อารยะขัดขืน
กลับถึงบ้านในวันเสาร์แล้ว วันอาทิตย์และวันจันทร์ก็มีงานรับเสด็จฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ในหน่วยพอสว. วันอังคารเป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันจักรี วันพุธสะสางงานเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่โรงอาหารเอกชนในรั้วร.พ.และวางขั้นตอนการตรวจสุขภาพประจำปีกับลูกน้องเพื่อลงมือดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ร.พ.เมื่อวันเปิดหลังปีใหม่ไทย แล้วก็เตรียมเดินทางเพื่อเข้ามาเรียน สสสส.๒ เป็นสัปดาห์ที่ ๒
เช้าวันเดินทางอากาศสดใส ฟ้าใสไร้เมฆ
คราวนี้เดินทางเช้าวันพฤหัสแทนวันพุธเย็น ถึงเมืองกรุงมีเวลาให้พักคลายเหนื่อยราวๆชั่วโมงเศษก่อนเข้าเรียน บ่ายของพฤหัสที่ ๒ นี้เรียนกับอาจารย์ดร. มร์ค ตามไท ผอก.สถาบันวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ในหัวข้อ “สันติวิธีในสังคมไทย การรับรู้และความเข้าใจ” ค่ะ
บรรยากาศยามเที่ยงของลานใต้ถุนอาคารศูนย์ราชการ
แต่ก่อนที่อาจารย์ดร.มาร์ค จะมาถึง อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ได้ใช้เวลาระหว่างรอ ทำความเข้าใจการประเมินผลของหลักสูตรให้นักเรียนโข่งได้ทราบนัยยะที่แฝงอยู่ภายใต้คำถามในแบบประเมิน ดำเนินการไปได้สักครู่ อ.มาร์คก็มานั่งร่วมฟังด้วย เมื่อคำชี้แจงจบลง ก็ถึงตาอ.มาร์ค ขึ้นเวทีทำหน้าที่แทน ซึ่งอาจารย์ก็ปรารภว่า รู้สึกกดดันหลังจากได้รู้ว่ามีเจตนาอะไรอยู่บ้างในแบบประเมิน แล้วก็ลงมือสอน
นัยยะที่แฝงอยู่ในแบบประเมิน
เริ่มต้นด้วยคำถามชวนคิด “สันติวิธี” “ความสามัคคี” มีลักษณะคล้ายกันอย่างไร อาจารย์พูดชวนให้คิดเรื่อง “คุณค่า” ด้วยว่าคำเหล่านี้มีการใช้กันมาตลอดจนติด ใช้แ้ล้วลืมนึกถึงคุณค่าว่ามีอย่างไรหรือเปล่า
ในมุมมองของอาจารย์ “สามัคคี” ไม่ใช่เครื่องวัดที่ใช้ตัดสินว่ามีคุณค่าดีไม่ดีอย่างไร ไม่ว่าคุณค่าบวกหรือลบ แต่แท้จริง มันเป็นแค่ “กระบวนการของการทำงานเพื่อไปยังจุดมุ่งหมายของผู้ที่ใช้คำๆนี้”
ส่วนเรื่องของ “สันติวิธี” อาจารย์เล่าว่า “ไม่จำกัดเป้าหมาย เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายคนละด้านก็ได้โดยคุณค่าไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายปลายทาง” แล้วสรุปว่า “สันติวิธีเป็นวิธี”
อาจารย์ยกตัวอย่างของเหตุการณ์การชุมนุมคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน ทำความเข้าใจเรื่องวิธีว่ามีความหมายต่างกันอยู่ ๓ ความหมาย
ประเด็นแรก : คนกลุ่มหนึ่งอยากชุมนุมกันและต่อสู้ เรียกร้อง รวมตัวกัน (ชุมนุมอย่างสันติ)
ประเด็นที่ ๒ : สันติวิธีในแง่ของการรักษาความสงบ (รักษาความสงบโดยไม่ใช้ความรุนแรง)
ประเด็นที่ ๓ : สันติวิธีในแง่ของการแก้ไขความขัดแย้ง (พยายามจัดการโดยใช้หลักสันติวิธี)
ทั้ง ๓ ประเด็น เป็นวิธีที่มีเรื่องยากอยู่เบื้องหลัง มีความไม่ชัดอยู่เบื้องหลัง จะไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไร ความไม่ชัดเป็นเพราะเป็นเรื่องใหม่ ถ้านานไปอาจจะชัดเมื่อเข้าใจขึ้น
