จรรยาบรรณของนักสันติวิธี

โดย สาวตา เมื่อ 20 เมษายน 2010 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1545

เมื่อเริ่มต้นเล่าเรื่องจรรยาบรรณให้นักเรียนฟัง อ.ดร.มาร์คก็เกริ่นเรื่องวิชาชีพหมอให้ฟังเล็กน้อยเพื่อนำเข้าเรื่อง ฟังๆแล้วฉันก็นึกในใจว่า เออหนอ เวลาพูดถึงเรื่องจรรยาบรรณทีไร ไม่พ้นเลยที่ใครๆจะยกประโยชน์มาให้อาชีพของพวกฉันได้เป็นตัวเอกทุกทีไป

คนที่ยกประโยชน์เหล่านี้มาให้พวกหมอๆของฉันจะรู้หรือเปล่าก็ไม่รู้ว่า การยกเป็นตัวอย่างการมีจรรยาบรรณอยู่เรื่อยๆนั้นได้สร้างแรงกดดันใส่ให้กลุ่มของเราสะสมมาเรื่อยๆ แล้วในที่สุด ณ วันนี้ก็เกิดกรณีของความเครียด ความกลัวต่อความคาดหวังจากสังคมในเด็กรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนกระแสของการเข้าเรียนแพทย์ให้กลายเป็นอีกมุมไปแล้ว จากการอยากเรียนเพื่อช่วยคน ช่วยสังคมไปสู่กระแสนิยมตามสังคมนายทุนซะมากกว่าแล้ว

ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกับอาชีพอื่นๆ อย่างเช่น ครู นักหนังสือพิมพ์ หรือศิลปินซึ่งเป็นอาชีพสำคัญของสังคมที่เป็นอาชีพที่คนพึงมีจรรยาบรรณเช่นกันสังคมจึงเดินต่อไปในแง่งามขึ้นได้  จึงไม่ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นตัวอย่างบ้าง จะว่าในกลุ่มเหล่านี้หาคนเป็นแบบเป็นอย่างได้น้อยกว่าคนในอาชีพของฉัน ฉันไม่เชื่อหรอก เอาเป็นว่าฉันขอบ่นแทนคนอาชีพอื่นที่ถูกมองข้ามเรื่องความมีจรรยาบรรณของเขาว่าไม่ขลังพอจะเป็นตัวอย่างได้เท่าอาชีพหมอซะก็แล้วกันค่ะ

ชวนกลับมารู้จักจรรยาบรรณของนักสันติวิธีดีกว่านะคะ อาจารย์ชวนสนทนาด้วยคำถาม(ตลอด?) คำถามคราวนี้ ถามมาว่า “ช่าง” และ “นัก” เหมือนกันหรือเปล่า  ปรากฏว่าไม่มีใครยอมร่วมสนทนากับอาจารย์สักคน อาจารย์ก็เลยตอบเองว่า สำหรับความเป็น “นักสันติวิธี” รวมการเป็นช่างและนักไว้ด้วยกัน รูปธรรมของความเป็น “นัก” ก็คล้ายเรารู้จักและเห็น ช่างประปา นักเคมี อย่างนั้นแหละค่ะ (ซึ่งฉันแปลความต่อของฉันเองว่า “นัก” คือ ผู้ลงมือปฏิบัติที่มีความรู้ในตัวอยู่อย่างแท้จริง)

สำหรับจรรยาบรรณ มีอยู่ ๓ ประเด็นที่บอกความเป็น “นักสันติวิธี” ค่ะ

ประเด็นแรก ยึดหลัก Do no harm ไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมโดยรู้เท่าไม่ถึงการด้วยเจตนาดี

ความหมายของอาจารย์คือ รู้ข้อจำกัดของตัวเองก่อนลงมือทำงาน

อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องของการเอาเงินลงไปช่วยเหลือ ให้เงินพัฒนาด้านเกษตร ด้านการศึกษา ที่ต่อมาทำให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย เช่น ผู้รับเงินนำเงินไปซื้ออาวุธ หรือให้เงินไปแล้วเงินไปตกอยู่ในกลุ่มที่มีเงินเยอะแล้ว เป็นต้น

ประเด็นต่อมา ติดตามความก้าวหน้าในองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีเพื่อนำมาใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายจากการใช้องค์ความรู้

อาจารย์ย้ำว่า “งานสันติวิธีไม่ใช่งานสมัครเล่น”

อาจารย์แนะว่า “มีหลายวิธีให้คู่ขัดแย้งพบกัน”

และเตือนว่า “อย่าอาศัยแค่อยากทำ แม้เจตนาจะสำคัญ แต่การก้าวกระโดดไปทำเลยไม่ดี”

ประเด็นสุดท้าย ปรึกษาหารือกับคนที่ทำงานด้านสันติวิธีอื่นๆเมื่อไม่แน่ใจ

ข้อสุดท้ายนี้มีเพื่อลดการแข่งขันในวงการสันติวิธี (มีตัวอย่างเกิดขึ้นในพื้นที่บางประเทศแล้วว่า มีการแย่งกันทำงานด้วยเหตุของงบประมาณ มีการแย่งงานกันเกิดขึ้นจากการแข่งขันกันเอง ตามประสา “คน” )

ไหนๆก็ไหนแล้วเมื่อฉันลองเปรียบเทียบกับจรรยาบรรณของอาชีพฉันเอง จะว่าไปแล้วจรรยาบรรณก็มีหลักเดียวที่เป็นสากลนะคะ

สำหรับคนที่มีอาชีพที่ส่งผลกระทบต่อสังคม จรรยาบรรณก็คือกรอบที่ช่วยกำกับตัวคนเองที่ใช้ดูแลกิเลสของตนให้รับ(รู้)เรื่องที่สามารถทำผิดของตัวเอง เห็นสิ่งที่ชอบ(ธรรม)ต่อผู้อื่นก่อนลงมือทำงานตามหน้าที่ เข้าใจให้ถูกว่า หน้าที่คือ ไม่ใช่การใช้ความอวดดี อวดเก่งของตนลงมือทำแล้วก่อผลด้านลบให้เกิดขึ้นกับคน(สังคม)เนอะ

วันนี้การเีรียนใช้เวลาล้ำไปถึง ๕ โมงเย็นเชียวค่ะ ฉันไม่ได้วางแผนเรื่องที่พักก่อนมาจึงพาตัวไปขอพึ่งพาที่พักที่สถาบันพระปกเกล้าจัดไว้  ได้สถานที่พักแห่งเดียวกับเพื่อนๆมุสลิมที่มาจาก ๓ จังหวัดภาคใต้ ๕-๖ คน เราจึงเดินทางร่วมกันโดยใช้รถบัสที่วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่เป็นประจำในซอยศูนย์ราชการนี้ออกมาขึ้นแท็กซี่ที่ปากซอย  รสบัสที่ว่านี้บริการฟรีค่ะ

สิ่งหนึ่งที่ปิ๊งเข้ามาให้รับรู้ก่อนการเรียนจะสิ้นสุดลง คือ การแสดงออกและการวางตัวของอาจารย์ในฐานะนักสันติวิธี เมื่อมีผู้ร่วมเรียนในห้อง ส่งคำถามในประเด็นที่ออกความเห็นส่วนตัว  ฉันเห็นอาจารย์นิ่งและฟัง ไม่มีคำโต้ตอบกลับ  เมื่อมีคำพูดที่ตอบกลับ คำที่ใช้เพียงแค่สื่อสารในลักษณะที่สะท้อนให้รู้ว่าเก็บเกี่ยวประเด็นอะไรที่ผู้พูดได้หลุดคำพูดออกมาเพื่อสื่อแล้วอย่างไร คำพูดของอาจารย์ไร้ซึ่งการผ่องถ่ายความรู้ในสิ่งที่อาจารย์รู้บอกกลับเพื่อโน้มน้าวให้เปลี่ยนความคิด  ไร้คำพูดที่บอกถึงการแย้งความคิดของผู้พูดใดๆด้วย

อืม เห็นแล้วก็ไม่ง่ายเลยที่จะดูแล “สติ” ของตน ให้ครองอยู่ “นิ่งแต่ไม่เฉย”  นิ่งแบบ “สิ้นคิดการสอน-สั่ง-โต้เพื่อแย้ง” คงระดับไว้แค่ “ฟังแบบสิ้นคิดให้เข้าใจ” อย่างที่นักสันติวิธีอย่างอาจารย์ทำให้เห็นอยู่ในเนื้อตัวและจิตวิญญาณค่ะ

ขอบคุณสิ่งที่อาจารย์ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่านักสันติวิธีควรบริหารตัวเองอย่างไรค่ะ

๘ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : “รักษาความสงบ” “แก้ไขความขัดแย้ง”

Next : ค่ำคืนหนึ่งที่นนทบุรี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "จรรยาบรรณของนักสันติวิธี"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.34803605079651 sec
Sidebar: 1.528706073761 sec