ตามลม (๖๙) : สีตะกอนที่เห็นมันคืออะไีร

อ่าน: 1743

มีวันหนึ่งแวะไปด้อมๆมองๆน้ำที่ขังใต้ตึกเจ้าปัญหาอีกรอบ ด้วยเหตุที่การประปางดจ่ายน้ำเข้ามาให้รพ. แล้วกังวลกันว่าน้ำใต้ตึกจะส่งกลิ่นเหม็น

สะดุดตากับคราบสีขาวเป็นหย่อมๆเต็มไปหมดบนพื้นดิน เป็นคราบขาวชนิดเดียวกับที่เคยเห็นเมื่อครั้งแรกที่มาดูคู  คอยหาคำตอบมาตลอดว่าคราบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง มาวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจกับคำตอบที่พบ

ไปได้ประวัติศาสตร์ของชาวนาเมืองสุพรรณและมูลนิธิข้าวขวัญมาเป็นครู เติมความรู้เกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพให้ จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

ลุงชาวนาเล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2544 ชาวนาและเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ พากันไปหาหัวเชื้อสำหรับการทำน้ำหมักชีวภาพ จากดินที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ดินที่มีกลิ่นหอมเหมือนเห็ดโคนมาจากป่าลึกใส่ย่ามกลับบ้าน

กลับถึงบ้านลุงกับเพื่อนก็นำดิน 1-2 กิโลกรัมที่นำติดกลับมา ผสมกับแกลบ รำข้าวและใบไผ่ ใส่ไว้ในบ่อปูนหลังบ้านซึ่งอยู่ตรงที่รกครึ้มคล้ายป่าเดิม เมื่อแกลบ ใบไม้สลายตัว จนได้ดินใหม่ที่มีกลิ่นหอม  เขาก็เอามาใส่ถุงตาข่ายเล็กๆ แล้วนำไปแช่ในกากน้ำตาล ก็ได้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นหลายเท่าตัว (กากน้ำตาลเป็นแหล่งให้พลังงานแก่จุลินทรีย์)

การเดินทางไปหาหัวเชื้อในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก คราวนี้ได้หัวเชื้อจากดินป่าและใต้น้ำเพิ่มมา ก็นำมาเพาะเลี้ยงขยายเชื้อต่อเรื่อยๆ จนวันนี้เกษตรกรชาวสุพรรณบุรีที่ต้องการลด ละ เลิกสารเคมี ไม่ต้องใช้สารเคมีแล้ว

ลุงเล่าว่า เมื่อนำดินจุลินทรีย์ไปหมักในกากน้ำตาล 7 วัน จะได้ฝ้าขาวๆเป็นสัญญาณบอกเรื่องจุลินทรีย์ ฝ้าคือจุลินทรีย์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นจนเห็นด้วยตา

เมื่อเกิดฝ้าขาวๆ จะมีการกรองน้ำหมักไปใช้งานแทนสารเคมี  ที่ใช้กันอยู่ คือ ผสมน้ำฉีดพ่น หรือหยดลงในนาหรือนำไปหมักกับพืชสมุนไพรเป็นสารไล่แมลง หรือหมักกับซากสัตว์เป็นฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต

เขาว่าจุลินทรีย์มีหลายอย่าง แต่ละอย่างแยกงานกันทำ แบบหน้าที่ใครหน้าที่มัน วิธีได้เชื้อที่หลากหลาย เพื่อใช้งานได้ตรง ได้จุลินทรีย์หลายอย่าง อยู่ที่การนำน้ำหมักสมุนไพรชนิดต่างๆมาผสมกับฮอร์โมน 3-4 อย่าง แล้วพ่นหรือหยดลงในช่องที่ปล่อยน้ำไหลเข้านา

นึกได้ว่ามีคูแห่งหนึ่งที่เพิ่งใส่ลูกบอลน้ำหมักลงไป หลังใส่แค่วันเดียวตรงนั้นก็มีคราบขาวๆเกิดขึ้น เข้าใจแล้วว่าเจ้าคราบขาวๆที่เห็นบนพื้นใต้ตึก เป็นจุลินทรีย์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นนี่เอง

จุดที่เห็นคราบหนาเป็นที่น้ำไหลเอื่อยๆ หรือไม่ก็ขังนิ่ง หรือเป็นมุมหลบกระแสน้ำ  ที่ไหนน้ำไหลชะตะกอนได้จะไม่เห็นคราบขาวหรือเห็นบางๆจนแทบไม่เห็น อย่างนี้แปลว่าจะเลี้ยงจุลินทรีย์ไว้ใช้งานจัดการคุณภาพน้ำ  พื้นที่น้ำนิ่ง น้ำไหลรินหรือมุมหลบกระแสน้ำคือพื้นที่เหมาะสำหรับหยอดลูกบอลน้ำหมักทิ้งไว้เนอะ

« « Prev : ตามลม(๖๘): น้ำหมักชีวภาพช่วยอะไรได้อีก

Next : ตามลม(๗๐) : อีเอ็มกับฟอสฟอรัส » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 เวลา 16:41

    หัวเชื้อจุลินทรีย์จากป่า หรือใกล้กิไผ่ ที่เรียกว่าดินขุยไผ่นั้น สมัยอยู่ดงหลวงผมพาพ่อๆทำกันใช้ได้ผลดีครับ เรียกชื่อว่า “ปุ๋ยดินระเบิด” ได้ชื่อจากการที่เราเอาดินจากป่ามาคลุกกับรำ น้ำหมัก กากน้ำตาลเอาห่อผ้าเก่าๆ(ไม่ใช้ผ้าที่ซักใหม่เพราะกลิ่นผงซักฟอกไม่ดีต่อเชื้อ) เอาฝังดินไว้ตรงที่เดิมสองวัน ขุดขึ้นมาแช่ในน้ำผสมกากน้ำตาล ตอนที่ผสมกันดินจะแตกตัวเป็นฟองฟู่เหมือนโซดา จึงเรียกกันว่าสูตรดินระเบิดครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.035755157470703 sec
Sidebar: 0.12013506889343 sec