เรียนรู้…..การชูธงจากตำนาน
อ่าน: 1271แต่ก่อนแต่ไร ผืนป่าแห่งนี้รกทึบยิ่ง พื้นล่างของป่าเต็มไปด้วยรากไม้ พูพอน มีสระน้ำกลางป่าซึ่งมีต้นน้ำของคลองอยู่ใกล้
ที่ต้นน้ำของคลองนั้นมีจระเข้เผือกอาศัยอยู่ จระเข้เผือกนี้เป็นสัตว์ซึ่งเจ้าที่เจ้าป่าคอยปกปักรักษาไว้ มันผู้ใดที่ล่วงละเมิด หรือฝ่าฝืนเข้าไปในเขตป่าก็จะเกิดอาเพศ จนมีอันเป็นไป พื้นที่ผืนป่าแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านหนองจิกแห่งนี้ห้ามลูกหลานไม่ให้กรายใกล้เข้าไปล่วงล้ำ
เมื่อ 130 กว่าปีที่แล้ว โต๊ะครูปอม ผู้เฒ่ามุสลิมได้พาตัวเข้ามาพำนักและตั้งถิ่นฐานในที่แห่งนี้
แล้วก็มีตำนานบอกต่อกันมาว่า ถ้าต้องไปตักน้ำจืดมาบริโภคในหน้าแล้ง หรือไปลงเรือหาปลา หาอาหารในที่แห่งนี้ ก็อย่าเอาอาหารที่มีเนื้อหมูเข้าไปใกล้
ถ้าจะลงอาบน้ำ ก็ให้เว้นวันเสาร์และวันอังคาร เหตุผลนี้ไม่มีใครอธิบายได้ว่าทำไม แต่ดูเหมือนไม่มีใครอยากฝ่าฝืน
แม้ชาวบ้านจะถือว่าที่นี่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีคนที่เก่งกล้าและมีคาถาอาคมเข้าไปบุกเบิกพื้นที่และทำไร่ทำสวน ชื่อโต๊ะหมัน นายกาแมะ คือผู้ที่ได้รับเอ่ยเล่าขานต่อๆกันมา หลังจากนั้นก็มีคนอื่นๆตามเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น คนที่กล้าลองเข้าไปในป่าผืนนี้อีกกลุ่มก็เป็นวัยรุ่นบางกลุ่มที่หาญกล้าอาศัยความรกเรื้อของป่าพรุท่าปอมเป็นแหล่งมั่วสุมของพวกตน
เมื่อชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของผืนป่า ทำให้พวกเขาจึงยังคงช่วยกันดูแลปกปักรักษาป่าไว้
ภาพที่นำมาให้ชมนั้น เห็นแต่ผืนป่าและรากไม้คดเคี้ยว แตกแขนงแผ่กว้าง เห็นปลาน้ำจืดปลาน้ำเค็มที่สลับกันมาว่ายเวียนหาอาหาร มิได้เห็นสระน้ำหวงห้ามหรอกนะ
เขตหวงห้ามนั้นอยู่เลยกระแสน้ำขึ้นไปอีก เดินทวนน้ำขึ้นไปราว 250 เมตรจะมีสระน้ำสีไพลินกลางป่าเขียวอยู่ เรียกว่า อ่างท่าปอม ซึ่ง ณ วันนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ใดย่างกรายเข้าไปสัมผัสใกล้ๆ น้ำในอ่างแห่งนี้มาจากทางน้ำใต้ดินที่ไหลพลุขึ้นมา
ระยะที่สามารถเข้าใกล้ได้มากที่สุดเป็นระยะ 500 เมตร จะมีแอ่งน้ำลักษณะคล้ายๆกันอยู่ สระน้ำแห่งนี้เรียกกันว่า สระน้ำช่องพระแก้ว
สระน้ำช่องพระแก้ว
ณ ที่ใกล้กับสระน้ำช่องพระแก้ว ไม่เกิน 100 เมตร ปัจุบันนี้มีปางช้างตั้งอยู่ใกล้ๆ
น้ำในสระน้ำช่องพระแก้วมีทางน้ำใต้ดินที่แยกสายจากอ่างท่าปอม
ความเย็นและใสของสายธารที่เห็นนั้น เกิดจากสายน้ำใต้ดินทั้งสองสายไหลมาหลอมรวมกันก่อนไหลออกมาเป็นคลองท่าปอมแห่งนี้
