หน้าที่กับความสุข

โดย สาวตา เมื่อ 29 กรกฏาคม 2009 เวลา 0:34 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1755

วันนี้มีกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ลูกในชุมชน โดยชุมชนรวมตัวกันเชิญตัวครูณาจากโรงเรียนพ่อแม่ลูกนครสวรรค์และทีมไปเป็นกระบวนกรให้ ก็เลยปลีกตัวไปสังเกตการณ์ร่วมดูซะหน่อย

ไปแล้วก็ได้เรียนรู้และเห็นมุมมองอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากมุมเดิมๆที่เคยมองเห็นและรับรู้

ดูเผินๆชีวิตของผู้คนในชุมชนที่ได้ไปสัมผัสในวันนี้ ล้วนเป็นวิถีที่มีความสำเร็จให้เห็นอยู่ในตัวทุกผู้คน ทุกคำพูดที่กล่าวออกมาในเชิงบอกเล่าในวงสนทนา ล้วนแต่กล่าวถึงการลงมือเพื่อให้แก่ผู้อื่น ความปรารถนาที่จะช่วยผู้อื่น

คำถามในใจที่เกิดก็คือ จริงหรือที่ในใจของผู้คนเหล่านี้เขาอิ่มเต็มแล้ว จริงหรือที่คำกล่าวด้วยความยินดีเหล่านั้นที่ได้ยินเป็นคำกล่าวจากใจที่เป็นสุขและอิ่มเต็ม หรือว่ามันเป็นแค่กำแพงอะไรบางอย่างที่ก่อตัวขึ้นเป็นเกราะกำบังความอ่อนแอ ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่ใจมันโหยหาเอาไว้

นั่งฟังไปเรื่อยๆก็พบว่าคุณภาพของการสนทนานั้นทำให้วงผ่อนคลาย มีเสียงเฮฮาดังสลับเสียงคุยเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆตลอดวัน บ่งบอกถึงความสนิทสนมของกลุ่มที่มีต่อกัน

เวทีที่กำเนิดขึ้นนี้มาจากทุกคนที่มาร่วมมองเห็นประโยชน์ที่จะค้นหาทางแก้ปัญหาในครอบครัว พวกเขาจึงยินดีที่จะสละทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อให้สามารถเอื้อโอกาสให้กระบวนกรกลุ่มนี้แวะมาหา  แต่ภาพที่ได้มองเห็นและสัมผัสในวันนี้กลับขัดตาจนต้องถามตัวเองว่าแน่ใจรึเปล่าว่าไม่พบสัญญาณอะไรที่บ่งบอกถึงสิ่งที่เขากำลังค้นหาเพื่อครอบครัวของเขาเอง

เมื่อสังเกตคนหลายคนที่อยู่ในกลุ่ม ความจำก็ผุดพรายขึ้นมาบอกว่าหลายคนที่ได้เห็นหน้าในวันนี้ คือผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมโครงการสร้างสุขที่ฉันเคยจัดขึ้นเมื่อสองปีก่อน  อีกทั้งสีหน้าในบางขณะของผู้คนบางคนที่เข้ามาร่วมมันบ่งบอกถึงสัญญาณอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคำตอบที่กำลังค้นหา

วันนี้เิกิดคำถามขึ้นในใจอีกครั้งว่่า หากจะให้ผู้คนได้สัมผัสไปถึงเบื้องลึกของความทุกข์ในใจที่เขาสร้างเกราะปกป้องอยู่เพื่อนำสู่การดูแลตัวเองให้เหมาะควรและเติมน้ำให้ใจอิ่มเต็มสดใสขึ้นนั้น บรรยากาศของการฮาเฮปนการหัวเราะอย่างที่เห็นตรงหน้านั้นจะช่วยได้รึเปล่า