ในแง่ของการต่อสู้เรียกร้องในสังคมไทย อาจารย์แลกเปลี่ยนว่าเริ่มใช้ตั้งแต่สมัชชาคนจนแล้ว ที่คนรู้สึกเหมือนความต้องการไม่ได้รับการตอบสนองตามขั้นตอน แล้วอาจารย์ก็พาไปเรียนเรื่อง “อารยะขัดขืน”
รังนกกระจอกหน้าห้องเรียนซึ่งใช้ประโยชน์สารพัดในการจัดการให้กับบรรดานักเรียนโข่ง
Civil disobedience ( ดื้อแพ่ง อารยะขัดขืน หรือวิธีแสดงออกของประชาสังคม) คำๆนี้มี ๓ ความหมายที่ขึ้นกับ Civil เอง (อาจารย์เล่าว่า มีการถกกันมาตลอดเรื่องความหมาย)
civil อาจจะเป็นกฎหมายก็ได้ เช่น กฎหมายแพ่งที่ไม่เหมาะ ไม่เห็นด้วย แล้วมีคนดื้อไม่ยอมรับ ไม่ทำตามเพื่อกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐสภา การไม่ทำตามนี้เป็นการกระทำแบบมีมารยาททั้งๆที่ไม่ทำตามกฎหมายบ้านเมือง เป็นวิธีการแสดงออกในการเรียกร้อง แสดงการไม่แสดงออกในประชาสังคม
เป็นการขัดขืนแบบสันติ กระบวนการแบบนี้ คนเป็นข้าราชการมาแสดงออกไม่ได้ หน่วยงานของรัฐทำไม่ได้ ดื้อแพ่งกับตัวเองไม่ได้
ในกรณีตัวบุคคลที่เป็นข้าราชการออกมาแสดงออกแบบเป็นปัจเจกก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในมุมของการพัฒนาประชาธิปไตย ถือเป็นการให้การศึกษาแก่สังคม ยอมรับโทษที่จะตามมา คนทำทำด้วยจิตใจที่มั่นคง มีเป้าหมายทางบวกไม่ใช่แค่ทางลบ
อาจารย์ชี้ให้มองว่า การชุมนุมเรียกร้องไม่มีกรอบ กรอบมีแต่วิธี มีประโยชน์แก่สังคมมั๊ย ประเด็นการเรียกร้องเป็นตัวบอกให้รู้
อาจารย์ให้ข้อคิดว่า “ในเรื่องของอะไรก็แล้วแต่ที่เปลี่ยนด้วยระบบปกติไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ไป จะมีคนนำอารยะขัดขืนมาใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสำเร็จทุกเรื่อง นี่ก็เป็นกรณีของการมีประโยชน์”
มีเรื่องราวของการเรียกร้องที่เป็นเรื่องใหม่ไปสำหรับสังคมในตอนที่ลงมือใช้อารยะขัดขืน ที่อาจารย์ยกมาเล่าให้ฟัง ๒-๓ เรื่องค่ะ
เรื่องแรกเป็นเรื่องของกฏหมายสตรีในบางประเทศ สตรีขอมีสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่ในสภามีแต่ผู้ชายเต็มไปหมด เสนอกฏหมายกี่ครั้งก็สำเร็จไม่ได้ การเรียกร้องก็ทำแล้วทำอีก อาจใช้เวลาถึง ๑๕ ปี ด้วยวิธีอารยะขัดขืน แล้วมีกฏหมายขึ้น ทำให้สตรีได้สิทธิเลือกตั้ง
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องสหภาพแรงงาน ควรมีหรือเปล่า ถ้ามีสหภาพแรงงานก็จะเป็นตัวต่อรองกับฝ่ายทุน แต่คนทำงานถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานเพื่อการต่อรอง จึงใช้อารยะขัดขืนเรียกร้อง ก็ทำให้ปั่นป่วน จนในที่สุดก็เกิดมีได้และถือเป็นปกติ
เรื่องที่ ๓ กรณีของสีผิว ในบางพื้นที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งโดยใช้เรื่องผิวกำหนด กว่าจะได้สิทธิมา ก็ต้องต่อสู้เืพื่อให้ได้สิทธิมา ก็ใช้อารยะขัดขืนจนได้สิทธิ
แล้วอาจารย์ก็วกกลับมาป้อนโจทย์เรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดงให้คิด “การเรียกร้องนี้ มีพื้นที่ให้พัฒนาประชาธิปไตยในระบบปกติหรือเปล่า”
มุมมองของอาจารย์มองเห็นอย่างนี้ค่ะ การออกมาทำอะไรนอกสภา เป็นการให้การศึกษาทางสังคม เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น คนเข้าใจก็จะเข้าไปในสภา เมื่อคนเข้าใจเข้าไปสู่สภาก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
อาจารย์สรุปว่าทั้งหมดเป็นยุทธวิธี ขณะทำ ทำอยู่ในกรอบสังคมมีระเบียบ การทำก็ไม่ได้สนับสนุนอนาธิปไตย ทำโดยยอมรับโทษด้วยความหมายที่จะมีการเปลี่ยนในอนาคต เป็นข้อเดียวกันอยู่
คนทำยอมรับโทษถือเป็นการให้การศึกษาแก่สังคมด้วย การมีคนถูกจับอย่างเช่นกรณีกฏหมายสตรี ก็เปลี่ยนวิธีคิดของสังคม เกิดการคิดใหม่ แล้วเปลี่ยนให้มีสิทธิ เป็นสิ่งที่มีเป้าหมายทางบวกไม่ใช่แต่แค่ทางลบ
อาจารย์ให้ความหมายของการเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าทางบวกว่า คือ การกระทำที่ทำแล้วได้ความชอบธรรมค่ะ
ในมิติทางวัฒนธรรมของการต่อสู้แบบสันติวิธี เมื่อมีคำถามว่า “อะไรเข้ามิติสันติวิธี” บริบทที่ทำให้การต่อสู้สำเร็จหรือไม่ อะไรสันติหรือไม่
อาจารย์เล่าว่า มิติสันติวิธีไม่ใช่ความหมายทั่วไป จึงเทียบกันไม่ได้ จึงไม่มีคำว่า ใช้คำว่า “สากลยอมรับ” ตอบไม่ได้ การตอบเป็นบรรทัดฐานของวิธี ถามแล้วให้บอกว่า “รับได้หรือรับไม่ได้” ก็ไม่ใช่คำตอบ
สำหรับสังคมไทย อาจารย์ก็โยนคำถามให้ใคร่ครวญ “สันติที่รับได้คืออะไร” อาจารย์บอกว่า การเอาผู้รู้มาบอกให้ปฏิบัติ ไม่ช่วยให้เกิดสันติ ทางออกคือ สังคมหากันเอง ปรับตัวเอง
แล้วอาจารย์ก็ยกเอาวิธีของสันติวิธีที่มีหลากหลายมาให้รู้จัก ลองทำความรู้จักกันหน่อยนะคะมีหลากหลายเชียวค่ะ
แถลงการโดยกลุ่มคน , เข้าชื่อและตีพิมพ์ลงในสื่อต่างๆ นี่เห็นกันออกบ่อยไปนะคะ
เขียนป้ายติดตามแหล่งสาธารณะต่างๆ ยกตัวอย่างมาถึงตรงนี้ อาจารย์ชี้มุมมองว่าเมื่อเริ่มมี “ภาษา” เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเริ่มมีปัญหา ฉะนั้นจึงต้องดูสังคมด้วยว่า “เจ็บ” นั้น กาย-ใจ อะไรเจ็บกว่ากัน บางสังคมเจ็บใจถือเป็นความรุนแรง การเขียนป้ายในต่างประเทศไม่เจ็บกาย ถือว่าไม่เป็นไร แต่ในเมืองไทยไม่ได้ แล้วอาจารย์ก็ต่อด้วยตัวอย่างตามมาอีก เช่น เขียนอะไรบนท้องฟ้า
ให้รางวัลประชด นี่ก็ใช่อารยะขัดขืนนะ กรณีของการให้รางวัลประชด อาจารย์แนะว่า ประชดให้ชัด ไม่งั้นจะคิดกันว่าให้รางวัล
ชูป้ายตามสถานที่ต่างๆที่มีผลกระทบ, จัดการเลือกตั้งประชด , จัดพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การสาปแช่ง นี่ก็ใช่อารยะขัดขืนด้วย วิธีอย่างหลังนี่จัดเป็นความรุนแรงหรือไม่รุนแรงขึ้นกับสังคมค่ะ เอ้าอ่านต่อมีอะไรอีกบ้าง
ติดสัญญลักษณ์ตามเสื้อผ้า , ถอดเสื้อผ้าตามที่สาธารณะ วิธีหลังนี้ที่อื่นถือว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่ไทยหาว่าบ้า
ทำลายทรัพย์สินของตัวเอง อาจารย์ชี้ให้มองว่า วิธีนี้เขยิบนิดเดียว เส้นชัยก็จะไปอยู่ตรง “ทำลายชีวิตตัวเอง” อย่าลืมๆเชียว
“อดอาหาร” ก็เป็นรูปหนึ่งของการทำลายทรัพย์สินของตัวเองที่เป็นเรื่องพึงถกว่าสันติหรือเปล่า และก็เป็นอะไรที่ตอบยาก
“ติดรูปคนลักษณะต่างๆในที่สาธารณะ” ในรูปแบบนี้ บางสังคมรับได้และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางสังคมรับไม่ได้
ตัวอย่างมีอะไรอีกดูในภาพบนได้นะคะ อาจารย์ช่วยขยายความเข้าใจประเด็นของการแสดงท่าทางและพูดหยาบคายว่า ความหยาบคายขึ้นกับความตั้งใจ ความรู้สึก สำหรับคนไทยจะรับความตั้งใจหยาบคายไม่ได้ และสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้
มีอย่างอื่นอีกนะคะ ตามมาๆอ่านกันค่ะ เช่น การแสดงออกต่างๆ เช่น ลุกออกจากที่ประชุม, ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแสดงออก เช่น ให้นั่งกลับยืน ให้ยืนกลับนั่ง ทำอย่างสันติแต่ผิดกฏหมาย, การตั้งหลักอยู่กลางแดด กลางฝน, ส่งเอกสารมากจนหน่วยราชการรับไม่ไหว เหล่านี้ก็ใช่สันติวิธีค่ะ
๘ เมษายน ๒๕๕๓
Next : “รักษาความสงบ” “แก้ไขความขัดแย้ง” » »
6 ความคิดเห็น
ติดตามอ่านเสมอ ชอบมาก
วันที่ 22 เจอกันที่สถาบัน(ห้องเรียน) ยามบ่าย
อารยะขัดขืน เป็นวิธีที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับ….(อะไรสักอย่าง) โดยสันติ
เป็นวิธีที่น่าพิจารณาเอามาใช้ เพราะ เป็นการแสดงออกทางสันติ แต่ยังไม่เห็น การศึกษาวิจัยในสังคมไทยว่า การใช้วิธีนี้แล้วได้ผลเช่นไรบ้าง..
และทุกสังคม ทุกประเทศน่าจะมีโดยวิถีอยู่บ้าง ในสังคมใไทยมี การแสดงออกแบบไหนบ้างที่เป็น อารยะขัดขืน และการแสดงออกนั้นๆสังคมไทยตีค่าเป็นอย่างไร หรือค่านิยมสังคมไทยเป็นอย่างไร ต่างจากประเทศอื่นๆอย่างไร ฯลฯ
หากในหน่วยงานจะมีการแสดง อารยะขัดขืน บ้างจะเป็นเช่นไร กฏหมายไทยกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง บทเรียนในไทยน่าจะมีหลายครั้งโโยเฉพาะทางการเมือง มีใครศึกษาและสรุปเรื่องนี้ไว้บ้างไหม
น่าสนใจครับ
ดีจังค่ะ พี่หมอเจ๊…ได้เรียนด้วยคน
น่าสนใจอย่างที่พี่บางทรายตั้งคำถามด้วยค่ะ
#1 ส่วนใหญ่วิทยากรจะนำเรื่องเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปมาอภิปรายให้ฟังด้วยค่ะพ่อครู
#2 อารยะขัดขืนได้ผลมากี่ครั้งในเมืองไทยคงมีข้อมูลอยู่ในมือของกลุ่มสันติวิธีนะคะพี่
ที่เห็นของบ้านเมืองเรา เวลาใครทำอะไรในทำนองอารยะขัดขืนออกมาให้เห็น คนก็หันไปมองกันอยู่แหละค่ะพี่ มองแล้วก็จะหลุดคำพูดตราหน้าว่า “บ้า” “เพี้ยน” “อีกและ” มีบ้างที่ “สะใจ สนุกแบบดูละคร” ซะมากกว่านะคะ ไม่เห็นว่าจะมีคำแปลตอบรับในสังคมให้ได้ยินว่า “เออดี” “ทำด้วย” “ทำต่อไป” “เห็นด้วย” ให้ได้ยินสักเท่าไร
น้องคิดว่าที่เป็นอย่างนี้ เห็นทีจะเป็นเพราะคนฟัง “ไม่ใช้กาลามสูตร” “ไม่ฟังให้ลึก” “มองไม่เห็นความเกี่ยวข้องของตัว” (มั๊ง)
อาจารย์เล่าว่า ที่ชัดๆว่าเคยได้ผลก็มีกรณี “อดอาหาร” ของคุณฉลาด วรฉัตร เรื่องหนึ่งค่ะ
#3 อุ๊ยเอ๋ย เรียนไปก็งงๆไปจ๊า แต่ก็ได้แง่คิด ได้มุมมองหลายมุม ได้ความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยราชการไทยด้วยละอุ๊ย
ที่จริง “อารยะขัดขืน” นี่เจออยู่ใกล้ตัวทุกๆวันเลยนะอุ๊ย สังคมในบ้านนี่แหละ มีทุกวันเลยเชียว
ในเมื่อ “ครอบครัว คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม” อยากรู้ว่า “ค่านิยม” ต่ออารยะขัดขืนเป็นทิศทางไหน ลองสังเกตเองแบบควิกราวน์ก็จะได้คำตอบ