ตามลม (๗๑) : แม้จะละลายน้ำได้น้อยนิด…แต่ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลนะ..ขอบอก

อ่าน: 1558

ตั้งแต่เข้าไปเกี่ยวกับเรื่องน้ำโดยบังเอิญ แล้วตัดสินใจใช้ความรู้ระดับมัธยมต้นกับโจทย์ที่พบเจอมาทีละเปลาะ จากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศวนตามลมลงมาบรรจบกับน้ำบนผิวดินและดิน ไม่น่าเชื่อว่าจะพาวนให้มาบรรจบกับเรื่องน้ำเสียได้

เมื่อคราบขาวเหมือนกระดาษยุ่ยๆที่เปรอะในคูเจ้าปัญหาในวันแรกที่เจอ กับคราบขาวๆที่เกิดเมื่อน้ำประปาหยุดไหล แวบมาสะกิดให้ฉุกใจ กับภาวะ “แบคทีเรียบูม”  ก็เริ่มเห็นมุมน่าสนใจของก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำ

เพื่อความเข้าใจที่ชัดขึ้น จึงแวะไปขอให้อากู๋เล่าเรื่องให้ฟัง คราวนี้ได้ศัพท์ใหม่ติดหัวมาเป็นกะบิ ก็เลยบันทึกไว้ทำความเข้าใจ เผื่อเกิดกระทรวงน้ำขึ้นมาจริงๆ จะได้ไม่ตกเทรนด์

“มลสาร” วิชาน้ำเสียเขาหมายถึง “สิ่งสกปรกต่างๆที่เจือปนอยู่ในน้ำและทำให้เกิดน้ำเสียนั้น”

“ภาวะมลพิษ” ตรงนี้หมายถึง “สภาพการเปลี่ยนแปลงจากภาวะน้ำดีเป็นน้ำเสีย”

มลสารนั้นมีทั้ง สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์  โลหะหนักและสารพิษต่างๆ  ไขมัน น้ำมันและกรีส  ของแข็ง ตะกอนแขวนลอย สารกัมมันตรังสี แพลงค์ตอน และจุลินทรีย์

จะสรุปว่าน้ำใดเสียเขาจะรวบรวมข้อมูลของมลสาร และผลอันเกิดจากการมีมลสารเหล่านี้ในน้ำมาแปลผล

“สารอินทรีย์” เขาใช้สื่อถึงแหล่งธาตุคาร์บอนที่อยู่ในน้ำ แหล่งของธาตุไฮโดรเจนหรืออนุพันธ์ของทั้ง 2 ธาตุด้วย ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าสัตว์หรือพืช  ตัวหลักๆ คือ สารอาหารที่สิ่งมีชีวิตต้องใช้ดำรงชีพ 3 ตัว (คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน)

“บีโอดี (Biochemical Oxygen Demamd -BOD)” หมายถึง ขนาดปนเปื้อนของสารอินทรีย์และความยากของการบำบัดน้ำ ค่านี้แปลตรงไปตรงมาแบบว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวกับการบำบัดว่างั้นเหอะ การบำบัดที่ว่านี้มีเจ้าตัวเล็กที่ใช้ออกซิเจนยังชีพเป็นผู้ทำให้

“สารอนินทรีย์” เป็นพวกแร่ธาตุที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ได้ทำให้เกิดเน่าเหม็นตรงๆ ต้องแปรรูปเป็นสารประกอบแล้วนั่นแหละจึงสร้างกลิ่นเฉพาะขึ้นมา และใช่แต่จะสร้างกลิ่นเท่านั้น ยังอาจกัดกร่อนสร้างความเสียหายบนเส้นทางที่น้ำผ่านได้ด้วย

เหตุผลที่จำเป็นต้องบำบัดจึงเป็นในเชิง “กันไว้ก่อน” ธาตุพวกนี้ ได้แก่ ซัลไฟด์ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส เป็นต้น

ที่ไหนที่มีน้ำอยู่แล้วมีออกซิเจนน้อย ซัลไฟด์ (Sulfide)จะแปรรูปเป็นซัลเฟตซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็น และก่อปัญหาการกัดกร่อนของท่อน้ำส่วนบน

กลิ่นเหม็นยังเกิดจากสารประกอบซัลไฟด์ ไนโตรเจน และสารอินทรีย์ถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ เป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์และแอมโมเนียด้วย

ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่สำคัญในวงจรชีวิตของพืชและสัตว์ ต่อการเจริญเติบโต ปริมาณที่มากเกินไปในน้ำ จะชักนำไปสู่การเจริญเติบโตจนเสียภาวะสมดุลย์ทางธรรมชาติของพืชน้ำ แล้วนำสู่คุณภาพที่เสื่อมลงของน้ำนั้น

เมื่อไรที่มีฟอสฟอรัสอยู่ใกล้ๆ ธาตุตัวนี้จะแผลงฤทธิ์มากขึ้น และส่งผลทำให้เกิดการเจริญเติบโตของพืชน้ำมากผิดปกติ ทำให้ช่วงกลางคืนออกซิเจนในน้ำลดลง และส่งผลทำให้เกิดการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการสัญจรทางน้ำและการนำน้ำไปใช้ประโยชน์

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ระบบนิเวศน์(Ecological System) และสัตว์น้ำที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร(Food Chain) ที่แปรเปลี่ยนล้วนแต่มีต้นเหตุมาจากปริมาณไนโตรเจนในน้ำเปลี่ยนไป

ฟังมาถึงตรงนี้ ก็ไ้ด้แง่คิดว่า เมื่อก๊าซกับน้ำมาเกี่ยวข้องกันเข้า ใช่ว่าจะมีแต่ก๊าซ 2 ตัว คือ ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิต ไนโตรเจนก็ใช่เลย

« « Prev : ตามลม(๗๐) : อีเอ็มกับฟอสฟอรัส

Next : ตามลม (๗๒) : ควรพอใจกับตัววัดน้ำตัวไหน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๗๑) : แม้จะละลายน้ำได้น้อยนิด…แต่ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลนะ..ขอบอก"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.022690057754517 sec
Sidebar: 0.26663398742676 sec