ขยะ ขยะ ขยะ
ก่อนที่จะได้รู้จักหมอจัดการขยะ ก็สนใจกับเรื่องการจัดการขยะอยู่แล้ว ที่สนใจก็เพราะว่าขยะมีบุญคุณให้ได้เรียนจนจบหมออย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็เพราะงานการที่ทำ ที่สุดท้ายก็จำต้องวนเวียนเข้าไปใกล้เรื่องขยะมากขึ้นๆ เมื่อเกิดน้ำท่วมกระบี่ยิ่งชัดขึ้นว่ายังไงก็ต้องเกี่ยว ไม่เกี่ยวไม่ได้
เดินเข้าไปในชุมชนที่มีโรคระบาดก็มักจะได้ยินเสียงเอ่ย “สุดทนจริงๆ บ้านนี้ชอบทิ้งขยะไว้เหม็น หมอช่วยหน่อย” มองไปตามมือที่ชี้ก็มักจะเห็นทั้งควันไฟ แมลงวันบินว่อนตรงกองขยะนั้นๆ เรื่องอัคคีภัยจากกองขยะ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าไฟจะเกิดจากกองขยะที่เปียกอยู่ได้ยังไง
วันนี้การจัดการขยะในเขตที่อยู่ เป็นภารกิจที่เทศบาลเมืองของที่นี่เป็นพี่ใหญ่ให้พึ่ง นานๆครั้งก็จะได้ยินเสียงบ่นจากชาวบ้านว่า กองขยะมหึมาที่กองอยู่ก่อความรำคาญให้
เคยตามเข้าไปดูที่กองขยะมหึมานั้น ไม่ใคร่ได้เห็นว่ามียางรถยนต์ถูกนำไปทิ้งไว้ โชคดีไป
เข้าไปก็ได้ประสบการณ์ที่ยืนยันมั่นว่า กองขยะไหนๆก็เหม็นแน่ๆ เถียงไม่ขึ้น ได้เห็นผู้คนจำนวนหนึ่งไปใช้ชีวิตอยู่แถวนั้นด้วย
ภาพที่เห็นติดหัวมา กระตุกความคิดให้หาวิธีช่วยพวกเขา จะไม่ให้พบเจอกลิ่นเหม็นทำได้มั๊ย ก็ขยะที่พวกเขาดมกลิ่นอยู่นั้น ส่วนหนึ่งรพ.เราเองนี่แหละฝากไปจัดการ
วันนี้พื้นที่ทิ้งขยะของเทศบาลเริ่มเต็ม เป็นที่รวมของขยะ เกือบทุกท้องถิ่นมาร่วมทิ้งทีเดียวนะ มีที่เดียวที่ไม่น่ามารวม นั่นคือพื้นที่เกาะ
แต่นั้นมาก็เกิดความคิดใหม่ ทำยังไงให้ขยะเปลี่ยนเป็นเศษสิ่งที่ต้องการใช้ ทำยังไงให้ผู้คนเห็นความสำคัญของขยะที่ยากต่อการบำบัดและกำจัด
สิ่งที่เหลือจากความต้องการเหล่านี้มาจากคนในเมือง ชุมชนเมืองเป็นหลัก
มีคนศึกษาวิจัยไว้ว่า คนเมืองสร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1 กิโลกรัมต่อคน ในเขตรพ.ที่ดูแลอยู่นั้น มีปริมาณขยะวันละเท่าไรน่าสนใจคิดคำนวณกลับด้วยสูตรนี้
ในระหว่างที่สนใจกับเรื่องราวของขยะ การบำบัดและกำจัดขยะ ก็มีคนส่งผ่านความรู้มาให้เอะใจเรื่องอำนาจหน้าที่ เพิ่งรู้ว่าวันนี้อำนาจนั้นเป็นเรื่องของการสาธารณสุขด้วยโดยแท้ (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 18 เขียนว่า การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น)
กรณีมีเหตุอันสมควร อำนาจนี้อาจมอบให้บุคคลใดดำเนินการตามวรรคหนึ่งแทนภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่น
หรืออนุญาตให้บุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการ กำจัดสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยตามมาตรา 19 ก็ได้ (มาตรา 19 เขียนว่า ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย โดยทำเป็นธุรกิจหรือโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน ด้วยการคิดค่าบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น)
อืม ก็รู้สึกแปลกๆนะ ที่วันนี้มีบริษัทมาเช่าช่วงทำงานให้กับเทศบาลเมืองได้ โดยคิดค่าบริการจากเทศบาลเมืองด้วย วิธีปฏิบัติตามกฎหมายนี้เขาทำกันยังไงกันแน่
เมื่อมีคนรับจัดการให้เป็น” สิ่งของขายได้” ตามนิยามที่หมอขยะใช้เรียก ก็พบปัญหาใหม่ในเขตเมือง เมื่อการทำขยะให้หมดสภาพ การรับไว้ก่อนส่งต่อ มีความรกรุงรังตามาแทนที่ และกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงนำโรคไปด้วย ทำยังไงดี ทำอย่างหนึ่ง ได้แถมอีกอย่างหนึ่ง
เมื่อผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการนำขยะกลับมาใช้ ก็เกิดบริษัทตัวแทนรับซื้อขยะขึ้นในพื้นที่ แจ้งเกิดภายใต้ชื่อคนดังด้านขยะ เจ้าเก่า “วงษ์พาณิชย์”
ขยะซึ่งที่นี่รับจัดการมีไม่กี่ประเภท ยังเหลือส่วนที่ไม่มีใครจัดการบานเบอะ ฝังกลบทบกันเป็นกองสูงที่กองขยะรวม
ขยะยางรถยนต์ต่างกองสูงอยู่หน้าร้านเป็นปีๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหลังฝนตก ที่ยังต้องหาวิธีจัดการให้ง่าย ก่อนเข้าหาชาวบ้านเพื่อขอความร่วมมือต่อไป
ตอนไปเรียน 4ส.2 ได้เรียนรู้จากของจริงเรื่องฤทธิ์ของขยะ ทำให้เห็นความเป็นพิษของมันชัดขึ้นๆ ไม่จัดการให้ดี แย่กันไปหมด วันนี้จึงให้ความสำคัญมากขึ้นกับการจัดระบบขยะในรพ.
