สายภู..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 20:31 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1518

เป็นรูปเมฆและทิวภูเขาที่เมืองคำเกิด แขวงบริคัมไซ

ภูเขาที่เห็นนั้นอยู่ใกล้ชายแดน ลาว-เวียตนาม

มีเหมืองทองคำอยู่ที่นั่น และเป็นเขตต้องห้ามเข้า

ช่วงที่ไปที่นั่นมันหนาวมากๆ แถมมีลมพัดอีกด้วย


นับ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 9:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1389

ไปทำงานที่ลาวก็สนุกดีครับ งานรับผิดชอบผมก็ประชุมชาวบ้านคู่กับอาว์เปลี่ยน ในเรื่องต่างๆเพื่อพัฒนาตัวเขาเอง ผมต้องอาศัยเปลี่ยนมากเพราะเปลี่ยนเขาเขียนลาวได้ ฟังลาวออก พูดลาวแท้ๆได้ ศัพท์แสงเฉพาะต่างๆนั้น เปลี่ยนเข้าใจหมด ส่วนผมนั้นเตาะแตะอยู่ เผลิดเปิดเปิงไปก็หลายครั้ง

ผมชอบชนชาวลาวหลายประการ โดยเฉพาะความซื่อใส น้ำใจดี และต่อหน้าเราเขากล้าหาญมากทีเดียวที่จะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด แต่ต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเขาก็จะไม่พูด หรือพูดน้อย ก็เหมือนๆชาวไทยนี่แหละ โดยเฉพาะในสมัยก่อน


เราได้เยาวชนสตรีลาวทั้งเจ้าหน้าที่โครงการและลูกจ้างรัฐบาลลาวกรมกสิกรรมและป่าไม้มาช่วย เขียน ประชุมกลุ่มย่อย และอื่นๆ เธอเหล่านั้นทั้งหมดจบปริญญาตรีมาแล้ว และนุ่งผ้าถุงทุกคน ไมมีใครนุ่งกางเกงเพราะเป็นกฎหมายแห่งชาติ ผมนั้นติดใจน้องสาวคนที่กำลังวาดรูปโดยหันหลังให้เราในภาพแรกนั้น เธอฉลาด เก่งมาก ในสายตาผม จึงไปชมเด็กคนนี้ให้อาว์เปลี่ยนฟัง อาวเปลี่ยนบอกว่าเธอสอบได้ที่ 1 ของการเข้ามาเป็น Community Development Worker ผมก็ร้องอ๋อ…..เธอช่างซักถามผมในเรื่องงานพัฒนาชนบท เธอฟังผมสอนมาสองชั่วโมงเมื่อครั้งก่อน เธอติดใจอยากให้ผมสอนให้อีก… อิอิ


เธอกระโดดเข้ามาเป็นผู้ช่วยผมในกลุ่มย่อย เพื่อการสื่อสารระหว่างผมกับชาวบ้านในรายละเอียดบางประเด็น และเลยไปถึงเป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นจากชาวบ้านแล้ววาดความคิดเห็นนั้นลงในกระดาษ ความจริงเราอยากให้ชาวบ้านเป็นผู้ทำเอง บังเอิญกลุ่มนี้มีแต่สตรี จึงไม่มีใครกล้าออกมาทำหน้าที่นี้ คนลาวกล่าวกับผมเองว่าสตรีลาวส่วนใหญ่ด้อยการศึกษาทำให้ขาดทักษะพื้นฐานในหลายเรื่อง


ประเด็นคือ เมื่อผมตรวจสอบกิจกรรมที่ชาวบ้านปฏิบัติในครอบครัว และพืชที่ชาวบ้านเพาะปลูก และความสนใจชนิดพืชที่ต้องการปลูก ลูกศิษย์คนนี้ก็ช่วยดำเนินการให้และมีการตรวจนับจำนวน ผมเองทึ่งวิธีการนับของลูกศิษย์คนนี้ ดูตามรูปด้านบนซิครับ ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นชินกับการนับแบบนี้มาแล้ว แต่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เคยเห็นแต่การนับนิ้ว เด็กๆมีสิบนิ้วไม่พอยังเอานิ้วเท้ามานับ ส่วนผู้เฒ่าหลายท่านนับข้อของนิ้ว ไม่ต้องยกเท้ามานับนิ้วเหมือนเด็กๆ

เราคุ้นกับการนับแบบคะแนนเสียงบนกระดาน ที่เอาขีดมาเรียงกันครบห้าก็ขีดเฉียงๆรวมสี่เส้นตรงไว้ เป็นหนึ่งกลุ่มที่มีความหมายเป็นจำนวน 5 แต่ลูกศิษย์คนนี้ใช้เส้นตรงที่ประกอบเป็นสี่เหลี่ยม และขีดเฉียงตรงมุมสี่เหลี่ยมเท่ากับจำนวน 5 ผมว่าเป็นความฉลาด เพราะประหยัดพื้นที่และไม่พลาดง่ายๆ เพราะสี่เหลี่ยมนั้น เป็นรูปสามัญที่เราและใครๆก็คุ้นกัน

แต่วิธีขีดเส้นตรงที่มีความหมาย สอง หรือสามนั้น อาจจะต่อจากข้างบนหรือข้างล่างนั้น ก็แล้วแต่ความถนัด

นักพยากรณ์ อาจจะเอาไปดูหมอทายลักษณะนิสัยเลยเถิดไปก็ได้ อิอิ..


คอก

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2012 เวลา 19:24 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1407

ไปทวนบันทึกเก่าเมื่อสองสามปีก่อนโดยบังเอิญ ไปหยุดอยู่ที่บันทึกที่มีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผมในเรื่องงานพัฒนาสังคม พัฒนาชนบท ก็มีสิ่งที่สะกิดใจ อยากจะหยิบเอามาเขียนอีก

ประเด็นคือ ท่านศาสตราจารย์ท่านนี้ถามผมว่าทำไมข้าราชการไทยจึงต้องมีเบี้ยเลี้ยง ? ข้าราชการญี่ปุ่นมีแต่เงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง การออกไปทำงานในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีเบี้ยเลี้ยงด้วย…

ผมตอบไม่ได้….

แต่ก็คิดไปเองว่า ระบบวางมาเช่นนี้นานนับร้อยปีแล้ว ตั้งแต่มีระบบข้าราชการในเมืองไทยกระมัง ผมคิดเอาเองนะครับ เพราะไม่เคยทราบมาก่อนถึงที่ไปที่มาของการมีเบี้ยเลี้ยง

อาจเป็นเพราะเงินเดือนของข้าราชการไทยเราไม่สูงมาก การออกพื้นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการนั่งทำงานในสำนักงาน จึงกำหนดเบี้ยเลี้ยงให้ เมื่อทำกันมานาน ก็กลายเป็นสิ่งปกติไป เลยลามไปถึงหน่วยงานเอกชนต่างๆก็มีเบี้ยเลี้ยงเมื่อออกสนาม หรือ ตามข้อกำหนดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งหน่วยงานเอกชนมักมีค่าเบี้ยเลี้ยงสูงกว่าราชการด้วยซ้ำไป

เรามีประเด็นอื่นเข้ามาจึงไม่ได้ขยายการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ต่อ แต่เป็นประเด็นที่น่าคิดเหมือนกันทั้งในแง่บวกและลบ สมมติว่าต่อไปนี้ยกเลิกเบี้ยเลี้ยง แต่จะเพิ่มเงินเดือนให้จำนวนหนึ่ง คนที่ออกสนามก็อาจจะมีความรู้สึกเปรียบเทียบกับสมัยที่มีเบี้ยเลี้ยง ซึ่งอาจจะพอใจ หรือไม่พึงพอใจก็ได้ แต่น่าคิดไม่น้อยทีเดียว….

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมหงุดหงิดใจบ่อยครั้งเมื่อพบภาพการ “เข้าคิว” ของสังคมไทย สมัยก่อนนั้นเราไม่มีวัฒนธรรมการข้าคิว มีแต่กรูแย่งกันไปอยู่ข้างหน้า แต่ต่อมาดูดีขึ้น แต่ก็ยังเห็นการไม่เข้าคิวบ่อยๆ จนหลายแห่งต้องทำ “คอก” บังคับให้คนเข้าคิว ขนาดมีคอก ยังแซงในคอกก็เคยเห็นครับ

เมื่อสามสัปดาห์ก่อนที่อยู่ในลาว พวกเรากำลังจอดรถฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง รอเรือเฟอรรี่ข้ามฝั่ง รถก็จะต้องเข้าคิวตามลำดับมาก่อนหลัง วันนั้นพบกลุ่มคนไทยสี่คัน ขับรถท่องเที่ยวลาวแล้วมารอเรือเฟอรรี่ พอเรือมาจอดรถข้างหน้าก็ขยับลงแพข้ามฟากนั้น กลุ่มคนไทยมัวตื่นเต้นกับเรือเฟอร์รี่และทัศนียภาพแม่น้ำโขงทำให้เกิดการทิ้งช่องว่างของรถที่ลงเรือไปแล้วกับกลุ่มคนไทยที่ไม่ได้ขับไล่ตามลงไปทันทีทันใด ก็เกิดมีรถปิกอัพด้านหลังรีบขับแซงลงไปในเรือทันที กลุ่มคนไทยเห็นดังนั้นก็พูดเสียงดังๆออกมาว่า “ทำไมทำอย่างนั้น ไม่มีวัฒนธรรมเลย” เขาคนนั้นย้ำพูดเช่นนั้นหลายครั้งเหมือนจงใจให้คนขับรถปิกอัพและคนแถวนั้นได้ยิน..ก็ไม่มีอะไรแค่ทำให้กลุ่มคนไทยหัวเสียไปพักหนึ่ง

แต่ในเรื่องเข้าคิวเช่นเดียวกัน ภาพที่ออกทีวีช่วงที่เกิดสึนามิถล่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นนั้น มีภาพคนญี่ปุ่นเข้าคิวรับของช่วยเหลือ ผมประทับใจมากที่ในแถวนั้นมีเด็กชายเล็กๆคนหนึ่งเข้าคิวต่อท้ายกับเขาด้วย ไม่มีการแซง ใครมาก่อนอยู่หน้า ใครมาหลังอยู่ถัดไป ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เข้าคิว แถวเดี่ยวไม่เห็นมีคอก…

แต่บ้านเราต้องสร้างคอก…..


Budget Sheet

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 30, 2010 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2961

เมื่อ พ.ศ. 2534-2538 ทำงานกับโครงการพัฒนาชลประทานภาคอีสาน มีท่านรองอธิบดีกรมชลประทานท่านปัจจุบัน ท่าน วีระ วงศ์แสงนาค เป็นผู้จัดการโครงการ ผมอยู่ส่วนคณะที่ปรึกษา ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ปรึกษาของไทยและยุโรป ผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มประชาคมยุโรป ฝรั่งส่วนใหญ่เป็น Holland บางส่วนมาจากออสเตรเลีย ผมรับผิดชอบงานฝึกอบรม ทำงานร่วมกับข้าราชการกรมชลประทาน

ผมนั้นมาจาก องค์กรพัฒนาเอกชน มีใจให้กับชนบท มีทัศนคติอยู่ข้างชาวบ้าน แต่ก็มาเรียนรู้เรื่อราวเชิงวิชาการต่างๆเอาตอนทำงานกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆนี่แหละ ทั้งไทยและต่างประเทศ มีภรรยาเป็นนักวิชาการ มีตำรับตำราล้นห้อง ก็ค้นคว้าเอาเพิ่มเติมในสิ่งที่อยากรู้ เข้าไปใกล้ชิดกับผู้รู้ แล้วเราก็สะสมเอาความรู้ต่างๆมาอยู่ในตัวเรา อาจจะเรียกว่า เรียนรู้จากการทำงานมากกว่าในชั้นเรียน

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากโครงการ NEWMASIP คือระบบการทำแผนงาน หากเป็นระบบราชการสั่งให้ทำแผนงานปฏิบัติงาน ก็จะมีแบบฟอร์มราชการ เขียนกันสองถึงสามแผ่นต่อหนึ่งกิจกรรม หรือหนึ่งโครงการ หากมี 30 กิจกรรมก็คูณจำนวนหน้ากระดาษเข้าไปแล้วเอามารวมเล่ม มีแผ่นสรุป มีสารบัญ มีคำนำ บางแห่งก็มีหน้าบทสรุปสำหรับผู้บริหาร รวมเล่มก็หนา หากเอาไปบูรณาการกับหน่วยงานอื่นอีกก็ใช้เวลาอีกมากและรวมเล่มก็หนามากๆ

ใครจะอ่าน.?.. ทุกตัวอักษรเพื่อค้นหาความถูกต้องเหมาะสม


จะอย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องใช้ แบบฟอร์มของราชการเขียนโครงการฝึกอบรมต่างๆภายใต้ระบบราชการกรมชลประทาน แต่ภายใต้ทีมที่ปรึกษา ผมต้องเขียนอีกชุดหนึ่ง โดยใช้ แบบฟอร์มของบริษัทที่ปรึกษาเอง ซึ่งเราเรียกว่า Budget Sheet (BS) โดยใช้กระดาษ A4 เขียนประเด็นสำคัญทั้งหมดของกิจกรรมให้อยู่ในหน้าเดียวเท่านั้น เรียกว่า 1 กิจกรรม หรือ 1 หลักสูตร ก็เพียง 1 หน้า A4 เท่านั้น เท่านั้น

ไม่ต้องสาธยายให้มากความ เขียนสั้นๆแต่ให้เข้าใจครอบคลุมสาระทั้งหมด (Concise) โห ..ผมชอบมาก เมื่อผมต้องย้ายไปทำงานที่องค์การ Save the Children(USA) ที่นครสวรรค์ ก็เอาระบบนี้ไปใช้ ปรากฏว่าผู้อำนวยการโครงการที่เป็นฝรั่งชอบมากให้ใช้แบบฟอร์มนี้ในการทำงบประมาณประจำปี เมื่อ Save the Children ไปร่วมกับ ส.ป.ก. และมูลนิธิหนองขาหย่างร่วมกับกรมป่าไม้ ทำโครงการประสานความร่วมมือพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง กับ DANCED โดนประเทศเดนมาร์คสนับสนุนงบประมาณ มี ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานหลักบริหารงาน ผมก็เอาระบบ Budget Sheet ไปใช้ ทุกคนก็ยอมรับ ทั้ง ส.ป.ก. และ หน่วยงาน DANCED เอง อาจเพราะว่า BS ก็มาจากยุโรปก็ได้.. แต่ที่ดีก็คือราชการอย่าง ส.ป.ก. ยอมรับระบบนี้ด้วย เมื่อผมย้ายมาทำงานโครงการ คฟป.ในปัจจุบันก็เอามาใช้ ก็ใช้กันมาตลอด 10 ปี นี่แหละ

เมื่อคืนวาน ทางโครงการมีการประชุมครั้งสุดท้าย และเลี้ยงปิดโครงการ มีทีมงานเก่าของผมจากมุกดาหารที่ออกไปก่อนหน้านี้ และไปทำงานกับ Christian Children Fund (CCF) มาเล่าให้ฟังว่า เธอเอาระบบการทำงบประมาณนี้ไปเสนอใช้ที่หน่วยงานนั้น ปรากฏว่าเป็นที่พอใจของผู้บริหารงานที่นั่น หน่วยงานที่ตั้งมามากกว่า 30 ปี ปรับมาใช้ระบบ BS แล้ว

จุดเด่นของ BS คือ สั้น กะทัดรัด เอาแต่สาระสำคัญ ไม่ต้องอธิบายให้มากความ ประหยัดกระดาษ สาระที่สำคัญของกิจกรรมจะอยู่ที่เอา BS นี้ไปแตกรายละเอียดเป็นขั้นตอนละเอียดในการปฏิบัติมากกว่า นั้นเป็นเรื่องทีมงานที่จะต้องแปล BS เป็นขั้นตอน รายละเอียดการปฏิบัติ เทคนิคที่ใช้ เวลา งบประมาณละเอียด และผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน ฯลฯ นั่นเป็นเรื่องทีมงานผู้ปฏิบัติเป็นผู้ประชุมทำรายละเอรยดส่วนนี้

ส่วนการได้มาของ BS นั้นหากหน่วยงานเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เราก็จะต้องลงไปประชุมกับเกษ๖รกร คุยให้ทะลุว่าจะทำอะไร ทำทำไม เมื่อไหร่ ที่ไหน ใครรับผิดชอบ ฯลฯ แล้วมีคนสรุปลงเป็น BS ไม่ใช่นั่งเทียนเขียนบนโต๊ะ

สำหรับท่านที่สนใจก็ลองนำไปดัดแปลงใช้ดูนะครับ

หากเป็นจอมป่วนก็ต้องพูดว่า ของเขาดีครับ..


ลาป่าดงหลวง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 27, 2010 เวลา 16:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2806

สำนักสงฆ์ในดงหลวงมีมาก เพราะเป็นภูเขาป่าไม้มาก พระสายปฏิบัติชอบมาปลีกวิเวก ปฏิบัติกันนับ 10 แห่ง ผมเคารพนับถือหลายสำนัก หนึ่งในนั้นคือ พระอาจารย์นรินทร์ที่ถ้ำน้ำริน บ้านนาหลัก ดงหลวง สถานที่แห่งนี้ท่านที่ไปร่วมงานเฮ 3 หลายปีก่อนคงจำได้ ผมก็ไปกราบลาท่าน ซึ่งท่านไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปเพราะท่านไม่ได้ครองจีวร ท่านมอบสิ่งเตือนจิตใจมาสองสามประการ ข้าน้อยกราบรับไว้ด้วยสำนึก


ท่านที่ไปเฮ 3 คงจำได้ว่าเส้นทางไปสำนักสงฆ์แห่งนี้นั้นต้องขึ้นภูเขาที่มีเส้นทางแบบชนบท บ้านๆ ไม่มีถนนลาดปูนซีเมนต์ ซึ่งผมก็ชอบเพราะเป็นธรรมชาติดี แต่ไปคราวนี้ท่านก็เอาปูนซีเมนต์มาลาดเทบางช่วงที่ลำบากเกินไปสำหรับญาติโยมที่จะเอารถขึ้นไป

วันถัดมาผมมีแขกเป็นอดีตอาจารย์สอนเคมีระดับปริญญาเอกของม.สุรนารีไปเยี่ยม จึงพาขึ้นไปเที่ยวป่าแบบนี้บ้างเพราะคิดว่าคนเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยสัมผัสป่าเท่าไหร่นัก


ระหว่างทางขึ้นไปสำนักสงฆ์จะมีบางช่วงที่เป็นบริเวณน้ำซึมน้ำซับ ก็จะมีดอกไม้ป่าขึ้นเต็มไปหมด สำหรับผมนั้นชอบนั่งชื่นชมเป็นเวลานานๆ และถ่ายรูปเก็บเอาไว้ ไม่รู้จักชื่อหรอกครับ


เช่นเจ้านี่ เป็นต้นหญ้าชนิดหนึ่ง ชูช่อดอกคล้ายๆหญ้าเจ้าชู้ สูงเหนือพื้นดินสักศอกกว่าๆ สลับกับกระดุมเงิน และอื่นๆหลายชนิด มีสีเหลือง ม่วง ขาว แสด โอย… สวย หากใครย้อนไปดูรูปสมัยเฮ 3 ก็จะเห็นว่าเราจอดรถตรงนี้ให้สมาชิกถ่ายรูปกัน แล้วเอาไปประกวดกันด้วย


มาคราวนี้ผมเห็นเจ้าหญ้าชนิดนี้มีใบแปลกสวยดี เลยเอามาฝากกันว่า ธรรมชาติที่เราไม่รู้จักมีอีกเยอะ

ชีวิตผมติดป่ามากกว่าทะเล ไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหน ก็ต้องมีอันต้องเกี่ยวกับป่าไปหมดจริงๆ ติดป่า ก็มันมีความหลากหลายมากจริงๆ


มาวันนี้ผมต้องลาป่าดงหลวงไปแล้ว แต่บอกในใจว่าคงมีโอกาสกลับมาอีกไม่ว่าจะกลับมาทำงานที่นี่อีกครั้ง หรือมาเยี่ยมเยือนพี่น้องโซ่ หรือมากราบพระอาจารย์ทั้งหลาย หรือในวาระใดๆก็ตาม

แต่วันนี้ขอลาไปก่อน…


ธรรมนูญชุมชน

อ่าน: 2404

เป็นต้นข่อยใหญ่ต้นหนึ่งที่เหมือนๆกับต้นข่อยทั่วไปที่มีประโยชน์สารพัดอย่างในวิถีดั้งเดิมของชนบท แต่ข่อยต้นนี้ที่บ้านพังแดงแตกต่างจากที่อื่นเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่อยู่ของเจ้าปู่ ผู้คุ้มครองกฎ ฮีตคองของบ้านแห่งนี้

ประเทศชาติปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่นักการเมืองต่างเสนอแก้ไขกันฉบับแล้วฉบับเล่า ต่างก็เพื่อประโยชน์ที่ใฝ่ปอง ชีวิตชนบทนั้นก็มีหลักการปกครองร่วมกันที่เรียกธรรมนูญชีวิต คือ ฮีตคอง ที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาหลายชั่วคน คือกติกาสังคม มีไม่กี่มาตรา ไม่เคยมีใครเสนอให้แก้ไข ปรับปรุง ไม่เคยมีใครเสนอประชุมเปลี่ยนธรรมนูญชีวิตฉบับนี้

ผู้เฒ่า เจ้าโคตร คือประธานธรรมนูญนี้ในนามเจ้าปู่ มันผู้ใดที่ยึดฮีตคองเป็นแนวทางปฏิบัติตัวตน มันผู้นั้นจะมีเจ้าปู่คุ้มครอง มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มันผู้ใดที่ลบล้าง ละเลย หมิ่น แคลน มันผู้นั้นต้องมีอันเป็นไป โดยที่ไม่ต้องพึ่งศาลปกครอง หรือศาลคดีผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ผู้ลงโทษคือ สังคม ฟ้าดิน


เมื่อไปก็ลา เมื่อมาก็ไหว้ เทียนน้อยสองเล่มถูกจุด ขันธ์ 5 วางเบื้องหน้า ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ผู้เป็นล่ามทรงม้าใช้ ทำหน้าที่สื่อสารบอกกล่าวเจ้าปู่ว่าข้าน้อยมากราบลาคราวสิ้นสุดวาระการทำงานในพื้นที่แห่งนี้ สิ่งใดที่ล่วงเกินทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ขอขมาลาโทษ สิ่งใดที่ทำดีแล้ว ขอเจ้าปู่ได้อนุโมทนาสาธุ


เสียงเอะอะ อึงอล ของผู้เฒ่าเจ้าโคตร บอกกล่าวต่อเจ้าปู่ ตามหลักฮีตคอง สื่อให้เราขนลุกขนพองถึงธรรมนูญชีวิตชนบทที่ห่อหุ้มสำนึกชนบทให้รู้ว่า สิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นธรรมนูญชีวิตนั้น คือการรวบรวมสิ่งดีงามให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข อำนาจวาสนา ทรัพย์ ศฤงคาร คือโลกธรรม ที่หากมีแต่โลภโมโทสัน ปลีกตัวออกห่างจากฮีตคอง เจ้าก็คือผู้ทำลาย แต่หากเจ้ามีสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกัน โลกธรรมก็มิอาจมาทำลายได้ เพราะเจ้าเลือกแก่นมากกว่ากะพี้

การครอบครองรังแต่จะทำลาย การให้ต่างหากคือการสร้างสรรค์

19 ตุลาคม 2553


ก๊วบ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 16, 2010 เวลา 9:27 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1874

 

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะไม่เคยต้องเผชิญสถานการณ์ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

คนทำงานชนบทนั้นคลุกคลีกับสังคมที่เป็นรอยต่อของสังคมโบราณกับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งช่องว่างระหว่างสองสังคมนี้ถ่างออกมากขึ้น และก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างที่คนปัจจุบันมองแต่ไม่เห็น

ผู้เฒ่าเสนอให้เราทำ “พิธีก๊วบ” ในช่วงแรกที่เราเข้ามาทำงานในหมู่บ้านเหล่านี้ แรกมาทำงานเรา งง อะไรคือก๊วบ ทำทำไม ทำไมต้องทำ เมื่อเราได้ฟังผู้เฒ่าอธิบายเราก็อ๋อ..และยินดีลู่ตามลมแห่งความเชื่อของท้องถิ่น


ภาพจากที่นี่

ก่อนการแสดงโขน จะมีพิธีไหว้ครู เป็นการแสดงคารวะสูงสุดต่อครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนวิชาความรู้เรามา หากไม่ทำพิธีนี้ ไม่ได้ จะออกไปแสดงไม่ได้ ในลักษณะความเชื่อเดียวกันที่เราเรียกว่า นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นความเชื่อ พิธีก๊วบ ก็คือการแสดงคารวะต่อผีบ้านผีเรียน เทวดาฟ้าดิน เจ้าที่เจ้าทาง หรือสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหมดที่ดูแลพื้นที่ท้องถิ่นนั้น เมื่อเราเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ เราก็ต้องมาแสดงตัวตน และแสดงคารวะ แล้วจะได้รับการปกป้องผองภัยต่างๆ มีเรื่องเล่ามากมายต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้

พ่อเชคเล่าให้ฟังวันนั้นว่า การสร้างถนนดำเส้นนี้ที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อปลายปีที่แล้ว วันหนึ่งนายช่างคุมงานขับรถมากับภรรยาของเขา แล้วสามีก็จอดรถลงไป “ยิงกระต่าย” ข้างถนน ภรรยาคอยในรถ นานพอสมควร ภรรยาเอ๊ะใจว่าทำไมช้าจังจังลงไปดู ปรากฏว่าไม่พบสามีแล้ว หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถามไถ่ชาวบ้านก็ไม่มีใครรู้เห็น วันต่อมาสามีไปโผล่ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งอย่างประหลาด ..เขาบอกว่ามีคนมาพาไป…

ในวาระที่สิ้นเดือนนี้เราจะปิดโครงการที่ดงหลวง เราจะละเลยพิธีกรรมนี้ไม่ได้ พ่อเชคบอกว่าต้องเอา เจ้าหน้าที่เดิมของเราที่ออกไปแล้วกลับมาด้วย กรณี อาวเปลี่ยนก็ให้เอาชื่อมาร่วมพิธีนี้ด้วย พิธีก๊วบก็คือพิธีครอบ ปลายเดือนนี้จะเป็นการ “ครอบออก”

คนทั้งหมู่บ้านจะเข้ามาร่วมพิธี โดยเฉพาะเจ้าโคตรทุกสายตระกูล โดยมีจ้ำเป็นผู้ทำพิธีที่ศาลปู่ตากลางหมู่บ้านครับ นี่คือการบอกลาชุมชนตามพิธีกรรมท้องถิ่น เป็นการคารวะท้องถิ่นตามประเพณีของเขา เราเคารพ หลักการ ความเชื่อของชุมชน


พ่อเชค

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 16, 2010 เวลา 1:14 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2702


มันเป็นสะพาน ธรรมดาที่เป็นเส้นทางจากบ้านพังแดงไปอีกหลายหมู่บ้านหลังภูเขาที่เห็น ข้างสะพานแห่งนี้ พ่อเชคใช้เวลาวันนั้นมาเตรียมที่ดินเพื่อจะปลูกยาสูบพื้นเมือง ก็ทำมาทุกปี วันนี้เราตามมาหาพ่อเชคที่นี่


ชาวบ้านนั้นง่ายยิ่งกว่าง่าย วิถีอยู่กับธรรมชาติ พื้นๆ มาตรฐานชีวิตในเมืองอย่าเอามาวิจารณ์ที่นี่ ก็ตลอดเจ็ดสิบกว่าปีมานี่ เราอยู่กันแบบนี้ หนักหนากว่านี้ก็เผชิญมาแล้ว น้องๆเอาน้ำขวดที่เราเตรียมมาจากในเมืองยื่นให้พ่อเชคดื่ม พ่อเชครับไว้แล้วนั่งลงที่ทางเดินขอบสะพานนั่นแหละ

พ่อเชคคือเจ้าโคตรหนึ่งของบ้านพังแดงที่เป็นเสาหลักในการปกครองชุมชน อันเป็นโครงสร้างดั้งเดิมของชุมชนก่อนที่ระบบการปกครองใหม่จะเข้ามา แม้ว่าระบบใหม่เข้ามาแต่บทบาทก็ยังดำรงอยู่ แต่พ่อเชคมีมากกว่าการเป็นเจ้าโคตร เคยกล่าวไว้บ้างแล้วว่า เราแปลกใจทำไมชาวบ้านจะปลูกยาสูบจึงต้องมาขึ้นต่อพ่อเชค ทำไม ทำไม…ทำไม… เราพยายามเจาะลึก

ที่ขอบสะพานนี่ พ่อเชคยอมรับว่ามีปอบใหญ่สองตัวที่คงอยู่ในบ้านพังแดง ระบุชื่อให้เราได้ยินเป็นครั้งแรก แม้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครปริปากระบุชื่อ แต่วันนี้ ตรงนี้ พ่อเชคเอ่ยชื่อให้เราได้ยิน….

พิลาตั้งคำถามที่ค้างคาใจมานานแล้ว แม้เราจะได้คำตอบมาบ้างแล้วแต่พิลาอยากฟังจากปากพ่อเชค

พิลา: ..พ่อเชคครับปอบนี่เขาไม่ต้องการให้ใครดีเด่นเกินหน้าชาวบ้านทั่วๆไปใช่ไหมครับ..

พ่อเชค: พยักหน้าแล้วตอบว่าจริง…

พิลา: พ่อเชคมีของดีดีหรือครับถึงไม่กลัวเกรงปอบ

พ่อเชค: ก็พอมี..

แล้วพ่อเชคก็ท่องมนต์นั้นอย่างคล่องปรือ จนผมรีบเอามือถือมาบันทึกแทบไม่ทัน

พ่อเชค: อยากได้ต้องมี ค่าครู ค่าคาย 12 บาท

……

สิ่งแรกที่กลับมาถึงห้องพักคือถ่ายโอนเสียงบันทึกจากมือถือลงในคอมพ์ แล้วลองเปิดฟัง

ผลปรากฏว่า ผมเปิดฟังไม่ได้ครับ จะเปิดด้วยวิธีใดก็ไม่ได้..!!!???


ฟาน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 15, 2010 เวลา 9:16 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5058

เมื่อวานมีกำหนดจะไปร่วมกับเพื่อนรัก บำรุง คะโยธา(คนละคนกับ พี่บำรุง บุญปัญญา) NGO นักเคลื่อนไหวตัวแม่แห่งเทือกเขาภูพาน เพราะ 4ส2 โดยลุงเอกพาคณะไปเยี่ยมพูดคุยกันก่อนจะไปสกลนครต่อไปตามกำหนดการ บังเอิญผมได้รับมอบหมายจากโครงการให้รับผู้เชี่ยวชาญ JBIC เป็นวิศวกร 2 ท่านมาดูงาน ระบบสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย ที่เกี่ยวข้องกับ ปอบ ที่กล่าวถึงบ่อยๆนั้น เลยต้องอยู่รับคณะนี้ ไม่ได้ไปร่วมกับ 4ส2 อย่างเสียดายโอกาส


ระหว่างที่นำคณะไปดูถังเก็บน้ำขนากยักษ์ใหญ่ นั้นก็พบชาวบ้านถือปืนยาวที่เรียกปืนแก๊บ เข้าไปถามว่าวันนี้พกปืนมาทำไมแต่เช้าเลย เขาก็ชี้ให้ดูที่พื้นท้องร่องระหว่างแปลงมันสำปะหลังว่า อาจารย์ดูรอยนั่นซิ นั่นคือรอยเท้า “ฟาน” หรือเก้งป่านั่นเอง เขาคงลงมาหากินประเมินอย่างนั้น


ถามว่าเคยพบรอยเท้าแบบนี้มาก่อนไหมในพื้นที่แบบนี้ ชาวบ้านบอกว่าไม่เคยพบ มีแต่บนภูเขาเท่านั้น ผมเก็บข้อมูลและประเด็นไว้ในใจ เดินหน้าไปอธิบายให้ JBIC ฟังเรื่องราวของระบบสูบน้ำเพื่อการชลประทานนี้ต่อไป คุยแลกเปลี่ยนกันนานพอสมควรจนเลยเที่ยง คณะจึงเดินทางเข้ามุกดาหารเพื่อไปฝั่งสะหวันนะเขตเพื่อต่อวีซา ต่อไป

ย้อนกลับมารอยเท้าฟาน หลังจากที่เราคุยกับชาวบ้านไม่นาน ก็ได้ยินเสียงปืนดังใกล้ๆภูเขา เดาเอาว่า ชาวบ้านยิงฟานตัวนี้หรือเปล่าหนอ..

เนื้อฟานนั้นเป็นที่โปรดปรานของชาวบ้านนักเพราะอ่อนนุ่ม หวาน ไม่ว่าจะประกอบอาหารแบบไหนๆเป็นถูกปากไปหมด และฟานป่านั้นหายากเต็มที่แล้วเพราะพรานป่ามุ่งหาเนื้อมากินในครัวเรือนและขายเพราะราคาดีมาก เจ้าร้านค้าเนื้ออาหารจากป่านี่แหละตัวร้ายที่เป็นปลายทางของการดำรงอาชีพล่าสัตว์ป่าไปขาย

เจ้าฟานตัวนี้เป็นอะไรทำไมถึงมาปรากฏรอยเท้าที่นี่ได้ เป็นประเด็นที่ผมสนใจมาก เดาไปหลายทาง แบบคนไม่รู้เรื่องวิถีสัตว์ป่านี้ก็เดาว่า แปลก ตรงที่พื้นที่ที่เราพบรอยเท้านั้นมันไกลพอสมควรจากชายป่า มันไม่น่าหลงทางมาไกลขนาดนี้ หรือไม่น่ามาหากินไกลขนาดนี้ อยากตั้งวงคุยกับชาวบ้านก็ไม่มีเวลาต้องรีบพาแขกญี่ปุ่นไปในเมืองต่อ…


เพียงสงสัยส่วนตัวว่า หรือเพราะอาหารป่าลดลง เขาลงมากินข้าวที่กำลังสุกนั่นหรือเปล่า ผมก็เดาแบบคนโง่ คงหาเวลาไปคุยกับชาวบ้านเรื่องนี้ต่อไปครับ

แต่ก็เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าในป่าบ้านพังแดงนี้ยังมี ฟาน อยู่..


สิ่งเหนือธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 12, 2010 เวลา 16:52 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3137

สมัยที่ทำงานที่สะเมิง ผมเผชิญเรื่องเหนือธรรมชาติหลายครั้ง และเคยบันทึกใน Blog บ้างแล้ว เมื่อย้ายไปทำงานกับชนเผ่าเขมรที่ชายแดนไทยกัมพูชาที่จังหวัดสุรินทร์ ก็เผชิญเรื่องเหล่านี้ เมื่อมาดงหลวงก็สะอึกกับปรากฏการณ์สิ่งเหนือธรรมชาติกับการพัฒนาอีกจนได้

ผมบันทึกไปหลายครั้งแล้ว ก็เรื่องการพัฒนาพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่บ้านพังแดงน่ะแหละ เมื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ได้ตามแผนงาน เป้าหมาย หากเป็นบริษัททำธุรกิจก็คงโดนโยกย้ายไปทำงานในหน้าที่อื่นแล้วให้ผู้มีแววมาทำแทน หากเป็นทหารก็โดนไปล้างส้วม ขุดดิน แบกสิ่งของแทนที่จะมาเป็นหัวหน้าทีมงานปฏิบัติการสนามแล้ว หรือส่งกลับบ้านไปเลย..


ครั้งหนึ่งผมรายงานให้ระดับบริหารสูงขึ้นไปทราบ เขาก็พูดในทำนองเข้าใจได้ว่า มันต้องทำได้ซิ (คุณไม่มีฝีมือต่างหาก…) เหตุผลร้อยแปดที่พยายามอธิบายให้ท่านเหล่านั้นฟังดูเหมือนว่า เป็นเรื่องไร้สาระมากกว่าจะรับฟังแล้วนั่งลงคุยกันให้เป็นกิจจะลักษณะ ผมก็แบกรับความรู้สึกเหล่านั้นเป็นโจทย์ไปขบคิดต่อไปว่า จะมีทางออกอย่างไรบ้างหนอ

ความจริงก็มีลู่ทางอยู่ แต่การพัฒนาต้องใช้เวลา ยิ่งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรนั้น แต่ละ crop คือ หนึ่งฤดูกาล คือหนึ่งปี และกว่าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำซ้ำๆก็ใช้เวลามากกว่า 1 ปี การปรับเปลี่ยนระบบคิด การกระทำจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมที่ทำงานมาจนแก่เฒ่าแล้ว..

วันนั้นเราประชุมเครือข่ายไทบรู ถือโอกาสตั้งประเด็นเรื่องลัทธิความเชื่อของชนเผ่าโส้บ้านพังแดง ที่มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติคือ ปอบ ที่ประชุมยิ้มกันใหญ่

ประเด็นของผมก็คือ เป็นความจริงหรือที่ความเชื่อเรื่องปอบนั้นมาครอบระบบต่างๆของชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าโส้ โดยเฉพาะที่บ้านพังแดง ? เท่านั้นเอง แต่ละคนก็เล่าประสบการณ์ของตนเองต่อที่ประชุม โดยเฉพาะ ผู้ใหญ่วองบ้านโพนไฮ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้บ้านพังแดงมากที่สุดในบรรดาจำนวนผู้ที่เข้ามาประชุมในวันนั้น ผู้ใหญ่วองยกสองกรณี เล่าให้ฟัง ว่าพวกเรามีความเชื่อจริงๆ และดูเหมือนเป็น TABU คือไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมาคุยออกหน้าออกตา ไม่ใช่เรื่องที่เอามาขึ้นโต๊ะคุยกัน ความเชื่อก็คือความเชื่อ พฤติกรรมที่มีต่อความเชื่อคือการเก็บ เงียบ ไม่วิภาควิจารณ์ ไม่ฟ้องร้อง ฯลฯ แต่ในทางลับ หรือใต้ดิน ซุบซิบกัน และสิ่งที่ควบคู่กับความเชื่อนั้นคือ วิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนานว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ผมตั้งประเด็นต่ออย่างคนหมดหนทางจะไปอธิบายแก่คนยุคโลกาภิวัตน์ ที่จะให้เขาหันมารับฟังและยอมรับการมีอยู่จริงต่อสิ่งนี้ ตรงๆคือ ผมไม่รู้ว่าจะไปอธิบายอย่างไร..

ทันใดนั้น ผู้ใหญ่ไพโรจน์ แกนนำสำคัญท่านหนึ่งของเครือข่ายไทบรูตำบลดงหลวงก็พูดขึ้นมาว่า

“….อาจารย์กลับไปถามเขาเหล่านั้นซิว่า คุณแขวนพระหรือเปล่า แขวนทำไม ที่บ้านคุณมีศาลพระภูมิหรือเปล่า มีไว้ทำไม ฯ นั่นเพราะคุณมีความเชื่อใช่ไหม… คุณเชื่ออะไร…คุณเชื่อทำไม… แล้วพี่น้องโส้ของผมมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ คุณทำเป็นไม่เข้าใจหรือ…”

โห…ผมหายโง่ไปเลย….



Main: 0.077625036239624 sec
Sidebar: 0.10519003868103 sec