ตามลม (๗๓) : โลหะหนักอีกกลุ่ม…ที่ไม่ควรละเลยการจัดระบบ….ของเหลือใช้
ในกลุ่มของโลหะหนักที่เป็นมลสารสำคัญ ยังมี “ธาตุกัมมันตรังสี” ด้วย มลสารกลุ่มนี้มาอยู่ในน้ำเสียได้ ในวิชาน้ำเขาเรียกว่า “สารกัมมันตรังสี (Radioactive Waste)”
ความหมายศัพท์ คือสารที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วและปนเืปื้อนกัมมันตรังสี แล้วก่อความเสี่ยงที่สามารถทำให้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีอันตรายได้ หรือคงสภาพได้ในระยะเวลานานนับพันปี จำเป็นต้องมีวิธีการกัก เก็บที่ปลอดภัย ไม่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกจนกว่าจะหมดสภาพไปเอง
แบ่งกลุ่มของมันได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ High -Level Waste(HLW) Transuranic Waste และ Low-level Waste (LLW)
ตัวสำคัญ ได้แก่ ยูเรเนียม พลูโตเนียม และ ทอเรียม
แหล่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ เหมืองยูเรเนียม คือ แหล่งกำเนิดสำคัญที่ปล่อยสารนี้ลงน้ำได้
กากกัมมันตรังสีที่เกิดจากกิจกรรมอื่นๆ เช่น การแพทย์ การวิจัย และ การถนอมอาหาร เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถปนเปื้อนในน้ำเสียได้
เหล่าธาตุกัมมันตภาพรังสีปล่อยรังสีออกมาได้ 3 ชนิด มีรังสีแอลฟา เบต้า และ แกมม่า รังสีพวกนี้ทำลายเนื้อเยื่อเมื่อสัมผัสตรงๆ รังสีแกมม่าทำลายได้ลึกที่สุด เบต้าเป็นรองกว่า ต่ำสุดคือแอลฟา
รังสีทั้งหมดทะลุผ่านผนังคอนกรีตที่มีความหนามากๆไม่ได้ ห้องที่มีการใช้รังสีเหล่านี้จึงมักบุด้วยคอนกรีตหนาๆทั้งสี่ด้าน
หลังปลดปล่อยรังสีออกมาระดับหนึ่งแล้ว ธาตุพวกนี้จะเปลี่ยนเป็นธาตุอีกตัวที่คงตัวกว่า โดยยังคงความสามารถในการปล่อยรังสีไว้
การปนเปื้อนนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งในอากาศ ดิน และน้ำ การสลายตัวไปตามธรรมชาติขึ้นกับอายุครึ่งชีวิตของแต่ละธาตุ
ธาตุที่ใช้บ่อยและใช้มานานมาก คือ ไอโอดีน ธาตุตัวนี้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพียง 8 วันในขณะที่ธาตุตัวอื่นอยู่นานกว่า
ทุกวันนี้การแพทย์ ใช้ธาตุกัมมันตรังสีกับการจัดการมะเร็งและการวินิจฉัยโรคยากๆเช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ รพ.ใหญ่ๆที่มีการรักษาโรคมะเร็งหรือใช้สารเหล่านี้ในกระบวนการวินิจฉัยโรคจึงอาจมีสารนี้ปนเปื้อนในน้ำทิ้ง
การจัดการกับของเสียจากคนไข้ที่มีการใช้สารพวกนี้ จึงเป็นอะไรที่ต้องจัดระบบพิเศษให้ กัมมันตรังสีที่ค้างในตัวคนไข้แอบตามไปถึงบ้านได้ด้วย ระบบพิเศษนี้จึงต้องมีให้ใช้ทั้งที่รพ.และที่บ้านนะขอบอก
ครั้งหนึ่งมีข่าวฮือฮาในหน้าหนังสือพิมพ์บ้านเราว่า มีคนบาดเจ็บจากขยะที่ไปเก็บมาขายถึงขั้นเนื้อตาย ขยะที่เป็นผู้ร้ายในครั้งนั้นคือ โคบอลต์ และนั่นเป็นอีกครั้งที่คนไทยตื่นตัวกับสารกัมมันตรังสี หลังจากตื่นเต้นและเป็นห่วงดาราดังคนหนึ่งกับโรคที่เธอป่วย ซึ่งต้องใช้ “แร่” เป็นยารักษา
เรื่องที่ดังก้องโลก กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลล์ สหภาพโซเวียต ระเบิดใน พ.ศ. 2529 แล้วตรวจพบฝุ่นกัมมันตรังสีกระจายไปยังประเทศแถบยุโรปและเอเชีย มีสารกัมมันตรังสีหลายชนิดปนเปื้อนน้ำ พืชผัก ทุ่งหญ้าซึ่งเป็นอาหารสัตว์ แล้วปนเปื้อนนมด้วย เป็นตัวอย่างที่ทำให้คนขนลุกกับสารกัมมันตรังสีไม่น้อย กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นหลังสึนามิเดือนมีนาคม 2554 ที่เพิ่งผ่านมาก็เช่นกัน
เพื่อความปลอดภัยจากรังสี จึงต้องมีการวัดปริมาณรังสีในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานทางรังสีเป็นประจำ
อันตรายจากรังสีขึ้นกับความเข้มของรังสีที่ผ่านและค้างอยู่ในตัวคน จึงมีการกำหนดระดับความปลอดภัยของปริมาณรังสีไว้ที่ ๒๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วง ๕ ปีติดต่อกัน และไม่เกิน ๕๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปีเมื่อวัดรายปี รวมแหล่งรังสีไม่ว่าจะได้รับจากภายในหรือภายนอกร่างกาย ปริมาณรังสีนี้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เมื่อทะลุผ่านเนื้อเยื่อไปลึก 1 ซม. แล้ว (ระดับนี้เริ่มมีเนื้อเยื่อที่เกี่ยวกับระบบเลือดแล้ว) จุดวัดอยู่ที่แขน ขาและศีรษะ
« « Prev : ตามลม (๗๒) : ควรพอใจกับตัววัดน้ำตัวไหน
Next : ตามลม (๗๔) : ตะกอน…ตะกอน…ตะกอน…จะทำให้หมดไปได้มั๊ย » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๗๓) : โลหะหนักอีกกลุ่ม…ที่ไม่ควรละเลยการจัดระบบ….ของเหลือใช้"