น้ำเต้าช่วยคุมเบาหวาน

อ่าน: 3797

เห็นภาพน้ำเต้าในบันทึกพ่อครูแล้วรู้สึกแปลกใจ ไม่น่าเชื่อว่าในโลกนี้จะมีสายพันธุ์ของน้ำเต้าเป็นพันสายพันธุ์

เห็นน้ำเต้าแล้วนึกถึงบวบ เพราะเป็นคนชอบกินบวบ เห็นบวบเมื่อไรก็เมื่อนั้น ในหัวจะนึกถึงผัดบวบใส่ไข่ทุกทีไป นี่ก็คงเป็นเพราะอิทธิพลของอาหารที่แม่สอนให้กินเป็นมาตั้งแต่เด็ก  สมัยนั้นตอนได้กินคงมีความสุขมาก

จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ไม่เคยถูกผู้ใหญ่ในครอบครัวชักชวน หรือบังคับให้ลองชิมอาหาร ยิ่งอาหารอะไรที่โดนห้ามว่าอย่าลองยิ่งต้องหาโอกาสลอง  จนกินเป็นและอร่อยทุกอย่างไป

จำไม่ได้เหมือนกันว่าที่ชอบบวบผัดไข่นั้นเพราะอะไร  ตอนเป็นเด็กไม่ชอบเีคี้ยวอะไรที่แข็งและเหนียวแล้วปวดฟันหรือติดฟัน จึงเดาว่าที่ชอบกินบวบเพราะมันนิ่มเคี้ยวง่ายสำหรับฟันเด็กมั๊ง

สัปดาห์ก่อนซื้อยอดน้ำเต้าจากถนนคนเดินมาผัดเป็นอาหารมื้อเย็น แล้วพบว่าต้องใช้น้ำเยอะมากและตั้งไฟนานกว่าผักจะหดตัวและสุก ก็เลยสงสัยในส่วนประกอบด้านอาหารที่มันมี

ไปค้นหาความรู้จากตำราที่ครูเคยให้มาพบแต่ว่า ผลน้ำเต้าเป็นอาหารที่ดีสำหรับคนเป็นว่าที่เบาหวานและเบาหวาน ผลที่กินทั้งเปลือกและเนื้อได้ช่วยคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้ขึ้น เพราะว่า มันมีสารอาหารที่ให้น้ำตาลอยู่น้อยกว่าข้าวอยู่ราวๆ ๒๗ เ่ท่า

แถมยังช่วยเสริมแคลเซี่ยมให้คนที่มีเนื้อกระดูกบางด้วย แต่ไม่ดีสำหรับคนเป็นโรคไตวายหรือกำลังจะไตวาย  เพราะมีฟอสเฟต และเกลือโปตัสเซียมสูง

เพราะมีแคลเซียมสูงนี่แหละ คนโบราณจึงนำมันมาแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดกิน กินแล้วช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น แล้วน้ำนมก็มีคุณภาพดีพอสำหรับเลี้ยงบุตรด้วย

ชื่อ “น้ำเต้า” ก็มาจากการเรียกน้ำแกงเลียงที่ใส่น้ำเต้านี่แหละ

ส่วนเปลือกเขียวๆที่ยังอ่อนนำมากินสด ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ปอดที่กำลังอักเสบได้

ในคัมภีร์อัลกุรอานก็ระบุว่า น้ำเต้าช่วยป้องกันโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด

ความรู้ว่าน้ำเต้าใช้เป็นอาหารคนเบาหวานได้นี่ จีนและอินเดียเขาเป็นแบบอย่างมาก่อน เรามาสนใจว่ามันคุมเบาหวานได้เมื่อคนไทยเป็นเบาหวานกันเยอะขึ้น และหาคนชอบกินผักจนเป็นนิสัยได้น้อย

สารอาหารมีอะไรอยู่ในตัวมันบ้าง กว่าจะได้เผยแพร่ให้สาธารณะได้รับรู้กัน นักวิชาการด้านโภชนาการไทยก็เก็บไว้กับตัวอยู่นาน

