ลานบ้านชลบถพิบูลย์

พฤษภาคม 12, 2010

บทเรียนจากสวนป่าต้นเดือนพฤษภาคม : สานต่อวงย่อยเฮฮาศาสตร์

เรื่องนี้สืบเนื่อง ต่อเนื่องมาจากการที่สวนป่าได้ต้อนรับชาว บ้านมกรา ทำให้เหล่าพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์ได้มีโอกาสได้มาเจอกัน และการมาเจอกันคราวนี้ก็มีจำนวนสมาชิกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีการคลำหัวใจของกันและกันในกลุ่มชาวเฮฮาศาสตร์ โดยใช้เวลายามเย็นที่โรงปั้นอิฐเป็นสถานที่ล้อมวงกัน

ประเด็นหนึ่งที่ผมจับมาย่อยต่อนั้นคือประเด็นการมีกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มที่พักหลังนี้กิจกรรมการตะเวนไปเยี่ยมในรูปกิจกรรมเฮฮาศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ มันห่างหายไปและตอนนี้มันก็ยากที่จะได้จับเอาชาวเฮและครอบครัวมาทำแบบนั้นอีก แต่หากมีเจ้าภาพที่แข็งแรงจัดได้อีกก็ขอสนับสนุน ดังนั้นการพบปะในรูปแบบหลาย ๆ คนอาจจะนาน ๆ ครั้งแต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การจัดกิจกรรมย่อยร่วมกันของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่มีเนื้องานหรือเนื้อวิชาชีพที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้

เช่นกิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ  กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพเกษตร กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพการจัดการศึกษา กิจกรรมของกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม

ซึ่งกิจกรรมแบบนี้จะช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่ตรงจุดวิชาชีพ มีการถ่ายเทความรู้และเกิดการหมุนวนของความรู้ การเกิดขึ้นของความรู้แบบนี้อาจจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกระบวนการเฮฮาศาสตร์และสามารถนำมาเป็นต้นแบบการเผยแพร่ต่อได้ ซึ่งโดยพฤติกรรมเราก็ทำกันอยู่แล้วแต่การพัฒนาให้ชัดเจนจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ “แจ่ม” ขึ้น

ที่ผมกำลังเริ่มอยู่ก็เป็นการเอางานวิจัยที่ตนเองได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปทำในพื้นที่ของอาจารย์บางทรายที่ดงหลวง การจับเอา ผ้า กับ โส้ดงหลวง มาร่วมกันคราวนี้ผมเองได้ประโยชน์ในแง่มีทุนเดิมของความรู้ที่ท่านอาจารย์บางทรายได้ตกตะกอนเอาไว้แล้ว ไม่ต้องศึกษาใหม่(บ้านเราเน้นศึกษากันมาก แต่ไม่เอาการศึกษาที่มีอยู่มากมายมาใช้) และอานิสงค์ที่ท่านอาจารย์บางทรายทำเอาไว้ก็อาจจะทำให้งานวิจัยพัฒนาไปได้เร็วขึ้น การคัดเลือกกลุ่มช่างทออาจจะง่ายขึ้นเพราะเรามีคนชำนาญพื้นที่แล้ว

ไม่แน่ปลายฝนต้นหนาวปีนี้อาจจะได้เชิญชาวเฮฮาศาสตร์ไปเยือนถิ่นไทโส้ที่ดงหลวงอีกครั้ง ในบริบทของผ้าทอไทโส้

เมษายน 5, 2010

แมงมุมลายตัวนั้น

แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน

วันหนึ่งมันเปียกฝน ไหลลงจากบนหลังคา

พระอาทิตย์ส่องแสง น้ำแห้งเหือดไปลับตา

มันรีบไต่ขึ้นฝา หันหลังมาทำตาลุกวาว

ครูออตนำเข้ากิจกรรมศิลปะในสัปดาห์นี้ด้วยเพลงแมงมุมลาย เพลงนี้ไม่ทราบใครแต่งแต่ร้องไปร้องมา ต่อกันไปต่อกันมา จนไม่สามารถอ้างแหล่งที่มาได้ เพลงนี้เด็ก ๆ ชอบเพราะมันมีท่าประกอบด้วย ซึ่งเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการต่อหัวแม่มือด้านหนึ่งกับนิ้วก้อยของมืออีกด้านหนึ่ง

หลังจากที่เด็ก ๆ กำลังคิดถึงเจ้าแมงมุมลาย ครูออตสบโอกาสก็ชวน ๆ เด็ก ๆ วาดรูปเจ้าแมงมุมกัน

  • ชั่วโมงเด็กเล็ก ๆ ก็ชวนเด็ก ๆ คิดถึงขนาดตัวแมงมุม ขาแมงมุม บ้านแมงมุม อาหารแมงมุม ครอบครัวแมงมุม ประหนึ่งเจ้าแมงมุมเป็นครอบครัวของเด็ก ๆ เอง
  • ชั่วโมงเด็กโต ไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะเด็ก ๆ มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับแมงมุมมากพอที่จะคิด จินตนาการต่อจากเพลงได้แล้ว ครูทำหน้าที่เป็นเพียงลูกมือก็พอ หลังจากนี้ก็ปล่อย ๆ เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองได้แล้ว

ไปดูผลงานชุดเจ้าแมงมุมของเด็ก ๆ ครูออตกันครับ ว่าแมงมุมของเด็ก ๆ แต่ละคนเป็นอย่างไร และช่วยเพิ่มจินตนาการอะไรให้เด็ก ๆ ได้บ้างจากกิจกรรมนี้

  • ผลงานเจ้าแมงมุมของกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ ซึ่งสามารถสร้างรูปทรงของเจ้าแมงมุมออกมาได้ แสดงว่ากล้ามเนื้อมือกับสมองมีความสัมพันธ์กันดี แต่เด็กก็มีจินตนาการ อย่างน้องข้าวปั้น(รูป 1)ก็ใส่ตาเจ้าแมงมุมให้ใหญ่เพราะมันลุกวาว(ตามเนื้อเพลง) น้องต้นหวาย(รูป 2)ก็มีแมงมุมนับร้อยขา น้องเปาเปา(รูป3)ใส่ขาแมงมุมให้ยาวออกไปไม่สิ้นสุด

  • ผลงานกลุ่มเด็กโต( 6-7ขวบ) เด็กกลุ่มนี้แสดงออกในเรื่องราวได้มากขึ้นเช่นการที่สร้างบ้านชักใยให้เจ้าแมงมุม  การที่เจ้าแมงมุมมีคนในครอบครัว อาหารของเจ้าแมงมุมที่มาติดที่ใยแมงมุม และบรรยากาศของภาพที่มีการใส่พื้นที่ด้านหลังของภาพ ซึ่งแสดงออกผ่านสีและฝีแปรงในการระบาย

ว่าง ๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ ชวนเจ้าตัวน้อยที่บ้าน หรือ เจ้าตัวน้อยข้างบ้านมาวาดรูปเจ้าแมงมุมกันนะครับ

ข้อควรระวัง ถ้าจะให้ดีอย่าลืมชวนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยนะครับเพราะเจ้าแมงมุมมีพิษร้าย เดี๋ยวเด็ก ๆ คลั่งไคล้่อยากจะจับเจ้าแมงมุมในสวนหลังบ้านมาเป็นเพื่อนนอน แบบนี้อันตรายแน่ ๆ

กุมภาพันธ 27, 2010

วัตถุจัดแสดง : ห้องผ้าในพิธีกรรม

Filed under: Uncategorized — ออต @ 15:33

ห้องผ้าในพิธีกรรมเป็นห้องแรกที่ถูกจัดแสดง ดังนั้นเมื่อเข้ามาในนิทรรศการจึงจำต้องเห็นวัตถุที่จัดแสดงไว้ ซึ่งในการตะเวนหาผ้าในห้องนี้มีความยากตรงที่เราไม่ได้มีสิ่งของเหล่านี้ไว้ ในมือเพราะมันพิเศาและเฉพาะมาก ซึ่งวัตถุจัดแสดงที่สำคัญที่จัดไว้ในห้องนี้อาทิ

