ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มกราคม 29, 2010

ไพโรจน์ สโมสรในฐานะครูของผม

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:40

ตอนกลางเดือนได้รับ การทาบทามจากนักวิชาการที่อศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเชิญไปพูดที่หอศิลป์ เนื่องในนิทรรศการเปิดวาดเส้นฝีมือของ อ.ไพโรจน์ สโมสรผู้จากไป ผมเองเป็นประเภทพูดไม่เอาไหน เลยต้องเตรียมสคลิปไว้กันตาย ซึ่งคิวที่จะขึ้นพูดวันนี้ตอนเย็น ดังนั้นจึงเอาลงลานเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ ประเดี๋ยวลืม ลองอ่านเล่น ๆ ครับ

ไพโรจน์ สโมสรในฐานะครูของผม

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องอื่นใด ขอขอบคุณสำนักวัฒนธรรมที่ให้เกียรติมากล่าวบางสิ่งบางอย่างถึงอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ครูบาอาจารย์ผู้มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์ลูกหาอย่างน้อยก็ต่อตัวผมเองในวันนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

การกล่าวบางสิ่งบางอย่างในวันนี้อาจจะต้องขออ่านตามข้อเขียนที่เตรียมอยู่บ้างในบางตอน ด้วยผู้พูดนี้ไม่ใช่นักพูดในที่สาธารณะ นอกเสียจากวงเสวนาของผองเพื่อนเท่านั้น ผีนักพูดถึงจะเข้าสิง

ความจริงบุคคลิกผมนั้นยังกะลอกเลียนแบบมาจากอาจารย์ไพโรจน์ ที่ดูในวงสนทนาจะคุยเก่งแต่ต่อหน้าสาธารณชนหมู่มากแล้วกลับขี้อาย จำเป็นต้องเตรียมตัวเอามากๆ ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ และต้องไปนำเสนองานที่มาเลเซีย ทุกเช้าผมจะเห็นอาจารย์นั่งเขียนสิ่งที่ตนเองจะพูด เขียนไปเขียนมา อ่านแล้วอ่านอีกเหมือนคนไม่มั่นใจในตัวเอง ความจริงที่ว่าก็ด้วย เป็นศิลปินขี้อายนั้นเอง ซึ่งแน่นอนมันแผ่กระจายตามอากาศมาถึงตัวผมด้วย ทำให้วันนี้การพูดอาจจะเป็นการอ่านไปบ้าง

ประเด็นที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ขอจำกัดกรอบอยู่เพียงสองประเด็นเท่านั้นและจำกัดวงอยู่เฉพาะปฏิสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์ไพโรจน์ ในฐานศิษย์กับครู ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์แต่ละคน ท่านก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นผมจึงไม่อาจจะกล่าวในภาพรวมที่ท่านมีต่อศิษย์ท่านอื่น ๆ หรือรุ่นอื่น ๆ ได้ แม้แต่ในจิตรกรรมรุ่นที่ 1 ก็ไม่เหมือนกัน

เพื่อนหลายคนในรุ่นมักพูดเสมอว่า ผู้ที่ได้รับอิทธิทางความคิด มีการสานต่องานและต่อยอดงานของอาจารย์ไพโรจน์มากที่สุดคนหนึ่งคือ ตัวผม อย่างน้อยก็สองประเด็นที่ผมในฐานะศิษย์ได้พยายามนั่งประมวลความรู้ เท่าที่ตนเองมีข้อมูล ผมให้ชื่อวิชาที่ผมนั่งประมวลวิเคราะห์นี้ว่า ไพโรจน์สโมสรศึกษา วิชานี้ที่ศิลปกรรมศาสตร์ก็ไม่มีสอน

ประเด็นแรกเป็นประเด็นใหม่ที่ผมตกผลึกหลังอ่านแนวปฏิบัติของอาจารย์ไพโรจน์ สโมสรอยู่นาน ตั้งแต่ก่อนท่านจะเสียชีวิตจนกระทั้งปัจจุบัน

