อาถรรพ์คลองสองน้ำ ท่าปอม

โดย สาวตา เมื่อ 2 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:26 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2909

เมื่อพาเพื่อนที่มาจากกรุงเทพฯไปเที่ยวท่าปอม แล้วเอ่ยคำว่า “ป่าพรุ” เพื่อนเขาก็ถามกลับมาว่า “ป่าพรุ” คืออะไร ฟังคำถามแล้วฉันงง

ความงงเกิดตรงที่คิดว่าตัวเองรู้ แล้วเชื่อไปว่าเพื่อนก็รู้ พอเพื่อนบอกว่าไม่รู้ มันเลยงง  งงแล้วก็อึ้งไปเป็นครู่ แล้วก็ขำที่ตัวเองนี้โง่จริงๆ ที่ไปเข้าใจว่า เมื่อตัวเองคุ้นเคยกับอะไรแล้ว คนอื่นเขาจะคุ้นเคยเหมือนเรา

ไหนๆก็นำเรื่องตำนานท่าปอมมาเขียนไว้แล้ว ก็ขอนำเรื่องราว “ความเป็น” ของท่าปอมมาเล่าต่อไว้ตามที่มีข้อมูลอยู่ละกัน ถือซะว่านำมายั่วชวนให้ฝันถึงกระบี่แล้วกันนะค่ะ

เชื่อว่ามีหลายคนยังไม่รู้จักป่าพรุเช่นกัน จึงขอชวนมาทำความรู้จักกับป่าพรุกันก่อนเลย สำหรับอาม่า อาอี๊ อาแป๊ะ อาตี๋ทั้งหลายที่มีความรู้เรื่องดิน หากว่าจะมีเมตตาช่วยเพิ่มเติมความรู้ให้ผู้รู้น้อยกว่าถือเป็นกุศลยิ่งค่ะ

คนที่ 60 ยังแจ๋ว เจ็ดสิบยังแจ๋วแล้วยิ่งดีใหญ่ กุศลจะช่วยหนุนให้ยิ่งสวยวันสวยคืน สาววันสาวคืนนะค่ะ

ป่าพรุ นั้นจัดเป็นป่าเขตร้อนเช่นเดียวกับป่าดงดิบ  ไม้ที่ขึ้นในป่าพรุจะไม่ผลัดใบ  ความต่างของป่าชนิดนี้กับป่าอื่นๆอยู่ที่ลักษณะของดินและองค์ประกอบของป่า

ลักษณะเด่นของป่าพรุอยู่ที่การพัฒนาและความหลากหลายที่ปรากฎให้เห็น ความเป็นที่ลุ่มน้ำขัง อยู่ใกล้ชายฝั่ง อากาศมีความชื้นสูง อุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง ฝนชุกเกือบตลอดปี  พบได้ทั้งในพื้นที่ที่เป็นหุบเขาสูงและริมชายฝั่งทะเล

องค์ประกอบเด่นอยู่ตรงที่ลักษณะของดินที่มีหน้าดินเป็นดินอินทรีย์ น้ำหนักเบา อุ้มน้ำง่าย ปิดดินชั้นล่างที่เป็นดินเลนที่มีสารประกอบกำมะถันอยู่ในปริมาณสูงเอาไว้ (สารประกอบกำมะถันเกิดจากไพไรท์ (FeS2) ที่มีอยู่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ) ความหนาของหน้าดินเป็นได้ตั้งแต่ 0.5 เมตรจนถึง 5 เมตร  มีน้ำแช่ขังเหนือหน้าดินเป็นสีชาดำเย็น น้ำนี้ไม่ใช่น้ำนิ่ง มีการไหลเอื่อยๆช้าๆตลอดปี ความเป็นกรดอ่อนของน้ำ (pH 4.5-6.0) ทำให้นำมาใช้เป็นน้ำบริโภคได้ พันธุ์ไม้ที่มีอยู่มีระบบรากที่พัฒนาขึ้นเฉพาะเพื่อให้ต้นไม้อยู่รอดได้

ความเป็นกรดอ่อนของน้ำเกิดจากสารประกอบกำมะถันเป็นหลัก มีกรดอื่นอยู่ด้วย เช่น กรดแทนนิค กรดลิกนิน แต่มีผลต่อความเป็นกรดน้อย