ผ้าผะเหวด ซึ่งเขียนเรื่องรางของพระเวสสันดรหนึ่งในทศชาติชาดกของชาวพุทธ ผ้าผะเหวดนี้วัดสำคัญ ๆ ของอีสานมีกันแทบทุกแห่งเำพราะบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่เป็นฮีตสำคัญของชาว อีสานเราเรียกว่า บุญผะเหวด ซึ่งเป็นบุญที่เน้นการให้ความสำคัญของการทานและสิ่งของหลายอย่างก็มีสัญญะ ของฝนและความอุดมสมบูรณ์  ผ้าผะเหวดเดิมใช้ผ้าฝ้ายที่ทอในชุมชนมีการจ้างช่างพื้นถิ่นอีสานเป็นช่างวาด ซึ่งมีลักษณะคุณค่าทางศิลปะไปในทางศิลปะพื้นบ้านเป็นสำคัญ  ผ้าผืนนี้ยาวมากเพราะเขียนเรื่องพระเวสสันดรทั้งสิบสามกัณฑ์ซึ่งหัวเรื่องอา จะมีเรื่องพระมาลัยมาลัยแสนอยู่ด้วย

ชาวบ้านอีสานจะแห่ผ้าพระเหว ดนี้เข้าหมู่บ้าน ซึ่งต้องใช้จำนวนคนในการถือซึ่งยาวออกไปหลายสิบเมตร ซึ่งในอดีตใคร ๆ ก็อยากถือผ้ากัน เพราะเห็นเป็นสิริมงคลที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอัญเชิญพระเวสสันดรเข้า เมือง  ดังนั้นเมื่อผ่านไปในคุ้มใดชาวบ้านที่รอชมก็จะได้ทบทวนเรื่องราวของเวสสันดร ชาดกไปในตัวด้วยเปรียบเหมือนนิทรรศการเคลื่อนที่นั้นเอง

แต่ เสียดายที่หลายวัดมักขาย(ให้นักสะสมหรือนายหน้าของเก่า) แลก(กับผ้าผะเหวดผืนใหม่ที่เขียนขึ้นสวยงามแบบฉบับศิลปะไทยภาคกลาง)หรือเผา ผ้าผะเหวดผืนเก่า ๆ ทิ้ง(เพราะเห็นเป็นสิ่งเก่า)

กุมภาพันธ 24, 2010

ประสบการณ์การจัดนิทรรศการเส้นไหมใยฝ้ายลวดลายถิ่นอีสาน ตอน 1

นิทรรศการเส้นไหมใยฝ้ายลวดลายถิ่นอีสานปี 53 เป็นนิทรรศการที่ต่อเนื่องมาจากการได้รับเชิญจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้นำผลงานผ้าไหมมาจัดนิทรรศการเมื่อปีที่แล้วในงาน ท่องเที่ยวอีสาน 2552 มาปีนี้เจ้าหน้าที่ของ ททท ประสานให้จัดนิทรรศการในภาพรวมของผ้าทอมืออีสาน งานนี้จึงจำต้องปิดแฟ้มงานอื่น ๆ ลงแล้วเดินหน้าเพื่อรับการเชื้อเชิญในครั้งนี้

นิทรรศการครั้งนี้มีจุดที่ยากที่สุดอยู่ที่ การจัดหาผ้ามาจัดแสดง เพื่อให้ได้ผ้าที่สอดรับกับเรื่องราวที่จะเรียงร้อยเพื่อนำเสนอในนิทรรศการ ลำพังผ้าที่ผมสะสมไว้ก็ไม่ได้มีมากอะไรส่วนใหญ่ก็เป็นผ้าที่ทำด้วยเทคนิคมัดหมี่ ดังนั้นผ้าในรูปแบบอื่น ๆ จึงอยู่แค่ในแผนการจัดนิทรรศการเท่านั้น ส่วนตัวผ้ายังไม่มีดังนั้น งานภัณฑารักษ์ซึ่งความจริงน่าจะได้นั่งเลือกผ้า กลับต้องออกสนามเพื่อตามหาผ้าที่จะจัดแสดง

เนื่องด้วยเวลาจำกัดผมจึงลางานสอนศิลปะในเดือนกุมภาพันธ์ที่แสนจะสนุกไป สัปดาห์ต้นกุมภาพันธ์จึงเป็นสัปดาห์ที่ต้องร่ำลาเด็ก ๆ ของผมเพื่อออกเดินทาง ด้วยระยะเวลาที่จำกัดและในพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ทำให้ต้องลาเด็ก ๆ ไป แล้วการทำงานของเราก็เริ่มขึ้น

ในแผนงานนิทรรศการเส้นไหมใยฝ้ายลวดลายถิ่นอีสานปี 53 คราวนี้ ผมออกแบบนิทรรศการเหมือนการจำลองพิพิธภัณฑ์ผ้าอีสานมาแสดงในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์(ซึ่งเป็นความฝันที่อยากทำพิพิธภัณฑ์ผ้าสักแห่งไว้ประดับแผ่นดินอีสาน) ซึ่งเน้นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านห้องจัดแสดงทั้งสิ้น 3 ห้องคือ ห้องผ้าในพิธีกรรม ห้องผ้าในวิถีวัฒนธรรมและห้องผ้าอีสานร่วมสมัย

เจ้าหน้าที่ ททท แจ้งถึงรูปแบบการนำชมว่าต้องการให้มีการเข้าชมเป็นรอบ ๆ ดังนั้นผมจึงไม่ได้ทำป้ายแนะนำวัตถุจัดแสดงให้เกะกะรกรุงรัง ซึ่งเป็นการบังคับผู้ชมไปในตัวว่าเข้ามาในนิทรรศการจำเป็นต้องฟังเพราะไม่มีอะไรให้อ่าน รูปแบบการนำเสนอก็ดีเพราะผู้ชมกับผู้นำชมจะได้มีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเส้นทางการนำชมมีการชักถามพุดคุยกันสนุกสนาน และเป็นการง่ายในการดูแลความปลอดภัยของผ้าที่นำมาจัดแสดง(วิชาไม่มีป้ายในวัตถุจัดแสดงนี้ ผมเรียนรู้ที่สวนป่า มหาชีวาลัยอีสานเพราะครูบาฯท่านไม่ได้เขียนป้ายที่ต้นไม้ในสวนป่า อยากรู้ต้องถามเอา อ่านเฉย ๆ ก็จะรู้แค่ชื่อต้นไม้เฉย ๆ แต่ไม่รู้เรื่องราวอื่น ๆ ของต้นไม้)

เมื่อมองกลับไปยังห้องจัดแสดงผ้าทั้งสามห้อง ผมวางแผนการเดินทางไปเป็นกลุ่ม ๆ ตามนิเวศวัฒนธรรมซึ่งมีผ้าที่มีแปรผันตามโครงสร้างวัฒนธรรมใกล้กันเช่น เลือกอุดรธานีเพื่อให้ได้ผ้าที่เป็นตัวแทนของแอ่งสกลนครด้านตะวันตก เลือกสกลนครเพื่อเป็นตัวแทนของแอ่งสกลนครทิศตะวันออก เลือกขอนแก่นเพื่อเป็นตัวแทนของแอ่งโคราชตอนบน เลือกอุบลราชธานีเพื่อเป็นตัวแทนของแอ่งโคราชทิศตะวันออกและเลือกสุรินทร์ในฐานะตัวแทนแอ่งโคราชตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผ้าที่มีความเฉพาะตามแต่ละนิเวฒวัฒนธรรม

ผมโชคดีที่มีเพื่อนทำงานด้านวัฒนธรรมอยู่ในเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งเพื่อนที่ผมมีเป็นมากกว่าเพื่อนคือเป็นกัลยาณมิตรที่คอยอำนวยความสะดวก ในข้อแนะนำและบางคนถึงกับเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการลงไปเลือกผ้ามาจัดแสดง การมีตัวแทนและกัลยาณมิตรเหล่านี้ช่วยร่อนระยะเวลาในการลงพื้นที่ไปได้มากและผ้าหลายชิ้นที่เป็นของนักสะสมหากไม่ได้คนในพื้นที่ก็อย่าหมายว่าจะได้ผ้ามาจัดแสดง แต่สำหรับผมนั้นค่อนข้างโชคดีที่มีกัลยาณมิตรเหล่านั้น

กุมภาพันธ 2, 2010

ภาพพิมพ์ผัก ผลักจินตนาการ

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 11:56

เด็กน้อยเมื่อสอนให้ระบายสีบ่อยไป เอะอะอะไรก็ระบายสี ทำให้จินตนาการแคบอยู่กับการระบายสี การปลูกฝังว่าศิลปะคือการระบายจึงเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ศิลปะมีมากมายหลายแขนง วิจิตรศิลป์ก็มีตั้งมาก ดังนั้นครูศิลปะจึงต้องคิดหากิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นจินตนาการให้แก่เด็ก ๆ และเกิดประสบการณ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับศิลปะและเทคนิคทางศิลปะ

(ภาพพิมพ์ของศิลปินไทย อ.ประหยัด พงษ์ดำ)

ภาพพิมพ์กับเด็กนั้นดูเหมือนจะยากไป แต่เราก็ปรับให้ภาพพิมพ์ง่ายได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แทนที่เราจะไปซื้อแม่พิมพ์ยางพาราที่เขามีสำเร็จรูป เราก็ทำแม่พิมพ์เองจะไม่ดีกว่าหรือ แปลกพิเศษไม่เกลื่อนไม่ธรรมดา เรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก ดังนั้นห้องเรียนศิลปะของเราวันนี้จึงสร้างงานศิลปะด้วยเทคนิคภาพพิมพ์จากผัก

เริ่มจากครูไปเดินตลาดมองหาวัตถุดิบเมื่อนำมาสร้างแม่พิมพ์ เลือกแบบเนื้อไม่แข็งมากและไม่นุ่มจนเกินไป ครูออตไปเที่ยวตลาดบางลำพูในเมืองขอนแก่นมืดไป ตลาดวายเสียก่อนดังนั้นฝักทอง มะละกอดิบ ฝรั่งดิบจึงไม่มี ที่ได้จึงได้แค่หัวผักกาดสีขาวและแครอทสีส้มซึ่งทั้งสองอย่างเหมาะที่เดียวที่จะนำมาทำภาพพิมพ์ขนาดไม่ใหญ่ เหมาะกับการจับของเด็ก

ครูออตเอาหัวผักกาดและแครรอทมาล้้างและหั่นตามแนวขวางยาวชิ้นละ 2 นิ้ว โดยพยายามหั่นให้ตรงเพราะจะได้แกะแม่พิมพ์ได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นได้มีดแกะภาพพิมพ์เป็นรูปต่าง ๆ โดยไม่แกะเป็นรูปทรงแต่เน้นลวดลายเพื่อให้เด็กนำลวดลายไปสร้างสรรค์งานต่อ หากเป็นพวกรูปเด็กจะไม่คิดพัฒนารูปทรงแต่จะพิมพ์ลงไปแบบตรง ๆ เสียมากดังนั้นดูเหมือนรูปทรงสำเร็จจะปิดกั้นจินตนาการไปบ้าง

เมื่อได้แม่พิมพ์แล้ว ก็ผสมสีน้ำรอ ซึ่งอย่าให้เหลวมากเพราะเนื้อสีจะไม่เกาะแม่พิมพ์ เพื่อให้แน่ใจครูออตลองเอาแม่พิมพ์มาพิมพ์ลองดู ก่อนที่เด็ก  ๆ จะเข้าห้องเรียน ซึ่งก็ได้ลวดลายต่าง ๆ ที่เป็นที่พอใจ หลากหลายและเพียงพอต่อจำหนวนเด็ก เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยครูออตก็เตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้รอเช่น กระดาษ ผ้าเช็ด ถังสี ดินสอ เป็นต้น

เมื่อเด็ก ๆ มาครูออตแอบเอาแม่พิมพ์ไปซ่อนไว้ เริ่มวิชาศิลปะด้วยการกระตุ้นผ่านนิทาน ก่อนที่เด็ก ๆ จะลงมือวาดตามที่ตนเองชอบสนใจ เรื่องนี้ไม่มีการบังคับ แต่กระตุ้นให้เด็กเขียนด้วยภาพขนาดใหญ่หน่อย(เพราะเราต้องพิมพ์ ถ้าเล็กแม่พิมพ์จะทับภาพมองไม่เห็น) เมื่อเด็ก ๆ วาดเสร็จแล้ว ครูออตก็เอาแม่พิมพ์ออกมาโชว์ พร้อมแสดงการพิมพ์ภาพในแม่พิมพ์ต่าง ๆลงบนกระดาษจนครบ  สุดท้ายครูออตบอกว่าวันนี้เราจะเปลี่ยนการระบายสีเป็นการพิมพ์ภาพแทน เด็ก ๆ สามารถเลือกแม่พิมพ์เพื่อลงสีผ่านแม่พิมพ์ได้อยา่งที่ตนเองต้องการ  แต่ต้องไม่ลืมใช้แม่พิมพ์เสร็จต้องล้างแม่พิมพ์เพื่อให้คนอื่นใช้ต่อ

หลังสิ้นคำแนะนำ เด็ก ๆ ก็ต่างลงมือกันอย่างสนุกสนาน  ครูออตเป็นเพีียงผู้ช่วยๆ และค่อยกระตุ้นเท่านั้น ว่างก็ออกมานั่งสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ในห้อง พร้อมกับหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ไข

  • เด็กเล็ก ๆ บางคนไม่พิมพ์ภาพลงบนรูปที่วาดแต่พิมพ์ภาพลงบนกระดาษขาว ๆ ที่เป็นพื้น = เป็นความต้องการของเด็กแต่ละคร ครูต้องเข้าใจ
  • เด็กบางคนใช้แม่พิมพ์เดิมแต่ไม่ยอมล้างสีเมื่อไปลงถ้วยสีใหม่สีจะสกปรก = ครูต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจและหาถ้วยเปล่ามาให้เด็กคนนั้นเอาสีมาผสมข้างนอก ประเดี๋ยวจะเกิดสงครามในห้อง
  • เด็กบางคนพิมพ์ภาพด้วยความรุนแรง  แม่พิมพ์แตกยับเยินคนอื่นไม่ได้ใช้ = ครูลองทำให้เด็กดูว่ากดเพียงเบา ๆ สีก็ติดกระดาษได้โดยไม่ต้องใช้แรงมาก เพราะแม่พิมพ์เราเป็นธรรมชาติ แตก หัก พังง่าย
  • เด็กบางคนเล่นแม่พิมพ์จนเบื่อ แทนที่จะกดแม่พิมพ์แต่เอามาพิมพ์มาลากระบาย=หากไม่รบกวนคนอื่นก็ปล่อยให้เขาใช้จินตนาการไป กด ไหล ระบาย ก็เป็นวิธีการแสดงออกเหมือนกัน เป้าหมายไม่ใช่ภาพสวยหรือภาพต้องใช้อย่างกิจกรรมนี้ต้องการ หากแต่เป็นประสบการณ์ทางศิลปะและโลกแห่งจินตนาการ
  • หากเป็นเด็กโต บางงทีจะไม่ชอบแม่พิมพ์ที่ครูทำ = แทนที่ครูจะทำแม่พิมพ์ให้ อาจจะแบ่งส่วนหนึ่งให้เด็กทำเองแต่ต้องระวังมีดแกะให้ดี อาจจะเกิดอันตรายได้ ครูควรดูแลอย่างไกล้ชิดมาก ๆ   การทำแม่พิมพ์ต้องใช้เวลามาก ครูควรคำนาณเวลาให้เหมาะสม
  • หลังพิมพ์ภาพ อาจะจสามารถตกตแ่งด้วยเทคนิคอื่นเช่น สีน้ำ สีชอลค์ โปรเสตอร์ ปะติดได้ไม่จำกัดครับ

