งัดล้อก่อนติดหล่ม
อ่าน: 1394เผลอบ่นให้ลูกชายฟังว่า วันๆแม่ใช้เวลาทำงานกับเรื่องประชุมก็หมดวันแล้ว เจ้าลูกชายถามกลับมาว่ามีเบี้ยประชุมไหม ฟังแล้วอึ้งลูกชายตัวน้อยกำลังคิดอะไร ตอบเขาไปว่าไม่มีหรอก ไม่ประชุมหลายเรื่องก็ไม่รู้ปัญหาและปัญหาก็ไม่ได้แก้ อันที่จริงประชุมก็คือการได้มาสนทนากัน ปรึกษาหารือกันนะเอง
วันนี้เมื่อเข้าไปถึงที่ทำงานเริ่มจัดการแฟ้มงานที่ลูกน้องวางไว้ให้ แล้วไม่นานก็นำพาตัวตนไปนั่งฟังเรื่องราวที่น้องพี่หมอพยาบาลคุยกันเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มีโอกาสเข้าไปนั่งฟัง ร้างราเวทีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปนานโขไม่เข้าไปเกี่ยว ที่ไม่เข้าไปเกี่ยวก็เพื่อจะได้มีเวลาให้ตัวเองออกไปตะลอนข้างนอก เพื่อจะได้มีเวลาจัดการเรื่องราวที่ตั้งใจจะทำ แล้วก็ตั้งใจปล่อยให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองตามสไตล์ของพวกเขาบ้าง
ถามว่าตัวเองเข้าไปฟังแล้วเรียนรู้อะไรใหม่ขึ้นบ้างในครั้งนี้ คำตอบที่หลุดออกมามีเรื่องที่มองแผ่นเสียงตกร่องมุมหนึ่งผุดขึ้นมา อะไรที่เรียกว่าแผ่นเสียงตกร่องอย่างนั้นหรือ เรื่องนั้นคือวิธีเรียนรู้และวิธีลงมือทำงานนะขอบอก สิ่งที่รับรู้มันบอกถึงวิธีเรียนรู้ว่าความรู้ความเข้าใจนั้นจับถ่ายใส่สมองไม่ได้จริงๆ เมื่อไรที่ความรู้ถูกจับใส่สมองด้วยวิธีบอกและวิธีดูด้วยตาเท่านั้น สมองของคนไม่ได้ช่วยให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งเท่าไร และความรู้นั้นก็นำไปประยุกต์ใช้ไม่ได้ประสิทธิผลสักเท่าไร ที่กล่าวอย่างนี้เพราะสิ่งที่กำลังมองเห็นคือพวกเขาใช้วิธีเรียนและลงมือทำแบบเดินตามตำราทุกคำ ส่วนการประยุกต์และกำลังจะประยุกต์ไปใช้ก็ทำในทิศทางให้เหมือนกับตำราว่าไว้ทุกอย่าง ทั้งๆที่ทำอย่างที่รอกอดเคยพูดไว้ก็ได้ คือไม่จำเป็นต้องเหมือนตำราก็ได้
นี้เป็นตัวอย่างที่บอกถึงความไม่เข้าใจและสับสนมากระหว่างประสิทธิภาพกับประสิทธิผลและเป็นตัวอย่างว่าอะไรคือการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อผลลัพธ์ (doing the right things) และอะไรคือกับการทำสิ่งที่ถูกตรงตามระเบียบกฏเกณฑ์ (doing things right) ชัดเจนอย่างยิ่ง
ยิ่งฟังๆก็ยิ่งอึดอัดในหัวใจที่ผู้คนที่รักทำงานเหนื่อยหนักเพียงเพื่อทำให้ตรงตามตำรา ทำให้มีคำถามกับตัวเองว่าจะปล่อยให้เขาเหนื่อยต่อไปจะคุ้มหรือไม่ นี่แค่เขาพยายามเรียนรู้และลงมือทำตามตำรา เขายังเหนื่อยหนัก อิดโรยและเครียดกันนักหนา แล้วถ้าเพิ่มตัวเลขต่างๆที่มีที่ใช้ชื่อเรียกมันว่าอย่างที่พวกเขาชอบเก็บๆกันเข้าไปโดยไม่รู้ว่ามันจะเก็บไปทำไมจะเป็นไรอีกเน้อ แล้วจะทำยังไงต่อดีละเราในเมื่อทุกคนต่างมุ่งไปในทิศเดียวกันและตีความว่าที่กำลังทำๆอยู่คือประสิทธิภาพ สำหรับใจของฉันนะอยากจะให้มีประสิทธิผลมากกว่าและที่เห็นมันก็ไม่ใช่ประสิทธิภาพ ทำไงๆๆๆๆถ้าพูดออกไปแล้วไม่ทำพวกเขาเสียกำลังใจกันยกใหญ่
