เดือนที่ ๒ ของปีใหม่ผ่านไปแล้ว

โดย สาวตา เมื่อ 28 กุมภาพันธ 2010 เวลา 13:08 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1071

๒ เดือนของปีใหม่ที่เดินผ่าน มีอะไรที่ได้เรียน ได้รู้ และได้ทำมากมาย แม้ในเรื่องที่ดูเหมือนทำซ้ำๆอยู่กับเรื่องราวเดียวเท่านั้น ก็ยังมีหลายเรื่องที่ได้ทำ ได้เรียน

เดือนที่ ๒ แห่งปีนี้รุกหนักกับการงานมากกว่าการบ้านและการเรือน จนกระทั่งการงานที่ต้องรุกผ่อนเบาลงจึงเริ่มมองการบ้านที่จะหยิบขึ้นมาทำต่อไป ครั้นเมื่อตรองดูเวลากับการบ้านที่อยากทำ อะฮ้านี่จะทำได้หมดเลยหรือ ไม่เป็นไรบอกตัวเองไว้ก่อน ฝันไว้ก่อนว่าอยากทำให้เกิด มีเวลาให้ลงมือสานเหอะ ค้างไปบ้างด้วยเวลาไม่มีก็ชะลอไว้ก่อนได้ ได้เวลาคืนมาแม้น้อยนิดค่อยสะกิดตัวเองคอยสานต่อ ไป ทำต่อไปเดี๋ยวการบ้านก็จะกลายเป็นฝันที่เป็นจริงได้เอง

การงานที่เริ่มของต้นเดือนเป็นเรื่องรุกเพื่อเตรียมรับแขกทีมสำคัญซึ่งนัดหมายเข้ามาเยี่ยมร.พ. การมาเยี่ยมคราวนี้ของแขกสำคัญเพราะมีเดิมพันความสำเร็จขององค์กรเป็นเป้าประสงค์

๑๐ วันแรกของการทำงานในเดือนนี้เป็นงานที่ทำต่อเนื่องมาจากเดือนแรกของปี เป็นส่วนประเด็นสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มองเผินๆไม่เกี่ยวกับหมอเลย โดยมีโจทย์ที่รับมอบมาจากเจ้านายในขอบเขตแค่ให้ปรับภูมิทัศน์ของร้านอาหารชาวบ้านในร.พ.ที่กลายเป็นสลัมไปได้ให้ดูดีขึ้น

การได้ลงคลุกคลีเชิงลึกและเก็บเกี่ยวรายละเอียดในพื้นที่ ได้ความรู้ที่ทำให้ประจักษ์แก่ใจว่าโจทย์นี้มีประเด็นที่เกี่ยวกับหมอด้วยนะ

ได้เรียนรู้จากของจริงว่าผลลัพธ์ตรงนี้เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนตรงๆได้ แล้วผู้คนก็ไม่เคยเห็นมัน ไม่เคยรู้ตัวกันมาก่อนว่านี่คือภัยใกล้ตัวดีๆนี่เอง

ภัยที่เอ่ยถึงนี้เป็นแง่มุมของแหล่งเพาะโรคที่ให้ผลกับผู้คนที่เข้ามาในร.พ.ได้เลยเชียว คนสำคัญที่จะเป็นโรคก่อนก็ไม่พ้นแม่ค้าที่ขายอาหารกันอยู่ทุกคน  คนต่อมาที่ได้รับผลกระทบได้ก็ไม่พ้นเจ้าหน้าที่ร.พ.ทั้งที่อาศัยและไม่อาศัยในพื้นที่ รวมไปถึงผู้ป่วยและญาติที่เข้ามาในร.พ.ด้วย

โจทย์งานที่มอบเป็นเรื่องภูมิทัศน์ซึ่งงานอย่างนี้ไม่เคยทำมาก่อน เจอกับโจทย์ “สลัมและน้ำครำ” จึงยิ่งยากมากขึ้น อยากปรึกษาก็ไม่รู้จะหันไปหาใคร  ทำให้ตัดสินใจใช้สามัญสำนึกเป็นเครื่องมือทำงาน ใช้ “ตาดู หูฟัง” เป็นหัวหน้า ใช้ “ความคิด” เป็นลูกน้อง แล้วหลังจากนั้นจึงทำงานเป็นทีมด้วยกัน

