ตื่นเต้นที่ได้เจอตัวจริง

อ่าน: 1548

ระหว่างรอให้ผู้เชี่ยวชาญมากันครบ พวกเราก็มีการเล่นเก้าอี้ดนตรีสลับเก้าอี้กันหลายรอบ จนกระทั่งมีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องด้วย ไม่รู้ว่าเป็นใครหรอก จนกระทั่งการสานเสวนาอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้น ลุงเอกแนะนำว่าชายดังกล่าวคือ ท่านทูตพลเดช วรฉัตร พอได้ยินชื่อฉันหูผึ่งเลยเชียว คุ้นๆว่าเคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน นึกไปนึกมาก็อ้อ…เคยผ่านตาเห็นท่านใน G2K นี่เอง

ไม่เคยคุยกันผ่านบล็อก ได้แต่แอบรู้จักท่าน วันนี้เจอตัวจังๆ  ด้วยศักดิ์และฐานะของท่าน ไม่กล้าเข้าไปทักทายเลยอ่ะ ได้แต่แอบลุ้นเท่านั้นเองว่าจะมีโอกาสได้คุยกับท่านบ้าง

ระหว่างการสานเสวนาดำเนินไป ฉันไม่รู้เลยว่ามีเพื่อนๆป่วย มาูรู้อีกทีก็มีบางคนหายไปแล้ว รู้มาภายหลังว่าชวนกันไปนอนพักที่สถานทูต รอกันอยู่ที่นั่น

ตอนเดินเข้าไปเป็นบรรยากาศอย่างนี้ เจอบรรยากาศในห้องเป็นอีกอย่าง เผลอสนุกนอนดึกกันมาก่อนด้วย เลยเดี้ยงกันไปหลายคน

ท่านทูตให้เกียรติเรามาก อยู่ร่วมฟังการสานเสวนากับเราด้วยจนกระทั่งการแลกเปลี่ยนในห้องประชุมจบลง ก่อนที่ท่านจะผละไป ท่านบอกว่าไว้ไปที่สถานทูตแล้วจะมีรายละเอียดมาเล่าให้ฟัง

ทีมนักวิชาการที่มาคุยให้เราฟัง เขามีข้อมูลเชิงลึกในหลายแง่มุมในงานของเขาจริงๆ  เขาจับเอาภัยคุกคามออกมาแตกเป็นประเด็นให้เราฟังได้เป็นฉากๆ  ทั้งเรื่องแคชเมียร์ ลัทธิเหมา  การก่อความไม่สงบในทุกแคว้น

เขามีผู้เชี่ยวชาญตามเรียนรู้ ตามวิเคราะห์เหตุการณ์หมดทุกพื้นที่  เขาไม่ได้แค่วิเคราะห์เพื่อใช้สอนเท่านั้น แต่เขาทำหน้าที่เป็นคลังสมองให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลด้วย และรัฐบาลก็ฟังเขาด้วย และรัฐบาลก็ไม่ได้ทำตามเขาไปทุกเรื่องหรอก

ความเป็นองค์กรอิสระของเขา ไม่ได้ใช้งบประมาณหนุนจากรัฐบาล แต่เป็นงบแบบกองทุนบริหารจัดการในรูปมูลนิธิซะมากกว่า

เขาเล่าว่าการควบคุมการก่อการร้ายที่นี่ใช้กำลังทหารด้วย เขาให้เหตุผลว่าใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ ไม่ได้ใช้เพื่อเผชิญหน้า

เขาพูดชัดว่าการใช้กำลังทหารจำเป็นสำหรับการมีภัยคุกคามลักษณะนี้

ในการแลกเปลี่ยน สานเสวนา ท่านทูตพลเดช วรฉัตร  มานั่งเป็นกำลังใจให้เราด้วย

อินเดียมีจุดดูแลความมั่นคงอยู่รอบตัว ๔ จุด ทุกจุดเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นเมืองท่าริมฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โกลกาตาที่เราผ่านไปดูงานมาแล้วเป็น ๑ ใน ๔ จุดที่มีหน่วยความมั่นคงตั้งอยู่  อีก ๓ จุดอยู่ที่ เจนไน ไฮเดอราบัด และ มุมไบ

นอกจากหน่วยงานความมั่นคงที่อยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์แล้ว เขายังจัดระบบการข่าวที่รวดเร็วไว้ด้วย ในภาษางานของฉันเรียกมันว่า SRRT หรือ survellance rapid response team ทำหน้าที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเรื่องการข่าวค่ะ  เร็วในการลงไปพื้นที่ เพื่อค้นหาคำตอบของเหตุการณ์ หน้าที่สืบข่าวเพื่อวิเคราะห์ต้นเหตุและลงมือแก้ให้ทันท่วงทีเป็นของคนในทีมนี้

ระบบการข่าวที่เร็วของอินเดียเขามีระบบคล้ายๆการทำงานแบบ SRRT ของฉัน เขามีหน่วยงานที่เรียกว่า หน่วยสอบสวนกลางแห่งชาติทำหน้าที่บัญชาการ มี quick response Team และ special intervention unit ทำงานอยู่ในรัฐต่างๆ คอยตอบโต้การก่อการร้ายให้ทันท่วงที มีระบบประสานงานด้านการข่าวจากรัฐบาลแห่งรัฐไปยังรัฐบาลกลางด้วย

การตอบโต้เพื่อลดอิทธิพลความเชื่อของลัทธิเหมาเขาใช้วิธีพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปรับปรุงวิธีประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐพื้นที่

คุยกัน ๒ ชั่วโมง มอบของที่ระลึกแล้วย้ายมาคุยตัวต่อตัวก่อนลากลับ เขาเลี้ยงเราง่ายๆดี มีแค่บิสกิตหยิบเอาเอง ชงกาแฟ-ชาเอง

เรื่องที่เขาเล่าว่าท้าทายที่สุด เ็ป็นเรื่องปากีสถาน ประสบการณ์จากการมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับปากีสถาน และบทเรียนจากการก่อการร้ายทำให้เขาหันมามองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ

ณ วันนี้ทิศทางของการเมืองและการพัฒนาประเทศของอินเดียจึงคิดถึงการปรับดุลยภาพของการมีความสัมพันธ์ร่วมกันมากขึ้น ไม่ลำเอียงเข้าข้างใครข้างใดข้างหนึ่งเกินไป

ฟังเขาแล้วรู้เลยว่าเพื่อนบ้านตามพรมแดนอย่างเช่นพม่า บังคลาเทศ และปากีสถานสอนบทเรียนด้านการเมืองให้อินเดียเกิดปิ๊งแง่มุมใหม่ในการพัฒนาประเทศและกำหนดนโยบายทางการเมือง การสานสัมพันธ์ที่มากขึ้นกับเพื่อนบ้านเหล่านี้จึงเกิดขึ้น

เรื่องที่ยากที่อินเดียมองอยู่คือบทบาทของอเมริกาที่ยื่นมือเข้ามายุ่งกับการจัดการเรื่องการก่อการร้าย

รับรู้วิธีคิดของคนอินเดียระดับมันสมองที่นี่แล้ว ต้องร้องเฮ้อในใจ ทำไมไม่เห็นบ้านเรามีระบบงานวิชาการที่เป็นคลังสมองเพื่อประเทศบ้างเลย บ่นแล้วก็นึกขึ้นมาได้ ไม่ใช่ซิ บ้านเรามีนี่ไงคนหนึ่งในคลังสมองบ้านเรา

ลอดแว่นมองวิธีคิดของอินเดียด้านความมั่นคงผ่านภูมิรัฐศาสตร์

๖ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : พบคนสำคัญเข้าแล้ว

Next : เรียนรู้อะไรอีกจากครูอินเดีย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กันยายน 2010 เวลา 21:47

    แน่ ได้เจอท่านทูต พลเดช วรฉัตรแล้ว

    เทิ้อคืนมีข่าวอินเดียในเมืองไทยด้วยคือ อินเดียกำลังจะจัด กีฬาเครือจักพบอังกฤษ แต่นักข่าวเข้ามาสำรวจความพร้อมพบว่า ไม่มีความพร้อมเลยโดยเฉพาะที่พัก สกปรกมาก ทำให้หลายประเทศจะยกเลิกไม่มาร่วม รัฐบาลอินเดียเดือดร้อนมากรีบจัดการแก้ปัญหานี้ และยืนยันทุกประเทศว่าแก้ปัญหาทัน..

    นักข่าวถ่ายรูปมาให้ดูน่าตกใจเหมือนกันว่า สถานที่พักที่กำลังจะจัด ทำไมมันสกปรกมากมายอย่างนั้น
    เดินทางไปนี่เห็นความสกปรกไหมครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กันยายน 2010 เวลา 22:19

    เรื่องนี้น่าจะเป็นเกมกดดันอินเดียของบรรดาชาติที่เคยมีส่วนปกครองอินเดียในอดีตส่วนหนึ่งนะคะพี่

    ถ้าใช้ห้องน้ำวัดความสกปรก ที่สกปรกที่สุดก็อย่างที่ถ่ายภาพมาให้ดูที่วัดพระลักษมีนาพี่นา

    ความสกปรกที่โดนกล่าวหา น่าจะเป็นเรื่องขยะที่เกลื่อนไปหมด กับสภาพบางแห่งที่มีสัตว์มาอยู่ปะปนกับคน

    และการมีขอทานเกลื่อนเมืองมั๊งค่ะ ซึ่งอินเดียไม่มีทางจัดการให้เรียบร้อยได้แน่นอน

    ด้วยหลักความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างมีเทพสิงอยู่ พวกเขามีเมตตาสูง และจะไม่ทำร้ายสัตว์

    แค๊มป์ก่อสร้าง มีแต่ฝุ่นเต็มไปหมด มันสกปรกอยู่แล้วในสายตาชาวตะวันตก

    นึกถึงภาพแค๊มป์ก่อสร้างที่อยู่ข้างถนนลูกรังที่กำลังทำถนนแบบสมันก่อนดูเหอะพี่ สภาพเป็นอย่างนั้นแหละค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.044785976409912 sec
Sidebar: 0.15971207618713 sec