ของฝากที่อยากให้รับไว้ดูแลใจ

โดย สาวตา เมื่อ 22 กุมภาพันธ 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1357

วันหนึ่งที่ฉันได้ไปร่วมกิจกรรมในโรงเรียนพ่อแม่ลูกของครูณา ฉันได้แลกเปลี่ยนกับครูณาไว้ว่า แท้ที่จริงทุกข์ของคนนั้น มันมีเหตุเบื้องต้นหรือรากปัญหามาจากการเรียนรู้ความรักของมนุษย์  แล้ววันนี้เป็นวันแห่งความรัก ก็มีเหตุดลใจให้ไปเปิดพบบันทึกเก่าฉบับนี้ของตัวเอง อ่านมันซ้ำแล้วรู้สึกเลยว่าอยากจะให้คนที่ฉันรักทุกคนได้มีโอกาสอ่านมันร่วมกัน จึงขอส่งมันมาให้กับทุกคนผ่านบันทึกที่นี่อีกครั้ง ขอส่งมาพร้อมด้วยหัวใจแห่งรักค่ะ

 

เวลาที่เชือกมีปมขมวดเอาไว้ คนที่ผูก จะรู้ว่าปมนั้นมันถูกผูกขมวดขึ้นได้อย่างไร  การคลายปมเชือกจึงจะง่ายหากผู้เป็นคนผูกเป็นผู้คลายปม  ข้อคิดนี้ฉันนำมันมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเสมอ เวลาที่ฉันพบว่า ตัวฉันมีปัญหาในใจ  ไม่ว่าปัญหานั้นๆจะเกี่ยวกับงานหรือเกี่ยวกับคน 

 

หากฉันคือผู้ที่เป็นลงมือผูกปมและยึดปมนั้นไว้แล้วทำให้ตัวฉันเองมีปัญหา  ฉันจะใช้ข้อคิดข้างต้นมาวิพากษ์ตัวเองเพื่อเรียนรู้ว่า ทำไมฉันจึงมีปัญหากับเรื่องนั้นๆ  เพื่อให้เข้าใจชัดว่า  ความคิดที่ทำให้เกิดปัญหานั้นมันคืออะไร  มันมีความต้องการอะไร  ฉันจึงต้องลงมือทำมันให้มันมาเบียดเบียนฉันให้มีความทุกข์เกิดขึ้น

 

ฉันได้พบว่าการเปลี่ยนตัวเองนั้นง่ายยิ่งกว่าการไปเปลี่ยนใครๆ  ทุกข์น้อยกว่าการไปพยายามเปลี่ยนใครๆหลายเท่านัก  เพื่อลดความทุกข์ให้กับตัวเองบทเรียนรู้นี้จึงถูกฉันนำมาใช้ปรับเปลี่ยนตัวเองเวลามีทุกข์อะไรเสมอ  แล้วฉันก็ได้พบว่าปัญหาที่ฉันมีอยู่กลับมลายหายไปได้อย่างง่ายดาย   

 

การปรับเปลี่ยนตัวเองที่ฉันทำแล้วฉันคลายทุกข์ลงไปได้นั้นมิได้เกิดจากการเปลี่ยนตัวเองตามที่คนอื่นเขาต้องการให้ฉันเปลี่ยน แต่ฉันได้นำเอาสิ่งที่คนอื่นต้องการมาวิพากษ์ร่วมกับการวิพากษ์ความต้องการของตัวฉันเองแล้วได้ความต้องการใหม่ที่เป็นคำตอบของการกระทำใหม่มิใช่กระทำแบบเดิม  ความหมายของการเปลี่ยนนั้นหมายถึง การไม่ทำแบบเดิมๆอย่างที่เคยทำ แต่พลิกการทำไปในบางมุม ที่ลดการเบียดเบียนตนแล้วทำให้ความทุกข์ที่เคยเกิดมันเบาบางลงไป

 