การที่ป่าพรุมีน้ำแช่ขังไว้ตลอดปีนั้นเป็นการจัดสมดุลที่ธรรมชาติสร้างไว้ ด้วยในชั้นดินนอกจากจะี่มีสารประกอบกำมะถันแล้ว ยังมีก๊าซมีเธนด้วย (เกิดจากการบูดเน่าของซากอินทรีย์วัตถุที่ทับถมกันอยู่) เมื่อไรที่ดินแห้ง ดินก็จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และก๊าซมีเธนเป็นตัวช่วยให้ติดไฟง่าย ดินแห้งยังทำให้ดินเปรี้ยวยิ่งขึ้นด้วย

การทับถมของซากอินทรียวัตถุเกิดจากความเป็นกรดทำให้แบคทีเรียทำงานย่อยสลายซากได้ไม่ดี น้ำบริเวณป่าพรุมีทั้งน้ำไหลเือื่่อยช้ามากๆและไหลแรงเป็นกลไกที่ธรรมชาติ เข้ามาช่วยจัดการบรรเทาความเป็นกรดของน้ำ โดยการชะล้างเอาซากอินทรีย์วัตถุออกไปตามสมควรเพื่อให้แบคทีเรียย่อยสลายซากอินทรียวัตถุได้

จุดสำคัญในการดูแลรักษาป่าพรุ จึงอยู่ที่ดูแลไม่ให้น้ำที่ขังอยู่ไหลลงสู่ทะเลจนแห้งขอด การดูแลความหนาของซากวัตถุอินทรีย์ให้คงหนาอยู่ตามธรรมชาติเพื่อลดโอกาสของการทำปฏิกิริยาระหว่างสารไพไรท์กับออกซิเจนซึ่งจะทำให้ดินเปรี้ยวและน้ำกลายเป็นกรดมากขึ้น  และการไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆลงไปขวางกั้นทิศทางไหลของน้ำ หรือทำให้ระบบน้ำไหลขึ้นไหลลงเสียไป

นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

ในบันทึกที่แล้วได้เอ่ยถึงคำนี้เอาไว้ “พูพอน”  ขอนำมาเฉลยว่าเป็นระบบรากที่เกิดจากโคนต้นแผ่ตัวกว้างออกเพื่อรับน้ำหนักต้นไม่ให้ล้มโค่น  ระบบรากอีก 2 แบบที่พบในป่าแห่งนี้ก็จะคล้ายๆกับในป่าโกงกาง นั่นคือ รากค้ำยันและรากอากาศ ต่างไปก็เพียงแต่รูปร่างหน้าตาของรากที่ปรับให้เข้ากับน้ำไหลขึ้นไหลลงของน้ำ เช่น เหมือนหลักหมุด ตัวอักษรวายหัวกลับ

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่อาศัยในป่าพรุ เป็นสัตว์ที่นับวันจะหายากแล้ว ได้แก่ จระเข้น้ำเค็ม เสือดำ แมวป่าหัวแบน ค่าง  ชะมด หมีขอ เป็นต้น

พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุมักจะอยู่ในวงศ์หวาย ปาล์ม หว้า ไม้ประดับที่มักพบในอาคารหรือสวนสวยตามเมืองใหญ่ๆอย่างเช่น หมากแดง เต่าร้าง เตยปาหนัน ก็มีต้นกำเนิดจากป่าพรุ

สำหรับท่าปอม คลองสองน้ำ กระบี่ มีความพิเศษของมันอยู่ตรงที่ ป่าในพื้นที่เป็นป่า 3 ชนิด คือ ป่าพรุ ป่าโกงกาง และป่าดิบชื้นมาบรรจบกัน และมีจุดบรรจบระหว่างน้ำจืดกับน้ำทะเลมาบรรจบกันเป็นรอยต่อไม่ผสมกันเป็นน้ำกร่อย จะมีก็แต่ในช่วงที่น้ำทะเลเริ่มหนุนสูงขึ้นมาที่มีน้ำกร่อยเกิดขึ้น

ชมความหลากหลายทางชีวภาพได้ในวิดิโอ

อยากเห็นรอยบรรจบของ 2 น้ำดูเอาเองในวิดิโอในบันทึกก่อนหน้า

คลองที่มองเห็นบางช่วงเวลาจะเป็นน้ำจืดสนิท บางช่วงเวลาก็จะเป็นน้ำเค็ม ช่วงที่มักเป็นน้ำเค็มคือช่วง “น้ำใหญ่” คือ ขึ้น 12 ค่ำถึงแรม 5 ค่ำ