ตามประวัติน้ำเต้าเขาว่ามันมีต้นกำเนิดจากอาฟริกา  น่าสนใจตามรอยว่า เรารู้จักน้ำเต้าเพราะมีความสัมพันธ์กับจีนหรืออินเดียหรือเปล่า และบ้านเรามีน้ำเต้ามาแต่เมื่อไร

ตำรายาไทยโบราณเขาใช้ใบน้ำเต้า ทำยาแก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ในยาเขียวที่โฆษณาสรรพคุณว่าแก้ร้อนในมาจากฤทธิ์ของใบน้ำเต้านี่เอง

ใบน้ำเต้าใช้ตำแล้วนำมาโปะแก้ปวดจากพิษสัตว์ เริม งูสวัด และพองจากความร้อนได้เพราะมันเย็น แต่ต้องระวังถ้าผิวหนังที่จะโปะมีรอยเปิด ความสะอาดเวลาเตรียมและตำเป็นเรื่องสำคัญ ไม่งั้นมีโอกาสเติมเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายได้

เพิ่งรู้ว่าใบน้ำเต้ามีกลิ่นที่แมลงไม่ชอบด้วย มิน่าจึงไม่ใคร่เห็นใบน้ำเต้าที่โดนแมลงกัดแทะจนเหี้ยนหรือเป็นรู ดมเองก็ไม่ได้กลิ่น จมูกคนไม่ไวเท่าจมูกแมลงเลยเนอะ

กินบวบแล้ว สังเกตว่า บางครั้งก็เจอเนื้อบวบขมๆ เพิ่งรู้เหมือนกันว่า เนื้อน้ำเต้าก็มี ๒ รส คือ ไม่ขม และขม พันธุ์ที่เนื้อไม่ขม ใช้ทำอาหาร พันธุ์ที่ขม เขาเก็บไว้ทำยา ไม่รู้พันธุ์ที่พ่อครูปลุกมีพันธุ์เนื้อขมๆหรือเปล่า

น้ำเต้าเป็นพืชที่ให้แคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยนะ

แล้วส่วนประกอบของสารอาหารในใบน้ำเต้าก็ไม่มีที่ไหนวิเคราะห์ไว้  ไม่รู้ว่าอินเดียซึ่งกินน้ำเต้าทั้งใบ ยอด และผลอ่อน มีข้อมูลวิเคราะห์ไว้บ้างหรือเปล่า

รู้แต่ว่า บวบ ฟัก แฟง แตงโม แตงไทย แตงร้าน ฟักทอง เป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับน้ำเต้า  และ เวลาคุยกันเรื่อง “น้ำเต้า” จำต้องถามว่าคนที่กำลังคุยด้วยเป็นคนที่ไหน ก็ที่บ้านฉันถ้าพูดกันถึงน้ำเต้า เราหมายถึง “ฟักทอง”

คุยมาตั้งนานแล้วเพิ่งนึกออก ใบน้ำเต้าที่ไปซื้อมาผัดนั่นนะมันเป็นใบฟักทองนะเออ ลืมไปว่าแถวนี้ปลูกกันก็แต่ฟักเขียวและฟักทองเท่านั้น

ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเวลาผัดยอดฟักทองทำไมต้องใช้น้ำเยอะ ผักจึงยุบตัว  เพราะเป็นผักเย็นถ่ายเทความร้อนได้ช้าหรือเพราะเส้นใยเยอะก็ไม่รู้

ตอนนี้รู้แล้วว่ายอดฟักทองที่ไปซื้อมาผัด มีสังกะสี ธาตุเหล็ก และ วิตามินเอสูง มีแคลเซียม

และมันมีคาร์โบไฮเดรทน้อย กินแล้วน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่ม จึงใช้เป็นอาหารปรับเปลี่ยนระดับน้ำตาลในเลือดได้ สำหรับคนเป็นว่าที่เบาหวานหรือเบาหวาน

ใบฟักทองมีแคลเซียมน้อยกว่าใบน้ำเต้าเยอะ (ใบฟักทอง ๑๐๐ กรัมมีแคลเซียมแค่ ๐.๐๗ มิลลิกรัม ใบน้ำเต้ามี ๑๒ มิลลิกรัม) มันเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับหญิงหลังคลอดเหมือนกัน (ใบฟักทอง ๑๐๐ กรัม มีธาตุเหล็ก ๑๐.๑ มิลลิกรัม  ใบน้ำเต้ามี ๐.๘ มิลลิกรัม) ประโยชน์ก็คือช่วยเสริมธาตุเหล็ก ทำให้น้ำนมแม่มีธาตุเหล็กพอทั้งแม่และลูก