มกราคม 31, 2010

ห้องเรียนทอผ้า

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 15:49

เมื่อนักเรียนรู้ว่าครูมีร้านขายผ้าและทอผ้า บางวันก็ชวนคุณพ่อคุณแม่ไปร้านครูออต  บ้างก็ไปแอบซื้อโดยไม่บอก มารู้ที่หลังว่าไปดูร้านขายผ้าครูออตกันหมดแล้ว เสียดายไม่ได้ไปต้อนรับ  ดังนั้นในห้องเรียนของเด็กในวันอาทิตย์จึงเซ้าซี้ครูออตให้้สอนทอผ้าให้ งานนี้หลักสูตรที่พยายามออกแบบเอาไว้สอนทอผ้าที่โรงเรียนช่างทอผ้าจึงถูกเอามาปักฝุ่นสอนในชั่วโมงวันนี้

วันนี้เราสอนการทอผ้าเบื้องต้น โดยใช้รูปแบบการทอเส้นดินน้ำมันแทนเส้นใยจริง ๆ เพื่อให้นักเรียนรู้หลักการเบื้องต้นของการทอผ้าแบบพื้นฐาน นั้นคือการขัดกันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง  รวมทั้งการเลือกสีที่ใช้ในผ้าทอดินน้ำมันของนักเรียนเอง งานนี้ฝึกความอดทนเอามากเพราะนักเรียนต้องทำเองทุกขึ้นตอนและต้องใช้สมาธิเอาการ  เราไปดูขั้นตอนการทำกันครับ

-เริ่มจากใช้ดินน้ำมันที่ขายกันทั่วไป ผู้ปกครองควรเลือกแบบไม่มีสารตะกั่วเจือปน เพราะบางคนแพ้ดินน้ำมันอาจจะอาเจียนได้  ดินน้ำมันที่ดีควรนุ่มและซื้อจากร้านที่ไว้ใจว่าไม่เอาดินน้ำมันค้างปีมาขาย

-ให้เด็ก ๆ ออกแบบสีในเส้นใยดินน้ำมันเอง โดยความสมัครใจของเด็ก ๆ  หลังจากนั้นก็คลึงดินน้ำมันเป็นเส้นตามความสามารถของนักเรียน บางคนเส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไม่เท่ากัน ซึ่งอยู่กับศักยภาพของเด็ก การคลึงนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อมือ แขนของเด็กแข็งแรงขึ้นมากเพราะต้องใช้แรงกดที่สม่ำเสมอ เส้นใยดินน้ำมันจะถูกนำมาเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่ง

-นักเรียนจัดเรียงเส้นยืนให้สวยงามและสอดเส้นพุ่งแบบหนึ่งต่อหนึ่งสลับกันไป โดยไม่จำเป็นต้องให้เส้นใยเรียงชิดกันนัก โดยให้เกิดช่องว่างเพื่อนให้เห็นจังหวะการขัด  การสานแบบนี้จะช่วยให้เด็กแก้ปัญหาได้เมื่อเส้นใยขาด การยกเส้นใยให้ขัดกัน

-เมื่อเรียงได้สวยงามก็ใช้ลูกกลิ้งทับเส้นใยให้แบน เพื่อให้้ดินน้ำมันเกาะกันให้แข็งแรงนั้นเอง  งานนี้ผลงานออกมาเป็นอย่างไปชมกันดูครับ

อิอิ  ถ้างานท่องเที่ยวอีสาน18-21กพ หรือเฮสัญจรที่เชียงใหม่ 25-28 กพ มีเวลา มีเด็กมาที่บูทจะสอนทอผ้าซะเลย อิอิ ท่าทางจะสนุก

มกราคม 29, 2010

ไพโรจน์ สโมสรในฐานะครูของผม

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:40

ตอนกลางเดือนได้รับ การทาบทามจากนักวิชาการที่อศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเชิญไปพูดที่หอศิลป์ เนื่องในนิทรรศการเปิดวาดเส้นฝีมือของ อ.ไพโรจน์ สโมสรผู้จากไป ผมเองเป็นประเภทพูดไม่เอาไหน เลยต้องเตรียมสคลิปไว้กันตาย ซึ่งคิวที่จะขึ้นพูดวันนี้ตอนเย็น ดังนั้นจึงเอาลงลานเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ ประเดี๋ยวลืม ลองอ่านเล่น ๆ ครับ

ไพโรจน์ สโมสรในฐานะครูของผม

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องอื่นใด ขอขอบคุณสำนักวัฒนธรรมที่ให้เกียรติมากล่าวบางสิ่งบางอย่างถึงอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ครูบาอาจารย์ผู้มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์ลูกหาอย่างน้อยก็ต่อตัวผมเองในวันนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

การกล่าวบางสิ่งบางอย่างในวันนี้อาจจะต้องขออ่านตามข้อเขียนที่เตรียมอยู่บ้างในบางตอน ด้วยผู้พูดนี้ไม่ใช่นักพูดในที่สาธารณะ นอกเสียจากวงเสวนาของผองเพื่อนเท่านั้น ผีนักพูดถึงจะเข้าสิง

ความจริงบุคคลิกผมนั้นยังกะลอกเลียนแบบมาจากอาจารย์ไพโรจน์ ที่ดูในวงสนทนาจะคุยเก่งแต่ต่อหน้าสาธารณชนหมู่มากแล้วกลับขี้อาย จำเป็นต้องเตรียมตัวเอามากๆ ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ และต้องไปนำเสนองานที่มาเลเซีย ทุกเช้าผมจะเห็นอาจารย์นั่งเขียนสิ่งที่ตนเองจะพูด เขียนไปเขียนมา อ่านแล้วอ่านอีกเหมือนคนไม่มั่นใจในตัวเอง ความจริงที่ว่าก็ด้วย เป็นศิลปินขี้อายนั้นเอง ซึ่งแน่นอนมันแผ่กระจายตามอากาศมาถึงตัวผมด้วย ทำให้วันนี้การพูดอาจจะเป็นการอ่านไปบ้าง

ประเด็นที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ขอจำกัดกรอบอยู่เพียงสองประเด็นเท่านั้นและจำกัดวงอยู่เฉพาะปฏิสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์ไพโรจน์ ในฐานศิษย์กับครู ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์แต่ละคน ท่านก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นผมจึงไม่อาจจะกล่าวในภาพรวมที่ท่านมีต่อศิษย์ท่านอื่น ๆ หรือรุ่นอื่น ๆ ได้ แม้แต่ในจิตรกรรมรุ่นที่ 1 ก็ไม่เหมือนกัน

เพื่อนหลายคนในรุ่นมักพูดเสมอว่า ผู้ที่ได้รับอิทธิทางความคิด มีการสานต่องานและต่อยอดงานของอาจารย์ไพโรจน์มากที่สุดคนหนึ่งคือ ตัวผม อย่างน้อยก็สองประเด็นที่ผมในฐานะศิษย์ได้พยายามนั่งประมวลความรู้ เท่าที่ตนเองมีข้อมูล ผมให้ชื่อวิชาที่ผมนั่งประมวลวิเคราะห์นี้ว่า ไพโรจน์สโมสรศึกษา วิชานี้ที่ศิลปกรรมศาสตร์ก็ไม่มีสอน