ลงมือทำโดยนำเครื่องมือเชิงระบบ คือ 5ส. เข้ามาลงมือตั้งแต่เดือนแรกชองปี วางเป้าหมายลงมือทำทีละเรื่อง เลือกเรื่องเล็กที่ลงมือใช้ 5ส.แล้วให้ผลแก้ปัญหาตรงเรื่องได้อย่างง่ายๆทำได้ทันทีลงมือทำก่อน

เป้าแรกชี้ไปเรื่องสะอาดจากน้ำครำ สะอาดดินก่อน เดือนแรกของปีงานเดินมาถึงตรงที่ หยุดน้ำล้นที่ทำให้น้ำครำเกิดขึ้นจนน้ำแห้งลงได้ สะสางขยะที่ทิ้งเกลื่อนได้ ดินสะอาดกว่าเดิมได้  ได้เวลาที่ยาวขึ้นอีกหน่อยสำหรับให้ได้ใช้ “ตาดู หูฟัง ใช้ความคิด” ต่อไป

เป้าที่ ๒ ชี้ไปที่สะสางสาเหตุเพื่อเดินต่อ ทำน้ำล้นให้ใสไว้ก่อน พบสาเหตุก็ทดลองแก้แบบง่ายๆผนวกใช้ภูมิปัญญาคนไทยด้านการเกษตรเข้ามาประยุกต์ทีละส่วนดูก่อน  ทุกๆวันทำงานด้วยเครื่องมือ ๒ ชิ้นคือ “ดูและคุย”  เมื่อนำมาผสมกับ ๓ แม่ทัพ คือ “ตา หู และสมอง” ก็ได้ความรู้เรื่อง “พฤติกรรมต้นเหตุ” ในครัวเรือนที่ผู้คนกลุ่มหนึ่งถือปฏิบัติอยู่ทุกวัน

๗ วันแรกได้เรียนรู้วิธีบริหารพรหมวิหาร ๔ ในช่วงเวลาที่กดดันเต็มๆเชียวแหละ ความลงตัวของการตัดสินใจของเหล่าแม่ทัพทั้ง ๓ ได้ทำให้เกิดความสงบเย็นของผู้เกี่ยวข้องทุกคนทั้งๆที่เรื่องภูิมิทัศน์จบลงแค่สะสางน้ำให้ใสได้เพียงบางส่วน

การเข้าเยี่ยมของแขกสำคัญชุดสรพ.ในช่วงกลางเดือน ๒ วัน สร้างโอกาสให้ได้รับรู้และเรียนรู้ใจของคนและพฤติกรรมที่เป็นผลพวงของการให้ใจของบรรดาแม่ค้าทั้งหลายที่มีต่อตัวเองและทีมงานของฉันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้างาน 5ส. เป้าต่อๆไป

ผลงานที่ปรากฏแก่ตาแม้ยังไม่จบได้รับการยอมรับในสิ่งที่พยายามให้เดินหน้า เป็นความสุขที่แขกอย่างสรพ.มอบคืนมา เป็นกำลังใจให้กับการทำงานของทุกผู้คน แล้วเขาก็มีการบ้านฝากไว้อย่างท้าทายให้หยิบจับทำก่อนจากไป

๗ วันที่สามเจ้านายขอให้พักงานคุณภาพที่เป็นการบ้านกันไว้ก่อน ฉันจึงพาตัวแวบไปใช้เวลา ๓ วันแรกทำการบ้านที่อยากทำต่อ ซึ่งก็คือการเชื่อมโยงให้ครูกศน.ได้สัมผัสและเรียนรู้จิตปัญญาศึกษา

๓ วันแรกของสัปดาห์ที่ ๓ ในเดือนแห่งความรัก จึงเป็นช่วงที่ฉันผันเวลาไปร่วมเรียนรู้จากทีมกระบวนกรจากนครสวรรค์ซึ่งมานำพาครูกศน. ๖๐ ชีวิตให้รู้จักและลงมือฝึกฝนปัญญาปฏิบัติด้วยตัวเองที่สำนักงานกศน.จังหวัด

สัมผัสว่าการทำงานครั้งนี้ของกระบวนกรมีแปลก มีเรื่องราวทฤษฎีที่กระบวนกรปล่อยออกมาเยอะ ได้เห็นมุมของ”one man show” ของกระบวนกรหลักที่เคยปรึกษาความในใจด้วย เกิดความเข้าใจกับอะไรบางอย่างบางแง่มุม

ได้เคล็ดลับจากแง่มุมเหล่านั้นมาสอนใจตัวเองว่า ทำงานกับใครก็แล้วแต่ ให้ดูแล “อัตตา” ทั้งของตนและของคนร่วมทำงานให้ลงตัวระหว่างคนที่ไม่คุ้นชินสไตล์ของกันและกันด้วย อย่าลืม อย่าลืม