มีเรื่องเตือนสำหรับคนบางคนให้ระวังการกินใบฟักทองเหมือนกันนะคะ  คนโรคอื่นๆกินบ่อยๆไม่เป็นไร แต่คนที่เป็นโรคโลหิตจางแต่เกิดที่เรียกว่า “ธาลัสซีเมีย” ที่หมอต้องให้ไปเจาะเลือดเป็นประจำเพื่อดูว่าต้องให้เลือดหรือเปล่านั้น

ควรกินใบฟักทองเพียงนานๆครั้ง เพื่อไม่ให้เม็ดเลือดของตัวแตกเพราะธาตุเหล็ก เพราะกินบ่อยครั้งจะทำให้ซีดเพิ่มขึ้น และมีธาตุเหล็กในร่างกายสะสมสูงขึ้นไปอีกได้

หมายเหตุ

อินเดียเรียกน้ำเต้าว่าLauki หรือ Dudhi

ชาวเขาเรียกน้ำเต้าว่า คิลูส่า

คนเหนือเรียกน้ำเต้าว่า มะน้ำเต้า

คนตะวันตกเรียกน้ำเต้าว่า แตงขวด Bottle Gourd

ดูต้นถ้าแยกไม่ออกจากต้นบวบ ฟัก ให้ดูที่สีดอก ดอกน้ำเต้าสีขาว ดอกบวบสีเหลือง

ที่มีฤทธิ์ต่อมะเร็งอาจจะเป็นเพราะมีกรดโปรปิโอนิก เหมือนฟักทองกระมัง

« « Prev : ทำอะไรไปจึงคุมเบาหวานไม่อยู่กันบ้างนะ

Next : กินสารรังสีแล้วควรทำยังไง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 22:16 (เย็น)

    เรื่องพืชผักนี้เถียงกันจนตายก็คงหาข้อสรุปไม่ได้ (ถ้าตั้งใจจะเถียง) แต่น่าสังเกตว่าพืชผักจำนวนมากของไทย ถูกหาว่ามาจากต่างประเทศที่แร้นแค้น ส่วนพืชผักในโลกนี้ไม่มีสักใบที่ไปจากไทย ทั้งที่เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก และเป็นทางผ่านระหว่างอินเดียและจีนอีกด้วย

    มะเขือเทศ พริก พริกไทย ฝรั่ง เงาะ ทุเรียน ลิ้นจี ลำไย กางเกงไน ล้วนมาจากต่างชาติทั้งสิ้น ไม่น่าแปลกใจว่าชื่อสายพันธุ์พืชไทยจำนวนมากหลายพันลงท้ายด้วย Linn (ฝรั่งคนเดียว)

    ส่วนผมได้ศึกษาจนเชื่อว่า จรวด เครื่องบิน คันโยกหมุน เฟืองเกียร์แบบเฉียงย้อนกลับ ล้วนคิดค้นโดยคนไทยเป็นชาติแรกของโลก หลักฐานก็มีให้เห็นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณที่ผมตั้งขึ้น สำมะหาอะไรกับพืชพันธ์ธรรมชาติ

    ทุกวันนี้หนังสือสุขศึกษาไทย สอนให้แต่กินนม แครอท สปิแนช (จริงออกเสียงว่า นิช) ส่วนผักไทยสารอาหารมากหลาย เช่น กระถิน (แคลเซีม) ขี้เหล็ก ใบยอ ใบแค (เบตาแคโรทีน วิตามินก ถึง ฮ นกฮูก ล้นขอบกระด้ง มันไม่สอนให้กินกันบ้างเลย ไอ้อิ๋บอ๋ายเอ๋ย)

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 22:41 (เย็น)

    ไทยเราเสียเปรียบต่างชาติอีตรงบันทึกแล้วเก็บเป็นส่วนตัว ไม่โชว์นี่แหละค่ะ
    เวลาย้อนรอยประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาที่มาที่ไป ของอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเรื่องทางชีววิทยา เลยกลายเป็นรับของคนอื่นเข้ามาทุกทีไป

