ทำอะไรไปจึงคุมเบาหวานไม่อยู่กันบ้างนะ

โดย สาวตา เมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 12:35 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, ตรวจสุขภาพ, อาหารกับสุขภาพ, เบาหวาน #
อ่าน: 2538

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๓ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง และร่วมเรียนรู้การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) ของทีมงานสาธารณสุข มีคนทำงานในร.พ.แห่งนั้นและคนทำงานในสถานีอนามัยของอำเภอแห่งนั้นมาร่วมด้วย วงสนทนาที่เขาจัดขึ้นมีคนไม่ถึง ๑๐ คน ไปฟังเขากลับมาแล้วก็ปิ๊งขึ้นมาได้ว่า ตัวเราก็วิ่งรอกไปโน่นนี่เพื่อฝึกตัวเองและเรียนรู้เรื่อง KM มาจากหลายเวที สมควรแก่เวลาแล้วนะที่จะหันมาทบทวนตัวเองอีกสักครั้ง จึงเป็นเหตุให้เปิดเรื่องราวที่เคยทำ KM เบาหวานขึ้นมาอ่านทบทวน ก็ได้เห็นภาพความคิดของตัวเองในอดีตกับปัจจุบันชัดขึ้น

ทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมดาๆที่บันทึกไว้ในบล็อก G2K เป็นประวัติคนไข้เบาหวานที่พยาบาลเขาประทับใจและนำมาเล่าให้ฟัง ตอนฝึกทำ KM ด้วยกัน

เอามาอ่านใหม่ก็เห็นเหตุที่ทำให้คนเป็นเบาหวานคุมเบาหวานไม่อยู่ ต้องมานอนร.พ. และบางคนบานปลายถึงกับต้องตัดนิ้ว ตัดเท้า ตัดขา ไปโน่นเลย เห็นประโยชน์ก็เลยคัดมาบอกกัน

ถ้าเป็นเบาหวานอยู่แล้วไม่อยากเจอชะตาเดียวกับคนไข้เจ้าของเรื่อง อย่าลืมสังเกตว่าเหมือนคนไข้หรือเปล่า ถ้าคนข้างตัวเป็นอยู่ก็นำไปช่วยปรับวิถีหรือช่วยสังเกต ช่วยเตือนเขา จะเป็นกุศลยิ่งขึ้นด้วยนะคะ

๑. ใจสั่น เวียนหัว ตาลาย แล้วอมน้ำตาลทุกครั้งไป

๒. หิวบ่อย กินเยอะ กินบ่อย

๓. มื้อเย็นกินเยอะ

๔. รักษาด้วยยาฉีด แล้วกินน้อย

๕. ฉีดยาเองที่บ้าน และตาคนดูดยาให้เห็นไม่ชัด

๖. ในหนึ่งวันเคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อมีแผลที่เท้า

๗. เคลื่อนไหวน้อย ไม่ออกกำลังกาย จึงลดยาไม่ได้

๘. พอรู้ว่าเป็นเบาหวาน ก็ซึม เศร้า แยกตัวอยู่คนเดียว บางคนถึงขั้นอยากตาย

๙. รายได้ไม่พอ ประหยัดยา ไม่ไปรักษาต่อเนื่อง

๑๐. ไม่ใคร่มีเงิน ไม่เคยรักษาร.พ. ไม่รู้ว่าคลินิกกับร.พ.รักษาต่างกันตรงไหน

๑๑.  ฟังแล้วคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คิดว่าเข้าใจตรงกัน ก็เลยไม่ถามยืนยันความเข้าใจ แต่แล้วก็กลายเป็นคนละเรื่อง

๑๒.  เข้าใกล้ของร้อน แล้วไม่มีเครื่องป้องกันมือ เท้า ปล่อยให้เนื้อสัมผัสพื้นผิวต่างตรงๆ

๑๓.  ไม่รู้ และไม่ถามว่า เครื่องดื่มที่เลือกบริโภคมีน้ำตาลเติมลงไปละลายปนอยู่แค่ไหน