ประเด็นแรกเป็นประเด็นใหม่ที่ผมตกผลึกหลังอ่านแนวปฏิบัติของอาจารย์ไพโรจน์ สโมสรอยู่นาน ตั้งแต่ก่อนท่านจะเสียชีวิตจนกระทั้งปัจจุบัน

หนังสือ จิตรกรรมฝาผนังอีสาน เล่มโตที่นักเรียนวัฒนธรรมใช้เป็นตำราในการเรียนศิลปะพื้นบ้านประเภทจิตรกรรมนั้นเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและเป็นคุนูปการสำคัญในฐานะเอกสารแนวบุกเบิกเล่มแรกในเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นเอกสารที่ทำกันในรูปโครงการหลายคนหลายฝ่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลทางความคิดของท่านได้ปรากฎในเอกสารชิ้นนี้อยู่มาก

แม้จะเป็นเอกสารที่มีอายุมากกว่ายี่สิบปี และมีนักวิจัยที่ค้นคว้าจนเกิดองค์ความรู้ใหม่มากมายที่เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้และผลงานของท่านลดลงไปแต่อย่างใด แต่สำหรับอิทธิพลของอาจารย์ที่ส่งต่อมายังผมกลับไม่ใช่หนังสือเล่มนี้เป็นหลัก หากแต่แนวปฏิบัติในการศึกษาหาความรู้ของท่านต่างหากที่มีอิทธิพลต่อผมเอามากกว่า ประเด็นที่จะกว่าคือ อาจารย์ไพโรจน์ สโมสรคือนักมานุษยวิทยาศิลปะ(Anthropology of art)ในใจผม

หลังท่านเกษียณราชการไป เอกสารของท่านหลายตัวถูกขนลงไปทิ้งที่ถังขยะหน้าคณะ โดยเฉพาะเอกสารที่เป็นแผ่นกระดาษ ผมเดินผ่านไปผ่านมาและแอบหยิบมาจากถังขยะหลายปึกและหนึ่งในนั้นเป็นเอกสารสำคัญที่จะอธิบายสิ่งที่ผมบอกว่าท่านเป็นนักมานุษยวิทยาศิลปะ นั้นคือปึกกระดาษที่เขียนบันทึกการเดินทางเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วในโครงการสำรวจและถายภาพจิตรกรรมฝาผนังอีสาน เอกสารที่เป็นขยะของบางคนในคณะ แต่เป็นตำราที่สำคัญของผมในวันนี้

อาจารย์บันทึกการเดินทางเกือบทุกวัน ในขณะเดียวกับก็สอดแทรกภาพลายเส้นลงไปในกระดาษเหล่านั้นด้วย สิ่งที่อาจารย์บันทึกทำให้ผู้อ่านเห็นร่องรอยการปฏิบัติหน้าที่นักมานุษยวิทยาศิลปะ เพราะท่านไม่ได้สนใจแต่ตัวภาพจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้นแต่ท่านยังสนใจผู้คนที่อยู่ในชุมชน สนใจพ่อใหญ่แม่ใหญ่ในมู่บ้าน บางเรื่องที่ท่านเขียนไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังเลย แต่ท่านกลับใช้หน้ากระดาษและเวลาส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับมนุษย์ผู้อยู่ ผู้ใช้ ผู้ผลิตศิลปกรรมพื้นถิ่นเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นชื่อผู้ใหญ่บ้าน ชื่อกำนัน ชื่อจ้ำที่ท่านสนทนาด้วยปรากฎในสมุดบันทึกและยังพบร่องรอยของการกลับไปพบปะในระยะหลัง ๆ ที่มีการเดินทางด้วย

เมื่อท่านสอนเรื่องจิตรกรรมพื้นบ้านแก่นักเรียนจิตรกรรมอย่างพวกผม ท่านก็ให้พวกเราขึ้นรถท่านตะเวนไปในหมู่บ้าน หลังอธิบายและแนะนำเรื่องต่าง ๆที่ปรากฎแล้ว เราจะเห็นท่านหายไป กิจกรรมสองอย่างที่ท่านทำคือ ไปนั่งวาดเส้นผ่อนคลายตามมุมของท่าน หรือไม่ก็จะหายไปหาเจ้าอาวาธและเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ปล่อยให้นักศึกษาจิตรกรรมอย่างพวกเราสนใจศิลปวัตถุต่อไป โดยไม่สนใจบริบทหรือผู้คนรอบ ๆ ศิลปวัตถุเหล่านี้เลย

ต่างจากการปฏิบัติของอาจารย์ที่เน้นมนุษย์รอบศิลปกรรมเหล่านั้น เรื่องนี้ผมมักถูกอาจารย์สอนในช่วงหลัง ๆ จากที่จบการศึกษาว่า คนในหมู่บ้านอุดมด้วยความรู้เธอต้องคุยกับชาวบ้านและดูชาวบ้าน แม้ว่าจะเป็นคนอีสานที่ว่าอยู่กับความรู้แบบอีสานแล้วก็ตาม

ในบันทึกหลายบันทึกของท่าน ก็ทำแบบนักวิจัยมานุษยวิทยาศิลปะได้ทำบนพื้นฐานที่ว่า มนุษย์สร้างงานศิลปะ ดังนั้นการเรียนรู้ศิลปกรรมพื้นถิ่นไม่มีคนพื้นถิ่นแล้วจะศึกษาจากอะไร ในข้อเขียนที่เขียนเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร แสดงหลักฐานชัดเจนเช่น

ด้วยเหตุนี้เอกสารอ้างอิง พจนานุกรมที่ใช้ในการตรวจสอบเวลาติดขัดหรือจนมุมต่อสิ่งขวางหน้านั้นคือ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตแต่อดีตมายาวนาน หรืออีกท่อนที่ท่านเขียนเกี่ยวกับการทำงานตรวจสอบความรู้ที่ได้มาเช่น โดยสวนตัวแล้วผมจะแวะนมัสการท่าน(หมายถึงท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร)เพื่อตรวจสอบความรู้เมื่อผ่านมหาสารคาม คำตอบที่ได้ไม่ต่างจากสายน้ำที่หลังท้นจากหน้าผา ท่านยินดีเมื่อพบหน้ากันและมีคำถาม

ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ผมมองหาที่เรียนลายแห่งและอาจารย์ก็เป็นคนแรกที่ให้ผมรู้จักคำว่า มานุษยวิทยาศิลปะ เมื่อผมเอ่ยกับท่านว่าผมสนใจเรียนด้านบริหารวัฒนธรรม ท่านก็สนับสนุนและบอกกับผมแนวสัญญะเล็ก ๆ ว่า อย่างเธออย่าไปเรียนอะไรแห้ง ๆ เลยต้องเอาแบบน้ำ ผมตีความไม่ออกหรอกครับรู้แต่ว่าอาจารย์คงเออออเห็นดีว่าเรียนบริหารวัฒนธรรมก็ดี ผมก็เรียนตามที่ท่านแนะนำ

พักหลังหันกลับมาตีความคำพูดของอาตารย์ หรือว่าอาจารย์ด่าว่าเราเป็น เป็ด ถึงได้ชอบน้ำอย่างที่นักบริหารเขาเป็นกัน คือรู้ทุกอย่างแต่เอาดีไม่ได้สักอย่าง รู้ไปซะหมด ข้อนี้น่าคิดอยู่เหมือนกันเพราะผมนั้นเขียนรูปได้แย่มาก ดีที่จบมาได้และเขาไม่ขอปริญญาคืน แต่ที่แน่ ๆ วิชาบริหารวัฒนธรรที่ว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ คน คน คน นี่เอง

