ขอบคุณภาพจากกรมทรัพยากรธรณี)
ความสัมพันธ์ระหว่างกันของแผ่นทวีปเวลาเคลื่อนไหว เมื่อไปสัมพันธ์กับหินหลอมละลายใต้โลกแล้วทำให้เกิดแผ่นดินไหว โดยมีต้นเหตุมาจากอุณหภูมิที่ต่างกันอย่างมาก ระหว่างเปลือกโลกและหินหลอมภายในโลก
อุณหภูมิที่ต่างกันมากทำให้เกิดแรงเครียดภายในโลกที่มีพลังมาก แรงนี้เมื่อเจอหินแข็งภายในโลกก็ทำให้หินแตกออกเป็นแนว เรียกว่า แนวรอยเลื่อน(Fault)
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น พื้นดินจะถูกรบกวน และเคลื่อนออกจากจุดกำเนิดในรูปของคลื่นความสั่นสะเทือน เหมือนกับการโยนกรวดลงในน้ำ พื้นน้ำจะถูกคลื่นพัดพาไปเป็นระลอกจนกระทบฝั่ง
การสั่นไหวที่รับรู้ก็คือพลังงานที่ปล่อยออกมาเวลารอยเลื่อนขยับตัว จะยุติลงเมื่อคลื่นพลังงานที่ส่งออกมาหมด
สำหรับบ้านเรามีรอยเลื่อนที่คาดว่ายังมีการเคลื่อนตัวอยู่ใน ๒ ภาค คือ ตะวันตกและเหนือ อาทิ รอยเลื่อนเมย - อุทัยธานี รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ และ รอยเลื่อนแม่ทา
ศูนย์รวมแผ่นดินไหวก็มักจะอยู่บริเวณที่รอยเลื่อนเคลื่อนตัว เพื่อเฝ้าและตรวจจับหาจุดกำเนิด ขนาด และความลึกของแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง จะจับได้เร็วแค่ไหน ไกลจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวได้มากแค่ไหน อยู่ที่ความไวของเครื่องมือ
สถานีตรวจแผ่นดินไหวของบ้านเราตอนนี้มี ๑๒ แห่ง คือ เชียงใหม่ เขื่อนภูมิพล ตาก นครสวรรค์ ปากช่อง นครราชสีมา อุบลราชธานี เลย เขื่อนเขาแหลม กาญจนบุรี หนองพลับ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ภูเก็ต น่าน พร้อมจุดที่มีเครื่องมือตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน ( Strong Motion Accelerograph (SMA) ) ตามเขื่อนใหญ่ๆ อาคารสูงใน กทม. และเชียงใหม่
ที่เปลือกโลกเคลื่อนไหวแล้วทำให้เกิดปรากฏการณ์ส่งพลังงานออกมานั้น ขนาดของพลังงานไม่ใช่ข้อตัดสินของคำว่า “รุนแรง”
จะสรุปว่าแผ่นดินไหวครั้งไหนรุนแรง สรุปจากความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ผสมผสานกัน
การบาดเจ็บและตายจำนวนมากมายจึงเป็นตัววัดความรุนแรง ต่อให้ขนาดของพลังงานนั้นน้อยก็เหอะ
เผื่อจะลืมจึงบันทึกไว้หน่อย ขนาดวัดของคลื่นสั่นสะเทือนนี้ เรียกว่า “มาตราริคเตอร์” คำนวณจากความสูงของคลื่นสั่นสะเทือนที่ถูกส่งมา
ค่าของขนาดพลังงานที่ต่างกัน ๑ ริคเตอร์ บอกว่าพลังงานนั้นมีความแรงมากกว่าคลื่นที่มีความแรงต่ำกว่าอยู่ ๑๐ เท่า เช่น
แผ่นดินไหวขนาด ๘ ริคเตอร์ มีค่าเป็น ๑๐ เท่าของขนาด ๗ ริคเตอร์ และ ๑๐๐ เท่าของขนาด ๖ ริคเตอร์
เพราะคลื่นสั่นสะเทือนมีผลกับแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน จึงมีมาตรวัดอีกชุดหนึ่งใช้ประกอบในการวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งเดียวกัน เรียกว่า “มาตราเมอร์แคลลี่” มาตรนี้ใช้การเปลี่ยนแปลงที่คนส่วนใหญ่สังเกตเห็นเป็นข้อตัดสิน
มองย้อนกลับเช้าวันเกิดสึนามิ แล้วลองถอดบทเรียนดู :
เกาะพีพี-ตึกทุกหลังได้รับความเสียหายอย่างมาก โครงสร้างถูกทำลาย ไม่มีบันทึกเรื่องดินถล่มบนเกาะพีพีในส่วนที่เป็นเนินสูง (แปลจากมาตราแคลลี่ไปหาริกเตอร์ได้ =๗ )
อาคารคนไข้ในร.พ. - น้องๆเขารู้สึกถึงความสั่นได้ทุกคน เฟอร์นิเจอร์แค่สั่น ของที่ตั้งบนตู้ไม่หล่น หลายคนวิ่งลงมาจากอาคารด้วยความตกใจ ( เท่ากับ ๔ ริกเตอร์ )
ที่บ้าน - ไม่รู้สึกถึงการสั่นไหว รู้ว่ามีสึนามิจากข่าว (เท่ากับ ๒ ริกเตอร์)
บ้านกับโรงพยาบาลห่างกันแค่กิโลเมตรกว่าๆ เกาะพีพีห่างจากโรงพยาบาลประมาณ ๔๕ กม.