๑๔. ไม่รู้ว่าอาการเพลียและปากแห้ง เป็นประจำ อาจเป็นอาการแสดงของโรคเบาหวาน ก็เลยไม่ได้ไปตรวจ

๑๕.  ไม่รู้ว่่าถ้ามีแผลที่เก่าอยู่นั่นแล้วเป็นเดือนๆก็ไม่เคยหาย อาจเป็นอาการแสดงของโรคเบาหวาน ก็เลยไม่ได้ไปตรวจ

๑๖.  ไม่รู้ว่าอาการไอที่เป็นบ่อยๆ และนานกว่าสัปดาห์ มาจากการกินยาบางตัวที่หมอให้คุมระดับความดันเลือด เข้าใจว่าเป็นการไอจากเป็นหวัด ทั้งๆที่ไม่มีไข้ ไม่มีน้ำมูก ก็ไปซื้อยามากินแก้ไอเอาเองโน่นเลย

๑๗.  กลัวเป็นโรคไต ก็เลยประหยัดยาหรือไม่กิน

การปฏิบัติเพื่อให้คืนมาสู่ความปลอดภัยมากขึ้น ก็ทำง่ายๆแค่ เปลี่ยนพฤติกรรมที่เน้นด้วยสีแดง ให้เป็นตรงข้าม ทำไปได้เลยถึงจะรู้ไม่ลึก  ถ้าไม่แน่ใจก่อนทำให้เปลี่ยน “ความกลัว” เป็น “ความกล้าถาม” ถามผู้รู้ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดก่อนลงมือเท่านั้นเอง

ลองใช้ และลองทำดูนะคะ

« « Prev : รู้จัก “นีม” มั๊ย

Next : น้ำเต้าช่วยคุมเบาหวาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

11 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 13:02 (เย็น)

    ผมใคร่ขอเสนอให้เพิ่มประเด็นต่างๆ ดังนี้ เช่น

    -ปริมาณหนี้ต่อรายได้
    -ปริมาณหนี้ของลูกทุกคนต่อรายได้
    -ปริมาณการลงทุนต่อทรัพย์สินที่มี
    -อะไรทำนองนี้

    อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเบาหวาน แต่ผมว่ามันเกี่ยวมากครับ ใช่แต่เบาหวาน แต่ทุกโรคด้วยซ้ำ เช่น มะเร็ง ความดัน เนื่องเพราะความเครียดครับ

    การมีหนี้ (ภาระทางเศรษฐกิจ) หรือมีลูกไม่ดี (ภาระทางสังคม) ก็ทำให้กังวล เครียด ซึ่งส่งผลให้ภูมิต้านทานต่ำ (พิสูจน์มามากแล้วในวงการแพทย์) ผนวกกับความโน้มเอียงทางชีววิทยา เช่น กรรมพันธุ์ อาหาร ก็ยิ่งไปกันใหญ่

    บ้างว่าเบาหวานเป็นกรรมพันธุ์ ก็ใช่เลย เพราะเมื่อพ่อแม่เครียด ก็เลี้ยงลูกแบบเครียด จนถ่ายทอดความเครียดไปสู่นิสัยของลูก (ประเด็นนี้ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้สอนไว้นานแล้วด้วย)

  • #2 pa_daeng ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 13:13 (เย็น)

    เป็นเรื่องน่าตกใจค่ะ

    คุณแม่สามี ก็ขาดยาประจำ บอกว่า ไำม่มี ใครพาไปเอายา แต่ลูกหลานเต็มบ้าน
    เพื่อนคุณสามีบอกว่า ใกล้เวลาหมอนัด ก็กินน้อยลง น้ำตาลจะไ้ด้น้อย

    สาสุขไทย คงต้องพัฒนาอีกเยอะเลยค่ะ

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 14:06 (เย็น)

