เย้..เย้..ดีใจ

อ่าน: 1360

๒ เดือนก่อนสิ้นปีพ.ศ. ๒๕๕๒ มีนักเรียนแพทย์ชาวออสเตรเลียขอมาเรียนรู้งานที่โรงพยาบาลของฉัน มีวิชาที่เธอระบุขอเรียนรู้เป็นพิเศษด้วยวิชาหนึ่ง ความที่เรื่องนี้ไม่เคยถูกจัดอยู่ในระบบวิชาหลักของสายการแพทย์มาก่อนเรื่องจึงส่งต่อมาปรึกษาให้ฉันรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักเรียนแพทย์รายนี้

ทีแรกไม่แน่ใจหรอกว่าตัวเองจะสามารถเป็นครูหมอได้ แต่ยังไงก็เอาเหอะ บอกตัวเองว่าเห็นแก่หน้าประเทศไทยหน่อย รับไว้ก่อนเหอะ ลองดูสักตั้ง ทำงานมานานขนาดนี้แล้ว ทำได้ทำไม่ได้เอาไว้เด็กมาถึงตัวแล้วค่อยทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าวิชาที่จะเรียนนะมันอะไรกัน  ที่เรียกเด็กเพราะเทียบอายุแล้วเธอเป็นรุ่นเดียวกับลูกสาว

ภาษาที่เธอใช้ติดต่อมาเขียนประเด็นว่าสิ่งที่เธออยากเรียนรู้ คือ “Health Equity” ใครอยู่ในวงการสาธารณสุขเจอคำนี้เข้าเกือบทั้งร้อยน่าจะงง จะสอนอะไรให้นะเด็กจึงจะรู้และเข้าใจเรื่องนี้ได้ภายใน ๒ เดือน

วันนี้ที่นำเรื่องนี้มาเขียนไว้ในบันทึก ก็เพียงอยากจะเล่าว่าทำอะไรไปบ้างตอนเป็นครูหมอ จะบอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ก็โม้มากไป ในเมื่อทำไปตั้ง ๕ อย่างแน่ะ

อย่างแรกที่ทำก็คือชวนคุยนิดหน่อยๆตอนเช้าบ้าง ตอนเย็นบ้าง สัปดาห์ละครั้ง และตลอด ๘ สัปดาห์ที่มาอยู่กระบี่ เราได้พบกันเพื่อคุยกันอย่างนี้ราวๆ ๘ ครั้ง มีเพียง ๓ ครั้งที่เราได้นั่งคุยกันนานๆซึ่งเป็นเวลาที่นานที่สุดที่เรานั่งคุยกันคือ ๑ ชั่วโมง แล้วเรื่องที่คุยก็ไม่ใช่เรื่องในตำราเล่มใดด้วย เพราะเป็นเรื่องสดๆเกี่ยวกับคนไข้และความเป็นคนที่เด็กสาวอย่างเธอมีอยู่ในตัวตน

อย่างที่ ๒ ที่ทำก็คือ ถามว่ามีอะไรติดขัดที่อยากให้ช่วย อยากไปเรียนรู้ที่ไหนจะส่งเสริมให้สะดวกในการเข้าไปเรียนรู้  เรื่องนี้ได้ทำเมื่อตัวฉันอยู่ที่กระบี่เท่านั้น ด้วยว่าช่วงนั้นฉันชีพจรลงเท้าไปโน่นไปนี่อยู่ตลอด ๒ เดือน รวมทั้งมาเจอพี่น้องกลุ่มเฮฮาศาสตร์ด้วย เวลาที่ได้อยู่ในร.พ. ก็แค่สัปดาห์ละ ๒ วันทำงาน