ฉันไปพบคำสอนของท่านอาจารย์ชยสาโรที่กล่าวให้เด็กๆที่โรงเรียนวิถีพุทธได้ฟัง แล้วมันตรงใจอยู่กับสิ่งที่เคยทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง  เลยถือโอกาสเก็บเกี่ยวมาไว้ใช้ต่อไป

ในเรื่องของศีลภาวนาในหมวดธรรม อาตมาได้สรุปคำเดียวคือคำว่าไม่เบียดเบียน

เพราะเป็นคำที่กว้างพอสมควร แล้วก็สามารถจะพูดถึงเรื่องศีลในแง่ที่ไม่ได้จำกัดแค่ศีลห้า ศีลแปด แต่ว่าหัวใจของศีลก็คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นหลัก การกระทำ การพูดอันใด ถ้าพูดด้วยเจตนาจะเบียดเบียนคนอื่น จะเบียดเบียนทางกาย หรือเบียดเบียนทางใจ ถือว่าผิด…..

 

ในการที่เราเอาความจริงในปัจจุบันสามารถคิด สามารถมองในทางที่ทุกข์ไม่เกิดขึ้น

กิเลสไม่กำเริบ นี่ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ อาตมาข้ามไปดูข้อสุดท้ายในเรื่องของปัญญา แต่ว่ามันจะเข้ามามีส่วนในทุกข้อ อาตมาก็เคยปรารภด้วยว่าศัพท์บางศัพท์ชื่อยาว สำหรับคนไม่ชิน มันน่ากลัว ศัพท์คำว่า โยนิโสมนสิการ อาตมาก็อยากให้เราบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้น สั้นๆ ย่อลงมา ใช้คำว่าโยเป็นแบบศัพท์ใหม่ ศัพท์วัยรุ่น อยากรู้ถูกไหม ก็ลองไปโยดู โยอย่างไรจะไม่เป็นทุกข์ มันก็ฟังสนุกขึ้นมาทันที แต่พอพูดว่า เอ้า ! ลองโยนิโสมนสิการดูซิ โอย ! นึกไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง เห็นไหม เรื่องเดียวกัน แต่ว่าเราฉลาดในเรื่องการใช้ภาษา อันนี้ก็เป็นความฉลาดอย่างหนึ่งใช่ไหม ที่เรียกว่า ปฏิสัมภิทาทา ฉลาดในการใช้ภาษาให้เกิดประโยชน์……..

 

ขันติ ความอดทน ธรรมะแต่ละข้อมิใช่ธรรมะโดดเดี่ยว คือมิใช่ว่าจะต้องเก็บทีละ

ข้อๆ แต่มันจะเกิดพร้อมกัน เราต้องโยดูก่อนว่า ขันติเกิดจากอะไร ทำไมบางครั้งเราอดทนมากอดทนได้ แต่ทำไมบางครั้ง ตัวเราคนเดียวทนไม่ไหวเลย มันเป็นเพราะอะไร ลองโยดู นี่อาตมาก็โยอย่างนี้ว่า เราจะอดทนในสิ่งที่เราเชื่อว่ามีคุณค่า และมีความหมาย ถ้าเรื่องไหนรู้สึกทนแล้วทนทำไม ไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเรื่องไหนเราคิดว่าไม่มีประโยชน์ มันไม่ทนขี้เกียจจะทน แต่ถ้าเรื่องไหนเรารู้ว่าสำคัญ เราทนได้ยิ่งกว่าที่เคยคาดคิดว่าจะเป็นได้…..