    #1 ขอบคุณมุมมองของอาจารย์ค่ะ จริงอย่างที่อาจารย์ว่า ส่วนใหญ่ความเครียดของคนไข้มาจากเรื่องหนี้สิน กับความกลุ้มใจเรื่องลูก
    คนสาธารณสุขที่ทำงานกับคนเป็นเบาหวานก็พอจะให้ข้อมูลได้เป็นข้อสรุป ๒ ข้อข้างต้นที่ทำให้เห็นปัญหาที่ซ่อนลึกของความเครียด

    คนจนส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาความเครียดจากทั้ง ๒ เรื่อง เป็นวงจรอุบาทว์ในชีวิต
    คนรวยก็จะมีปัญหาความเครียดจากลูกไม่ดี และถูดทอดทิ้งจากลูก ปล่อยให้อยู่กับคนอื่น เป็นวงจรอุบาทว์อีกรูปแบบหนึ่ง

    ใช่เลยค่ะอาจารย์ เรื่องวิถีชีวิตเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ถ้ามีจุดด้อยทางชีววิทยาอยู่ก่อน แล้วไม่มีเรื่องจุดอ่อนของวิถีชีวิตมาเกี่ยว คนไม่ใคร่ป่วย หรือป่วยแล้วไม่ค่อยเป็นอะไรหนักๆหรอกค่ะ

    งานป้องกันโรคจึงมีอะไรให้ใคร่ครวญ ค้นหา และนำมาจัดการเยอะเลย วัคซีนตัวที่แพงที่สุดและผลิตยากที่สุดเพื่อการป้องกันโรค ก็เป็นตัวนี้แหละค่ะ “วัคซีนชีวิต” มีคนหลายคนที่มีบทบาทร่วมด้วยช่วยได้ในการให้วัคซีนนี้ตามวัยค่ะ แต่เสียดายที่ประสิทธิภาพของการให้มันผิดเพี้ยนไป ประสิทธิผลของวัคซีนจึงเกิดไม่ได้

    อยู่ในบทบาทของหมอรักษาโรค ไปทำงานวิจัยเรื่องรายได้คน คนก็หาว่าทำงานผิดหน้าที่เป็นหมอทำไมไม่ทำงานรักษาคน ด้วยเหตุนี้แหละค่ะ จึงผันตัวเองมาทำงานด้านการป้องกันซะ ทำไปๆก็มีคนว่าอีกนั่นแหละ เอาหมอมาทำงานบริหารก็เสียหมอที่ชำนาญการรักษาโรคไปอีกคน เอาพยาบาลมาดูแลเรื่องรายได้คนก็เสียเวลาให้การพยาบาล ทำไมต้องให้ทำ เป็นเรื่องกับพยาบาลอีก

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 14:11 (เย็น)

    #2 กว่าคนจะเข้าใจโรคทางสังคมแล้วหันมาร่วมด้วยช่วยกัน จึงมีหลายเรื่องทีเดียวที่ต้องทำ

    การได้เข้าไปเป็นนักเรียนกับสถาบันพระปกเกล้าในหลักสูตร ๔ส.๒ ทำให้รู้ว่าตราบใดที่ ๖ กระทรวงหลัก มหาดไทย สาธารณสุข ศึกษา เกษตร ยุติธรรม และ พม. ไม่ทำงานให้สอดคล้องกันกับความต้องการของชาวบ้าน มัวแต่วิ่งตามนโยบายเศรษฐกิจโดยไม่สนใจผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่บูรณาการทุกมุมที่เป็นทุกข์ของชาวบ้านมาย่อย วิเคราะห์ ก่อนสังเคราะห์เป็นนโยบาย อนาคตชาวบ้านมืดมนอยู่ในวังวนเดิมๆอยู่นั่นแล้ว อนาคตประเทศก็ไม่สดใส ปัญหาสาธารณสุขยิ่งซับซ้อน

    สาธารณสุขไทยนั้นไม่ล้าหลังในเรื่องความรู้ แต่ที่ล้าหลังเป็นเต่าล้านปี คือ การไม่สอนคนให้แก้ปัญหาจากของจริง แต่สอนคนให้ทำงานตามคำสั่ง ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ โดยคนสั่งก็ได้ความคิดมาจากการวาดฝันกลางอากาศไม่รู้จักพื้นที่ ความสำเร็จหลายเรื่องจึงเป็นเรื่องข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง งานซ่อมเลยนำหน้างานสร้างอยู่ชั่วนาตาปี