คำตอบที่ผุดพรายตรงหน้าไม่ชัดเจนนัก สัมผัสได้บางส่วนแค่ว่าช่วยได้ในบางคน เป็นบางคนที่รู้ใจรู้ตัวตนอยู่แล้วว่า ที่ฮาเฮนั้นเป็นการสร้างเกราะของตัวขึ้นมา และเมื่อเขาเริ่มต้นใคร่ครวญไตร่ตรองเรื่องของตัวเอง พวกเขาเหล่านี้ล้วนนำพาตัวเองช้าลงๆและสงบลง ไม่มีใครเลยสักคนที่ยังฮาเฮแล้วสามารถใคร่ครวญ ไตร่ตรองได้

คำตอบนี้ทำให้มั่นใจมากขึ้นมากว่า ที่เคยยึดหลักเตือนคนเอาไว้ว่า “ให้ช้าไว้ ช้าไว้ หน่วงไว้”  ให้ผลช่วยคนได้

เทคนิคที่ครูณานำมาใช้ในโรงเรียนพ่อแม่ลูกที่เห็นวันนี้  เธอใช้วิธีเล่นแบบเด็กๆแล้วให้ถอดบทเรียนในกลุ่ม โดยให้แต่ละคนที่รับบทไม่เหมือนกัน เล่าความรู้สึกของตนในขณะรับบทนั้นๆว่าเป็นอย่างไร

ตัวอย่างของความรู้สึกจากคน 5-6 คนที่รับบทเหมือนกันเล่าออกมานั้น ไม่เบาทีเดียวในการสะท้อนให้คนได้เรียนรู้ตน  เมื่อโยนคำถามว่า  “เห็นอะไร เรียนรู้อะไร”  เมื่อเชื่อมโยงไปสู่สถานภาพและความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว

ครูณาไม่ได้มีเฉลยอะไรให้กลุ่มรับรู้หรอก จะมีอะไรไปเฉลยละในเมื่อคำตอบมัน “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” นี่นะ

จะตอบอย่างไรมันแล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคนตัดสิน  มันแล้วแต่การเปรียบเทียบและวิเคราะห์ก่อนตอบของแต่ละคน

เออนะ เคยสังเกตมั๊ยว่า การวิเคราะห์และเปรียบเทียบก่อนได้คำตอบที่ตัดสินนั้นเป็นอัตโนมัติโดยปกติของทุกผู้คน

ต่อไปนี้เป็นเพียงคำแปล  สำหรับฉันในวันนี้เท่านั้น

“เห็นอะไร” หมายถึง สิ่งที่ตาเห็นสมองแปลสิ่งภายนอกตัว แล้วนำเข้ามาสู่การแปลตามสัญญาเดิมของผู้คน ตามแต่ตัวกวนที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะชี้้ชวนอย่างไร

“เรียนรู้อะไร”  หมายถึง  สิ่งที่บอกตัวเองว่า รับรู้ความรู้สึก เรียนรู้ความรู้สึก เรียนรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับตัวเองอย่างไรบ้าง หลังจากที่ได้เห็นอะไร  ความรู้สึกนี้เป็นได้ทั้งความรู้สึกที่ความเป็นอัติโนมัติในการวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ให้คำตอบสุดท้ายไว้ให้ตัวเองแล้ว หรือเป็นความรู้สึกอย่างซื่อตรงต่อความรู้สึก ณ ปัจจุบันขณะ เป็นได้ทั้งนั้น

ยิ่งแยกแยะได้ใกล้เคียงว่าเป็นความรู้สึกอย่างหลัง มันแปลว่่า ประสาทสัมผัสทำงานเร็วและละเอียดอ่อนโยนต่อตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

คำเตือน คือ โปรดอย่าเชื่อ จนกว่าจะรู้แจ้งจางปางด้วยตัวเองนะ

แล้วจะมาเล่าต่อว่าโรงเรียนแห่งนี้ให้ผลอะไร อย่างไร ในเรื่องของ “หน้าที่กับความสุข”

28 กค.2552

« « Prev : บ่มเรียนสอนใจ…เรื่องเร็วแล้วยังไง

Next : เห็นอะไร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.44584608078003 sec
Sidebar: 1.7981328964233 sec