การเข้าร่วมเรียนรู้ปัญญาปฏิบัติในครานี้ ได้เรียนรู้ว่าความทุกข์ในซอกหลืบเป็นตัวการที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิตยืนหยัด เป็นยาขมที่ช่วยให้คนไม่อยากจะกินมันก้าวชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน เป็นคุณค่าที่ความทุกข์ได้มอบเป็นมุมบวกให้กับผู้คนโดยเจ้าตัวไม่ได้รับรู้คุณค่าของมันเลย

การรู้แต่ไม่รับมันนี่เอง ที่ทำให้ในยามหวั่นไหวมันจึงกลายร่างจากยาขมที่ช่วยให้หายป่วย เป็นหนามยอกที่คอยทิ่มแทงให้เจ็บป่วยอยู่ร่ำไป  ความเจ็บที่เกิดขึ้นทำให้จดจำ ความจดจำที่เกิดขึ้นเสมอๆเมื่อหวั่นไหว กลายเป็นเครื่องมือที่ชักนำให้แปลเพี้ยนเห็นมันแต่ด้านลบ

ความคิดนำพาเตลิดล้ำแดนเข้าไปสู่พื้นที่แห่งความคุ้นชินจนกลายเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติบ่อยๆเข้าก็กลายเป็นการเสพติดเรื่องราวที่เป็นด้านลบไปโดยไม่รู้ตัว

ไม่ต้องการความเจ็บป่วยจากพิษของทุกข์ก็ปลดเปลื้องมันไม่ออกด้วยคุ้นชินจนรู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อปัญญาปฏิบัตินำพาให้ไปแตะต้องมัน ความหวงแหนในฐานะเจ้าของได้เกิดขึ้นและนำพาความหวั่นไหวใหม่มาให้ใจที่เปิดจนเห็นความทุกข์นั้นอีกครั้ง

บางคนที่ความหวั่นไหวถึงระดับที่ก่อความสะเทือนต่อความเป็นอัตโนมัติที่เคยเกิดขึ้นได้ ก็เริ่มเข้าใจความเป็นไปและความมีค่าของทุกข์นั้นของตน มองเห็นยาขมตัวใหม่ที่จะหยิบจับใส่ใจเพื่อล้างทุกข์ที่เคยรังเกียจหรือรักมันไม่เต็มหัวใจให้กลายเป็นเพชรที่มีค่าไว้เยียวยาตน

บางคนสั่นไหวมากจนบอกว่ากลับไปในแต่ละวันนอนไม่หลับ ได้นอนแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง บางคนก็ไม่สามารถอดทนอยู่นิ่งเพื่อร่วมเรียนรู้ แต่แล้วในที่สุดเมื่อเกิดความเข้าใจว่าตัวทุกข์นั้นคืออะไร การตื่นรู้ของคนๆนั้นก็เกิดขึ้น กระบวนการตัดสินใจล้างพิษในดวงใจก็เริ่มขึ้น คำขอบคุณที่หลุดจากปากบอกให้รู้ว่าเกิดความชื่นชูและชื่นชมกับการเยียวยาชีวิตในช่วงต่อไปกันแล้ว

การบ้านชิ้นที่หยิบทำชิ้นนี้ ได้่ก้าวหน้าไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างทีมครูกศน.กับทีมกระบวนกรที่นำสู่การมีสัญญาใจต่อกันในการร่วมทางสร้างคนและนำพาคนให้ได้เรียนรู้การสร้างครอบครัวเพื่อสร้างสัมคมดีๆให้เกิดขึ้นสำหรับเด็กๆ ดีใจจริงๆ

คราวนี้ได้เข้าใจกับความหมาย “น้ำตา” ที่ธรรมชาติได้สร้างให้ติดตัวมาอย่างถ่องแท้ขึ้น ว่ามีหลากหลายความหมายของ “น้ำตา” ซ่อนเบื้องหลัง มิใช่แต่ความหมายว่า “เศร้า เสียใจ ดีใจ” แต่อย่างเดียวเมื่อไร

แม้แต่ “เฉยๆ ไม่รู้สึกอะไรแต่น้ำตาไหล เมื่อยามดูหนัง” ก็มีความหมายของมันที่ซ่อนเร้นโยงใยอยู่กับโลกภายในของตัวเรา้ด้วยนะ