ทำยังไงๆ คิดๆๆๆๆ ในที่สุดก็มาถึงบางอ้อว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า ทำหน้าที่ผู้จัดการซะหน่อยจะดีกว่ามั๊ย ทำให้เขาเรียนรู้ผ่านการตอบคำถามดีกว่านะ ว่าแล้วก็ไปค้นหาคำถามที่เคยมีคนถามเมื่อคราวที่เขามาเยี่ยมสำรวจร.พ.จนพบเอาไปถามพวกเขาซ้ำ ฝากคำถามเอาไว้ว่าที่มาถามนะไม่ต้องการให้ตอบเลยหรอกนะ แต่อยากให้ผู้ดูแลไปหาคำตอบว่าที่ทำๆลงไปแล้วนั้นมันพร้อมจะให้คำตอบตอบในพื้นที่ทุกๆที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้นๆแค่ไหน อย่างเช่น เมื่อมีคำถามเรื่องการใช้ยาที่ถูกสั่งใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้นตัวหนึ่ง ตอบได้ไหมว่าหากมีคนไข้โรคฉุกเฉินไปโผล่ ณ หอผู้ป่วยแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยที่ปกติหอแห่งนั้นไม่ใช่หอที่รับรักษาโรคนี้เป็นหลัก แต่เรื่องนี้มีโอกาสเป็นจริงได้เพราะว่าผู้คนสามารถป่วยหลายโรคในตัวได้ จะรับรองได้ไหมว่าการใช้ยาดังกล่าวที่หอนี้มีประสิทธิผลในเรื่องต่างๆเท่าเทียมกับหอที่รับผู้ป่วยโรคนี้บ่อยๆ
ป้อนเป็นคำถามทำนองกระตุ้นให้ไปใคร่ครวญว่า areas of effectiveness และ possible significant results อยู่ตรงไหนในเรื่องการรักษาโรค การบริหารยาการให้ที่ทันการหรือการมีคำอธิบายว่าทำตามขั้นตอนได้ครบ ทิ้งคำถามเอาไว้ไม่รอคำตอบเพื่อให้เขาเรียนรู้ต่อไปเองให้เข้าใจว่า จุดไหนในเรื่องยาที่ควรให้ความใส่ใจและความใส่ใจนั้นมุ่งประเด็นใดแน่จากการใคร่ครวญไตร่ตรอง แล้วจะได้เรียนรู้ว่าจับต้องถูกประเด็นรึไม่ ฉันว่าการจับถูกประเด็นประสิทธิผลคือความทันการก็เกิดขึ้นได้จริง คุณภาพเกิดมาเองโดยไม่ต้องพัฒนาเลยสักนิดด้วยซ้ำ
รอกอดบอกว่าเมื่อผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจอะไรสักอย่างจะกระทบต่อคนเป็นจำนวนมาก การยึดเอาความคิดของตนว่าถูกต้องจริงแท้แน่นอนของผู้บริหารกลับอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อองค์กร ฉันขอเพิ่มเติมว่าในหน่วยราชการนั้นใช่แต่การตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นที่ก่อผลดังว่า แค่ระดับผู้รับผิดชอบงานเป็นชิ้นๆที่เกี่ยวพันกับงานอื่นก็ส่งผลกระทบแล้ว ยิ่งหน่วยราชการแบบโรงพยาบาลยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีส่วนเสี้ยวไหนเลยที่ไม่เกี่ยวกับกันและกัน
ฉันอยากยืนยันว่าสถานการณ์-ข้อจำกัดขององค์กรที่ถูกขับเคลื่อนด้วยบุคคลากรหลากหลายที่แต่ละคนไม่ได้เข้าใจในศักยภาพที่แท้จริงของตนนั้น เป็นตัวถ่วงความเจริญรุ่งเรืองขององค์กรนะขอบอก องค์กรที่เป็นอย่างนี้นะมีสิ่งที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด คือ ทำให้บุคคลเหล่านี้เข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนและเปิดช่องทางให้อิสระในการเปล่งศักยภาพที่แท้จริงของเขาให้ได้เร็วที่สุด ก็จะช่วยให้องค์กรเจริญรุ่งเรืองได้เร็วขึ้นๆ
ในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งที่ระดับไม่สูงหรอกนะ แต่ด้วยความที่เป็นกระทิงดุในองค์กร สถานะจึงกลายเป็นเสมือนคนยกระดับเอาไว้สูง แต่ก่อนเป็นกระทิงดุจริงๆนะขอบอก แต่พอกลายเป็นกระทิงใจหนูไปแล้วคนไม่รู้ เวลาไปร่วมเวทีไหนและออกความคิดไป คนเขายังขยาดอยู่เลย เดี๋ยวนี้เลยไม่ใคร่ออกความคิดอะไรมากไปกว่าฝากคำถามให้ไปหาคำตอบเอาเอง ฝากไว้แล้วฉันก็นำพาตัวเองเดินจากมา เพื่อไปมองหาเวทีอื่นๆสำหรับออกความคิดและป้อนคำถามอีก
ได้เวทีใหม่เพื่อเปิดช่องทางให้อิสระในการเปล่งศักยภาพที่แท้จริงของผู้คนในองค์กรจากวิธีใหม่ซึ่งประยุกต์ใช้สุนทรียสนทนาและการป้อนคำถาม โดยฝึกให้ลูกน้องในฝ่ายเป็นกระบวนกรให้กับคนทำงานระดับเดียวกับเขา แล้วตัวเองหลีกไปทำหน้าที่ resource person เติมความรู้ด้วยการให้งานและตั้งคำถามผ่านการติดตามผล อีกทั้งจัดการให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และแลกเปลี่ยนบทเรียนให้ลูกน้องทำแทน ปรากฏว่าดีกว่าเดิมแฮะในเรื่องการเดินงาน แถมยังได้พื้นที่และบรรยากาศสุนทรียสนทนาที่กินพื้นที่เดิมๆเข้ามาได้มากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนพอเริ่มจะเห็นเค้าลางของวิธีการเปลี่ยนหนูให้เป็นกระทิงขึ้นมารำไรๆ นึกขึ้นได้ว่ารอกอดเคยพูดว่าอย่าเพิ่งรีบสรุปในสิ่งที่ดูๆอยู่ รอดูไปเรื่อยๆจะพบอะไรดีๆมากกว่า เลยมาบอกว่าที่บันทึกไว้นี้ก็เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีเรื่องอะไรที่กำลังรอๆดูอยู่ค่ะ อ่านแล้วใครอยากลองดูมั่งจะลองไปด้วยแล้วมาแลกเปลี่ยนก็ดีนะ
บันทึกเอาไว้สักหน่อยว่าหลักที่เอามาประยุกต์ใช้ให้เกิดเวทีใหม่นี้ขึ้นมา ใช้ความหมายของคำเหล่านี้เข้ามาประยุกต์ใช้ต่อยอดคำว่า “อยู่รอด” ค่ะ คำนั้นๆคือคำว่า “เท่าเทียม อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย” ใคร่ครวญเอาเองละกันนะ
« « Prev : ถามใจ
6 ความคิดเห็น
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า งัดล้อ ล่ะคะ งงจริงๆ นะ
เห็นคำว่าพัฒนาคุณภาพแล้วอยากแจมยาวๆ ขออนุญาตนะคะ
สมัยเริ่มทำงานด้านส่งเสริมคุณภาพใหม่ๆ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลอาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น การที่ต้องเดินทางไปโรงงานต่างจังหวัดร่วมกับอาจารย์ ทำให้มีโอกาสสนทนากันหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่อาจารย์ย้ำเสมอคือ “ถ้าอยากจะเรียนรู้ระบบบริหารคุณภาพให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจที่ไปที่มาของมันในทุกมิติทั้งส่วนที่ มองเห็น (visible) และ มองไม่เห็น (invisible) จึงจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดได้”
“ส่วนที่มองไม่เห็น” คือ สิ่งที่อยู่ภายในใจผู้คน คือ ความหวัง ศรัทธา เจตนารมณ์ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งมีอยู่ทั้งในระดับบุคคล องค์กรและประเทศ การที่เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้นั้น เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของผู้คน เช่น