อย่างที่ ๓ ที่ทำก็คือ รับรองรายงานที่เธอต้องทำส่งมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนทุกวันศุกร์ ต้องลงลายเซ็นจริงลงในต้นฉบับ ซึ่งมีกำหนดเวลาส่งเป็นเส้นแดงมาด้วย รายงานนี้เธอพิมพ์ก่อนให้ฉันเซ็นรับรอง ได้ลายเซ็นแล้วเธอก็สแกนส่งไปยังหน่วยธุรการในมหาวิทยาลัยของเธอผ่านทางอีเมล์ ช่วงไหนฉันไม่อยู่ ฉันขอให้เธอทำรายงานส่งฉันก่อนวันศุกร์ เพื่อให้คำปรึกษาจุดที่ควรแก้ไขแล้วคืนให้ไป ช่วงไหนไม่สามารถอยู่เซ็นชื่อให้เธอได้ ฉันก็ใช้อีเมล์ติดต่อตรงไปที่อาจารย์ของเธอที่มหาวิทยาลัยโดยตรงว่าที่เธอส่งให้ที่เวลาเลยเส้นแดงนั้นเป็นตัวฉันเองที่ไม่สามารถอยู่เพื่ออ่านรายงานของเธอได้

อย่างที่ ๔  ที่ทำคือ แลกเปลี่ยนมุมมองกับเธอเพื่อให้เธอเห็นทางเลือกและตัดสินใจว่าเธออยากจะเรียนรู้อะไรบ้าง อะไรที่เธอไม่รู้ว่าใช่เรื่องที่เธออยากเรียนไหม ฉันก็แค่แนะไปว่า “ลองดูก่อน” ลองแล้วให้กลับมาบอกกันว่าเรียนรู้อะไร ได้อะไรที่เกี่ยวกับ “Health Equity” ที่เธอกำลังเรียนอยู่หรือเปล่า และเมื่อเธอไปสัมผัสพื้นที่เหล่านั้นเธอก็กลับมาเล่าทุกทีไปว่า “เธอได้”

ทุกอย่างที่เธอเรียน เธอค่อยๆเก็บสะสมตามความเข้าใจที่เธอทำการบ้านก่อนมาเมืองไทย และเวลา ๒ เดือนก็ผ่านไปเร็วมากสำหรับเธอและฉัน

mind map ถูกร่างขึ้นเพื่อใช้สอนเธอ อ๊ะ..อ๊ะ ไม่ใช่ฉันหรอกที่ร่าง mind map เธอต่างหากที่ฉันมอบหมายให้ไปเขียน

สิ่งที่เธอ “เห็น” ทุกอย่างเรียงร้อยมาให้ฉันรู้ในกระดาษแผ่นเดียว โจทย์เรียนรู้ที่ฉันให้เธอไปก็แค่ให้เลือกว่าคนไข้อะไรที่เธอจะใช้เป็นโจทย์เรียน “Health Equity” โจทย์เดียวจริงๆที่ให้การบ้านไว้

เธอขอเริ่มจากหน่วยฉุกเฉินก่อน ใช้เวลาครึ่งเดือนจึงยืนยันกับฉันว่า เธอจะเลือกกรณีอุบัติเหตุเพื่อเรียนรู้เรื่อง “Health Equity”

ห้องเรียนที่ฉันจัดไว้ให้เธอเรียนนั้น คือ ทุกๆที่ที่คนไข้ซึ่งเกิดอุบัติเหตุแล้วต้องผ่าตัดเดินไปใช้บริการของร.พ.ตั้งแต่เดินเข้าจนเดินกลับบ้าน มีแถมก็แต่ชวนเธอตามคนไข้ไปถึงบ้าน ถามแล้วเธอตอบรับก็ขึ้นรถไปกันทันทีนั้น

งานของเธอถูกส่งไปมหาวิทยาลัยตามกำหนดข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ  รายงานของเธอฉันแค่อ่านแล้วชี้จุดให้แก้เฉพาะที่เธอบันทึกข้อมูลของร.พ.ลงไปคลาดเคลื่อนจากความจริงเท่านั้น  เป็นการตรวจการบ้านที่ไม่ได้ใช้ปากกา ดินสอในกระดาษเลย ยกเว้น ช่องลายเซ็น ที่เซ็นให้บนแผ่นของวันศุกร์แรกแค่แผ่นเดียว

ครบ ๒ เดือนเวลาของการลาจากกันก็มาถึง พ่อแม่เธอพาตัวมาเยี่ยมถึงกระบี่ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนเราจากกัน  ฉันไม่ได้พบหน้าพ่อแม่เธอหรอก  รู้แต่ว่าเธอเป็นลูกสาวคนเดียวที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาแบบไข่ในหิน เพราะมาอยู่ซะไกลพวกเขาเลยตามมาดู

เมื่อเธอจากไปแล้ว เธอก็ยังส่งข่าวมาบ้างเรื่องการเรียนของเธอ เธอสัญญาไว้ก่อนจากกันว่าปลายปีนี้เธอจะกลับมาใหม่

วันนี้เธอส่งข่าวมาบอกความสำเร็จของเธออันมีเรื่องราวเบื้องหลังดังปรากฏในบันทึกนี้

ที่อยากจะบอกก็คือความสำเร็จของเธอสะท้อนฉันว่า “โรงพยาบาลของประเทศไทย” โรงเล็กๆโรงหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่กระบี่ มีระบบที่สากลยอมรับ แล้วอย่างนี้จะให้ไม่ “เย้…เย้” ได้ยังไง

เอาเรื่องนี้มาขึ้นบันทึกเพื่อขอให้ครูที่เข้ามาอ่านช่วยถอดบทเรียนว่าแค่เป็นครูแบบบ้านๆแถมไร้กระบวนท่าอย่างที่ฉันทำ ทำไมลูกศิษย์ได้ดีได้  อยากได้คำตอบในมุมของผู้สอนค่ะ ของดคำตอบว่า “ก็ลูกศิษย์เขาเก่ง” นะคะ

เธอส่งข่าวมาว่ายังไงอ่านเองค่ะ

Dear Dr Surat and Dr Sirirat,

I want to say a massive thank you for supporting me in my medical elective placement in Krabi Hospital last year! I submitted my end of placement report (the one that I did on Motorbike Accidents) to an organisation called HPMI (Hunter Postgraduate Medical Institute) that does educational events for General Practitioners here in Newcastle (their website is below) - and I won a prize for it!! They just sent me the email today to let me know!! I wanted to say thank you so much for your help and support and for all the valuable learning that I did when I was at Krabi Hospital. All the staff at the hospital were so generous with their time and helpful in my learning. Thank you especially Dr Sirirat for your dedication and the time that you spent discussing health issues and barriers with me. And thank you too Dr Surat for your encouragement and for allowing me to do this placement in the first place.

I cannot believe it has been a whole year since I was last in Krabi!! I am very much looking forward to coming back to Krabi this December to see you all again (only 2 more months to go now!!! I’m so excited!!)

Hope you are both having an absolutely excellent day!

Kind regards,
Nic

HPMI website: http://www.hpmi.org/site/index.cfm?display=34581

From: JW.
Sent: Tuesday, 5 October 2010 11:23 AM
To: Nic
Subject: 2009 HPMI Prize

Dear Nic

Each year, the top 8 Health Equity Selective reports are submitted to the HPMI Board for consideration of the HPMI Prize. I am pleased to advise that you are one of two recipients who have been awarded the 2009 HPMI Prize. The prize is valued at $500.

HPMI requests that the prize winners speak about their selective for approximately 5 minutes at the AGM which will be held in March, 2011. Further details will be sent to you closer to the date.

Could you please advise me by return email of your mailing address to where your Prize Certificate folder can be sent.

Congratulations on your win.

Regards

JW.

Administrative Officer, (Mon -Thurs)
School of Medicine & Public Health,
Faculty of Health,
University of Newcastle, N.S.W., 2308.

« « Prev : เรียนรู้อะไรอีกจากครูอินเดีย

Next : อยากให้ลอง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 ตุลาคม 2010 เวลา 23:06

    เป็นความน่ายินดียิ่งนัก ที่ได้ยินสิ่งที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ ยินดีด้วยครับ

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 เวลา 19:42

    น่ารักมากๆเลยค่ะ น่าชื่นใจและน่ายินดียิ่งทั้งครูและลูกศิษย์ การเรียนรู้อยู่ทุกที่และไม่จำเป็นต้อง”จำกัดความ”ให้รุงรัง…ยินดีจนอยากกอดแรงๆเลยล่ะค่ะ (พี่ตาออกประตูรพ.ได้มั้ยคะ หรือว่าเป็นแบบน้องปูกับพี่รุมกอดที่หน้าบานซะออกประตูโรงพิมพ์เกือบไม่ได้ ติดหูกับแก้ม อิอิอิ)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.63410210609436 sec
Sidebar: 0.60483884811401 sec