    วังวนนี้จะทำให้สุดท้าย คนในภาคสาธารณสุขขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีนโยบายลดนักวิชาการ หันไปปรับให้เป็นพยาบาลซะ อนาคตพยาบาลจะทำงานหนักขึ้นมากนะคะป้าแดง

    เรื่องที่นำมาเล่าให้ฟัง ลองนำไปใช้กับคุณแม่สามีดูนะคะ บางประเด็นถ้าจับเข่าคุยกันบ่อยๆ จะรู้ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และยังคงเป็นอยู่ ถ้าเจอก็แค่เปลี่ยนประเด็นนั้นให้เป็นตรงข้ามให้ได้ทีละประเด็น โดยขอให้เปลี่ยนประเด็นที่ทำง่ายที่สุดก่อน ค่อยทำประเด็นที่คิดว่ายาก เปลี่ยนอย่างเดียวที่ง่ายๆได้ก็มีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ถึงแม้จะยังไม่ได้เป้าสูงสุดค่ะ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 15:02 (เย็น)

    มีประโยชน์มากครับ

  • #6 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 19:00 (เย็น)

    ผมดีใจที่มีหมอดีๆในเมืองไทยมากกว่าเมืองฝรั่งมากเหลือเกิน ถ้าหมอมาทำงานสังคมกันหมดผมจะอนุโมทนา แต่ทุกวันนี้ปัญหาคือหมอไม่ทำงานสังคมต่างหาก ไปทำอื่นๆ เช่น พิธีกรทีวี นักการเมือง (น้ำเน่าอีกต่างหาก)นักธุรกิจ นักดนตรี และเป็นหมอโมเมที่ไม่ค่อยมีความรู้ เอาแต่ตะคอกคนไข้

    ผมเคยมีพี่สนิทที่ตกกระป๋องทางการเมือง จนได้รับตำแหน่งเพียงแค่เป็รมว. สาธารณสุข ผมได้ให้ข้อคิดว่า พี่กำลังทำนหน้าที่สำคัญที่สุดในประเทศ พี่กำลังได้ดีทีฟ้าประทาน อย่าคิดว่าตกกระป๋องเลย ทำให้ดีปชช.จะสร้างอนุสาวรีย์ให้พี่แน่ เพราะเมืองไทยเรามันมีปัญหาด้านสุขภาพมากเหลือเกิน พร้อมมอบนโยบายด้านสาธาฯให้ท่านสิบหน้ากระดาษ แต่มันไม่เป็นผลสักข้อ เพราะผมก็ทำได้แค่นั้นแหละ ประจบสอพลอกะใครเขาไม่เป็น (เก่งแต่เรื่องด่า อิอิ)

  • #7 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 19:18 (เย็น)

    ผมสรุปมานานด้วยตนเองแล้วว่า วิชาหมอนั้นต้องเรียนจิตเวชให้หนัก เพราะ “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” ถ้าจิตป่วยกายก็จะป่วยตามไปด้วยแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว การเรียนจิตเวชที่ดีก็ต้องเรียนสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมประกอบด้วย ถ้าหมอนอบน้อม ยกมือไหว้คนไข้ก่อน เพียงแค่นี้ก็รักษาโรคทุกโรคไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว โดยไม่ต้องเสียยาสักเม็ด

    แล้วเดี๋ยวนี้บริษัทยามันมีอำนาจล้นเหลือ มันครอบงำวิชาการ สื่อได้หมด หมอจำนวนมากก็ขาดสมอง ทำหน้าที่ได้เป็นเพียงลูกน้องบริษัทยาเท่านั้นเอง

