ตามลม(๗๐) : อีเอ็มกับฟอสฟอรัส

อ่าน: 1587

เมื่อเดินเข้าไปใกล้น้ำเสีย ของเสียจากขบวนการผลิต ส้วม โรงอาหารมักจะมีกลิ่นเหม็น  นักวิชาการเขาว่าเป็นเพราะไม่มีระบบย่อยสลายของเสียต่างๆก่อนทิ้ง หรือมีระบบแต่มีจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยอยู่น้อยไป แถมยังเป็นจุลินทรีย์ที่ย่อยไม่สมบูรณ์แบบซะอีกด้วย

จะจัดการกับกลิ่นจึงจำต้องเข้าใจธรรมชาติของระบบย่อยสลายของเสีย รู้จักจุลินทรีย์ที่ทำงานย่อยสลายของเสียให้มากไว้

เท่าที่ลองใช้อีเอ็มจัดการกับความเหม็นมาแล้ว ก็ได้ผลว่าควบคุมกลิ่นได้ จนมารู้ว่าอีเอ็มมีจุลินทรีย์อยู่ 3 กลุ่ม โดยมีกลุ่มใหญ่ชอบเฮตามผู้นำ ก็รู้สึกว่ายิ่งต้องรู้จักจุลินทรีย์ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เลือกใช้ให้เหมาะควรในระบบจัดการของเสียที่หลากหลายของรพ.

เพิ่งรู้ว่าระบบบำบัดของเสียที่มีอยู่หลากหลายออกแบบไว้รองรับการผลิตจุลินทรีย์เพื่อการย่อยสลายทั้งนั้น และจุลินทรีย์เหล่านี้มีกลุ่มหนึ่งใช้ออกซิเจน และอีกกลุ่มไม่ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลาย

ในอีเอ็มก็มีจุลินทรีย์ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้อากาศ อีกกลุ่มไม่ใช้ ทั้ง 2 กลุ่มอยู่ร่วมกันได้และพึ่งพาอาศัยกันและกัน

เมื่อเจาะลึกลงไปดูความสามารถของการย่อยสลาย ก็พบความหลากหลายของจุลินทรีย์ในอีเอ็มสูตรต่างๆอยู่ 5 ก๊ก (Families) 10 ตระกูล(Genus) 80 ชมรม (Species) ทีเดียวเชียว มาทำความรู้จักกับมันด้วยกัน

กลุ่มที่ใช้ออกซิเจน มี 2 ก๊ก คือ ก๊กเชื้อราที่มีเส้นใย  และก๊กสังเคราะห์สารอินทรีย์

ก๊กแรกทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการย่อยสลาย ทำงานได้ดีในสภาพที่มีออกซิเจน ทนความร้อนได้ดี ปกติใช้เป็นหัวเชื้อผลิตเหล้า ผลิตปุ๋ยหมัก ฯลฯ

ก๊กหลังทำหน้าที่สังเคราะห์สารอินทรีย์ให้แก่ดิน เช่น ไนโตรเจน กรดอะมิโน  น้ำตาล วิตามิน ฮอร์โมน และอื่นๆเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ดิน

กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน มี 3 ก๊ก คือ ก๊กหมัก ก๊กจัดการกับไนโตรเจน และก๊กสร้างกรดแลกติก

ก๊กหมัก จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ดินต้านทานโรค ฯลฯ เข้าสู่วงจรการย่อยสลายได้ดี ช่วยลดการพังทลายของดิน ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิดของพืชและสัตว์ สามารถบำบัดมลพิษในน้ำเสีย ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษต่างๆได้

ก๊กตรึงไนโตรเจน มีทั้งพวกที่เป็นสาหร่าย (Algae) และพวกแบคทีเรีย (Bacteria) ทำหน้าที่ตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศเพื่อให้ดินผลิตสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต เช่น โปรตีน กรดอินทรีย์ กรดไขมัน แป้ง ฮอร์โมน วิตามิน ฯลฯ

ก๊กสร้างกรดแลคติก มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อราและแบคทีเรียที่เป็นโทษ ทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพดินเน่าเปื่อยหรือดินก่อโรค ให้เป็นดินที่ต้านทานโรค ช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชที่มีจำนวนนับแสน หรือทำให้หมดไป และยังช่วยย่อยสลายเปลือกเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยให้เมล็ดงอกได้ดีและแข็งแรงกว่าปกติอีกด้วย

จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิต มันก็ต้องการที่อยู่ ที่เหมาะสม ไม่ร้อนเกินไป หรือเย็น เกินไป อยู่ในอุณหภูมิปกติ  ต้องการอาหารจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อมัน

ในที่ที่มีน้ำตาล รำข้าว โปรตีน และสารประกอบอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอยู่มาก จุลินทรีย์ในอีเอ็มก็เพิ่มจำนวนได้มาก สภาพเดียวที่มันอยู่ร่วมไม่ได้ก็คือสารเคมีและยาฆ่าเชื้อต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ใช้น้ำประปาจากก๊อกมาผลิตอีเอ็ม

การเพิ่มจำนวนเป็นไปได้ดีเมื่อไร้แสง เวลาทำงานที่เหมาะกับมันจึงเป็นช่วงเย็นของวัน ยิ่งระบบจัดการของเสีย มีพื้นที่รองรับให้มันอยู่ได้มาก การย่อยสลายของเสียของจุลินทรีย์ก็ยิ่งทำได้ดี อย่างนี้นี่เล่าเมื่อมันได้ลงไปอยู่ในลำคลอง หนอง บึง เมื่อมันสามารถเพิ่มจำนวนได้ มันจึงส่งผลให้เห็นทันตา

อายุของอีเอ็มเมื่อปลอดออกซิเจน ไม่ทิ้งไว้กลางแดด ไม่จับแช่เย็น ไม่ปล่อยให้มีศัตรูจากภายนอกเข้าไปรุกราน อยู่ที่ 1 ปี  จะรู้ว่าอีเอ็มยังอยู่หรือตาย ดูที่กลิ่นและสี สีดำ กลิ่นเหม็นเน่า ไม่เห็นฝ้าขาวๆ ไม่เห็นฟองน้ำขาวๆเมื่อนำไปขยายเชื้อ แปลว่ามันตายหมดแล้ว

แบคทีเรียในน้ำหมักชีวภาพทำให้ฟอสเฟตซึ่งพืชใช้ประโยชน์เป็นธาตุอาหารพืชไม่ได้เปลี่ยนเป็นฟอสฟอรัสที่พืชใช้ประโยชน์ได้

ความสามารถย่อยสลายวัตถุอินทรีย์ที่ทำให้สารประกอบโมเลกุลใหญ่เล็กลงจนปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกมาให้พืชใช้ประโยชน์ได้นี้และเรื่องฟอสฟอรัสกับสุขภาพที่รู้ๆอยู่ เตือนให้ใคร่ครวญว่าก่อนนำอีเอ็มไปใช้กับน้ำเสียตรงจุดไหนก็ตาม ควรที่จะรู้เสียก่อนว่าน้ำเสียนั้นมีฟอสเฟตปนอยู่มากน้อยแค่ไหน

« « Prev : ตามลม (๖๙) : สีตะกอนที่เห็นมันคืออะไีร

Next : ตามลม (๗๑) : แม้จะละลายน้ำได้น้อยนิด…แต่ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลนะ..ขอบอก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๗๐) : อีเอ็มกับฟอสฟอรัส"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.31304907798767 sec
Sidebar: 0.30779790878296 sec