ดังนั้นในประเด็นแรกผมจึงสรุปด้วยตัวเองในวิชาไพโรจน์ สโมสรศึกษาว่า ผมไม่ได้รับอิทธิพลการทำงานเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังอีสานจากอาจารย์เลย แต่ผมได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดในทางมานุษยวิทยา ที่อาจารย์ทำเป็นแบบอย่างต่างหาก

ก่อนจบประเด็นนี้ผมจึงอยากชี้ชวน เชิญชวนนักศึกษาโดยเฉพาะสาขาวิจัยวัฒนธรรมของคณะศิลปกรรมศาสตร์ทั้งป.โท ป.เอก ลองทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ไพโรจน์ สโมสรศึกษากันดูครับ แล้วจะพบมุมอื่น ๆ ที่เรามองไม่เห็น อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สำหรับเรื่องเล็ก ๆ ของอาจารย์ไพโจน์ สโมสรไม่เล็กเลยเพราะผมถือว่าท่านเป็นนักมานุษยวิทยาศิลปะคนแรกของอีสาน ถ้าไม่มีกระดาษในถังขยะหน้าคณะศิลปกรรมศาสตร์เหมือนผมลองศึกษาจากบทความของท่าน หรือสัมภาษณ์จากบุคคลที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับท่านดูแล้วจะรู้ว่า ท่านเป็นนักมานุษวิทยาศิลปะ จริง ๆ

ประเด็นที่สองที่ผมขอกล่าวถึงคือ อาจารย์ไพโรจน์มีอิทธิพลต่อผมในเรื่องขีดๆเขียน ๆ

เมื่อแรกเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมผมเองไม่ค่อยสนใจผลงานสร้างสรรค์งานประเภทจิตรรรมของอาจารย์นัก เพราะไม่บ่อยที่จะได้ชมงานอาจารย์แต่งานที่ผมสนใจแรก ๆ สำหรับงานของอาจารย์นั้นคือ การเขียน เรื่องนี้ผมว่ามันเริ่มต้นมาจากท่านชอบเป็นคนบันทึกนั้นเอง

ผมตามอ่านบทความของอาจารย์เสมอ ๆ ทั้งในมติชนสุดสัปดาห์และสยามรัฐสัปดาห์วิจารย์และตามค้นข้อเขียนของอาจารย์ที่ปรากฎในข่าวมหาวิทยาลัยและวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของคณะมนุษย์ศาสตร์ซึ่งท่านเคยทำงานมาก่อนจะมาอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์

บทความแรกของผมที่ตีพิมพ์เป็นบทความเรื่องนิทรรศการศิลปะเด็กของกลุ่มศิลปะเด็กขอนแก่น ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและบทความนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมสนใจแนวทางการเขียนเพราะ คำชมของอาจารย์ที่มีต่อบทความชิ้นแรกนี้ อาจารย์บอกว่า

ออตเธอมีแนว เขียนได้ เขียนเลย

คำชมนี้เป็นเสมือนกำลังใจให้ผมอยากจะมีบทความทางด้านศิลปะถูกเผยแพร่ออกไป

ตอนงานฌาปนกิจศพของท่าน ผมได้รับความไว้วางใจให้ดูแลการทำหนังสือที่ระลึกในงานศพของอาจารย์ ในคราวนั้นผมคัดเลือกและอ่านบทความอันมากมายของท่าน ซึ่งอยากจะเอาลงให้หมดหากมีงบประมาณ เพราะบทความแต่ละบทความของอาจารย์นั้นน่าอ่านและจุดประเด็นทางความคิดเสมอ ผมคัดเลือกบทความของอาจารย์โดยแบ่งออกเป็นกรอบสำคัญ ๆ 3 เรื่องคือ

บทความที่ถ่ายทอดในเชิงมานุษยวิทยาศิลปะดังที่ผมกล่าวไปแล้ว เป็นบทความที่เขียนเกี่ยวกับศิลปกรรมและการทำงานของศิลปินในแต่ละคนเช่นท่านเจ้าคุณพระอริยนุวัตร บทความเรื่องอหังการอาร์ทิสที่เขียนเรื่องของอ.ถวัลย์ ดัชนี เรื่องของ อ.เนาวรัตน์ พงษไพบูลย์ เรื่องของจรูญ บุญสวนเป็นต้น

บทความที่เกี่ยวกับศิลปกรรมพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับจิตรกรรรมฝาผนัง เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านของอีสานเช่น บทความเรื่อง ย่างก้าวเข้าโบถส์ วันนี้เขาพระวิหาร ต้นไม้ไปกรอบเกรียมหินสีชมพูหลั่งน้ำตา ภาพเขียนสีแห่งมณฑลกวางสี

บทความเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปกรรมทั้งพื้นบ้านและร่วมสมัย ทื่ฮือฮาเช่น จดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดี นานาทัศนะที่ต่อโลกุตระ เป็นต้น

บทความทั้งหลายของอาจารย์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเขียนบทความของผมในระยะต่อมาโดยเฉพาะความชื่นชมการเขียนในแนว สารคดีเชิงวิพากษ์ เป็นการเขียนในสำนวนเบา ๆ รื่นสบายราวนิยาย แต่ขายความคิดแบบคมกริบ อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่รู้สึกเบื่อด้วยสำนวนที่เป็นตัวทานเอง

ท่านแนะนำผมว่า การที่จะเขียนบทความให้ดี ต้องอ่านให้มาก เปิดสมองให้มาก เพราะการเขียนบทความศิลปะหลายเรื่องอาจจะต้องเกริ่นนำในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วย เพราะคนอ่านของบ้านเราเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ยังไกลกันนัก การเขียนบทความต้องปูพื้นฐานในเรื่องนั้นให้เชื่อมโยงกับประเด็นที่เราจะนำเสนอ ดังนั้นเราจะเห็นห้องทำงานของอาจารย์เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ ที่บ้านของอาจารย์ท่านก็เนรมิตรเป็นห้องสมุดส่วนตัวที่บรรจุหนังสือมากมายเอาไว้ค้นคว้าและเป็นคลังสมองเมื่อจะต้องเขียนบทความ

แม้ในช่วงที่ท่านป่วยท่านยังอ่านหนังสืออยู่ไม่ได้ขาดเช่นในสมุดบันทึกส่วนตัวที่ท่านเขียนและผมนำมาลงไว้ในหนังสืองานศพ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ท่านบันทึกว่า

-อ่าน กามนิต ได้ 100 หน้ายังเหนื่อยอ่อน

-อ่านกามนิตได้หลายหน้ากว่าครึ่งเล่มแล้ว

-อ่านกามนิตได้เกือบถึงหน้า 400 ทั้งหมด 600

-เพียงหน้า 476 วาสิษฐีก็จบ

-อ่านสายโลหิตได้ 100 น้า

บันทึกเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นดีว่าท่านได้ปฏิบัติแบบนั้นจริง ๆ ตามที่ท่านสอนผม เพราะท่านอ่านมาก เปิดสมองมาก ดังนั้นบทความของท่านถึงได้อ่านแล้วรื่นรมณ์ราวนิยายเรื่องเยี่ยม เรื่องสำนวนทางภาษาที่รื่นรมย์นี้เห็นได้จากการเลือกคำมาใช้ในงานของท่าน ซึ่งใช้ให้รื่นไม่ธรรมดาสามัญไปนักเช่น ล่วงมาถึงวันนี้ หรือ มรรคผลอันสมบูรณ์ เป็นต้น

กลวิธีหนึ่งที่ท่านนำมาใช้คือการเปรียบเทียบงานศิลปกรรมกับคน เพื่อให้คนอ่านมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นงานศิลปกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะมาสามารถโน้มน้าวให้คนอ่านคล้อยไปตามประเด็นที่ท่านเขียนเพื่อให้การรับรู้จากการอ่านความคิดของท่านเปลี่ยนผู้อ่านให้พัฒนาการรับรู้ไปอีกขั้นเช่น

บทความเรื่อง วิจารณ์งานอนุรักษณ์จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรีที่ขอนแก่น ที่กรมศิลปากรมาทำการอนุรักษ์หลังจากที่ชาวบ้านเปลี่ยนหลังคาสิมแบบเก่าเป็นหลังคาแบบภาคกลาง ทำน้ำปูนไหลลงมารากที่ตัวจิตรกรรมฝาผนังท่านโน้มน้าวคนอ่านด้วยข้อเขียนที่ว่า

ใครก็ตามที่มีโอกาสได้เห็นกรรมวิธีขั้นตอนการทำความสะอาดและการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ก็เกือบจะอุทานในใจว่าถึงขั้นนี้เชียวหรือ โดยเฉพาะผู้ที่ต่อเติมและทำให้จิตรกรรมโดนคราบปูน และแตกสลายควรจะเห็นและควรจะรู้สึกว่า ภาพเขียนกำลังได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

ผมศึกษางานเขียนบทความของท่านเราจะพบว่าท่านเป็นคนประนีประนอมมากคนหนึ่งแม้จะอยากวิพากษ์เอามาก ๆ แต่หลายเรื่องท่านก็เขียนนุ่มๆ เพื่อรักษสัมพันธภาพบางอย่างอาไว้ แต่เมื่อถึงคราวจะวิพากษ์ท่านก็ใช้สำนวนที่แสบสันเอาการอยู่เช่น บทความที่ชื่อ อหังการอาร์ทิส ที่ท่านเสียดสี อ.ถวัลย์ เพื่อนรักถึงการดำรงอยู่ด้วยการสร้างสรรค์งานและขายงานศิลปะ ในมุมมองของคนทำงานประจำรับเงินเดือนอย่างท่านว่า

เพียงแค่นี้หากว่าเป็นจริง อาจมีอาร์ติสระดับกระจอกหรือในระดับเป็นได้ทั้งคนเขียนรูปขายและสัตว์รับเงินเดือนคงถึงกับช็อคและสลัดร่างสัตว์รับเงินเดือนออกมาเขียนรูปเต็มตัว หรือไม่ ก็วางพู่กันไปเลยแล้วยิ้มเยาะเย้ยตะโกนก้องว่า โกหก

งานเขียนของผมในระยะต่อมาจึงลองจับงานเชิงวิพากษ์บ้างโดยอาศัยแนวทางและการแนะนำของอาจารย์ บทความแรกตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้วซึ่งอาจเอื้อมมาวิพากษ์ถึงถิ่นมอดินแดงในการแสดงแสงสีเสียงของมหาวิทยาลัยที่ปล่อยให้ผู้ชมนั่งรอ กินเวลาที่แจ้งมากกว่าครึ่งชั่วโมงถึงได้เวลาเริ่มแสดง ซึ่งในฐานะคนของมหาวิทยาลัยควรตะหนักถึงวัฒนธรรมการตรงต่อเวลาในข้อนี้ หลังจากผลงานตีพิมพ์ไปหลายสัปดาห์ผมเจอท่านในการเปิดนิทรรศการงานหนึ่งท่านเปรยกับผมว่า

ผมอ่านของเธอแล้วนะ เผ็ดจังไม่กลัวท้องเสียหรือ ผมตอบท่านไปว่า เป็นคนอีสานชอบกินเผ็ด อิอิ

เรื่องนี้สำหรับคนเขียนเชิงวิพากษ์อาจจะต้องทำใจบ้างในเรื่องคนอาจชอบและคนใจกว้างที่ไม่ชอบให้ตนเองถูกวิพากษ์ แต่สำหรับเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก เราก็ปราม ๆ กันบ้างและนี่เองที่ส่งอิทธิพลต่อผมในข้อเขียนเชิงวิพากษ์ ซึ่งบทวิพากษ์อาจจะส่งผลบ้าง ไม่ส่งผลบ้างแต่เราก็ได้ทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่

ผมนั้นยังห่างชั้นกับอาจารย์มาก เพราะหลายบทความเชิงวิพากษ์ของท่านนั้นส่งผลในเชิงปฏิบัติและการแก้ไขหลายเรื่องเช่น หลังจากบทความเรื่อง วิจารณ์งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่นแล้ว หลังคาวัดไชยศรีแม้จะไม่กลับมาใช้หลังคาแบบอีสานเหมือนเดิมได้ แต่กรมศิลปากรก็มาต่อเติ่มในส่วนของหลังคาปีกนกคลุมภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านไว้

หรือหลังจากบทความเรื่อง จดมายเปิดผนึกถึงอธิบดี แล้วไม่กี่ปีมานี้สิมวัดสระบัวแก้ว ที่จังวัดขอนแก่นก็ได้รับการอนุรักษ์โดยสยามสมาคมฯ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนจากบทความของอาจารย์ด้วย

ในการเจอกันเรื่องกระตุ้นให้ผมเขียนเป็นเรื่องที่ท่านทำมาตลอดเมื่อเจอกัน ท่านมักจะถามว่าเขียนอะไรบ้างช่วงนี้ ตัดมาอ่านบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญ ท่านเปรยกับผมเสมอว่าในสูจิบัตรนิทรรศการศิลปะควรมีบทความด้านศิลปะ ประหนึ่งมันเป็นงานศิลปะเช่นภาพวาดหรือปฏิมากรรมในสูจิบัตร

ในการเรียนการสอนศิลปะชั้นปีแรก ๆ ต้องสอนวิชาการทางด้านศิลปะสอนสุนทรียศาสตร์ให้สมดุลกับทักษะปฏิบัติซึ่งการศึกษาของเราขาดกันมากและอาจารย์ปรารถนาที่จะเห็นกลุ่มคนที่สื่อสารทางศิลปะผ่านบทความทางด้านศิลปะให้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นสองประเด็นที่ผมขอกล่าาวเพื่อแสดงความระลึกถึงอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ในวันนี้และหากวิชาไพโรจน์สโมสรศึกษา จะมีโอกาสได้เปิดอีกในวงสนทนาครั้งต่อไป คงจะได้มีโอกาสนำสิ่งที่อาจารย์ได้ทำหน้าที่มาเล่าในอนาคตต่อไป สุดท้ายในฐานะลูกศิษย์ของท่านขอขอบพระคุณเป็นพิเศษต่อกิจกรรมในครั้งนี้ของสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้ที่เกี่ยวข้องที่เห็นคุณค่าในผลงานและวิถีปฏิบัติของอาจารย์ ซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องทั้งที่ท่านยังมีชีวิตและหลังท่านจากไป

อิทธิพลสองเรื่องที่อาจารย์มีต่อผมเป็นคุณค่าที่ไม่มีวันลดลงและจะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นและยิ่งจะทวีคูนขึ้นในอนาคตเพราะแน่นอนชื่อไพโรจน์ สโมสรจะถูกเล่าต่อไม่เสื่อมครายทั้งคุณค่าจากงานที่ท่านทำและมูลค่าจากผลงานศิลปะของท่าน เช่นเดียวกับ บันทึกประจำวันที่ท่านที่เขียนก่อนท่านเสียหนึ่งเดือนที่ว่า

ยิ่งเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว คุณค่ายิ่งเพิ่มขึ้น

(ภาพประกอบจาก http://gotoknow.org/file/pangchub…..พี่ข้าว)