ถ้าจำลองว่าแผ่นทวีปชนกับแผ่นหินใต้น้ำเป็นเหตุ แปลว่าเมื่อชนกันแล้ว คลื่นพลังงานที่ส่งผ่านเป็นแรงสะเทือนลดลงวูบเป็นแสนเท่าเมื่อเข้ามาถึงพื้นดินบนฝั่งเลยนิ (จาก ๗ ลดเหลือ ๔ )
แล้วในพื้นที่ไกลจากฝั่งที่มีจากระยะเพียงแค่กิโลเมตรกว่าก็ลดลงได้อีกพันเท่า (จาก ๔ ลดเหลือ ๒ ) ที่บ้านเลยไม่รู้สึก
๒ มาตรานี้นำมาใช้อย่างนี้หรือเปล่า
ถ้าหากว่าใช่ เวลาเกิดแผ่นดินไหวตรงๆบนแผ่นทวีปเท่านั้นที่จะมีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นบนบกที่อยู่ห่างชายฝั่ง ส่วนสึนามิถ้าจะเกิดอีกทีก็ต้องแรงมากกว่า ๗ ริคเตอร์จึงจะมีปัญหา
ดูรอยเลื่อนตามแผนที่ วิธีจัดการจากหน่วยงานอื่น และระยะทางจากน้ำพุร้อนจืด-เค็มของกระบี่ถึงชายฝั่งทะเลเปิดที่ไกลกว่าแถวบ้านซะอีก ( เกิน ๔๐ กม.) และเรื่องภูเขาไฟดับแล้ว ยังไงๆเรื่องแผ่นดินไหวที่เกิดบนบกก็เป็นความเสี่ยงที่ยังต้องจัดระบบเตือนคนให้ตื่นตัวเอาเอง ไม่ควรวางเฉยรอพึ่งความรู้จากคนอื่นเท่านั้น
« « Prev : ตามรอยน้ำพุร้อน (๕)
Next : ตามรอยน้ำพุร้อน (๗) » »
2 ความคิดเห็น
ในบรรดาภัยธรรมชาติทั้งปวง แผ่นดินไหวอันตรายที่สุด ปทท.เราโชคดีที่มีเรื่องนี้น้อยมากๆกว่าชาติใดในโลกกว่าว่าได้เลยนะครับ แต่มันอาจปะทุขึ้นมาแบบไม่คาดฝันสักวันก็เป็นได้ เรื่องแบบนี้ไม่แน่ ตัวผมเองก็หวั่นๆอยู่เพราะนั่งทำงานในห้อง ริมตู้หนังสือสูงๆ ถ้ามันไหวเบาๆ แม้ตึดไม่พัง แต่ตู้ล้มก็ทับเราตายแล้วแหละ
ว่าแต่ว่าเมื่อไรจะจับเรื่อง ชายฝั่งถูกกัดเซาะบ้างหละครับ กำลังเป็นปัญหาใหญ่นะครับ
ประเด็นที่ตามรอยอยู่นี้เพื่อนำไปใช้จัดระบบฉุกเฉินที่ควรเตรียมการทางงานสาธารณสุขก่อนค่ะอาจารย์ จะได้นำไปต่อเติม-ตัดแต่ง-ต่อยอดระบบที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม
เรื่องน้ำเซาะชายฝั่งนี่ก็มีประเด็น ในแง่มุมของธรรมชาตินั้นเห็นด้วยเต็มๆว่าเรื่องใหญ่ แต่ก็ยังไม่ชัดว่าไปเกี่ยวกับเรื่องฉุกเฉินอะไรได้บ้าง ที่มีทางออกที่สาธารณสุขพอช่วยได้
นอกจากเรื่องตู้ โต๊ะ อาจารย์อย่าลืมดูแลเรื่อง “ถังแก๊ซ” ด้วยนะคะ ล้มเมื่อไรก็เป็นเรื่อง ระเบิดดีๆนี่เอง ไม่ใช่หรือค่ะเมื่อเจอเปลวไฟ