    ผมมี “หมอแม่” อยู่ท่านหนึ่ง อายุ 75 แล้ว แต่ท่านจะจ่ายยาเฉพาะเมื่อมันรุนแรงจริงๆเท่านั้น 80%ท่านจะจ่ายน้ำอุ่นและการนอนให้เพียงพอ จนผมรู้แกว ไม่ยอมไปหาท่านให้เปลืองเวลา นอกเสียจากมันหนักจริงๆ ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวคือ อุบัติเหตุที่เกือบตายร่อแร่ ที่เกิดจากการถีบจักรยานกลางดึกไปตกฝาปิดท่อน้ำเสียกลางสวนสาธารณะ

  • #8 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 20:36 (เย็น)

    หมอเองก็เคยคาดหวังผลงานช่วยลดความเครียดจากทีมจิตเวชเหมือนกัน แต่รอไปๆก็พบว่า สไตล์ของทีมจิตเวชก็หนักไปในทาง ค้นหาคนมาซ่อมสุขภาพใจมากกว่าการหาเครื่องมือ เพื่อช่วยสร้างสุขภาพใจ

    ในโลกนี้เท่าที่หาพบแล้วก็เห็นจะมี องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่คนพุทธนับถือนี่แหละค่ะ ที่มีเครื่องมือช่วยสร้างสุขภาพใจให้คนได้เจ๋งๆ หมอไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสดาของศาสนาอื่น ก็เลยไม่รู้ว่าได้มอบเครื่องมือเจ๋งๆอะไรไว้บ้างหรือเปล่า

    ที่น่าทึ่งสำหรับเครื่องมือนี้ของพระพุทธองค์ก็คือ จะใช้สร้างสุขภาพใจได้ คนต้องหยิบเครื่องมือของพระองค์ท่านมาฝึก มาลองกับตัวเองจึงได้มา ถ้าใช้โดยเอาแต่คิด อ่าน หรือไปฟังใครที่เคยลองมาบอกต่อหรือไม่หยิบใช้ให้บ่อยๆ ยังไงๆก็ยังต้องซ่อมสุขภาพใจอยู่ดี

  • #9 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 22:01 (เย็น)

    ท่านสาวตาคห. 8

    เอ้า เป็น “หมอเอง” เลยนะงานนี้ :-)

    คำสอนของพพจ. ก็คือยาทางจิตวิญญาณ ก็เหมือนยาทางกายน้นแหละครับ ต้องกิน ไม่ใช่เพียงแค่มอง จึงจะหายจากโรค เพียงแต่ว่าวันนี้มันมีคนขายยา ที่เจือปนยาบ้าเข้ามาให้เสพติดกันมากเหลือเกินทั้งยากายและยาใจ เรียกว่าหากินกับคนป่วยไข้ ซึ่งมันบาปหนามากเลยนิ

    สุดท้ายแล้ว ความเชื่อนี่แหละสำคัญที่สุด ใครเชื่ออะไรก็เป็นแบบนั้น กรรมใครกรรมมัน กินยาแทนกันบ่ได้ดอก สิบอกใหฮ่

  • #10 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 22:33 (เย็น)

    อิอิ ก็สาวตานะ มีอาชีพเป็นแพทย์นี่ค่ะ อาจารย์ สำหรับคห.๙ เห็นด้วยทุกประการ เหลือบ ริ้น ไร ในวงการสงฆ์มีซ่อนอยู่เยอะมากจริงๆ

  • #11 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 22:45 (เย็น)

    รู้มานานแล้วแหละว่าเป็นนางแพรด :-)

    เราทุกคนในโลกนี้ต่างเป็นครู เป็นพระ เป็นหมอด้วยกันทั้งนั้นไม่เว้นแม้ แมว หมา ต้นหญ้า และดอกมะลิ

    เป็นหมอก็ดีแล้ว ช่วยคนได้มาก ยิ่งเป็นทั้งหมอและครู แถมเป็นพระด้วยแบบนี้ยิ่งดีใหญ่ ขอมหาโมทนามาณโพ้ดนี้


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.10388088226318 sec
Sidebar: 0.069056987762451 sec