มกราคม 26, 2010

สนุก สนาน มีความสุขและได้ประโยชน์

Filed under: Uncategorized — ออต @ 11:30

หลังพระอาทิตย์เริ่มงานยามเช้า เป็นช่วงเวลาที่ผมตื่นขึ้นมาทัน นับเป็นเวลาได้สี่ห้าเดือนแล้ว หลังจากที่เมื่อก่อนต้องนอนคุดคู้อยู่บนเตียง แต่ทันที่ที่เริ่มปลูกต้นไม้ มันก็ทำให้ผมต้องรับผิดชอบตื่นขึ้นมาดูแลต้นไม้เหล่านั้น ดังนั้นเวลาหลังจากนี้จึงมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก

ผมพยายามหาต้นไม้ที่จะมาปลูกอยู่หลายชนิด ประจวบกับต้องการไม้เพื่อนำไปประดับ ตกแต่งร้านชลบถพิบูลย์ซึ่งเน้นขายผ้าไหม(ภายในอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะษเกษตรศาสตร์ มข.) ดังนั้นจึงหาต้นไม้ที่เหมาะในการปลูกอันเข้ากับนิสัยของผมเอง

ความจริงผมเลือก ทดลองและพยายามปลูกต้นไม้หลายชนิด สุดท้ายก็มาเจอ บีโกเนีย ซึ่งกอแรกได้มาจากเพื่อนที่เขาทำร้านขายต้นไม้ เขาบอกว่ามันปลูกยาก ตายง่ายและต้องเอาใจใส่มากหน่อย นับแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็เริ่มเลี้ยงบีโกเนียกอแรกจนกระทั้งมันงาม ความงามของมันทำให้ผมได้ใจ พยายามหาซื้อต้นบีโกเนียมาสะสมไว้และวางแผนทำพันธุ์ต่อไป

ต้นบีโกเนียตลอดสี่ห้าเดือน หลายต้นเห็นผลชัดเจน งามและแตกพุ่มแตกใบเอามาก และเป็นไปตามที่วางแผนคือได้ต้นไม้เอาไว้ตกแต่งร้านขายผ้า ในขณะเดียวกันลูกค้าที่สนใจก็ขายออกไปและพยายามเลี้ยงใหม่ ผมขยายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ โดยใช้บ้านเช่าในเมืองเป็นที่เลี้ยง ดังนั้นภารกิจช่วงเช้าจึงต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมารับผิดชอบเพื่อนร่วมบ้านที่เรียกว่าบีโกเนีย

หากไม่รีบร้อนหรือมีงานช่วงเช้าตรู่ ผมจะใช้เวลาราวสามสิบนาทีถึงชั่วโมง รดน้ำต้นบีโกเนียและกำจัดหนอนกินใบบีโกเนีย หลังจากนั้นหากมีเวลามากจะขยายพันธุ์ออกไปอย่างน้อยวันละกระถางเพราะกว่าจะงอก กว่าจะโตจะต้องใช้เวลามากเอาการ ดังนั้นจึงต้องเพาะขยายเอาไว้เรื่อย ๆ เพื่อให้มันโตทันใช้ทันขาย

นอกจากประโยชน์เรื่องการตกแต่งร้านให้ดูเขียวรื่นรมย์และงดงามด้วยต้นไม้แล้ว มันยังขายได้เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่ชอบไม้ร่มรำไรเป็นไม้โชว์ใบอยู่เหมือนกัน ดังนั้นบีโกเนียออกไปอยู่บ้านอื่นสัปดาห์ละห้าถึงหกกระถางก็นับว่าเยี่ยมมาก แม้ไม่มากและขายเหมือนเทน้ำเทท่าแต่ก็นับว่าได้คนซื้อที่รักบีโกเนียจริง เพราะราคาบีโกเนียผมสูงกว่าร้านอื่นเอามาก เหตุผลเพราะผมเพาะเองไม่ได้ซื้อมาขายต่อ(อิอิ) และช่วงนี้ผมเองก็เพาะขยายและเลี้ยงได้ไม่มากนัก

(น้องบีโกเนียหูช้าง กำลังงามและออกดอกสะพรั่ง แม้จะเป็นไม้โชว์ใบ แต่ดอกกลับสวยงามไม่แพ้กัน ตอนนี้กำลังแทงหน่อใหม่)

แต่ที่ผมชอบที่สุดคือในขณะที่รดน้ำน้องบี ผมรู้สึกเหมือนตนเองมีสมาธิมาก มองสายน้ำที่หยดลงไปที่น้องบี เท้าก็ก้าวเดินต่อไปยังน้องบีกระถางอื่น ๆ ความรู้สึกนี้บางครั้งมันทำให้ผมอยากรดน้ำต้นไม้ในยามเช้านาน ๆ ชีวิตในช่วงเวลานั้นมันรู้สึกดีกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ เป็นไหน ๆ กิจกรรมแบบนี้ได้ทั้งความสนุก มีความสุขและเป็นประโยชน์ในทางสัมมาชีพอีกด้วย

ท่านไหนเลี้ยงน้องบีอยู่ แลกพันธุ์กันได้นะครับ ท่านไหนยังไม่มีลองเลี้ยงดูครับแล้วจะรู้ว่าน้องบีโกเนีย น่ารัก สวยและดึงดูดให้ท่านตื่นเช้าได้ อิอิ

มกราคม 22, 2010

ปกไผ1พิมพ์ครั้งที่ 2

Filed under: Uncategorized — ออต @ 14:16

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาครับ ยินดีแก้ไขตามข้อเสนอแนะ ที่นี่ครับ


มกราคม 19, 2010

วิกฤตจิตรกรรมฝาผนังอีสาน

ช่วงสัปดาห์นี้มีภารกิจที่ผูกพันมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม นั้นคือหาเรื่องส่งบทความไปร่วมประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นประจำปีนี้หลังจากปีที่แล้ว กล้าหาญส่งไปและได้รับรางวัลการนำเสนอ มาปีนี้เลยส่งงานวิจัยอีกเรื่องเข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้ และเผอิญได้รับคัดเลือกให้ร่วมนำเสนอด้วย

งานช่วงนี้จึงอยู่ที่การเตรียมสไลด์เพื่อนำเสนอ เมื่อวางรูปลงในโปรแกรมแล้วก็พบว่ามันไฟล์ใหญ่มาก มากจนไม่สามารถส่งไฟล์ทางอีเมลล์ให้แก่องค์การที่จัดการประชุมได้ เหตุที่มันใหญ่เพราะผมบรรจุภาพที่ตะเวนไปถ่ายสิมวัดต่าง ๆ และอยากให้ผู้ฟังเห็นเป็นรูปมากที่สุดเพื่อจะได้เห็นชัด ๆ ว่า จิตรกรรมฝาผนังอีสานเผชิญภาวะวิกฤตอะไรบ้าง

งานวิจัยชุดนี้ไม่ได้เป็นงานท้องถิ่นนิยมแบบสุดโต่งและไม่ใช่งานวิจัยเชิงวิพากษ์ที่จะไปอาจหาญวิจารณ์ใคร ๆ ที่เป็นปัจจัยต่อวิกฤตของจิตรกรรมฝาผนัง เป็นแต่เพียงชี้ให้ผู้สนใจและหน่วยงานที่รับผิดชอบหันมาตะหนักถึงภาวะคุกคามที่มีต่อจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของอีสาน นำภาวะวิกฤตที่ได้จากการศึกษามาวางแผนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมคงอยู่ต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ อย่างน้อยก็ในชั่วชีวิตของเราที่เราทำได้

ท่านไหนสนใจร่วมงานครั้งนี้สามารถเดินทางไปได้ครับที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเชตหนองคาย ออตเองขึ้นนำเสนอในวันที่ 21 มกราคม ช่วงบ่าย ๆ อิอิ ขอกำลังใจด้วยนะครับ  สนใจติดตามข่าวสารของการประชุมจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 คลิ๊กนี่เลย

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress