ข้อเสนอต่อ DfC
อ่าน: 2308สมัยที่ทำงานกับโครงการไทยเนเทอร์แลนด์ ชื่อ “โครงการการจัดการน้ำในระดับไร่นา” ที่เขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ผมทำหน้าที่เป็น ฝ่ายสังคม ที่คอยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าหน้าที่สนามในการปฏิบัติงาน เสริมผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรม ที่ทำหน้าที่ไปสำรวจ Training Needs Assessment (TNA) แล้วก็จัดกระบวนการฝึกอบรมขึ้น ซึ่งก็มักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ คือเป็น formal training
เมื่อผมลงสนามพบว่าน้องๆในสนามที่ได้รับความรู้มาแล้วนั้น มีหลายอย่างที่ต้องเติมเต็ม และขยายความ สาระที่พูดกันในห้องประชุม หลายคนมีคำถาม หลายคนไม่เข้าใจ หลายคนเบลอๆ
นี่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการบันทึกของผมครั้งแรกขึ้น เป็นบันทึกที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อผมพบก็หยิบประเด็นนั้นมาบันทึกขยายความแล้วทำสำเนาส่งให้ทุกคน นอกจากนี้ก็เป็นแบบ F2F คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน และอาจจะเป็น Micro group discussion แค่สองสามคนก็ตั้งวงแบบไม่เป็นทางการคุยกัน ยืนคุยกันบ้าง ร้านอาหารบ้าง นั่งริมคันนาบ้าง เติมเต็มกันทันที เพื่อให้น้องๆอิ่มในข้อสงสัย ขัดข้อง
ซึ่งประเด็นทั้งหมดนั้นเราเองก็ไม่รอบรู้ไปทั้งหมด ประเด็นไหนที่ไม่แจ้งก็ไปค้นหามาแล้วเติมเต็มในรูปของบันทึกแล้วสำเนาแจกให้ทุกคนได้เรียนรู้ด้วย บันทึกนี้เป็นหลัก หยิบทุกประเด็นมาบันทึกแล้วกระจายไป ทำเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 บันทึก
องค์ความรู้ที่เติมเต็มนี้ เมื่อสิ้นปีรวมเล่มได้เลยครับ จัดหมวดหมู่และเพิ่มเติมส่วนที่ไม่ครบถ้วนลงไป ก็เป็นสิ่งที่อาจเรียกว่า KM ได้แบบ Field practice และเป็นประโยชน์มากสำหรับน้องๆที่ถือว่าเป็นมือใหม่ในการเข้ามาทำงานกับชาวบ้านในสาระ การจัดการน้ำในระดับไร่นา
ในทำนองเดียวกัน ผมติดตามทุกท่านที่ทำเรื่อง Dialogue for Consciousness (DfC) เห็นพลัง เห็นความก้าวหน้า เห็นปิติ เห็นประโยชน์ และชื่นชมที่ทุกท่านต่างหยิบฉวยสิ่งที่เป็นประโยชน์จากเฮฮาศาสตร์นี้ จาก Lanpanya นี้ไปใช้
ผมใคร่เสนอแนะว่า ทุกท่านที่เข้ามาร่วมในกระบวนการ ย่อมได้ปิติ ย่อมมีพลัง ย่อมกระหายที่จะหยิบฉวยความรู้ที่เสพเข้าไปนั้นไปดัดแปลงใช้ในงาน ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นกับความรับผิดชอบ
แต่น่าที่จะเกิด ประเด็นปัญหาที่อยากแลกเปลี่ยน ถามไถ่ ต้องการเติมเต็ม ขยายความ แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางที่จะทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้ถูกจัดการวางช่องทางไว้ ข้อเสนอผมก็คือ
· เชิญท่านเหล่านั้นเข้ามาในลาน แล้วเปิด “ลาน” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเติมเต็ม ขยายความกันต่อไปให้กว้างขวาง นอกจากผู้จัดการเป็นผู้แลกเปลี่ยนแล้ว ท่านอื่นๆที่มีประสบการณ์ก็จะได้เพิ่มเติมแลกเปลี่ยนไปอีกด้วย
· หากท่านเหล่านั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเข้า “ลาน” ได้ ผู้จัดต้องบอกกล่าวว่าขอให้ส่งประเด็นมาที่ผู้จัดแล้วผู้จัดจะแลกเปลี่ยนเป็นบันทึก แล้วส่งคืนไปให้ พร้อมๆอาจจะสำเนาให้เพื่อนคนอื่นๆรับรู้ด้วย(อย่างที่ผมทำ)
· จัดทีมงานเยี่ยมเยือนตามวาระโอกาสอย่างไม่เป็นทางการ เอาขนมไปฝาก เอาเอกสารติดมือไป.. เพื่อ ทำ Follow up และใช้โอกาสนั้นสอบถาม แลกเปลี่ยน เป็นแบบ DfC follow up ….แล้วอย่าลืมเก็บประเด็นนั้น สาระที่แลกเปลี่ยนกันนั้นมาบันทึกแล้วทำสำเนาให้ทุกคนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันด้วย
· ใช้เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ มือถือ โทรศัพท์สายตรง จดหมาย ..ฯลฯ เพื่อเปิดช่องให้มีการสื่อสารต่อเนื่องระหว่างกัน
· ทั้งหมดนี้เป็นเชิงรับ แต่พิจารณาการทำเชิงรุกด้วยนะครับ เช่น
· ผู้จัดตั้งประเด็นแล้วแลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการ การตั้งประเด็น การตั้งคำถาม เป็นการกระตุ้นให้คิด ให้ควานหาความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาความเหมาะสมรอบด้านด้วย
· การทบทวนสาระที่ใช้ในการ DfC ที่ผ่านมาโดยการขยายความในประเด็นต่างๆลงไป โดยไม่รอคำถาม แต่ประเด็นนั้นต้องผ่านการประเมินแล้วว่าเหมาะสม เกิดประโยชน์จริง…..
· นำตัวอย่างความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของเพื่อนไปเล่าสู่กันฟัง…
· ฯลฯ..
สิ่งเหล่านี้คือ กระบวนการที่ทำต่อเนื่องภายหลังกระบวนการ DfC ครับ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด อิอิ..