เส้นทางเดินธรรมชาติที่เห็นอยู่นั้นได้ยกระดับขึ้น 2 เมตรจากพื้นดิน แล้วสร้างเป็นทางเดินวนรอบพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นเส้นทางรวม 700 เมตร จัดทำขึ้นเพื่อให้ลูกหลานและผู้มาเยือนได้ใช้เป็นทางเดินศึกษาผืนป่าที่มีลักษณะพิเศษแห่งนี้โดยไม่ย่ำเท้าลงไปบนรากไม้
งบประมาณสร้างทางเดินนั้นได้จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และดำเนินการสร้างทางโดยอบต.ที่ดูแลตำบลแห่งนี้
สถานที่เที่ยวแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านหนองจิก ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่
เมื่อแรกที่เริ่มปรับสถานที่แห่งนี้เพื่อให้มีผู้มาเยี่ยมชม มีผู้คนจำนวนมากเดินทางเข้ามา ความใสเย็นชวนให้ลงเล่นน้ำของลำธารแห่งนี้ทำให้ผู้คนลงเล่นน้ำจนเต็มไปหมด
นี่คือภาพเมื่อคนยังสามารถลงไปเล่นน้ำได้
รากไม้ ต้นไม้ริมสองฝั่งคลองเริ่มรู้จักกับความทรุดโทรมที่เกิดจากมือผู้คน
กว่าจะจัดระบบได้สำเร็จและแล้วเสร็จ ผู้มาท่องชมก็มีจำนวนมากมากมายแล้ว
กว่าจะสามารถควบคุมนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการเข้าเที่ยวชม
กว่าที่จะสามารถฝ่ากระแสของผืนถิ่นในการกำหนดกฎระเบียบโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่นักท่องเที่ยวได้สำเร็จ
ฉันรู้สึกว่ามีอะไรมากมายที่อบต.แห่งนี้ได้เรียนรู้
เมื่อกระแสทุนนิยมไหลบ่าเข้ามาสู่ผืนดินแห่งนี้ อาถรรพ์แห่งป่าก็เริ่มเลือนลางเจือจางลง อะไรคือเหตุที่นำพาไปสู่การที่ป่าแห่งนี้เจือจางอาถรรพ์ลงในความเชื่อของคนพื้นที่ จึงมีสิ่งที่ควรตามเรียนต่อจากผู้คนที่ได้มีส่วนร่วม
วิีธีคิดของคนพื้นถิ่นมันแปรเปลี่ยนไปหรืออย่างไร หรือว่าการถ่ายทอดความคิดในการพัฒนาและปกปักรักษาเอาไว้มันเกิดช่องว่างของความรู้ หรือว่ามันเกิดขึ้นจากวิธีเรียนรู้จากความรู้มือสอง มือสาม มือสี่ของคน มันจึงทำให้ความขลังของความรู้ที่ได้มาลดความสำคัญลงไป การได้ตามเรียนรู้น่าจะดีไม่น้อยเลย
ตัวอย่างที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องบทบาทของผู้คนที่มีต่อการชั่งคุณค่า การตัดสินจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของคุณค่า ความเชื่อต่อความขลัง-ไม่ขลังเป็นการให้คุณค่า ความเชื่อจึงเป็นอีกรูปหนึ่งของการให้คุณค่า
ความเชื่อเป็นรูปแบบหนึ่งของการตัดสินรึเปล่า????????
ฉันว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ก็เรื่อง “การเชื่อตามๆกันมา” และ “การไม่เชื่อตามๆกันมา” นี่ไง
« « Prev : ชูธง..รอ….แล้วเรียนรู้
Next : อาถรรพ์คลองสองน้ำ ท่าปอม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เรียนรู้…..การชูธงจากตำนาน"