ใครเป็นนายของผู้คน
อ่าน: 1378
ในระหว่างเดินทางกลับ ฉันมักใช้เวลาไปกับการงีบหลับสลับกับการอ่านหนังสือ หนังสือเล่มที่อ่านในครั้งหนึ่งทำให้ฉันสะดุดคิดกับคำสองคำ คำนั้นก็คือ “มอง” และ “เห็น” เออหนอไม่เคยเกิดความแปลกกับความหมายที่แตกต่างของมันเลยนะ
คำสองคำนี้ถูกใช้อยู่ทุกวันอย่างคุ้นหูนัก
กิจกรรมในวันหนึ่งที่ได้รับฟังเรื่องคลื่นสมองสี่แบบ อันมี เบต้า แอลฟ่า เดลต้า และแกมมา รวมทั้งเรื่องของตัวตนสองชุด คือ ตัวตนที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออก หรือ ตัวตนอำนาจ(primary selves) และตัวตนที่หลบซ่อนอยู่ (disown selves)
ตัวตนที่มีอยู่ 2 ชุดนี้เป็นผลมาจากการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนิเวศน์เพื่อความอยู่รอดซึ่งจะเป็นการอยู่รอดในรูปแบบใด คนที่เป็นเจ้าของตัวตนเท่านั้นที่รู้ กายอยู่รอด กายปลอดภัย ใจอยู่รอด ใจปลอดภัย หรือเป็นทั้งหมด มันก็แล้วแต่ว่าความคิดจะแปลผลให้คุณความจำรับรู้อย่างไหน
ทุกๆวันผู้คนติดปากกับคำว่า “ความคิด” แสดงว่าการทำงานของตัวตนนั้นเป็นผลมาจากความคิดนะเองใช่รึไม่ เป็นความคิดที่คนเราไม่รู้ตัวว่ามีการคิดก่อนลงมือกระทำใช่รึไม่ ความคิดเป็นนายโดยคนไม่ได้รับรู้ได้รึไม่ ความคิดมันสะกดจิตคนให้เป็นไปอะไรโดยไม่รู้ตัวใช่รึไม่ เป็นคำถามที่พึงหาคำตอบใช่รึไม่
คลื่นทั้งสี่ชนิดที่รับฟังมาเป็นคลื่นความคิด การกระทำของคนเกิดขึ้นจากความคิด ย่อมแปลว่าตัวตนเป็นทาสความคิดนะซินะ ฉะนั้นเมื่อเวลาที่มีสติ สติย่อมเกิดจากตัวตนที่เป็นทาสความคิดเช่นกันใช่รึไม่ รึว่าลองเรียนรู้คลื่นความคิดดูสักหน่อยเป็นไร ว่าจะทำความเข้าใจในเรื่องตัวตนสองชุดได้ง่ายขึ้นบ้างไหม
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ฉันกำลังมองและรำลึกเรื่องคลื่นความคิด ฉันนึกไปถึงคลื่นในทะเลอยู่ค่ะ ทะเลคือน้ำของเกลือที่ให้ความเค็มซึ่งมีลูกคลื่นเกิดขึ้นตลอดเวลาลูกคลื่นเกิดจากการกระเพื่อมของน้ำจากการที่มีลมพัดมาแตะต้องอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
คลื่นจะเป็นคลื่นเล็กบ้างใหญ่บ้างก็แล้วแต่ ขนาดที่แปรเปลี่ยนเกิดจากแรงลมที่พัดมาแตะผิวน้ำ คลื่นในทะเลจึงเสมือนรูปธรรมของแรงลมที่ตาผู้คนมองเห็น อยากชวนมองคลื่นในน้ำทะเลเพื่อสังเกต หรือถ้าอยู่ไกลทะเลก็มองความไหวเอนของปลายไม้ เพื่อทำให้ความเข้าใจเรื่องความเร็วของคลื่นและการโบกสะบัดของปลายไม้ แล้วสังเกตและทำความเข้าใจคลื่นความคิดของตนไปด้วยกันค่ะ