วันต่อๆมาของช่วงเวลาที่เหลือของสัปดาห์ที่ ๓ ก็ให้เวลาไปกับเรื่องทำความเข้าใจระบบประเมินผลงานของร.พ. เพื่อเดินหน้าต่อเรื่องประเมินผลงานของทีมงาน ทำให้ชวดกับการไปเห็นหน้าลูกเขยลุงเอกที่กรุงเทพฯอย่างน่าเสียดาย

๑๔ วันแรกของเดือนนี้ ออกจากบ้านเช้าก่อนแปดโมงและกลับบ้านกว่า ๒ ทุ่มทุกวัน เวลาในเรื่องการเรือนจึงไม่มีเหลือ รู้สึกเหมือนกันว่ามีความไม่ลงตัวในเรื่องของเวลาที่แบ่งให้ครอบครัว แต่ก็ทำได้แค่บอกกล่าวให้คนข้างกายรู้ บอกเงื่อนไขที่ทำให้ต้องให้เวลาไปกับการงานและการบ้านให้พอเข้าใจ บอกเวลาที่จะสิ้นสุดลงของการใช้เวลากับการงานอย่างนี้เพื่อให้คลายห่วง

รู้อยู่เหมือนกันว่าคนข้างกายเป็นห่วง การดูแลที่ได้มอบมาสม่ำเสมอทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ รู้สึกดีๆเสมอกับการได้รับความรักและการใส่ใจดูแลอยู่ใกล้ๆอย่างที่เป็น  “กอด” ก่อนออกจากบ้านจึงเป็นรางวัลที่มอบจากใจคืนให้ในเดือนแห่งความรักนี้

๑๔ วันหลังของเดือนนี้ ก็ใช้ชีวิตกับการงานในรูปแบบ “เดินดูแล้วใคร่ครวญ” ช่วยบอร์ดร.พ.ทำการบ้านกับเจ้านายบ้าง เรื่องงานหลักๆที่ให้เวลามากเป็นเรื่องทำความเข้าใจกับลูกทีมเรื่องของการประเมินผลงาน ที่เริ่มหันเหไปใช้การประเมินรายบุคคลที่ยังมีความคลุมเครืออยู่มากมาย

ด้วยความคลุมเครือหยั่งรากสร้างปัญหาได้จึงตัดสินใจให้เวลากับมันเรื่องการวางระบบ  ในระหว่างเดินหน้ากับการวางระบบประเมินก็ต้องการเวลาคุยกับหัวหน้างานหลายรอบแต่เงื่อนเวลาของหัวหน้างานติดขัดไปหมด หัวหน้างานอยากให้เวลาก็ให้ไม่ได้ด้วยว่าการงานที่รับไว้รัดตัวเขาจนตึงยิ่ง เป็นอะไรที่วิกฤตอีกช่วงของคนทำงานอย่างเราๆหลังจากแขกอย่างสรพ.เข้ามาเยี่ยมเยียนและจากไป

๑๔ วันหลังให้มุมมองที่เอะใจต่อผลกระทบที่เห็นความไม่ลงตัวของเวลาทำงานของหัวหน้างาน สะกิดความจำในอดีตให้โผล่ผุดขึ้นมา อ้อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แต่ก่อนเราก็เป็นอย่างที่เขาเป็น  สาเหตุมาจากการจัดลำดับความสำคัญของงานที่ไม่สอดคล้องกับเวลานะเอง

อดีตที่ลอยขึ้นมาเป็นครูสอนช่วยให้ตัดสินใจได้กับความสัมพันธ์ของคนและงานประจำกับการประเมิน ฉันจึงเลือกตัดสินใจที่จะให้เวลาคุยกันกับเขาไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของวัน เมื่อแต่ละวันเขาทำงานที่เร่งรัดเสร็จสิ้นลงจะมืดจะค่ำจะดึกก็ไม่ว่ากัน ขอแต่ให้เขาให้เวลากับเรื่องราวเรียนรู้เพื่อตัวเองก็พอใจแล้ว