    เรื่องสุขศึกษาของไทยนี่คิดตรงกันเลยค่ะ อยากรื้อมันเลยทั้งระบบทีเดียว เพราะมันไม่ช่วยสร้างสุขจากการศึกษาให้คนเล๊ย ลงมือทำทีไรมันกลายเป็นคนทำ “ฝึกสอน” วิชาครูซะมากกว่า

    เดี๋ยวนี้เด็กไทยกินผักไม่เป็น เพราะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ไม่กินผัก ไม่ได้เลี้ยงเอง ถึงเลี้ยงเองเด็กก็ไม่กินผัก เอาแค่ผักก็พอ ไม่ต้องไปถึงผักพื้นบ้านไทย

    เด็กทุกคนเห็นพ่อแม่ หรือผู้ที่เขารักเป็นฮีโร่เสมอ ถ้าฮีโร่ที่เด็กชื่นชมไม่กินแต่บอกเด็กให้กิน ไม่มีทางเป็นไปได้หรอกค่ะ อาจารย์

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 มกราคม 2011 เวลา 9:08 (เช้า)

    ยอดฟักทองผัด ถ้าไม่อยากใส่น้ำอบนานให้นิ่ม มีอีกวิธีที่คนทางเหนือทำค่ะพี่

    คือหั่นย่อยๆ ผัดใส่น้ำไม่ต้องใส่น้ำมัน ตอกไข่ลงไปสักหน่อย จะแห้งและนิ่มกำลังดี
    คนกินบางครั้งยังไม่รู้ว่าเป็นผักอะไร เอาไว้หลอกล่อเด็กกินผักค่ะ

  • #4 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 มกราคม 2011 เวลา 12:53 (เย็น)

    ไม่ทราบมีใครเคยกินลูกสลิดกันบ้างไหมครับ อร่อยมากๆ ส่วนสารอาหารไม่รู้ครับ ผมอยากโปรโมทให้เป็นอาหารแห่งชาติมานานแล้ว มันเป็นลูกของดอกขจรนั่นแหละครับ ขนาดประมาณแตงกวา กินดิบก็หวานกรอบ กินสุกยิ่งหวานไปใหญ่ (สงสัยจะช่วยซ้ำเติมเบาหวานไหมเนี่ย)

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 มกราคม 2011 เวลา 23:21 (เย็น)

    #3 ยังงี้น่าสงสัยว่าเวลาเด็ดยอดเตรียมไว้ผัด จะเด็ดยาวไปซะแล้วมั๊งอุ๊ย ก็เลยต้องอใส่น้ำเยอะ ที่ลองผัดมากินใช้น้ำมันแต่ปลายช้อนพอคลุกกระเทียมซอยให้เหี่ยวแค่นั้นเอง หลังจากนั้นก็เติมน้ำช่วยให้เหี่ยว

    #4 เคยกินดอกสลิดแค่ครั้งเดียวเองค่ะ เป็นเมนูไข่เจียวดอกสลิด แถวบ้านไม่มีใครเก็บมาขายเท่าไร ไปจ่ายตลาดทีไรก็ไปสายๆ เขาขายหมดแผงไปก่อนก็เลยไม่ใคร่ได้กิน ส่วนเจ้าลูดสลิด ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นค่ะอาจารย์ ลูกขนาดแตงกวา แสดงว่าขนาดราวๆลูกตำลึงขนาดใหญ่ซินะคะ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 มกราคม 2011 เวลา 1:28 (เช้า)

    อ่านจนเพลิน ได้ความรู้มากมายเอาไปต่อเติม
    ในแง่ของสารอาหาร และ เภสัช น้ำเต้าเป็นผักที่อร่อยมากๆ
    ส่วนจะรับประทานมากน้อย เท่าไหร่ อาจจะต้องหาเกณฑ์แนะนำต่อไป
    ที่สวนป่าเพิ่งจะมี 55 สายพันธุ์ ยังขาดอีก 9-1,000 สายพันธุ์
    จะแสวงหามาปลูกต่อไป อิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.068423986434937 sec
Sidebar: 0.12942719459534 sec