กินสารรังสีแล้วควรทำยังไง

โดย สาวตา เมื่อ 26 มกราคม 2011 เวลา 1:05 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, พลังงาน, สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 6157

ช่วงวันหยุดยาวต้นๆปีใหม่ ๒๕๕๓ ได้รับข่าวการป่วยของกัลยาณมิตรซึ่งได้พบและคุยกันครั้งแรกที่สวนรถไฟ  มีคำถามที่ปรึกษาไว้ว่าเมื่อได้รับสารรังสีเข้าไปในร่างกาย คนข้างตัวจะเป็นอะไรบ้างไหม  ก็รับปากว่าจะไปถามผู้รู้มาให้อีกต่อ

ได้คำตอบมาแล้วจึงนำมาบอกไว้ที่นี่  สารรังสีที่ว่านี้ คือ ไอโอดีนรังสี (ขอเรียกสั้นๆว่า “แร่” )  ซึ่งทางการแพทย์จะนำมาใช้รักษาโรคเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์

เจ้าต่อมธัยรอยด์นี้อยู่ตรงข้างลูกกระเดือกตรงคอ  โรคที่มักจะนำไอโอดีนรังสีมาใช้รักษามีอยู่หลายโรค เมื่อไรจะใช้ไอโอดีนรังสีรักษา ผู้รักษาใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจหลายอย่าง

เมื่อพูดถึงเรื่องรังสีแล้วจะไปอยู่ตรงไหนมันแผ่รังสีได้หมด เมื่อเข้าไปในตัวแล้ว มันจึงจัดการรอยโรคให้ได้

ใครที่ใช้ “แร่” รักษาตัวจำเป็นต้องเข้าใจการจัดการเกี่ยวกับบางอย่างเพื่อจะได้ช่วยคนใกล้ตัวทุกคนให้ปลอดภัยจากรังสีที่แผ่ออกจากตัวและจากของบางอย่างนั้น

ของบางอย่างที่ว่านั้น อย่างแรกเลย คือ ฉี่   อย่างที่ ๒ คือ อึ

มีหลักการว่า “แร่” จะแผ่รังสีเข้มข้นเต็มร้อยในวันแรกที่หลุดจากภาชนะที่เก็บ และ ๗ วันหลังจากนั้น รังสีที่แผ่ออกจะลดน้อยลงหลายเท่าตัว

มีหลักการว่า ก่อนนำ “แร่” มาใช้รักษาคน  มีการคำนวณขนาดให้น้อยที่สุดที่เอื้อประโยชน์จากการแผ่รังสี และคนที่รับถูกรังสีทำร้ายน้อยที่สุด

ด้วย ๒ หลักการนี้ เมื่อคนไข้ได้รับ “แร่” ในขนาดที่สูงมากหน่อย  คนไข้คนนั้นก็จะโดนกักตัวไว้ในร.พ. เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน

ตรงนี้เพื่อกักตัวให้คนแผ่รังสีได้ให้อยู่กับที่ เป็นการป้องกันให้ไม่กลายเป็นแหล่งแพร่รังสีไปสู่คนอื่นๆ

หลักของการจัดการที่จะช่วยลดปริมาณรังสีที่แผ่จากคนซึ่งได้รับ “แร่” รักษาตัว มีอยู่ ๓ เรื่องที่ช่วยได้

เรื่องที่ ๑  คือ ระยะห่าง  แค่ห่างเพียง ๒-๓ ฟุต ก็ช่วยได้เยอะแล้วในการลดปริมาณรังสีที่แผ่ออกไป

เรื่องที่ ๒  คือ เวลา  ถ้าจะต้องอยู่ใกล้ใคร ให้อยู่ใกล้ในเวลาสั้นที่สุด เพื่อให้คนใกล้ตัวได้รับรังสีน้อย

เรื่องที่ ๓  คือ ของเสีย  ของเสียที่ปล่อยออกจากตัว ไม่ว่าเป็นรูปอะไร ทุกอย่างแผ่รังสีได้หมด ของเสียที่จะปลดปล่อยจากร่างกายจึงต้องมีมาตรการเฉพาะ ทั้งทิ้งลงในที่ซึ่งไหลไปกักเก็บได้มิดชิด มีน้ำราดไล่ทิ้งได้เยอะๆ และทำความสะอาดด้วยน้ำได้ง่าย

ด้วยหลักการ ๓ ข้อ จึงมาสู่คำแนะนำปฏิบัติตัวว่าภายใน ๓-๗ วัน นับจากวันได้รับ “แร่” ให้ลงมือทำอย่างนี้ ทำแล้วจะช่วยให้คนรอบข้างปลอดภัยจากรังสีที่แผ่ออก