เริ่มครั้งแรกโดยขอเวลาในช่วงของวันทำงานในวันหนึ่ง ให้หัวหน้าทุกคนวางงานแล้วพาตัวมาคุยกันก่อน ชี้แจงด้วยเอกสารของก.พ.ว่ากำลังจะทำอะไรเมื่อหัวหน้างานมาครบคนแล้ว  ทำความเข้าใจให้ตรงว่าผลงานที่ทำมาแล้้วในช่วง ๕ เดือนที่ผ่านมาเท่านั้นที่ใช้ประเมิน ต้องอาศัยข้อมูลที่เขาลงมือทำงานและวิธีคิดของเขาก่อนทำงานด้วย ซึ่งตัวเขาเท่านั้นที่รู้ว่าคิดอย่างไร เพื่ออะไร และลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง คืบหน้าไปอย่างไรแล้วบ้าง ในรูปแบบของพยานเอกสารที่ส่งมอบความสำเร็จของงานมาบอก  ครั้งนี้การประเมินจะเดินหน้าได้หรือไม่ได้ พวกเขาจึงเป็นคนสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้น

หลักการของการประเมินก่อนการตัดสินต้องคุยทำความตกลงเป้างานให้เข้าใจตรงกันก่อน หลังจากตกลงลงตัวกันแล้วทั้ง ๒ ฝ่ายทั้งฝ่ายประเมินและฝ่ายลงมือทำ นั่นแหละจึงเริ่มต้นของการตัดสินแต้มประเมิน คราวนี้กติกามีให้ตกลงด้วยว่า อะไรที่เห็นว่าความสามารถไปไม่ถึง ให้ระบุและชี้บอกคนทำงานให้รู้ตรงตัวเป็นรายคน และสอนงานให้ความสามารถเดินหน้าได้ต่อไปตามภาระงาน

เรียกได้ว่า คราวนี้กติกาการประเมินยกหน้าที่”ครู” ให้หัวหน้าเต็มตัว มีคะแนนของผลงานให้แต้ม ๗๐ เปอร์เซ็นต์ มีคะแนนของความสามารถของคน ๕ ประเด็น ๓๐ เปอร์เซ็นต์

เรื่องที่ยากของฉันต่อการประเมินแบบนี้อยู่ตรงที่ทีมงานของฉันทุกคนทำงานไม่เหมือนกันซะเป็นส่วนใหญ่ จะเทียบเพื่อบอกว่าใครมีความสามารถมากกว่าใครไม่ง่ายเลยเชียว  แล้วที่ผ่านมาฉันก็ให้อิสระแก่พวกเขา อยากหยิบจับทำงานอะไรก็ไม่ว่ากัน อยากวางระดับของงานให้สำเร็จที่ระดับไหนก็ให้วางเป้าเอง ฉันลงมือทำก็แค่คอยคัดทิศให้พวกเขาเดินตรงกับทิศที่องค์กรชี้อยู่แค่นั้นเอง

เรื่องราวของการประเมินใหม่ในคราวนี้เป็นเรื่องของการประเมินย้อนหลังในเรื่องราวที่ฉันเข้าใจแต่เขายังไม่เข้าใจ แล้วต้องทำให้เกิดความชัดในเรื่องของความเข้าใจตรงกัน การประเมินแบบเดิมอาจจะมีทั้งตรงจริงและใช้ความรู้สึกไปจับ พิสูจน์ความเที่ยงของคนวัดได้ไม่ตรงใจ ถือเป็นเรื่องยากที่ปวดขมองต้องให้เวลาใคร่ครวญมากมายก่อนลงมือทำจริง

จึงตกลงกติกากับพวกเขาไปว่า ใครส่งก่อนก็จะขอคุยตกลงเป้างานกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน แล้วฉันจึงไปปรับร่างเกณฑ์ประเมินที่ร่างไว้ให้สอดคล้องและวัดได้ เทียบเคียงได้กับทุกๆงาน

ใครที่ส่งล่าช้าจนถึงเวลาที่บอร์ดด้านบุคคลของร.พ.ลงมือทำงานแล้วก็ยังไม่ส่ง ฉันขอโทษไว้ก่อนหากไม่มีผลการประเมินงานของเขาส่งกรรมการ คราวนี้ฉันจะช่วยโดยใช้มุมมองของหัวหน้าข้างเดียวประเมินส่งไปให้อย่างแต่ก่อนไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุที่ต้องมีเอกสารที่เจ้าของงานส่งมาให้ฉันเป็นประจักษ์พยานการตกลงงานประกอบการประเมิน จัดคิวเพื่อการลงมือประเมินฉันขอใช้เวลาลงรับเอกสารผลงานถึงมือฉันลงมือประเมินตามลำดับ

๑๔ วันหลังของเดือนแห่งความรักนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ฉันผิดสัญญากับคนข้างกายโดยไม่ตั้งใจในเรื่องของเวลาทำงานอีกครั้ง ช่่วงเวลาระยะนี้ถูกแบ่งให้การเตรียมงานเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นและแบ่งช่วงไปให้กับการเตรียมตัวเพื่อร่วมทางหลักสูตรสสสส.๒ ด้วย

