ระลึกถึงครูองุ่น มาลิก…

235 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 0:39 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4521

ผมได้รับจดหมายจากมูลนิธิไชยวนา ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กทม

ความจริงผมก็ได้รับข่าวสารประจำของมูลนิธิแห่งนี้ แต่คราวนี้เป็นการเชิญเข้าร่วมงานรำลึกถึงครูองุ่น มาลิก ครบรอบ 19 ปีที่ท่านถึงแก่กรรมไปในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2533 ตรงพอดีที่ครอบครัวเราขึ้นไปลำพูน เชียงใหม่ จึงรับปากกับคุณสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไชวนา จะเขียนบันทึกถึงครูองุ่น


ลูกช้างรุ่นเก่าๆโดยเฉพาะคนที่ทำกิจกรรมทุกคนย่อมรู้จักครูองุ่น มาลิก ท่านนี้ เพราะท่านเป็นครูสอนจิตวิทยา หลาย Courses ซึ่งวิธีการสอนของท่านก็ไม่เหมือนท่านอื่นๆ นักศึกษาคนใดที่เป็นนักกิจกรรมก็ยิ่งรู้จักท่าน เพราะท่านเป็นผู้สนับสนุนคนให้เรียนหนังสือ และใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ประเทืองปัญญา และช่วยเหลือสังคม


เดินขึ้นบันไดไปห้องขวามือแรกสุดที่เห็นนั่นแหละครับคือวิมานของผม

แน่นอนครับผมทั้งเรียนกับท่านและทำกิจกรรมกับท่าน และพวกที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ที่มาจากครอบครัวมีอันจะกินก็มีแต่จำนวนน้อยกว่า พวกที่มีฐานะยากจนก็มักพบปัญหาเรื่องการเงินสนับสนุนจากทางบ้าน ผมจำได้ว่าครอบครัวผมส่งธนาณัติไปให้ผมเดือนละ 600 บาทเพื่อนบางคนได้น้อยกว่าผมอีก ครูองุ่นท่านไปซื้อที่ดินข้างมหาวิทยาลัย ปลูกบ้านแล้วอนุญาตให้นักศึกษาพวกนี้ไปสิงสถิตที่นั่น เราเรียกที่ตรงนี้ว่า “สวนอัญญา” ที่นี่จึงเป็นแหล่งนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยซึ่งรวมนักศึกษาที่มาจากเกือบทุกคณะ
ที่นี่เป็นที่พัก เป็นที่ประชุมทั้งทางการและไม่ทางการ เป็นที่สะสมเอกสารความรู้ต่างๆที่เราใช้เพื่อการเสวนากันและเป็นที่พักผ่อนหย่อนกาย จึงเป็นที่เพ่งเล็งของพวกตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ จนครั้งหนึ่งถูกเผาเสียเรียบอย่างอยุธยาเสียเมือง…


ครูองุ่นเป็นสาวสวยจากรั้วจามจุรี ท่านเป็นดาวจุฬา ดูรูปสิครับสาวๆท่านสวยมาก ท่านบินข้ามฟ้าไปเรียนเมืองนอกเมืองนา แล้วกลับมาเป็นครูสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยแรกๆ ปี 2512 ผมเข้าไปเรียน มช. ผมพักที่หอชายอาคาร 1 ท่านก็พักที่นี่เป็นห้องมุมสุดขวามือ
ท่านเดินไปสอนที่คณะสังคมศาสตร์ เป็นครูท่านเดียวที่นุ่งผ้าถุงไปสอน พูดจาฉะฉาน active เกินคนปกติ มีจิตใจเมตตาธรรมเหลือประมาณนับ โดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาที่ยากจน และพวกบ้ากิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม ท่านจะเข้าไปสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำเสมอแม้กระทั่งเงินทองกินข้าวท่านก็ให้บ่อยๆ โดยไม่คิดจะเอาคืน


ครูองุ่นเป็นลูกศิษย์ตัวยงของท่านพุทธทาส ท่านเอานักศึกษาลงไปสวนโมกหลายต่อหลายครั้ง ท่านเอาคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสไปเผยแพร่ในห้องเรียน ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับวิชาที่ท่านรับผิดชอบการสอน ท่านเอาเอกสารสวนโมกไปแจก ให้นักศึกษาได้เรียนได้อ่าน และตั้งวงเสวนาเล็กๆกันเป็นประจำ ผมเองสมัยนั้นไม่ได้สนใจศาสนาในมุมการปฏิบัติธรรม แต่สนใจศาสนาในแง่หลักการสร้างคนให้เป็นคนดี ยุติธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน และเรามักจะตีความคู่ขนานไปกับหลักการของระบบคอมมูน ท่าน ดร.นิพนธ์ ศศิธร อดีตอธิการบดี มช.และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ท่านเสียชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้วเอง) ท่านเคยกล่าวในเวทีอภิปรายไว้ว่า ใครก็ตามที่พัฒนาความรู้ในวิชาสาขาใดๆก็แล้วแต่ไปสู่สูงสุด ก็จะไปสู่จุดเดียวกันของความจริง

สมัยก่อนและหลัง 14 ตุลา 2516 นั้น ถือว่าเป็นยุคแรกๆของขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งพอๆกับการจัดงานเต้นรำที่เรียกงานบอลล์ของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง ครูองุ่นจะเข้าร่วมการฟังบ่อยครั้งที่สุดและแน่นอนเกือบทุกครั้งท่านจะยกมือลุกขึ้นแสดงความเห็นเป็นประจำ จะเรียกขาประจำก็ได้ หลายครั้งเมื่อจบการอภิปรายแล้ว พวกเรายังมาตั้งวงคุยกันต่อที่สวนอัญญา ครูองุ่นก็ตามมาร่วมแจมด้วย ผมจำได้ว่าเหตุผลของครูนั้นเน้นเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และหลักการของพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางที่มนุษย์สามัญทั่วไปควรยึดถือปฏิบัติ



ด้วยความที่ครูเป็นผู้ศรัทธาพุทธศาสนาแรงกล้า ครูจึงชวนพวกนักกิจกรรมทางการเมืองเข้าวัดบ่อยๆ วัดหนึ่งที่ท่านมีกิจกรรมประจำคือวัดประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือวัดฝายหิน ที่ตั้งอยู่ที่สูงขึ้นไปเหนือที่ตั้งมหาวิทยาลัย เราต้องเดินขึ้นไป ครูองุ่นไปสนทนาธรรมกับท่านเจ้าอาวาส ท่านชวนพวกเรามาปลูกต้นไม้ มาพัฒนาบริเวณวัดให้น่าดูน่าพักผ่อน และหลายครั้งเราก็ใช้บริเวณวัดเป็นที่ตั้งวงเสวนาการเมืองกัน


ครั้งหนึ่งท่านศิลปินใหญ่ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านมีงานสอนที่คณะศึกษาศาสตร์ในวิชา Art Appreciation ผมก็ลงเรียนกับท่านด้วย ตอนนั้น อ.ถวัลย์กำลังดังสุดขีด ท่านได้รับเชิญไปอภิปรายในมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งคนฟังล้นหลามจริงๆ ทึ่งในความเป็นศิลปินของท่าน การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจาฉะฉานเอะอะ ดังทะลุเหมือนฟ้าจะแตก แต่สาระทุกคำพูดของท่านล้วนมาจากแก่นแกนของพุทธศาสนาทั้งนั้น ผมฟังท่านไม่กระดิกหรอกครับ แต่ได้สร้างประเด็นในใจติดตัวมาจนผมออกบวชนั่นแหละจึงศึกษาในหลายเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ ครูองุ่นชวนพวกเราและอาจารย์ถวัลย์ไปเปิด นิทรรศการงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ที่ Rock Bowl ที่วัดฝายหิน เดิ่นซะไม่เมี๊ยะ ก็ช่วยกับแบกงานศิลปะซึ่งเป็นแผ่นงานเขียนรูปบนผ้าใบบ้าง บนแผ่นเหล็กบ้างจำนวนมาก ไปวางตามโขดหิน โน่นบ้าง นี่บ้าง เต็ม Rock Bowl แล้วอาจารย์ถวัลย์ก็ยืนเอามือกอดอกผมยาวที่ม้วนเรียบร้อยดูเคร่งขรึม นักศึกษาอาจารย์ต้องปีนภูเขาขึ้นมาดูงานศิลป์ อาจารย์ถวัลย์ก็เดินอธิบาย ครูองุ่นก็เติมเต็มในมุมสาระของศาสนา…


อีกช่วงหนึ่งที่ผมใกล้ชิดท่านครูองุ่นคือช่วงที่ผมออกมาทำงานพัฒนาชนบทแล้วและถูกตำรวจจับกุมในข้อหา “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” คนสมัยนี้ได้ยินคำนี้อาจจะนึกว่าผมเป็นผู้ร้ายเที่ยวขโมย ปล้นเขากิน ลักเด็กเรียกค่าไถ่ หรือ ทำพิเรนเอาก้อนหินขว้างรถ ไม่ใช่นะครับ ข้อหานี้ความจริงก็คือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลสมัยนั้น ครูองุ่นโดนข้อหานี้ด้วย และเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันที่เรียกเสียไพเราะว่า “ศูนย์การุณยเทพฯ” ในเวลาเดียวกับผม มีผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไม่ทัน มีอาจารย์อีกหลายท่าน ครูองุ่นมักจะพาพวกเรานั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ และเสริมสร้างจิตใจในช่วงทุกข์ให้แก่พวกเรา

แม้ท่านออกจากราชการไปแล้วท่านก็ไม่หยุดการทำงานเพื่อสังคม ยังทำคณะหุ่นมือแล้วตระเวนไปจัดแสดงตามที่ต่างๆหลายภูมิภาคเพื่อสร้างเด็ก สั่งสอนสิ่งดีงามกับเด็กๆผ่านละคอนหุ่นมือ ครั้งหนึ่งท่านไปแสดงที่ขอนแก่น ผมพาครอบครัวไปพบท่าน ตอนนั้นลูกขวัญยังเล็ก ท่านก็ให้ลูกขวัญหยิบหุ่นมือมาหนึ่งตัว ขวัญหยิบหัวไก่โต้ง เธอเอามาเล่นที่บ้านตามจิตนาการแบบเด็กๆเป็นนาน และเอานอนบนที่นอนด้วยทุกคืนจนโต

ผมไม่อาจกล่าวคุณงามความดีของครูองุ่นได้หมด ผมกราบครูคนนี้ด้วยความสนิทใจ ความมีเมตตาของท่านนั้นเปี่ยมล้นเหลือคณา เพื่อนอดีตนักศึกษาอีกหลายท่านก็กล่าวถึงครูองุ่นมามากมายในวาระอื่นๆ


ท่านยังได้ตั้งมูลนิธิไชวนาขึ้นที่ที่ดินของท่านในซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 เพื่อประโยชน์แก่สังคมดังนี้

  • ขอเห็นสถานที่นี้ ร่วมเย็นเขียวขจี รักษาความเป็นธรรมชาติไว้จวบจนนิรันดร
  • ที่นี้จะเป็นศูนย์ย่อมๆแสดงถึงความรัก ความเมตตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
  • ขอให้เราเลือกเส้นทางถ่อมตน ยืนหยัด ทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอแบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว
  • หวังว่าคนรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดกว้างไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป

เนื่องในวาระครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่น ขอก้มกราบระลึกถึงคุณงามความดีของครู ที่ผมเดินบนเส้นทางวิถีชีวิตชนบทจนถึงปัจจุบันนี้นั้นก็เพราะอดีตส่วนหนึ่งสำนึกของผมเกิดมาเพราะส่วนที่เกี่ยวข้องกับครูนี่แหละ
ครูมีส่วนสร้างผมมาครับ


ลูกศิษย์ลูกหาของครูยังสืบสานเจตนารมณ์ทำงานเพื่อแผ่นดินอยู่ครับครู…


ขอเธอจงมั่นใจ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2071

กุมภาพันธ์ที่เชียงใหม่อากาศกำลังสบาย ข้าพเจ้านั่งพูดคุยอยู่กับเพื่อนอาจารย์ผู้ดำริว่าจะบวชทั้งๆที่ท่านเพิ่งทำปริญญาโทสาขาเคมีจากมหิดลมาหยกๆ โรงไม้หลังคาตองตึงที่เรานั่งอยู่นี่ พวกเราเรียกว่าโรงธรรม สร้างขึ้นด้วยเงินของนักศึกษาและอาจารย์บางคนที่สนใจอยู่ด้านเหนือของเนื้อที่สามไร่ครึ่งซึ่งคุณชวน รัตนรักษ์ มอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสร้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของนักศึกษา บริเวณตรงนี้จึงได้ฉายานามว่า “สวนธรรมรักษ์” ทิศตะวันตกติดวัดฝายหิน ทิศตะวันออกมีถนนเล็กๆคั่นกลางระหว่างสวนธรรมรักษ์และพิพิธภัณฑ์ชาวเขาของมหาวิทยาลัย


มองออกไปเห็นลูกสาวบุญธรรมวัยสิบขวบของข้าพเจ้าวิ่งลงมาจากทางลาดขึ้นวัดพร้อมกับเด็กหญิงเพื่อนของเธอ กระหืดกระหอบตรงมาที่เรานั่งอยู่

“แม่ แม่ ไปดูซี พี่นักศึกษาเขานั่งน้ำตาไหลอยู่หน้าพระ เขาให้เงินโอ้กับสุนทรีคนละยี่สิบบาท เขาบอกว่าวันนี้วันเกิดพี่ น้องเอาไปทำอะไรก็ได้ตามใจชอบนะ”

ข้าพเจ้ามองไปทางเพื่อนเชิงถามความเห็น อาจารย์วัฒนะลุกขึ้นยืนพลางบอกว่าเราไปกันเถอะ ส่วนเด็กรับปากว่าจะเล่นอยู่แถวนั้น

ตอนนั้นบ่ายอ่อนๆดวงอาทิตย์เพิ่งจะพ้นเส้นฉากไปน้อยเดียว เมื่อเรารุดไปถึงหน้าวิหารมองเข้าไปเห็นสาวคนหนึ่งใส่เสื้อม่อฮ่อม ผมเรียบประบ่านั่งขัดสมาธิอยู่หน้าพระพุทธ ศีรษะ, คอ,ไหล่ หลังที่ตรงแน่วนิ่งอย่างนั้นอธิบายว่ามีประสบการณ์เชิงสมาธิมิใช่น้อย เราสองคนพากันเดินเบาๆไปที่หน้าพระนั่งลงห่างจากเธอแค่เอื้อม เรากราบพระแล้วนั่งนิ่งๆ ข้าพเจ้าชายตาสังเกตที่ข้อมือเธอ มีสายสิญจน์ผูกข้างละเส้น เธอเป็นเด็กผิวขาว ใบหน้าที่น้ำตาไหลพรากเป็นสีชมพูเข้ม เธอไม่เปลี่ยนท่านั่งและไม่หันมามองเรา สักครู่เธอทอดแขนลงกับพื้น แล้วค้อมศีรษะลงซบ

ข้าพเจ้าไม่รู้จะสื่อสารกับเธอท่าไหนดี และเริ่มด้วยเรื่องใด จึงนั่งงงอยู่ ส่วนภายในเหมือนปฏิภาณกำลังถูกระดมเมื่อเธอเงยศีรษะขึ้นแล้วข้าพเจ้ากระเถิบเข้าไปใกล้ แล้วทำเป็นสนใจ

“คุณผูกสายสิญจน์รับขวัญ แล้วใจคอสบายขึ้นหรือ ใครผูกให้นะ”

“ไม่ช่วยอะไรหรอก พระที่ลำพูน”

ข้าพเจ้าต้องหาเรื่องสนทนาต่อให้ได้ สังเกตรู้ว่าเธอเป็นนักศึกษาไม่ปีสามก็ปีสี่

“คุณมีปัญหากับอาจารย์วิชาสัมมนาหรือเปล่า มันมีทางทำความเข้าใจกันได้นะ”

“ไม่มี” น้ำเสียงเด็ดขาดฟังชัด ไม่ปนสะอื้นสักหยด

ข้าพเจ้าต้องแหวกกำแพงการร้องไห้สงสารตัวเองนี่น่ะเกราะกำบังตัวร้าย สังเกตดูหน้าตาท่าทางเป็นเด็กเชาวน์ปัญญาสูงพอใช้ ลักษณะช่วยตัวเองได้ หันมาทางอาจารย์วัฒนะเชิงปรึกษา สหายก็พยักหน้าให้ว่าต่อไป

“แล้วคุณไปพบอาจารย์ที่ปรึกษามาแล้วรึ ท่านว่าไงมั่งล่ะ”

“ไม่จำเป็น”

ข้าพเจ้าเดาว่าไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับอาจารย์ ไม่ใช่เกี่ยวกับเพื่อนหญิงหรือชายแต่ก็ลองดู

“เพื่อนน่ะเขาให้ความอบอุ่นใจ แต่เรื่องสอบนี่ตัวใครตัวมัน”

เธอนิ่ง ข้าพเจ้าซุ่มเสี่ยงเอาว่า ต้องบุกเรื่องสติ ปัญญาและการช่วยตัวเองมากกว่าเรื่องคิดพึ่งพิงครอบครัวและเพื่อนฝูง จึงทดลองป้อนการสื่อสารให้เกี่ยวกับสัมฤทธิ์ผลทางการงานต่อไป

“คุณร่ำเรียนช่วยตัวเองมาได้ถึงขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเด็ดเดี่ยวเชาวน์ปัญญาจนแน่ใจแล้ว อ้ายเรื่องยุ่งๆน่ะมันส่วนหนึ่ง ความสามารถที่ฝึกฝนมาน่ะมันยุ่งอยู่ มันไม่ลดถอยสาบสูญไปไหน ก็ปัญหาที่มันเกิดขึ้นนี่ใช้ปัญญาแก้ได้มิใช่รึ”

ข้าพเจ้าหยุด ไม่มีเสียงตอบจากเธอ สังเกตใบหน้าไม่มีร่องรอยของน้ำตาอีกต่อไป ดวงตาที่จ้องจับพื้นตรงหน้าแสดงความเด็ดเดี่ยว เลือดที่เคยฉีดแรงแถบแก้มลดระดับลงแล้ว เธอนั่งนิ่ง

“ปัญหามันเกิดกับเรา สำคัญอย่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ต้องแก้มันด้วยฝีมือเราเอง ต้องจับเงื่อนงำของปมให้ได้ แง่มุมไหนของปมแข็งที่มันทิ่มแทงเจ็บคุณต้องรู้ คนอื่นเขาช่วยคุณได้เพียงปัดเป่าให้มันโล่งๆ จนเห็นอ้ายตัวขัดแย้ง แต่คนที่จะพิชิตความขัดแย้งคือเราคนเดียว”

เธอนั่งนิ่ง ลมหายใจสม่ำเสมอทั้งกายและอารมณ์สงบระงับลงแล้วคงเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าร่ายยาวอีกครั้ง

“เรื่องทั้งหลายที่มันมาประชุม มาประกอบกันแล้วสร้างความวุ่นวายนี่นะเพราะมันโถมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆกัน มันกองสุมกันจนหาไม่พบว่าอะไรก่อนกลัง ปุบปับคุณก็เห็นเป็นภาพที่ยุ่งเหยิง คุณก็ระย่อท้อใจเป็นธรรมดา คุณหวาดหวั่นสิ้นหวังเอาง่ายๆตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือศึกษาปัญหา เอาใหม่ เอาใหม่ ถอยออกมาหลายๆก้าว ตั้งสติให้มั่น รื้ออ้ายกองยุ่งออกมาทีละชิ้น ใจเย็นๆแกะออกมาเป็นเรื่องสู้มันทีละเปราะ”

เธอนั่งนิ่ง ลักษณะอารมณ์ผ่อนคลาย ข้าพเจ้าว่าต่อ

“อ้ายสองเรื่องนี่สอดเป็นปมเพราะมันบังเอิญเกิดขึ้นพร้อมๆกัน อ้อความกระชั้นชิดของเวลาน่ะเราต้องรู้ อ้าวก็เรื่องต่างๆน่ะบางทีมันก็เกิดขึ้นในสถานที่ใกล้ๆกันก็ได้นี่นา เอ้าจับมันแยกออกจากกันให้ได้ จะได้แก้มันทีละส่วน

ก็ตอนนั้นคุณเหนื่อย จิตใจก็ห่วงเรื่องสอบ หวั่นใจจะทำไม่ได้เป็นเยี่ยมอย่างหวัง แล้วก็อีกเรื่องมันโถมซ้อนทับมาที่คุณ คุณก็ต้องเซถลาเป็นธรรมดา เอ้อ บัดนี้ตั้งตัวใหม่ก็ยังทัน คุณร้องบอกมันซิ อ้ายตัวยุ่งทั้งหลาย เจ้าจะรวมกันมาปรุงแต่งอารมณ์ฉันให้เอียงล่มไม่ได้อีกต่อไป”

ไม่มีเสียงตอบ ข้าพเจ้าหันไปมองที่อาจารย์วัฒนะ เห็นท่านนั่งนิ่งราวกับกำลังระดมกำลังภายใน สายตาจับนิ่งอยู่ที่พื้นตรงหน้า ข้าพเจ้าหันมามองหญิงสาว เห็นเธอนั่งสงบ ข้าพเจ้าวางมือบนตักตัวเอง หลับตาลง ตั้งกายให้ตรงและหายใจลึกๆ

เมื่อรู้สึกความเคลื่อนไหวอีกครั้ง มือเธอเอื้อมมากุมมือข้าพเจ้าไว้ แล้วก้มศีรษะลงต่ำใกล้จรดมือของเราทั้งสอง

“อาจารย์ขา หนูขอบคุณอาจารย์ อาจารย์ช่วยหนูไว้ หนูไปได้ละ”

“จ้ะ กราบพระซิ ท่านคุ้มครองคุณ”

“อาจารย์ทั้งสองต่างหากช่วยหนู หนูไปล่ะค่ะ”

เธอพลันลุกขึ้นก้าวเท้าออกเดิน ข้าพเจ้ายังงงไม่หาย ไม่ทันพูดจาอะไรกับเธออีก มองไปที่ประตูวิหาร เห็นแต่ด้านหลัง

เมษายน 2520 ชุมนุมพุทธศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดพิธีบวชนักศึกษาที่วัดบุปผาราม ทันใดนั้นก็มีหญิงผู้หนึ่งเดินตรงมาจับมือทั้งสองข้างของข้าพเจ้ากุมมือไว้แน่นนาน ปากพร่ำว่า นี่หรืออาจารย์องุ่น อาจารย์ช่วยลูกสาวดิฉันไว้ หญิงผู้นี้คือมารดาของหญิงสาวร่างระหงในเสื้อม่อฮ่อมน้ำเงิน สาวผู้นั้นจบจากคณะสังคมได้เกียรตินิยมในปี 2518 นั้นเองได้มีงานทำเป็นหลักฐาน

คุณแม่เล่าว่า ลูกสาวเป็นเด็กเรียนดีมาแต่เล็กๆ ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบเที่ยวเตร่ ใส่ใจเรื่องทำใจให้สงบ

ก่อนหน้าจะเกิดเรื่อง ลูกสาวฝันไปว่าถูกสุนัขกัด ตั้งแต่นั้นมาแกก็ขี้ตกใจเพราะใกล้วันเกิดและใกล้สอบ จากนั้นมาไม่กี่วันมีผู้หญิงแก่ๆคนหนึ่งเดินเข้าประตูบ้านมา สุนัขที่เลี้ยงในบ้านก็งับเอา ขณะนั้นคุณแม่กำลังไปธุระนอกบ้าน จึงมอบให้ลูกสาวช่วยดูแลตลอดจนพาแกไปส่งบ้าน

เมื่อลูกสาวส่งเงินให้หญิงชราร้อยบาทก็บอกให้นั่งคอยสักครู่จะแต่งตัวแล้วพาไปโรงพยาบาล ครั้นเมื่อแต่งตัวเสร็จออกมาหน้าบ้านก็ไม่พบหญิงชราผู้นั้น ความห่วงใยว่าหญิงชราจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง สร้างความกระสับกระส่ายอย่างสุดจะระงับได้

รับปากแม่ว่าจะจัดการช่วยหญิงชรา ก็ไม่ได้ทำ ตัวเองฝันว่าถูกสุนัขกัดแต่คนแก่ก็มารับเคราะห์แทน บัดนี้หญิงชราจะเป็นไงบ้างก็ไม่รู้ แม่กลับมาเย็นนี้ก็จะกลุ้มใจอีก อาการหวาดหวั่นและกังวลอย่างหนักจึงปรากฏแก่เธอ เศร้าและซึมไม่พูดจา ย้ำคิดแต่เรื่องคนแก่รับเคราะห์แทน และคนแก่จนๆนั้นจะระเหเร่ร่อนไปแห่งใด กำหนดสอบก็ใกล้เข้ามา นอนไม่หลับ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง น้ำตาไหลพรากหักห้ามไม่ได้ จิตใจที่เคยสงบเป็นสมาธิก็พลุ่งพล่านจนทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เปิดหนังสือออกอ่านเปิดหน้าไหนก็อยู่หน้านั้น มีแต่น้ำตาเท่านั้นที่หยดเผาะๆราดอักษร

ก่อนจะถึงวันเกิด ลูกด้นดั้นไปถึงลำพูน ไปคนเดียว ปรารถนาจะให้คุณพระคุณเจ้าช่วย กลับมาแล้วก็ยังตั้งตัวไม่ได้ จนวันนั้นแหละค่ะ เขาออกจากบ้านแล้วไปพบอาจารย์ที่วัดฝายหิน กลับมาบ้านเขาจึงทำอะไรๆได้เหมือนเคย

ภาพด้านหลังของหญิงสาวระหง ผมตรงประบ่า ท่ามกลางกรอบประตูวิหาร เบื้องหน้าเธอ ผืนฟ้าสีคราม ฉันไม่รู้จักชื่อเธอ ภาพเธอพูดว่าอะไรหนอ

ข้าพเจ้ารักภาพนี้ตรึงตรามิรู้ลืม เธอคือลูกสาวผู้กล้าหาญของสถาบัน เธอสอบผ่านวิชา “พิชิตความกลัว” ด้วยคะแนนพอตัว เธอคงอยากประสาทพรให้แก่เพื่อนทุกคน

“ขอเธอจงมั่นใจ”

———-

หมายเหตุ ผมขออนุญาตคัดงานเขียนของครูองุ่น มาลิก ซึ่งท่านเขียนมาประมาณ 25 ปีมาแล้ว ท่านเอาไปลงในหนังสือชื่อ นรี ปีที่2 ฉบับที่ 25 ปักษ์หลังเดือนเมษายน 2527 เนื่องในโอกาสที่จะครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่นปีที่ 19 ในวันที่ 21 มิถุนายน นี้…

เรื่องนี้มูลนิธิไชวนา ของครูองุ่นนำมาลงในหนังสือชื่อ ภาพนี้ขอเธอจงมั่นใจอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน ปี 2545



Main: 0.061966896057129 sec
Sidebar: 0.29200410842896 sec