“รักษาความสงบ” “แก้ไขความขัดแย้ง”

โดย สาวตา เมื่อ 18 เมษายน 2010 เวลา 22:05 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1109

จบตอนของการทำความเข้าใจความหมายแรกของสันติวิธีแล้ว อ.ดร.มาร์ค ตามไท (สสสส. ๑ )ก็ชวนคุยต่อกับความหมายอีก ๒ มุมของสันติวิธี

สันติวิธีในแง่ของการรักษาความสงบ เป็นความหมายต่อมาที่นำมาคุยกัน ซึ่งก็มีคำถามเรื่องความเป็น “สากล” ว่าเป็นอย่างไร

วิธีต่างๆที่ใช้  มีทั้ง ใช้ม้าชน ใช้น้ำฉีด เปิดเสียงให้หูอื้อ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นวิธีที่ขึ้นกับแต่ละสังคมจะหาวิธีของตนมาเอง ส่วนจะถือว่าสันติหรือไม่อยู่ที่ความเห็น เช่น ใช้น้ำฉีดถ้าแรงแล้วทำให้เจ็บก็มีคนถือว่ารุนแรงได้ เฮ้อ! ฟังแล้วนึกไปถึงกิเลสคนที่มีต่างๆนาๆ จริงๆนะ

มีประเด็นของกฏหมายและการบังคับใช้กฏหมายกับคนจำนวนหลายแสนคนในเรื่องของการรักษาความสงบ ที่เกิดปรากฏการณ์ของกฏหมายทำอะไรไม่ได้เมื่อร้อยละของประชากรถึงระดับที่ทำให้ทุกอย่างหยุดหมด  อาจารย์ชี้ว่า ที่กฏหมายทำอะไรไม่ได้ เพราะกฏหมายเขียนขึ้นเพื่อใช้กับคนจำนวนน้อย  เรื่องนี้เมื่ออาจารย์พูดขึ้นมา ฉันเพิ่งสะดุดใจกับความรู้ของตัวเองแฮะ  อ้าว หลงเข้าใจมาตั้งนานว่ากฏหมายเขียนขึ้นมาใช้กับคนส่วนใหญ่ นี่เข้าใจผิดไปอย่างนั้นหรือเรา

การเลือกสันติวิธีมาใช้ จะใช้วิธีอะไร อย่างไร อาจารย์แลกเปลี่ยนว่า “อยู่ที่คนชอบอะไร”

อาจารย์บอกว่า การเจรจาเป็นวิธีหนึ่งถ้ามีประโยชน์ แล้วควรเป็นการเจรจาที่ไม่มีกรอบ เพื่อคู่เจรจาจะได้ร่วมกันกำหนดกรอบที่ต่างคนต่างรับได้

เวลาต่อมาอาจารย์ก็ทำความเข้าใจกับความหมายสุดท้ายของสันติวิธีที่เข้าสมัย “สันติวิธีในแง่ของการแก้ไขความขัดแย้ง”

อาจารย์เน้นว่าความหมายนี้  “สำคัญสำหรับทุกคนในหลักสูตร” เชียวนะ  ความสำคัญที่ว่านี้ไม่ใช่รูปแบบหรือลักษณะ หากแต่เป็น “องค์ความรู้”

อาจารย์ชี้ว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีการเปลี่ยน การปล่อยให้เป็นรูปแบบธรรมชาติไม่เหมาะแล้ว

อาจารย์ยกตัวอย่างว่า บริบทของสถาบันพระปกเกล้าที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสของการใช้สันติวิธีแบบนี้ ในวันที่มีเหตุการณ์นั่งโต๊ะเจรจา สถาบันฯได้ช่วยลดความขัดแย้งที่แก้ได้เฉพาะคู่

อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องคู่ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับครูด้วย แต่ฉันฟังไม่ถนัด มัวแต่ใช้ความคิดกับเรื่องความขัดแย้งในที่ทำงานที่เคยเผชิญมาก่อนหน้า..อิอิ  มาได้ยินอีกที ก็ตรงที่อาจารย์บอกว่า กรณีอย่างนี้มีเรื่องเยอะ การเจรจาต้องลงลึกแบบ specilazed

แล้วอาจารย์ก็ตั้งคำถามชวนคุยว่า “การทำให้ความขัดแย้งหายไป ( Conflict resolution) เป็นการแก้ความขัดแย้งจริงหรือเปล่า” “การคงอยู่ของความขัดแย้งเป็นความเสียหายหรือเปล่า” ไม่มีคำตอบค่ะ อาจารย์ปล่อยให้หาคำตอบเอาเอง

อาจารย์ยกคำมาทำความเข้าใจอีกคำ “Conflict management” คือ การจัดการแบบสันติวิธีที่ทำให้ไม่รุนแรง

แล้วอาจารย์ก็โยนตัวกวนให้อึ้งอีกตัว ใครกล้าตอบตัวเอง ตอบเลยนะคะ คำถามนั้นคือ “การบริหารความขัดแย้งตามความต้องการ เป็นการกลบปัญหาหรือเปล่า”

อาจารย์วิเคราะห์ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่อึดอัดกับการเผชิญหน้า ทำให้ดีกันแบบหลอกๆ กลบปัญหาหรือเปล่า คิดดู

อืม แค่ศัพท์ ๒ คำที่อาจารย์นำมาเล่าให้เกิดความเข้าใจ มันก็น่างง ใช่ไหม ยังค่ะยังไม่หมดคำศัพท์ อีกคำที่เข้ามาทำให้งงๆต่อคือ คำนี้ค่ะ “Conflict transformation”  คือ การแปลเปลี่ยนรากเหง้าของความขัดแย้งเพื่อให้การแก้ไขความขัดแย้งอยู่อย่างยั่งยืน โอ้โห อ่านถึงตรงนี้แล้วท่านคิดยังไงบ้าง วิธีล่าสุดนี่เป็นวิธีที่ท้าทายผู้ทำงานในแวดวงของการจัดการความขัดแย้งนะ รู้สึกไหม

อาจารย์ทำความเข้าใจต่อว่า การกลบปัญหาที่บางกลุ่มใช้ กลุ่มสิทธิจะไม่โอด้วย การใช้ในกรณีเฉพาะคู่อาจจะโอ วิธีนี้มักจะใช้ในกรณีความขัดแย้งในสังคมอันตราย

อาจารย์บอกว่าการแก้ไขความขัดแย้งทำยาก เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่พร้อมจ่าย มูลค่าที่จ่ายหมายถึงการทบทวนตัวเองกับการจัดการของสังคม ถ้าไม่พร้อมเปลี่ยนก็แก้ไขไม่ได้ องค์ความรู้ใช้ได้หรือเปล่า ก็ไม่มีคำตอบค่ะ

มีโจทย์ที่อาจารย์โยนให้ช่วยกันเรียนค่ะ ท่านที่เข้ามาอ่านลองภูมิตัวเองและเหลียวมองรอบตัวดูนะคะ อ้อ อย่าลืมดูตัวเองด้วย คำถามมีว่าอย่างนี้ค่ะ “สังคมไทยใช้สันติวิธีอย่างไร” “คนไทยพร้อมเปลี่ยนเพื่อให้อยู่กันอย่างสันติหรือเปล่า”

อาจารย์เล่าว่า สำหรับนักสันติวิธี การทำแบบนี้ เรียกร้องความรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทยและความเข้าใจการปกครองของไทยไปด้วยกัน

อาจารย์คุยให้ฟังว่า สังคมไทยไม่มีพื้นฐานวัฒนธรรมให้เข้าถึงข้อมูลข้าราชการไทย การเกิดกติกาหลายๆอย่างในสังคมไทยเกิดจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ ยังไม่ใช่ Conflict transformation แต่เป็นวัฒนธรรมทางอำนาจ  ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้ไม่ไ่ด้ อาจารย์ใช้คำว่า “ยักษ์ออกจากขวดแล้ว ใช้กำลังไม่ได้”

ในแง่ของการจับตาว่ามีสันติหรือไม่ อาจารย์บอกว่าเวลาถามหา ไม่ใช่ถามเรื่องการใช้ แต่ให้ดูที่ผล ผลอาจยังไม่ดีอย่างที่อยากได้ ที่ผลยังไม่ดีอย่างที่อยากได้เพราะว่าพัฒนาการอยู่ที่แต่ละคน

การหารากเหง้าเป็นการคุย เป็นการเปลี่ยนเพื่อหาวิธีอยู่ในอนาคต ไม่เกี่ยวกับนักวิชาการ  ฟังมาถึงตอนนี้แล้ว ฉันแวบถึงนิทานเรื่องฝูงนกกระจิบขึ้นมาในทันใด แวบแล้วก็กลับมาฟังอาจารย์ต่อ

อาจารย์แลกเปลี่ยนเรื่องการเจรจาว่า ควรมีการแบ่งช็อตลับกับการบอกสาธารณชน การคุยคู่กัน สามารถมีพยานรับรู้ เป็นพยานที่เป็นที่ปรึกษาได้ด้วยยิ่งดี ข้อสำคัญคือ ต้องอยากทำ และมีวิธีที่จะทำ ผสมกัน ๒ ประการจึงเกิดได้  อาจารย์ให้เหตุผลเรื่องช็อตลับว่า การแก้ไขความขัดแย้งที่กระทำต่อหน้าสาธารณะทำไม่ได้ เพราะว่าในการหาทางออกนั้นเป็นเรื่องการสร้างสรรค์ การหาทางออกร่วมกันสดๆในบางครั้งจะไม่เหมาะเพราะคิดไม่รอบคอบได้

อาจารย์ยังเล่าตัวอย่างของพัฒนาการการแก้ไขความขัดแย้งว่า เมื่อมีการเจรจาเกิดขึ้น แต่ละครั้งของการเจรจาถือเป็นการเจรจาใหม่ เป็นบริบทเฉพาะ

มีตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาทำความเข้าใจบริบทเฉพาะ เช่น กรณีการเก็บภาษีที่ปัตตานีที่เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ปัตตานีไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐ แล้วมีเหตุเกิดในปี ๑๙๐๙  ตำรวจไปปิดล้อมแล้วมีการปะทะกัน คนเสียชีวิตจำนวนมากในปี ๑๙๑๓ ตามมาด้วยเหตุการณ์ก่อการร้ายประปราย ร.๖ ทรงพระราชทานพระราโชบายให้ไปปฏิบัติ ๖ ข้อ หนึ่งใน ๖ ข้อคือ ไม่ให้เก็บภาษีเกินกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเพื่อนบ้านที่ว่าคือ มลายู ซึ่งไม่มีการเก็บภาษี คนไปเจรจาก็เลือกข้าราชการที่เข้าใจวัฒนธรรมมลายู

แล้วอาจารย์ก็เล่าให้ฟังเรื่องจรรยาบรรณ ใครอยากรู้ว่าเป็นเรื่องอย่างไร ติดตามอ่านในบันทึกต่อไปค่ะ

อาจารย์ได้เบี่ยงมุมหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาให้เอ๊ะว่า ปัจจุบันชุมชนเรียกร้อง แล้วบอกว่าใช้สันติวิธีนั้น มองเห็นเนื้อหาสาระว่าคืออะไรกันบ้างมั๊ย ถ้าตามดูในตัวอย่างที่ยกมาเล่าข้างบนแล้วนั้น สิ่งที่เห็นไม่ใช่สันติวิธีของแท้ การให้คะแนนสอบผ่าน-สอบไม่ผ่านของสังคมกำลังบอกอะไรอยู่หรือเปล่า

อาจารย์ให้ความเห็นว่า เรื่องยากของการจัดการคือ การพัฒนาสันติวิธีให้เกิดในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน การข้ามกลุ่มทำยากเพราะว่าสันติวิธีไม่มีอะไรที่เรียกว่า “เรื่องสากล”

การจบลงของอาจารย์ด้วยคำถามว่า “ที่เห็นๆอยู่ สันติวิธีเป็นการสร้างฉากให้ดูดี หรือเปล่า” ทำให้ฟังแล้วอึ้งเหมือนกันมั๊ยค่ะ

๘ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : อารยะขัดขืน

Next : จรรยาบรรณของนักสันติวิธี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "“รักษาความสงบ” “แก้ไขความขัดแย้ง”"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.064423084259033 sec
Sidebar: 0.30250906944275 sec