๗ วันที่เพิ่งผ่านมา  ฉันกลับถึงบ้านดึกกว่าที่ให้เวลากับการงานซะอีก เกือบ ๓ ทุ่มของทุกๆวันคือเวลาสิ้นสุดของการสนทนาทำความเข้าใจเป็นรายคนกับคนทำงาน เวลาเริ่มคุยกันได้ของแต่ละคนปาเข้าไปเกือบ ๕ โมงเย็นไปแล้ว

และในช่วง ๗ วันหลังของเดือนนี้ก็มีเรื่องดีๆเกิดขึ้นกับการกรุยรูปแบบการทำงานเป็นทีมแบบสหสาขาในรูปแบบใหม่ที่นำร่องให้ทีมงานดู ถือว่ารูปแบบที่นำร่องไว้้เสร็จลงอย่างงดงาม เป็นรูปแบบที่ฉีกแนวออกไปเพื่อชวนให้คนทำงานหันมาเห็นแล้วพาตัวให้หลุดกรอบของคำบ่นเรื่องของการทำงานของคนทำงาน

คำบ่นและเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่พบบ่อยก็มีเรื่อง  “ไม่ทัน” “ไม่มีคนทำงาน” นี่แหละที่เจอบ่อย  เป็นกะปิที่เกิดขึ้นมาให้เห็น

กะปินี้ฉันว่าเป็นกะปิดีที่บอกความสามารถที่สื่อถึงทักษะการทำงานเป็นทีมและทักษะของการบริหารจัดการของคนบริหารงานที่เกี่ยวข้องทุกๆคน

ขอบคุณเดือนแห่งความรักที่มอบโอกาสแห่งการเรียนรู้ไว้มากมาย

ขอบคุณประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านที่ยืนยันว่า “ปฐมบท” “ช่วงรอยต่อ” “การเชื่อมต่อ” เป็นฐานสำคัญของการจัดการเรื่องราวของการงานในชีวิตไม่ว่าในรูปแบบใด จะการงาน การบ้าน การเรือน ก็คือกัน

ขอบคุณ “งานหิน” ที่ถูกส่งมอบมาให้ได้เรียนรู้ และถอดความรู้ในตัวตนออกมาใช้

ขอบคุณประสบการณ์ที่พ่อแม่ เพื่อนๆ และผู้ร่วมทางที่ชีวิตได้เดินผ่านมาในอดีตได้สอนไว้แบบไม่สอน ทำให้ดู อยู่ให้เห็น

ขอบคุณประสบการณ์ของการเรียนรู้แบบเด็กๆที่พ่อแม่ให้โอกาสมีอิสระต่อการเรียนตามสไตล์ของตัว

ขอบคุณความบีบคั้นแห่งการงานและเงื่อนเวลาที่ทำให้เดินมาถึงประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมในตัวอย่างเช่นวันนี้

ขอบคุณกัลยาณมิตรที่คอยลุ้นทั้งที่ออกนอกหน้า คอยลุ้นแบบตามลุ้น แอบลุ้น และแอบมองอยู่อย่างเงียบๆที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้เกิดความอบอุ่น

ขอบคุณทีมงานที่ให้ใจและให้เวลากับตัวเอง ร่วมเดินไปพร้อมกันในเส้นทางเรียนรู้ที่ท้าทาย

ขอบคุณทุกๆโอกาสที่ความดีของผู้คนได้ส่งความสุขคืนมาใ้ห้แก่ชีวิต

ขอบคุณความอุตลุดของเวลาที่ทำให้ได้ประสบการณ์ของการบริหารความเปลี่ยนแปลงแลกคืนมาใส่ตัวจนได้ความยืดหยุ่นที่เกิดเป็นสไตล์เฉพาะตัว

ขอบคุณใจที่ธรรมชาติได้มอบมาตั้งแต่เกิด

ขอบคุณทุกโอกาสของชีวิตจริงๆค่ะ

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

บันทึกอื่น : เผลอแพล๊บเดียว ๑ เดือนก็ผ่านไปแล้ว

« « Prev : ปลดฟอร์ม

Next : จะยุ่งเหมือนลิงแก้แหมั๊ยนี่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เดือนที่ ๒ ของปีใหม่ผ่านไปแล้ว"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.060305118560791 sec
Sidebar: 0.1159679889679 sec