ไปเยี่ยมชาวเฮทางเหนือ เรียนรู้วิธีจัดการขยะสดด้วยสัตว์ผิวดินมาแล้ว วันนี้ฝีมืออ่อนหัดจึงขอ “ฝากโอฬาร” ไว้ก่อน
เพิ่งเข้าใจระบบแยกขยะว่าไม่ใช่แค่แยกประเภท การเก็บ-ขนก็เป็นระบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีข้อห้ามเก็บขยะทุกชนิดมารวมไว้ในรถคันเดียวกันอยู่ด้วย
เหลือง เขียว เป็นสีสัญญลักษณ์เฉพาะ ขยะจากคลินิก สถานพยาบาล โรงพยาบาล ล้วนมีสัญญลักษณ์เฉพาะไว้สื่อ
จะทำลายด้วยการเผา ให้ใช้ “เตาเผาขยะ” ก่อนนี้เจอครูใหญ่วิดวะ ปรารภย์ด้วยว่าอยากได้เตาที่ไม่ใหญ่ ขนาดพอเหมาะกับขยะบางชนิดที่ต้องเผา วันนี้อารมณ์นั้นก็ก่อกวนขึ้นมาตะหงิดๆ
ไม่ต้องการเตาเผาขนาดใหญ่ ก็จัดการต่อ หาวิธีแยกขยะเหลือไว้เผาให้น้อยมาก เหลือแค่ 10-20% ของขยะในแต่ละวันจะเป็นไปได้มั๊ยหนอ
จัดระบบขยะให้เดินหน้า ระบบขยะยาง ซึ่งเดิมสะสมใส่ถุงผูกวางไว้ ไม่รู้จะนำไปไหน มีโรงงานมาขอระบายออกไปเป็นรายเดือน โอเคแล้ว
ได้ความรู้ปูนขาวจัดการกลิ่นน้ำได้ นำมาใช้ต่อซะ ขยะสดวันนี้หมดกลิ่นลง เมื่อใช้ปูนขาวใส่รองก้นถุง และโรยซ้ำก่อนรวบถุงมัดนำทิ้ง ทำแค่นี้กลิ่นที่โชยออกมาสร้างรำคาญก็หมดไป
ระบบขยะพิษก็มีแล้ว ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟลูออเรสเซนท์ กระป๋องสารเคมี ขยะเปื้อนยาต่างๆ แยกเก็บและนำไปส่งที่อบจ.ภูเก็ตอยู่เป็นประจำ รอจัดการวิธีพิเศษที่นั่น
มีเหลือก็แต่ “ปรอท” เขาว่าให้ฝังกลบได้ แต่ต้องไม่ไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำ ดิน อากาศ จะรู้ได้ยังไง(หว่า) ว่าปนเปื้อนหรือไม่ปนเปื้อนในบริเวณที่ฝังหรือที่อื่นๆ
อีกระบบของขยะที่ไปไม่เป็น ก็คือขยะผ้าอนามัยที่ฮอตฮิตใช้กันทุกวัย เผาก็เปลืองเชื้อเพลิง ไม่เผาก็ใช้เวลาย่อยสลายนานปีมาก
ใครก็ได้ที่มีความรู้ใน 2 เรื่องนี้ช่วยแบ่งปันความรู้ให้หน่อยค่ะ
« « Prev : เรียนรู้จากเด็กน้อย
Next : ธรรมชาติส่งเสียงเตือน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ขยะ ขยะ ขยะ"