ความยาวของคลองอยู่ในราว 5 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณนี้กว้างราวๆ 300 ไร่

น้ำที่เห็นใสแจ๋วเป็นสีมรกตมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่จำนวนมากและมีออกซิเจนอยู่เพียงพอให้สัตว์น้ำมีชีวิตอยู่ได้ มีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตและกำมะถันปนอยู่จำนวนมาก การมีสารแคลเซียมคาร์บอเนตอยู่มากทำให้น้ำจืดในคลองแห่งนี้ไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นน้ำดื่มโดยไม่ต้มก่อนนำมาดื่มกิน

ในลำคลองมีโขดหินสีเหลืองมัสตาร์ดมองเห็นอยู่ทั่วไปเกิดจากหินดินดานทำปฏิกิริยากับอากาศแล้วโผล่ขึ้นมาเป็นโขดหิน

ปลาที่พบในลำคลองมีทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำกร่อย สถานที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านไปด้วย

พรรณไม้เด่นที่พบที่นี่ มีต้นพังหน ชมพู่น้ำ เสม็ด หวาย หมาก ระกำ หลุมพี หวายหลาวโอน การะเกดหรือเตยปาหนัน โกงกาง เหงือกปลาหมอ มะเดื่อ ลูกฉิ่ง เป็นต้น

นี่คือภาพที่เห็นในยามน้ำขึ้น มีน้ำทะเลหนุน ที่แม้ในยามน้ำลง ธรรมชาติก็ยังคงดูแลปกปักรักษาลักษณะบางประการของความเป็นป่าพรุเอาไว้ แต่ก็มีลางที่บอกอาถรรพ์ของทุนนิยมที่เข้ามาแทนที่อาถรรพ์เดิมในเรื่องของ ความเป็นไปได้ที่อาจจะสูญเสียป่าพรุแห่งนี้ไปในระยะยาว หากการจัดการผืนที่แห่งนี้ยังขาดองค์ความรู้ที่แท้

ภาพน้ำขึ้นช่วง “น้ำใหญ่”

น้ำทะเลกำลังลง

นี่คือต้นเหตุหนึ่งของการเกิดภาพข้างบนแท้จริงแค่ไหน


ระหว่างที่เขียนบันทึกนี้ก็มีคำถามแวบมา ใครจะช่วยหาคำตอบให้หน่อยได้ไหม

หากจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาร่วมใช้จัดการความรู้ในผืนดินแห่งนี้ ควรเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไร จึงให้ผลในเรื่องความยั่งยืนของการปกปักรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้คงอยู่ชั่วลูกหลานเหลน เหมือนผู้คนในรุ่นก่อนๆที่ใช้อาถรรพ์ป่าปกปักรักษามันมาให้แล้วจนมีวันนี้

« « Prev : เรียนรู้…..การชูธงจากตำนาน

Next : ความสุขอยู่ใกล้ตัวนี่เอง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:02

    โห เยี่ยมเลยค่ะ เบิร์ดไม่เคยรู้เรื่องป่าพรุละเอียดแบบนี้ ถ้าจะจัดการก็คงเริ่มจากพื้นที่ว่าคนในนั้นคิดอย่างไร ถสานที่ที่มีรายละเอียดและมีความสำคัญเช่นนี้ควรจัดเก็บอย่างไรเพื่อให้สมดุลไม่ถูกทำลาย

    ข้อมูลความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะสื่อลงไปให้เป็นเรื่องราวที่เข้าใจง่าย ไม่ติดศัพท์วิชาการ และรวบรวมความคิดเห็นอย่างเป็นระบบร่วมกับสื่อในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดช่องทางประชาสัมพันธ์และรุกติดอย่างต่อเนื่องให้เห็นเนื้องานจากการทำจริง เช่นการวัดค่า pH การศึกษาระบบนิเวศน์เปรียบเทียบในอดีต(ที่มีคนบันทึกไว้ หรือจากคำบอกเล่า)กับปัจจุบันน่ะค่ะพี่ตา…น่าเสียดายถ้าถูกรุกรานด้วยความรู้ไม่เท่าทันเนาะคะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.29709196090698 sec
Sidebar: 0.16588711738586 sec