ในยามที่มีลมพายุพัดมาคลื่นทะเลจะแรงและเร็วจนมองไม่เห็นละลอกคลื่นชัดๆ ส่วนปลายไม้ก็โบกสะบัดซะจนดูไม่ทัน คลื่นความคิดในช่วงเบต้านั้นเป็นคลื่นที่เร็วที่สุด ฉะนั้นคลื่นทะเลและความเร็วลมพายุที่เห็นน่าจะเปรียบได้ดังคลื่นเบต้านี้
แล้วลมพัดในยามฝนโปรยที่ทำให้เกิดคลื่นในน้ำทะเลหรือการไหวเอนของปลายไม้เล่าเปรียบดังคลื่นเบต้ารึไม่ คำตอบที่ฉันพบบอกว่าน่าจะเปรียบเป็นคลื่นเบต้าได้หนา หากแต่สองลักษณะนี้มีความต่างในเรื่องความเร็วลมที่พัดมา
คลื่นที่เกิดจากพายุนั้นทำลายอะไรก็ได้เพราะแรงลมมันจัดมากจนส่งผลให้เกิดพลังในน้ำที่ส่งแรงกระแทกสูง คลื่นที่เกิดจากลมฝนโชยมาทำลายอะไรได้บ้างไหม ตอบไม่ได้แน่นอน รู้แต่ว่าผลของการทำลายและแรงลมมันต่างกัน ระลอกคลื่นละลอกแล้วละลอกเล่าที่ได้เห็นมีขนาดและความถี่ต่างกันแน่นอน การไหวเอนของปลายไม้ตามแรงลมโบกพัดที่มองเห็นก็แตกต่าง
ลมพายุที่ทำให้ปลายไม้ไหวเอนไปมา ทำให้หักโค่นลงได้ ลมฝนโชยกลับทำให้ปลายไม้ไหวเอนอย่างชวนชื่นชม ยิ่งแรงลมช้าลงไปเท่าไร ภาพปลายไม้ที่เห็นโอนเอนไปมายิ่งดูเบาๆนิ่มนวล คลื่นทะเลในยามที่พายุพัดทำให้รู้สึกน่ากลัว แต่คลื่นทะเลที่เกิดยามลมฝนโชยกลับดูพริ้วแผ่วชวนมอง
ข้อสังเกตในเรื่องแรงลมนำไปใช้อะไรได้ไหม ใช้ทำความเข้าใจคลื่นเบต้าได้นะฉันว่า มันให้ความเข้าใจว่าภายใต้คลื่นความคิดเบต้านั้น เมื่อมันช้าลงๆ ความนิ่มนวลบางอย่างมันเกิดขึ้นในตัวคนได้นะ
เคยได้ยินใช่ไหมว่าในยามที่มีพายุพัดผ่านมาจากที่สูงลงมาที่ต่ำ ลมที่พัดมาเริ่มแผ่วปลายจากการที่ได้พัดผ่านวัตถุต่างๆมาหลากหลาย ตอนต้นทางที่พายุพัดผ่านด้วยลมแรงทำความเสียหายให้ผู้คนทุกข์ตรม แต่พอพายุลดแรงลมแผ่วลงมาเรื่อยๆจนแผ่วปลาย ผู้คนที่อยู่ปลายๆลมพายุกลับมีความสุขกับสายลมที่อุ่น เบา สบาย
คลื่นความคิดก็คล้ายๆกับคลื่นลมที่กล่าวมานี้ ตรงที่เมื่อเริ่มต้นเป็นเบต้า เมื่อสามารถเปลี่ยนคลื่นช้าลงๆได้ คลื่นก็จะเปลี่ยนเป็น แอลฟ่า เดลต้าและแกมมาต่อๆมาตามลำดับ ใช่แล้วคลื่นความคิดนั้นแตกต่างกันที่ความเร็วคลื่น ทำความเข้าใจได้ง่ายๆว่าคลื่นที่ช้าทำให้เกิดอะไรขึ้นกับตัวตนบ้างได้จากข้อเปรียบเทียบลมพายุที่แผ่วปลายลงเรื่อยๆที่พูดถึงไว้ข้างต้นยังไงยังงั้นแหละน่ะ