 

สติ ก็เป็นตัวพัฒนาจิตใจโดยตรง และก็ต้องการมีสติ สติในเรื่องอะไร ในเรื่องกาย

ในเรื่องเวทนา สติในจิต สติในธรรม สติในความจริงในปัจจุบัน และสติในคำสอนของ

พระพุทธเจ้า สติคือการระลึกอยู่ในคุณธรรมข้อต่างๆ ระลึกอยู่ในหน้าที่ต่างๆ

 

สติก็มีหน้าที่หนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอดีต การที่เราระลึกได้ เราจำได้ ทันเหตุการณ์ เราเคยได้รับคำสั่งสอนการอบรม เรามีอุดมการณ์ เรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เรียนรู้เรื่องถูกเรื่องผิดก็อย่างหนึ่ง การที่เราระลึกได้ ทันเหตุการณ์ในเวลาวิกฤต ที่มีเวลาน้อย อันนี้ก็เป็นเรื่องของสติ

 

การที่เราสามารถดึงข้อมูล ดึงปัญญาจากที่เราเคยเรียนมาจากอดีต มาแก้ปัญญาใน

ปัจจุบัน ก็เรื่องสติ

 

การที่รู้ตัวอยู่ในปัจจุบันว่ากำลังทำอะไรอยู่ การที่สามารถอยู่กับเรื่องที่เรากำหนด อย่างเช่น เรื่องที่เรากำลังสอน เรื่องที่เด็กกำลังเรียน สามารถมุ่งกับเรื่องนั้นไปต่อเนื่องโดยไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่านวุ่นวายคิดเรื่องอื่นๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของสติ

 

มีสติกับการงาน มีสติกับหน้าที่ มีสัมปชัญญะรู้ตัวเมื่อเราสามารถฝึกจิตให้ปล่อยวางความคิดที่เป็นอกุศล จิตใจปลอดโปร่งมากขึ้นความคิดสร้างสรรค์ก็เพิ่มขึ้นมากเพราะจิตใจไม่เศร้าหมอง ความคิดที่งอกออกมาจากความเศร้าหมองก็น้อยลงหรือแทบไม่มี พอจิตใจสงบและจิตใจอยู่ในอารมณ์ปกติ ความรู้เห็น ความเข้าใจสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้น

 

และความคิดสร้างสรรค์ทางโยนิโสมนสิการก็จะเกิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มศรัทธา เพิ่มความพากเพียรพยายาม ยิ่งเพิ่มความอดทน

 

ยิ่งศึกษายิ่งเห็น ยิ่งเห็นก็ยิ่งศรัทธา ยิ่งศรัทธาก็ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเห็น มันก็หมุนวนไปอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

« « Prev : ใครเป็นนายของผู้คน

Next : ขอบคุณชีวิต » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 มีนาคม 2009 เวลา 15:22

    เมื่อสติเจอกับจีพีเอสผมเพี้ยนเลยครับพี่ตา…เพราะเราไม่มีข้อมูลของช่องทางเดินรถในกทม.เราไม่รู้วิธีขับรถในเมืองใหญ่ ฉลาดทุกเรื่องโง่อย่างเดียวเรื่องขับรถในกทม. อิอิ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2009 เวลา 15:06

    การตัดสินทำให้สติเสียค่ะน้อง คำตัดสินก็คือความเชื่อที่เกิดจากการสรุปความให้ตัวเองเชื่อ เมื่อความเชื่อบอกว่าจีพีเอสสามารถมาก พึ่งพามันได้ในการเดินทาง พลังสติมันแพ้ความเชื่อไงละน้อง มันทำให้หลงลืมไปว่า ที่แท้จีพีเอสมันคือเครื่องจักรที่สมองมนุษย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อโยกย้ายความคิดหลายๆอย่างที่เก็บไว้ในสมองคนแล้วมันรกที่ไปเก็บไว้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทีหลังได้อีก มันจึงกลายเป็นเครื่องจักรที่รวบรวมข้อมูลถนนหนทางเอาไว้

    ความหลงต่อความฉลาดมันเลยพาไปจนได้รู้จักคำว่า “โง่” นี่แหละค่ะ

    บทเรียนเรื่องนี้สอนพี่ว่า ยังไงๆ ความมีชีวิต ย่อมดีกว่าเครื่องจักร ความยืดหยุ่นดีกว่าความจำเพาะตรงๆเลยแหละค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.20534014701843 sec
Sidebar: 0.11036205291748 sec