๑. ให้แยกเตียงจากคนข้างกายชั่วคราว ให้นอนคนเดียว และ ห้ามเพศสัมพันธ์

๒. อยู่ให้ห่างจากหญิงมีครรภ์ เด็ก และคนอื่น

๓. ดื่มน้ำให้มากๆ ไม่ต้องกลัวปัสสาวะบ่อยๆ เพราะการปัสสาวะบ่อยๆช่วยขับ “แร่” ออกจากร่างกายให้หมดไปได้เร็วขึ้น

๔. ของเสียที่ปล่อยลงท่อชักโครก ให้ราดน้ำทิ้งมากๆ หรือ ชักโครกหลายๆครั้ง เพื่อไล่ของเสียทั้งหมดให้ไหลลงสู่บ่อกักเก็บให้มากที่สุด เร็วที่สุด

๕. ล้างมือด้วยสบู่และล้างน้ำมากๆ เพื่อชำระร่องรอยของเสียที่อาจเปื้อน เลอะอยู่ที่ผิวหนัง ให้หลุดออกไปได้หมด

ช่วยคนอื่นแล้ว ก็ยังมีการปฏิบัติตัวเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากการได้รับ “แร่” ที่พึงกระทำด้วยในช่วงเวลา ๓-๗ วันนั้นเช่นกัน เป็นการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาจากร่างกายได้รับสารไอโอดีนเกินจำเป็นเข้าไปอีก

๑.  งดอาหารที่มีไอโอดีนอยู่มาก

๒.  ไม่รับประทานอาหารทะเลจำนวนมากๆ

๓.   งดเกลืออนามัย หรือเกลือวิทยาศาสตร์

๔.   ถ้ากินยารักษาธัยรอยด์ ๒ ตัวนี้อยู่ให้งด : พีทียู (PTU) และ เมธิมาโซล (Methimazole)

๕.  งดยาทุกชนิดที่มีไอโอดีนผสม ยาที่มักจะมีไอโอดีนผสมก็มี ยาแก้ไอน้ำดำ ยาบำรุง ยาวิตามินต่างๆ

๗.  หลังได้รับ “แร่” แล้วผิดปกติ หรือมีอาการกำเริบกลับมาใหม่ ให้รีบปรึกษาแพทย์

กว่ายาจะได้ผลเต็มที่ใช้เวลา ๓ เดือน ยาทำให้เกิดการทำงานลดน้อยลงของต่อมธัยรอยด์ได้ ฉะนั้นก่อน ๓ เดือนแพทย์จะนัดไปตรวจ แล้วนัดห่างออกไป เพื่อประเมินเรื่องการทำงานของต่อมว่ายังดีอยู่มั๊ย ถ้าเห็นลางว่าจะทำงานน้อยลงจะได้ปรับแผนการรักษาให้ ป้องกันผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้ทัน

อีกเรื่องที่ต้องทำ คือ งดตั้งครรภ์ ๖ เดือน ไม่ควรมีบุตรเร็วกว่านี้ ถ้าจำเป็นต้องมี ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

เพราะว่าสิ่งที่ใช้ประโยชน์จาก “แร่” คือ รังสี เมื่อเข้าไปแล้ว ร่างกายแต่ละคนไวต่อรังสีไม่เท่ากัน คนที่ร่างกายไวบางคนจึงอาจจะเกิดสภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยและคงอยู่ตลอดชีวิต

การเกิดเรื่องนี้ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ เมื่อไรพบก็เมื่อนั้น แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนธัยรอยด์เสริมเพื่อกู้คืนให้ต่อมกลับมาทำงานธรรมดาๆและต้องกินเสริมไปตลอดชีวิต

ที่ต้องกินยาตลอดชีวิตก็เพราะว่างดยาเมื่อไรอาจจะมีอันตรายหรือไม่สบาย เพราะฮอร์โมนธัยรอยด์ในร่างกายน้อยกว่าที่จำเป็นต้องใช้

กลับมาที่เรื่องการจัดการของเสียอีกหน่อย ถ้าไม่มีส้วมจะทำอย่างไร  คำตอบก็คงเป็น

ให้ขุดหลุมให้ลึกและเทลงฝังดินไว้ ก่อนกลบดินก็ให้ราดน้ำทำความสะอาดภาชนะที่บรรจุไปทิ้งมากๆ ล้างมือด้วยสบู่และราดน้ำมากๆ  ไม่ควรใช้ถุงพลาสติกบรรจุและนำไปทิ้ง เพราะพลาสติกอาจจะชะลอการแผ่รังสีให้ใช้เวลานานขึ้น

« « Prev : น้ำเต้าช่วยคุมเบาหวาน

Next : หลุมยุบ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "กินสารรังสีแล้วควรทำยังไง"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.61644697189331 sec
Sidebar: 0.41267490386963 sec