หนังสือ จิตรกรรมฝาผนังอีสาน เล่มโตที่นักเรียนวัฒนธรรมใช้เป็นตำราในการเรียนศิลปะพื้นบ้านประเภทจิตรกรรมนั้นเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและเป็นคุนูปการสำคัญในฐานะเอกสารแนวบุกเบิกเล่มแรกในเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นเอกสารที่ทำกันในรูปโครงการหลายคนหลายฝ่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลทางความคิดของท่านได้ปรากฎในเอกสารชิ้นนี้อยู่มาก

แม้จะเป็นเอกสารที่มีอายุมากกว่ายี่สิบปี และมีนักวิจัยที่ค้นคว้าจนเกิดองค์ความรู้ใหม่มากมายที่เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้และผลงานของท่านลดลงไปแต่อย่างใด แต่สำหรับอิทธิพลของอาจารย์ที่ส่งต่อมายังผมกลับไม่ใช่หนังสือเล่มนี้เป็นหลัก หากแต่แนวปฏิบัติในการศึกษาหาความรู้ของท่านต่างหากที่มีอิทธิพลต่อผมเอามากกว่า ประเด็นที่จะกว่าคือ อาจารย์ไพโรจน์ สโมสรคือนักมานุษยวิทยาศิลปะ(Anthropology of art)ในใจผม

หลังท่านเกษียณราชการไป เอกสารของท่านหลายตัวถูกขนลงไปทิ้งที่ถังขยะหน้าคณะ โดยเฉพาะเอกสารที่เป็นแผ่นกระดาษ ผมเดินผ่านไปผ่านมาและแอบหยิบมาจากถังขยะหลายปึกและหนึ่งในนั้นเป็นเอกสารสำคัญที่จะอธิบายสิ่งที่ผมบอกว่าท่านเป็นนักมานุษยวิทยาศิลปะ นั้นคือปึกกระดาษที่เขียนบันทึกการเดินทางเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วในโครงการสำรวจและถายภาพจิตรกรรมฝาผนังอีสาน เอกสารที่เป็นขยะของบางคนในคณะ แต่เป็นตำราที่สำคัญของผมในวันนี้

อาจารย์บันทึกการเดินทางเกือบทุกวัน ในขณะเดียวกับก็สอดแทรกภาพลายเส้นลงไปในกระดาษเหล่านั้นด้วย สิ่งที่อาจารย์บันทึกทำให้ผู้อ่านเห็นร่องรอยการปฏิบัติหน้าที่นักมานุษยวิทยาศิลปะ เพราะท่านไม่ได้สนใจแต่ตัวภาพจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้นแต่ท่านยังสนใจผู้คนที่อยู่ในชุมชน สนใจพ่อใหญ่แม่ใหญ่ในมู่บ้าน บางเรื่องที่ท่านเขียนไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังเลย แต่ท่านกลับใช้หน้ากระดาษและเวลาส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับมนุษย์ผู้อยู่ ผู้ใช้ ผู้ผลิตศิลปกรรมพื้นถิ่นเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นชื่อผู้ใหญ่บ้าน ชื่อกำนัน ชื่อจ้ำที่ท่านสนทนาด้วยปรากฎในสมุดบันทึกและยังพบร่องรอยของการกลับไปพบปะในระยะหลัง ๆ ที่มีการเดินทางด้วย

เมื่อท่านสอนเรื่องจิตรกรรมพื้นบ้านแก่นักเรียนจิตรกรรมอย่างพวกผม ท่านก็ให้พวกเราขึ้นรถท่านตะเวนไปในหมู่บ้าน หลังอธิบายและแนะนำเรื่องต่าง ๆที่ปรากฎแล้ว เราจะเห็นท่านหายไป กิจกรรมสองอย่างที่ท่านทำคือ ไปนั่งวาดเส้นผ่อนคลายตามมุมของท่าน หรือไม่ก็จะหายไปหาเจ้าอาวาธและเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ปล่อยให้นักศึกษาจิตรกรรมอย่างพวกเราสนใจศิลปวัตถุต่อไป โดยไม่สนใจบริบทหรือผู้คนรอบ ๆ ศิลปวัตถุเหล่านี้เลย

