เรียนรู้อะไรอีกจากครูอินเดีย

อ่าน: 1860

ไม่ได้เล่าว่าที่ซึ่งได้พบท่านทูตพลเดช วรฉัตรเป็นครั้งแรกเป็นที่ไหน ที่นั่นเขาเรียกว่า IPCS มีชื่อเต็มว่า Institute of Peace and Conflict Studies  มาเยี่ยมที่นี่แล้วรู้สึกทึ่งไม่น้อย เมื่อมารู้ทีหลังว่าที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ชื่อ Jadavpur ชื่อนี้คุ้นๆนะลองนึกดู  ที่ทึ่งก็ตรงที่อินเดียใหญ่โตขนาดอนุทวีปเลยนะ แต่สถาบันนี้จึงสามารถทำงานแบบผู้เชี่ยวชาญอย่างที่เห็นได้ทั้งๆที่ขนาดไม่ใหญ่โตเลย ทำได้ยังไงหนอ น่าสนใจการบริหารองค์กรของเขาเนอะ

เพื่อนบ้านรอบข้างอินเดียต่างไปตรงจุดยืนเรื่องศาสนา เพื่อนบ้านคนสำคัญที่ยังบาดหมางก็เห็นจะไม่พ้นปากีสถาน และเขาก็เล่าให้ฟังว่าบาดหมางยังไงก็ยังคุยกันอยู่ ไม่ปิดตายช่องทางการได้คุยกัน  ระดับประเทศเขายังทำยังงี้กันเลย ไม่รู้ทำไมคนบ้านเราไม่เอาอย่างบ้างนะ

อินเดียฉายให้เห็นอนาคตที่หนีไม่พ้นเรื่องชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ในโลกนี้ ณ วันนี้นอกจากปากีสถานและบังคลาเทศแล้ว มุสลิมในอินเดียมีจำนวนอยู่ไม่น้อย ลองเอาร้อยละ ๑๒คำนวณจากจำนวนประชากรพันล้านคน ดูเหอะ ตัวเลขที่ออกมา ๒ เท่าประชากรประเทศไทยในวันนี้เลยนะ

วันนี้จำนวนมุสลิมในอินเดียยังขนาดนี้ ต่อไปอีก ๓๐ ปีแตกลูกหลานเหลนต่อไปชุมชนโตขนาดไหนนึกดู

บรรยากาศก่อน ระหว่าง และหลังแลกเปลี่ยน ตั้งใจกันมากแค่ไหน ยืนยันได้จากภาพค่ะ

มุสลิมในอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถานเหมือนกันที่ศาสนา แต่ต่างกันที่หลักคิด มุสลิมในปากีสถานมีหลักคิดเรื่องการสืบสายเลือด ผู้นำสูงสุดจะมีใครมาแทนที่ศาสดาไม่ได้นอกจากทายาทที่สืบสายโลหิตเดียวกัน หลักคิดแบบนี้เขาเรียกกันว่า “ชีอะห”

จะว่าไปแล้วที่ผู้เชี่ยวชาญของ IPCS เล่าให้ฟัง อินเดียมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ปัญหาที่อินเดียประสบมีพื้นที่อยู่ตามแนวชายแดนของประเทศ  เหนือเจอการก่อการร้ายข้ามพรมแดนมาจากปากีสถาน การก่อการร้ายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจัมมูร์แคชเมียร์  อีสานเจอการก่อความไม่สงบเช่นในรัฐเบงกอลตะวันตกรวมไปถึงพรมแดนด้านที่ติดกับบังคลาเทศ พม่า และจีน

ภัยด้านก่อการร้ายในประเทศของอินเดียมีเหตุมาจากความคิดต่างด้านการเมืองและความคิดต่างเรื่องศาสนาเป็นเรื่องหลัก

รัฐพิหาร ฌาขัณฑ์ เบงกอลตะวันตก โอริสสา ฉัตติสครห์ และอานธรประเทศ หรือเรียกว่าเขต Red Belt เป็นพื้นที่ที่อินเดียถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้ รากปัญหามาจากความคิดต่างทางการเมืองของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา (Maoists / Naxalite) ซึ่งปัจุบันมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

รัฐจัมมูร์แคชเมียร์  รัฐอัสสัม มณีปุระ และนากาแลนด์ และแนวพรมแดนปากีสถาน  KC Singh อดีตทูตอิหร่านของอินเดียซึ่งให้เกียรติมาถกกับพวกเราด้วยเล่าว่า รากปัญหาของการก่อการร้ายที่จัมมูร์แคชเมียร์มาจากหลักคิดที่ต่างด้านศาสนาระหว่างมุสลิมกลุ่มชีอะหกับศาสนาฮินดู

เมื่อ D Suba Chandran นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความมั่นคงภายในของปากีสถานซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานในพื้นที่จัมมูร์แคชเมียร์มาตลอด เติมความเข้าใจให้อีกว่าขนาดของจัมมูร์แคชเมียร์กว้างขวางแบ่งได้เป็น ๓ ภาค ผู้คนที่นี่ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธด้วย แล้วยังมีพรรคการเมืองถึง ๓ พรรคอยู่ในพื้นที่ ก็ทำให้เห็นภาพปัญหาของพื้นที่จัมมูร์แคชเมียร์ชัดขึ้นว่าซับซ้อนไม่เบาทีเดียว

เรื่องของการก่อการร้ายเริ่มต้นจากรัฐจัมมูร์แคชเมียร์ขยายผลนำสู่การก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนเกิดหลังจากทั้งอินเดียและปากีสถานเป็นเอกราชจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แล้วอเมริกาเข้ามาถือหางเสือปากีสถาน อินเดียมีโซเวียตรัสเซียคอยถือหางเสืออยู่  ๒ ประเทศตกลงกันไม่ได้เรื่องเส้นแบ่งแนวเขตแดน จนแม้โซเวียตจะล่มสลายไปแล้วข้อตกลงก็ยังไม่ยุติ มาวันนี้เหตุร้ายนี้แผ่ลามออกนอกพื้นที่เรื่อยๆแล้ว เกิดเลาะแนวชายแดนไปด้วยเพื่อครอบคลุมให้ทั่วอินเดีย

สีเขียว คือ พื้นที่ความไม่สงบในอินเดีย สีเหลือง คือ เมืองสำคัญที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของอินเดีย

นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มาจนทุกวันนี้อินเดียจึงมีวาระของการจับเข่าคุยกับปากีสถานอยู่เรื่อยๆเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์และตกลงความขัดแย้งต่างๆ การเจรจามีการหยุดชะงักไปเหมือนกันเมื่ออินเดียรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่จริงใจ เหตุการณ์ที่มุมไบคือวาระล่าสุดที่ทำให้หยุดคุยกันไป เหตุผลคืออินเดียรู้สึกว่าปากีสถานไม่จริงใจก็เลยไม่จริิงจังกับการกวาดล้างค่ายผู้ก่อการร้ายที่เป็นศูนย์กลางของญิฮาดลิซึมในประเทศของตน

หยุดคุยกันไป ๒ ปี แล้วก็เริ่มหันกลับมาคุยกันใหม่ในปี ๒๕๕๓ นี้เอง ครั้งล่าสุดที่เพิ่งคุยกันไปก็ในช่วง ๓ เดือนก่อนที่ ๔ส.๒ จะไปเยือนนี่เอง

ผู้เชี่ยวชาญเขาเล่าว่าประสบการณ์ที่เพื่อนบ้านสอนทำให้อินเดียหันกลับมาใคร่ครวญถอดบทเรียน การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทำให้อินเดียหันกลับมาปรับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านซะใหม่ ปรับแต้มคูด้านการต่างประเทศมาเป็น Look East มากขึ้น

วางเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงตรงที่จับมือกับเพื่อนบ้านในเอเชียฉันท์เพื่อนช่วยกันตรึงไม่ให้อเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกรุกคืบ พร้อมๆไปกับการสามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายตามแนวชายแดนของอินเดียเองได้ด้วย

อินเดียอยากเป็นมหาอำนาจในเวทีโลก เป็นสมาชิกถาวรในคณะความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ…เฮ้อ…ฝันอะไรนะ…ชัดมากเลยเมื่อเทียบกับบ้านเรา…ฝันแล้วยังลงมือทำฝันให้เป็นจริงด้วยนะเออ..ทั้งๆที่รัฐบาลกลางเขาเป็นพันธุ์ผสมมาจากพรรคการเมืองถึง ๑๑ พรรคนะนี่….อิจฉาจริง….เฮ้อๆๆๆ

เกือบลืมเล่าไปแล้วว่าประเทศใหญ่ขนาดนี้มีทหารอยู่เท่าไร  เห็นตัวเลขจำนวนทหารของอินเดียแล้วฉันหนาวเลยหละ ก็เทียบกันดูแล้วกำลังพลทั้งประเทศที่เขามีนั้นน้อยกว่าจำนวนคนไทยที่เสี่ยงกับการเป็นเบาหวานที่กระทรวงสาธารณสุขของฉันกำลังเร่งสปีดทำงานกันหัวปั่นเพื่อลดจำนวนลง  กำลังพล ๑,๓๒๕,๐๐๐ คนที่อินเดียมีนั้นทำให้กองทัพอินเดียใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลกเลยนะเออ แล้วจะไม่ให้ฉันรู้สึกหนาวได้ยังไงนะเออ

๖ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ตื่นเต้นที่ได้เจอตัวจริง

Next : เย้..เย้..ดีใจ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เรียนรู้อะไรอีกจากครูอินเดีย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030813932418823 sec
Sidebar: 0.2034969329834 sec