ลมพายุสอนให้รู้ว่า การแผ่วลงของลมเกิดขึ้นเพราะมีวัตถุเข้ามาชะลอความเร็วลมเอาไว้ มันเกิดขึ้นได้ทั้งๆที่ไม่มีสวิตช์ใดๆมาจัดการลม คลื่นความคิดมีสวิตช์สำหรับจัดการรึไม่ เจ้าของความคิดเท่านั้นที่รู้และหามันเจอ ผู้คนจะรับรู้ว่ามีสวิตช์ความคิดรึไม่ก็ต่อเมื่อได้ฝึกฝนตนจนกระทั่งคลื่นความคิดมันช้าลงจนรูปคลื่น แปรเปลี่ยนไป การฝึกตนเพื่อให้ค้นหาสวิตช์ความคิดเจอนี้ฉันว่ามันคือวิธีที่เรียกว่า “ฝึกสติ” นะ
การเปลี่ยนแปรคลื่นความคิดจากคลื่นเบต้าผ่านเข้าสู่คลื่นแอลฟ่า ช้าลงอีกจนกลายเป็นคลื่นเดลต้า และช้าลงอีกจนกลายเป็นคลื่นแกมม่า มันก็คล้ายคลื่นทะเลที่เกิดขึ้นจากแรงลมที่แปรเปลี่ยนความเร็วไป ช้าลงเมื่อไรผู้คนจึงจะมองเห็นว่าสวิตช์ความคิดติดตั้งอยู่ไหน
เมื่อฝึกสติแล้วใช่ว่าจะค้นหาสวิตช์เจอนะ จนกว่าจะรู้จักกับคำว่าสติ และใช้มันเป็น สติจึงมิใช่คำกล่าวใดๆหรอกนะ หากแต่คือสิ่งที่กำลังปฏิบัติของตัวตน ความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นความคิดกับผู้คนจับต้องเป็นรูปธรรมได้จากสิ่งที่ผู้คนลงมือ หรือพูดให้ง่ายก็คืออะไรที่ทำลงไปเมื่อนั้น สิ่งนั้นคือรูปธรรมของความคิดตอนนั้นเอง เมื่อใดที่คนเข้าใจว่าทำไมจึงลงมือทำ เมื่อนั้นคนจะรู้จักตัวตนสองชุด เมื่อใดที่คนรู้จักตัวตนครบทั้งสองชุด เมื่อนั้นคนจะรู้จักสติและรู้ทันความคิดนะฉันว่า
กัลยาณมิตรผู้น่ารักคนหนึ่งเขียนบันทึกไว้ให้อ่านว่า “เราเป็นในสิ่งที่เราคิด ทั้งหมดที่เราเป็นเกิดขึ้นจากความคิดของเรา เราได้สร้างโลกด้วยความคิดของเรา”
มันเป็นจริงรึไม่ ฝากเอาไว้ให้คิดค่ะ
อ้าว ลืมไปเลยว่าเริ่มต้นไว้ด้วยเรื่องอะไร แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่อง “มอง” และ “เห็น” กันละนี่
Next : ของฝากที่อยากให้รับไว้ดูแลใจ » »
1 ความคิดเห็น
วันนี้ไปร่วมงานสัมนาอันหนึ่ง วิทยากรเสนอโมเดลอย่างง่ายไว้ว่า
René Descartes (1596-1650) กล่าวว่า Cogito, ergo sum (I think, therefore I am)
เคยดูทีวีที่บอกว่า มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมท (1911-1995) เมื่อครั้งไปเรียนที่อังกฤษ ไม่เห็นด้วยกับ Descartes จึงเปลี่ยนเป็น I think I am, therefore I am (ผมจำคำภาษาละตินไม่ได้) แต่เป็นที่ฮือฮามาก
มันเป็นจริงหรือไม่ ฝากเอาไว้ให้คิดครับ อิอิ