คนญี่ปุ่น พัฒนาคุณภาพเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังจากแพ้สงคราม ด้วยเลือดรักชาติและความมุ่งมั่นอันแรงกล้า เมื่ออยู่รอด ก็หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและขยายเป้าหมายสู่การพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชีย
อเมริกา ขยายการพัฒนาคุณภาพจากกองทัพมาสู่อุตสาหกรรม เพื่อรักษาศักดิ์ศรี และคงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำตลอดกาล
คำกล่าวรณรงค์ที่กระตุ้นให้คนอเมริกันตื่นตัวในยุคหนึ่งคือ “If Japan can, why we can’t”
“ส่วนที่มองเห็น” คือ เครื่องมือ รูปแบบ เทคนิค วิธีการ ที่ไม่ว่าจะลอกเลียนมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใด ก็ไม่อาจให้ผลอย่างองค์กรที่เราไปลอกเลียนมา ถ้าส่วนที่มองไม่เห็น หรือเบื้องหลังการถ่ายทำนั้นต่างกัน
“ส่วนที่มองไม่เห็น” มักไม่ได้รับความสนใจ หรือตกหล่นหายไปในระหว่างการถ่ายทอด การนำเฉพาะ “ส่วนที่มองเห็น” มาทำตามโดยขาดการพิจารณาว่าเหมาะกับสภาวการณ์ในองค์กรของเราหรือไม่่ แถมไม่กล้าดัดแปลงเพราะกลัวผิดทำให้มีทั้งที่ ใช้แล้วได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง และบ่อยครั้งที่เราปล่อยให้เครื่องมือกลายเป็นภาระ โดยไม่รู้ตัว
อาจารย์มักจะชวนคุยเรื่องความเป็นมาของประเทศไทยและอุปนิสัยของคนไทย เพราะอยากให้เราคิดว่า “อะไรคือแรงผลักดันที่จะทำให้คนไทย หรือ องค์กรของคนไทย เกิดความมุ่งมั่นที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจัง”
ใช่เลยค่ะน้องดา อะไรคือแรงผลักดันที่จะทำให้คนมุ่งมั่นที่พัฒนา……. ถ้าขาดตรงนี้มันก็เห็นเพียงแสงหิ่งห้อยเท่านั้น พี่เห็นหลายอย่างแล้วอดสงสัยไม่ได้ ว่าเรามีการพัฒนา ฯหลายๆ ฉบับ ยิ่งทำยิ่งถูก ประเทศเพื่อนบ้านแซงไปเกือบหมดแล้ว แท้จริงก็เรื่องความมุ่งมั่นนี้เอง เราลืมปลูกฝังเรื่องนี้มานานแล้วค่ะ เราขาดความมุ่งมั่น และยังห่างไกลจากความมุ่งมั่นค่ะ คงต้องช่วยกันสุมหัวสหเฮด ร่วมด้วยช่วยกันจุดประกายความมุ่งมั่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนา..ที่ทำให้ทุกคนเห็นเป็นอย่างเดียวกันมีฝันร่วมกันมุ่งเดินไปสู่ฝันนั้นด้วยกันค่ะ
ล้อมันเริ่มติดหล่มตำราค่ะ ก็เลยต้องงัดหน่อยเพื่อให้ล้อมันเคลื่อนไปให้พ้นหล่ม เพราะว่ายิ่งมุ่งมั่นและเอาตำราเป็นเป้ามันยิ่งติดหล่มลึกเข้าไปๆ จนเหน้ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตามๆกัน
ในความเห็นพี่ ถ้าหากทำงานคุณภาพแล้วบ่นว่าเหนื่อยไม่ควรทำ ทำงานคุณภาพถ้าบ่นว่าล้าและเครียดไม่ควรทำค่ะ
เพราะว่างานคุณภาพที่แท้จริงทำแล้วควรสนุกและมีความสุขกับการทำมัน มีความสุขเพราะ “อยาก” ทำ ไม่ใช่ “ต้อง” ทำค่ะ
ดีใจที่น้องดา เข้าใจเรื่องราวและหลักการของการทำงานคุณภาพค่ะ
แรงผลักดันที่ดีที่สุดที่จะทำให้วงล้อคุณภาพเคลื่อนไปอย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา คือ แรงใจ ค่ะน้องดา
สหเฮดสำคัญจริงๆนะค่ะแม่ยก เพราะว่าทำให้คนที่มี “แรงใจ” รู้สึกว่าไม่ได้เดินอยู่บนทางสายเปลี่ยวเพียงคนเดียวตลอดเวลา