ต่างจากการปฏิบัติของอาจารย์ที่เน้นมนุษย์รอบศิลปกรรมเหล่านั้น เรื่องนี้ผมมักถูกอาจารย์สอนในช่วงหลัง ๆ จากที่จบการศึกษาว่า คนในหมู่บ้านอุดมด้วยความรู้เธอต้องคุยกับชาวบ้านและดูชาวบ้าน แม้ว่าจะเป็นคนอีสานที่ว่าอยู่กับความรู้แบบอีสานแล้วก็ตาม

ในบันทึกหลายบันทึกของท่าน ก็ทำแบบนักวิจัยมานุษยวิทยาศิลปะได้ทำบนพื้นฐานที่ว่า มนุษย์สร้างงานศิลปะ ดังนั้นการเรียนรู้ศิลปกรรมพื้นถิ่นไม่มีคนพื้นถิ่นแล้วจะศึกษาจากอะไร ในข้อเขียนที่เขียนเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร แสดงหลักฐานชัดเจนเช่น

ด้วยเหตุนี้เอกสารอ้างอิง พจนานุกรมที่ใช้ในการตรวจสอบเวลาติดขัดหรือจนมุมต่อสิ่งขวางหน้านั้นคือ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตแต่อดีตมายาวนาน หรืออีกท่อนที่ท่านเขียนเกี่ยวกับการทำงานตรวจสอบความรู้ที่ได้มาเช่น โดยสวนตัวแล้วผมจะแวะนมัสการท่าน(หมายถึงท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร)เพื่อตรวจสอบความรู้เมื่อผ่านมหาสารคาม คำตอบที่ได้ไม่ต่างจากสายน้ำที่หลังท้นจากหน้าผา ท่านยินดีเมื่อพบหน้ากันและมีคำถาม

ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ผมมองหาที่เรียนลายแห่งและอาจารย์ก็เป็นคนแรกที่ให้ผมรู้จักคำว่า มานุษยวิทยาศิลปะ เมื่อผมเอ่ยกับท่านว่าผมสนใจเรียนด้านบริหารวัฒนธรรม ท่านก็สนับสนุนและบอกกับผมแนวสัญญะเล็ก ๆ ว่า อย่างเธออย่าไปเรียนอะไรแห้ง ๆ เลยต้องเอาแบบน้ำ ผมตีความไม่ออกหรอกครับรู้แต่ว่าอาจารย์คงเออออเห็นดีว่าเรียนบริหารวัฒนธรรมก็ดี ผมก็เรียนตามที่ท่านแนะนำ

พักหลังหันกลับมาตีความคำพูดของอาตารย์ หรือว่าอาจารย์ด่าว่าเราเป็น เป็ด ถึงได้ชอบน้ำอย่างที่นักบริหารเขาเป็นกัน คือรู้ทุกอย่างแต่เอาดีไม่ได้สักอย่าง รู้ไปซะหมด ข้อนี้น่าคิดอยู่เหมือนกันเพราะผมนั้นเขียนรูปได้แย่มาก ดีที่จบมาได้และเขาไม่ขอปริญญาคืน แต่ที่แน่ ๆ วิชาบริหารวัฒนธรรที่ว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ คน คน คน นี่เอง

ดังนั้นในประเด็นแรกผมจึงสรุปด้วยตัวเองในวิชาไพโรจน์ สโมสรศึกษาว่า ผมไม่ได้รับอิทธิพลการทำงานเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังอีสานจากอาจารย์เลย แต่ผมได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดในทางมานุษยวิทยา ที่อาจารย์ทำเป็นแบบอย่างต่างหาก

ก่อนจบประเด็นนี้ผมจึงอยากชี้ชวน เชิญชวนนักศึกษาโดยเฉพาะสาขาวิจัยวัฒนธรรมของคณะศิลปกรรมศาสตร์ทั้งป.โท ป.เอก ลองทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ไพโรจน์ สโมสรศึกษากันดูครับ แล้วจะพบมุมอื่น ๆ ที่เรามองไม่เห็น อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สำหรับเรื่องเล็ก ๆ ของอาจารย์ไพโจน์ สโมสรไม่เล็กเลยเพราะผมถือว่าท่านเป็นนักมานุษยวิทยาศิลปะคนแรกของอีสาน ถ้าไม่มีกระดาษในถังขยะหน้าคณะศิลปกรรมศาสตร์เหมือนผมลองศึกษาจากบทความของท่าน หรือสัมภาษณ์จากบุคคลที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับท่านดูแล้วจะรู้ว่า ท่านเป็นนักมานุษวิทยาศิลปะ จริง ๆ

ประเด็นที่สองที่ผมขอกล่าวถึงคือ อาจารย์ไพโรจน์มีอิทธิพลต่อผมในเรื่องขีดๆเขียน ๆ

เมื่อแรกเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมผมเองไม่ค่อยสนใจผลงานสร้างสรรค์งานประเภทจิตรรรมของอาจารย์นัก เพราะไม่บ่อยที่จะได้ชมงานอาจารย์แต่งานที่ผมสนใจแรก ๆ สำหรับงานของอาจารย์นั้นคือ การเขียน เรื่องนี้ผมว่ามันเริ่มต้นมาจากท่านชอบเป็นคนบันทึกนั้นเอง

ผมตามอ่านบทความของอาจารย์เสมอ ๆ ทั้งในมติชนสุดสัปดาห์และสยามรัฐสัปดาห์วิจารย์และตามค้นข้อเขียนของอาจารย์ที่ปรากฎในข่าวมหาวิทยาลัยและวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของคณะมนุษย์ศาสตร์ซึ่งท่านเคยทำงานมาก่อนจะมาอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์

บทความแรกของผมที่ตีพิมพ์เป็นบทความเรื่องนิทรรศการศิลปะเด็กของกลุ่มศิลปะเด็กขอนแก่น ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและบทความนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมสนใจแนวทางการเขียนเพราะ คำชมของอาจารย์ที่มีต่อบทความชิ้นแรกนี้ อาจารย์บอกว่า

ออตเธอมีแนว เขียนได้ เขียนเลย

คำชมนี้เป็นเสมือนกำลังใจให้ผมอยากจะมีบทความทางด้านศิลปะถูกเผยแพร่ออกไป

ตอนงานฌาปนกิจศพของท่าน ผมได้รับความไว้วางใจให้ดูแลการทำหนังสือที่ระลึกในงานศพของอาจารย์ ในคราวนั้นผมคัดเลือกและอ่านบทความอันมากมายของท่าน ซึ่งอยากจะเอาลงให้หมดหากมีงบประมาณ เพราะบทความแต่ละบทความของอาจารย์นั้นน่าอ่านและจุดประเด็นทางความคิดเสมอ ผมคัดเลือกบทความของอาจารย์โดยแบ่งออกเป็นกรอบสำคัญ ๆ 3 เรื่องคือ

บทความที่ถ่ายทอดในเชิงมานุษยวิทยาศิลปะดังที่ผมกล่าวไปแล้ว เป็นบทความที่เขียนเกี่ยวกับศิลปกรรมและการทำงานของศิลปินในแต่ละคนเช่นท่านเจ้าคุณพระอริยนุวัตร บทความเรื่องอหังการอาร์ทิสที่เขียนเรื่องของอ.ถวัลย์ ดัชนี เรื่องของ อ.เนาวรัตน์ พงษไพบูลย์ เรื่องของจรูญ บุญสวนเป็นต้น

บทความที่เกี่ยวกับศิลปกรรมพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับจิตรกรรรมฝาผนัง เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านของอีสานเช่น บทความเรื่อง ย่างก้าวเข้าโบถส์ วันนี้เขาพระวิหาร ต้นไม้ไปกรอบเกรียมหินสีชมพูหลั่งน้ำตา ภาพเขียนสีแห่งมณฑลกวางสี

บทความเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปกรรมทั้งพื้นบ้านและร่วมสมัย ทื่ฮือฮาเช่น จดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดี นานาทัศนะที่ต่อโลกุตระ เป็นต้น

บทความทั้งหลายของอาจารย์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเขียนบทความของผมในระยะต่อมาโดยเฉพาะความชื่นชมการเขียนในแนว สารคดีเชิงวิพากษ์ เป็นการเขียนในสำนวนเบา ๆ รื่นสบายราวนิยาย แต่ขายความคิดแบบคมกริบ อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่รู้สึกเบื่อด้วยสำนวนที่เป็นตัวทานเอง

ท่านแนะนำผมว่า การที่จะเขียนบทความให้ดี ต้องอ่านให้มาก เปิดสมองให้มาก เพราะการเขียนบทความศิลปะหลายเรื่องอาจจะต้องเกริ่นนำในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วย เพราะคนอ่านของบ้านเราเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ยังไกลกันนัก การเขียนบทความต้องปูพื้นฐานในเรื่องนั้นให้เชื่อมโยงกับประเด็นที่เราจะนำเสนอ ดังนั้นเราจะเห็นห้องทำงานของอาจารย์เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ ที่บ้านของอาจารย์ท่านก็เนรมิตรเป็นห้องสมุดส่วนตัวที่บรรจุหนังสือมากมายเอาไว้ค้นคว้าและเป็นคลังสมองเมื่อจะต้องเขียนบทความ

แม้ในช่วงที่ท่านป่วยท่านยังอ่านหนังสืออยู่ไม่ได้ขาดเช่นในสมุดบันทึกส่วนตัวที่ท่านเขียนและผมนำมาลงไว้ในหนังสืองานศพ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ท่านบันทึกว่า

-อ่าน กามนิต ได้ 100 หน้ายังเหนื่อยอ่อน

-อ่านกามนิตได้หลายหน้ากว่าครึ่งเล่มแล้ว

-อ่านกามนิตได้เกือบถึงหน้า 400 ทั้งหมด 600

-เพียงหน้า 476 วาสิษฐีก็จบ

-อ่านสายโลหิตได้ 100 น้า

บันทึกเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นดีว่าท่านได้ปฏิบัติแบบนั้นจริง ๆ ตามที่ท่านสอนผม เพราะท่านอ่านมาก เปิดสมองมาก ดังนั้นบทความของท่านถึงได้อ่านแล้วรื่นรมณ์ราวนิยายเรื่องเยี่ยม เรื่องสำนวนทางภาษาที่รื่นรมย์นี้เห็นได้จากการเลือกคำมาใช้ในงานของท่าน ซึ่งใช้ให้รื่นไม่ธรรมดาสามัญไปนักเช่น ล่วงมาถึงวันนี้ หรือ มรรคผลอันสมบูรณ์ เป็นต้น

กลวิธีหนึ่งที่ท่านนำมาใช้คือการเปรียบเทียบงานศิลปกรรมกับคน เพื่อให้คนอ่านมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นงานศิลปกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะมาสามารถโน้มน้าวให้คนอ่านคล้อยไปตามประเด็นที่ท่านเขียนเพื่อให้การรับรู้จากการอ่านความคิดของท่านเปลี่ยนผู้อ่านให้พัฒนาการรับรู้ไปอีกขั้นเช่น

บทความเรื่อง วิจารณ์งานอนุรักษณ์จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรีที่ขอนแก่น ที่กรมศิลปากรมาทำการอนุรักษ์หลังจากที่ชาวบ้านเปลี่ยนหลังคาสิมแบบเก่าเป็นหลังคาแบบภาคกลาง ทำน้ำปูนไหลลงมารากที่ตัวจิตรกรรมฝาผนังท่านโน้มน้าวคนอ่านด้วยข้อเขียนที่ว่า

ใครก็ตามที่มีโอกาสได้เห็นกรรมวิธีขั้นตอนการทำความสะอาดและการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ก็เกือบจะอุทานในใจว่าถึงขั้นนี้เชียวหรือ โดยเฉพาะผู้ที่ต่อเติมและทำให้จิตรกรรมโดนคราบปูน และแตกสลายควรจะเห็นและควรจะรู้สึกว่า ภาพเขียนกำลังได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

ผมศึกษางานเขียนบทความของท่านเราจะพบว่าท่านเป็นคนประนีประนอมมากคนหนึ่งแม้จะอยากวิพากษ์เอามาก ๆ แต่หลายเรื่องท่านก็เขียนนุ่มๆ เพื่อรักษสัมพันธภาพบางอย่างอาไว้ แต่เมื่อถึงคราวจะวิพากษ์ท่านก็ใช้สำนวนที่แสบสันเอาการอยู่เช่น บทความที่ชื่อ อหังการอาร์ทิส ที่ท่านเสียดสี อ.ถวัลย์ เพื่อนรักถึงการดำรงอยู่ด้วยการสร้างสรรค์งานและขายงานศิลปะ ในมุมมองของคนทำงานประจำรับเงินเดือนอย่างท่านว่า

เพียงแค่นี้หากว่าเป็นจริง อาจมีอาร์ติสระดับกระจอกหรือในระดับเป็นได้ทั้งคนเขียนรูปขายและสัตว์รับเงินเดือนคงถึงกับช็อคและสลัดร่างสัตว์รับเงินเดือนออกมาเขียนรูปเต็มตัว หรือไม่ ก็วางพู่กันไปเลยแล้วยิ้มเยาะเย้ยตะโกนก้องว่า โกหก

งานเขียนของผมในระยะต่อมาจึงลองจับงานเชิงวิพากษ์บ้างโดยอาศัยแนวทางและการแนะนำของอาจารย์ บทความแรกตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้วซึ่งอาจเอื้อมมาวิพากษ์ถึงถิ่นมอดินแดงในการแสดงแสงสีเสียงของมหาวิทยาลัยที่ปล่อยให้ผู้ชมนั่งรอ กินเวลาที่แจ้งมากกว่าครึ่งชั่วโมงถึงได้เวลาเริ่มแสดง ซึ่งในฐานะคนของมหาวิทยาลัยควรตะหนักถึงวัฒนธรรมการตรงต่อเวลาในข้อนี้ หลังจากผลงานตีพิมพ์ไปหลายสัปดาห์ผมเจอท่านในการเปิดนิทรรศการงานหนึ่งท่านเปรยกับผมว่า

ผมอ่านของเธอแล้วนะ เผ็ดจังไม่กลัวท้องเสียหรือ ผมตอบท่านไปว่า เป็นคนอีสานชอบกินเผ็ด อิอิ

เรื่องนี้สำหรับคนเขียนเชิงวิพากษ์อาจจะต้องทำใจบ้างในเรื่องคนอาจชอบและคนใจกว้างที่ไม่ชอบให้ตนเองถูกวิพากษ์ แต่สำหรับเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก เราก็ปราม ๆ กันบ้างและนี่เองที่ส่งอิทธิพลต่อผมในข้อเขียนเชิงวิพากษ์ ซึ่งบทวิพากษ์อาจจะส่งผลบ้าง ไม่ส่งผลบ้างแต่เราก็ได้ทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่

ผมนั้นยังห่างชั้นกับอาจารย์มาก เพราะหลายบทความเชิงวิพากษ์ของท่านนั้นส่งผลในเชิงปฏิบัติและการแก้ไขหลายเรื่องเช่น หลังจากบทความเรื่อง วิจารณ์งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่นแล้ว หลังคาวัดไชยศรีแม้จะไม่กลับมาใช้หลังคาแบบอีสานเหมือนเดิมได้ แต่กรมศิลปากรก็มาต่อเติ่มในส่วนของหลังคาปีกนกคลุมภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านไว้

หรือหลังจากบทความเรื่อง จดมายเปิดผนึกถึงอธิบดี แล้วไม่กี่ปีมานี้สิมวัดสระบัวแก้ว ที่จังวัดขอนแก่นก็ได้รับการอนุรักษ์โดยสยามสมาคมฯ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนจากบทความของอาจารย์ด้วย

ในการเจอกันเรื่องกระตุ้นให้ผมเขียนเป็นเรื่องที่ท่านทำมาตลอดเมื่อเจอกัน ท่านมักจะถามว่าเขียนอะไรบ้างช่วงนี้ ตัดมาอ่านบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญ ท่านเปรยกับผมเสมอว่าในสูจิบัตรนิทรรศการศิลปะควรมีบทความด้านศิลปะ ประหนึ่งมันเป็นงานศิลปะเช่นภาพวาดหรือปฏิมากรรมในสูจิบัตร

ในการเรียนการสอนศิลปะชั้นปีแรก ๆ ต้องสอนวิชาการทางด้านศิลปะสอนสุนทรียศาสตร์ให้สมดุลกับทักษะปฏิบัติซึ่งการศึกษาของเราขาดกันมากและอาจารย์ปรารถนาที่จะเห็นกลุ่มคนที่สื่อสารทางศิลปะผ่านบทความทางด้านศิลปะให้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นสองประเด็นที่ผมขอกล่าาวเพื่อแสดงความระลึกถึงอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ในวันนี้และหากวิชาไพโรจน์สโมสรศึกษา จะมีโอกาสได้เปิดอีกในวงสนทนาครั้งต่อไป คงจะได้มีโอกาสนำสิ่งที่อาจารย์ได้ทำหน้าที่มาเล่าในอนาคตต่อไป สุดท้ายในฐานะลูกศิษย์ของท่านขอขอบพระคุณเป็นพิเศษต่อกิจกรรมในครั้งนี้ของสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้ที่เกี่ยวข้องที่เห็นคุณค่าในผลงานและวิถีปฏิบัติของอาจารย์ ซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องทั้งที่ท่านยังมีชีวิตและหลังท่านจากไป

อิทธิพลสองเรื่องที่อาจารย์มีต่อผมเป็นคุณค่าที่ไม่มีวันลดลงและจะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นและยิ่งจะทวีคูนขึ้นในอนาคตเพราะแน่นอนชื่อไพโรจน์ สโมสรจะถูกเล่าต่อไม่เสื่อมครายทั้งคุณค่าจากงานที่ท่านทำและมูลค่าจากผลงานศิลปะของท่าน เช่นเดียวกับ บันทึกประจำวันที่ท่านที่เขียนก่อนท่านเสียหนึ่งเดือนที่ว่า

ยิ่งเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว คุณค่ายิ่งเพิ่มขึ้น

(ภาพประกอบจาก http://gotoknow.org/file/pangchub…..พี่ข้าว)

8 ความคิดเห็น »

  1. ไม่ได้อยู่ขอนแก่น อยู่มุกฯ สุดสัปดาห์นี้ ศิษย์เก่า มช.จัดงานราตรีอ่างแก้ว เราต้องรับผิดชอบบางเรื่อง ต้องอยู่มุกฯ ร่วมงาน หุหุ

    ความคิดเห็น โดย bangsai — มกราคม 29, 2010 @ 11:58

  2. ระลึกถึงอาจารย์มากครับ ท่านก็เป็นอาจารย์พี่เหมือนกัน

    ความคิดเห็น โดย bangsai — มกราคม 29, 2010 @ 11:59

  3. น้องออตที่รัก พี่ชอบบันทึกนี้ชะมัดเลยจ้ะ ชอบมุมคิดและการรำลึกพระคุณครู ทำได้เยี่ยมมากเลย แหม อยากฟังอ่ะ ^ ^

    ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — มกราคม 29, 2010 @ 13:00

  4. แวะมาชื่นชม ออต ครับ
    ท่านแนะนำผมว่า การที่จะเขียนบทความให้ดี ต้องอ่านให้มาก เปิดสมองให้มาก”ป็นสุดยอดคำแนะนำจริง ๆ

    ความคิดเห็น โดย Panda — มกราคม 29, 2010 @ 13:16

  5. อิอิ  กลับมาแล้ว  เกือบเอาชีวิตไม่รอด
    ขอบพระคุณทุกแรงเชียร์ครับ
    คำเชียร์ คำชม ทำให้เกิดแรงฮึด

    ความคิดเห็น โดย ออต — มกราคม 29, 2010 @ 19:07

  6. นำภาพบรรยากาศงานมาฝากจ๊ะ http://gotoknow.org/blog/pairoj-samosorn/332520
    ขอบคุณมากๆจ๊ะออต

    ความคิดเห็น โดย พี่ข้าว — มกราคม 30, 2010 @ 16:50

  7. ขอบคุณพี่ข้าวครับ  ยินดีตอบแทนคุณอาจารย์เสมอ
    ชาวลานตามเรื่องของอาจารย์ไพโรจน์ ได้จาก blog พี่ข้าวนะครับ

    ความคิดเห็น โดย ออต — มกราคม 30, 2010 @ 17:56

  8. จะติดตามผลงานตลอดไปนะครับ

    ความคิดเห็น โดย ถังขยะพลาสติก — กุมภาพันธ 22, 2010 @ 16:03

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress