จากแม่กำปองถึงรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 14:49 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2025

หลายท่านไม่รู้จักบ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ เพราะเป็นหมู่บ้านที่โด่งดังเรื่องหมู่บ้านในป่าที่ทำโฮมสเตย์อย่างมีชื่อเสียง และมีกิจกรรมอื่นๆที่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทนำเที่ยวระดับโลกไปเลยทีเดียว


บางท่านอาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป แนะนำนิดเดียวว่า บ้านแม่กำปองอยู่บนเทือกเขาด้านตะวันออกของตัวจังหวัดเชียงใหม่ รอยต่อกับ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง อยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน ซึ่งแยกตัวมาจาก อำเภอดอยสะเก็ด เมื่อหลายปีก่อน

ยาหยีผมมีโครงการศึกษาและพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทนที่นั่นจึงทำให้ผมมีโอกาสไปเที่ยวมาครั้งหนึ่ง แต่ยาหยีผมไปหลายครั้ง นี่ก็เพิ่งกลับมา มาเล่าเรื่องราวเปลี่ยนแปลงให้ฟังจนผมต้องหยิบมาเขียน


เธอไปพักโฮมสเตย์ร่วมกับคณะอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. แล้วให้ชุมชนดำเนินรายการไปเสมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ก่อนที่จะไปทำงานตามเป้าหมาย เธอชมว่าผุ้ใหญ่บ้านเก่งมาก เพราะได้รับการพัฒนามานานหลายปีให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมที่โดดเด่นที่เป็นเป้าหมายของคณะอาจารย์ มข.คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าเองโดยอาศัยพลังน้ำตก

ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า แนวคิดนี้ไม่ได้เกิดมาจากชุมชน แต่เกิดจากในหลวง ที่ท่านเคยเสด็จมาที่นี่เมื่อหลายสิบปีมาแล้วเมื่อมาเห็นน้ำตกก็บอกกับผู้นำชาวบ้านว่า ไม่ต้องไปนำกระแสไฟฟ้าจากข้างนอกเข้ามา ผลิตเองได้จากพลังน้ำตกนี่แหละ ผู้นำสมัยนั้นไม่มีความรู้เลยแต่น้อมนำพระราชดำรินั้นมาใส่ใจและแสวงหาความรู้มาตลอด และมีโอกาสไปดูงานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำของโครงการหลวง แล้วก็นำมาปรึกษากับเพื่อนบ้าน แล้วตัดสินใจจะดำเนินการตามพระราชดำริ

การก่อสร้างสมัยโน้น ซึ่งไม่มีเครื่องมือสมัยใหม่ ทีมงานอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ยังกล่าวว่า นี่คือพลังใจมหาศาลและความร่วมมือของชาวบ้านโดยแท้ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยใช้ความรู้พื้นๆบ้าน แม้อาจารย์ยังส่ายหน้าว่า ทำมาได้อย่างไร เก่งมากๆ เพราะแค่การเจาะหินเพื่อติดตั้งเครื่องมือผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ใช้เวลาเจาะ 1 ปี หากไม่มีใจจริงๆแล้ว ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จ เพราะไม่มีการใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ ใช้มือและเครื่องมือพื้นบ้านเท่านั้น…สุดยอดจริงๆ

ทีมอาจารย์ได้ใช้ความรู้สมัยใหม่มาเสริมเติมเต็มการดูแลรักษา ปรับปรุงพัฒนา ต่อยอดการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันกล่าวว่า แม้ไฟฟ้าสมัยใหม่จะเข้ามาแล้ว แต่ชาวบ้านจะเอากระแสไฟฟ้าสมัยใหม่เป็นไฟสำรองเท่านั้น ยังใช้ไฟฟ้าที่ชุมชนผลิตเองเป็นหลัก… และจะใช้แบบนี้ตลอดไป

มีรายละเอียดมากมายที่ไม่ขอกล่าวถึง


เนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในป่า บนภูเขาสูงขึ้นไป วัฒนธรรมทุนนิยมภายนอกยังเข้าไปน้อย จึงมีสภาพเดิมๆที่การท่องเที่ยวใช้เป็นจุดขาย และมีบริษัทท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมร่วมกับทางราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาโฮมสเตย์ และส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้าน และพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆให้ดึงดูดกลุ่มที่ชอบป่าไม้


แม่กำปองดังเป็นพลุแตก เมื่อฝรั่งมังค่าเล่าปากต่อปาก ต่างซื้อทัวร์มากับตลอดปี โฮมสเตย์จึงเติบโต กิจกรรมต่างๆในชุมชนเพื่อตอบสนองธุรกิจท่องเที่ยวก็ตามมา เช่นร้านอาหาร ร้านกาแฟ มัคคุเทศก์ น้ำตก เดินป่า Gibbon และ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกพัฒนาความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากหน่วยงานราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนดังกล่าว

เมื่อสังคมเปลี่ยน ปัญหาก็ตามมา ชุมชนปรับตัวมาตลอด แต่ก็อยู่ภายใต้การถกเถียงกันภายในชุมชนเองว่าความเหมาะสมคืออะไร… ปัญหาที่ตามมาและปรากฏชัดเจนมากขึ้นคือนโยบาย ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศในช่วงปีใหม่นี้เป็นต้นไปนี่แหละ….

บ้านแม่กำปองแม้จะอยู่ในป่าห่างไกลจากเมือง แต่ก็หนีไม่พ้นที่เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ออกจากหมู่บ้านไป เหลือแต่คนวัยกลางคนขึ้นไปถึงผู้เฒ่า ซึ่งคนวัยนี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดอายุ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน หลายอย่างก็ค่อยๆเปลี่ยนไป โฮมสเตย์จำนวน 20 กว่าหลังนั้นต้องใช้แรงงานตระเตรียมที่พักอาศัย การบริการต่างๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นเจ้าของโฮมสเตย์ก็ต้องว่าจ้างแรงงานในชุมชนด้วยกันเอง และจากชุมชนใกล้เคียง

เมื่อรัฐบาลประกาศ 300 บาทค่าแรงทั่วประเทศเท่านั้น ผู้เฒ่าต่างคิดไม่ตกว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพราะแรงงานเรียกค่าแรงเท่าที่รัฐบาลประกาศ แม้จะยังไม่ถึงเวลาก็ตาม

ผู้เฒ่า เจ้าของโฮมสเตย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า รัฐไม่ได้แยกแยะประเภทแรงงานเลย งานบางชนิดใช้เวลาไม่เต็มวัน และเคยพึ่งพาอาศัยกัน ค่าตอบแทนก็ใช้ความพึงพอใจแบบพื้นบ้าน เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว ค่าเช่าก็ไม่ได้แพงเหมือนในเมือง อาหารก็ทำให้กิน ฯ ราคาที่เก็บนั้นยังถูกเทศบาลเรียกเก็บไปบำรุงอีก ชุมชนก็เรียกเก็บบำรุง เรายินดีให้ แต่หากค่าแรงมาขึ้นแบบนี้ เราผู้เฒ่าจะอยู่อย่างไร การจะไปขึ้นราคาที่พักเราไม่อยากทำ

เงินที่ชุมชนเก็บไปนั้นไปตั้งเป็นกองทุนดูแลชุมชนทั่วไปหมด ครัวเรือนใดที่ไม่สามารถทำโฮมสเตย์ได้ ก็ได้รับสวัสดิการต่างๆจากกองทุนนี้ด้วยในหลายๆรูปแบบ เราพึงพอใจที่โฮมสเตย์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชน แต่แรงงานที่ประกาศขึ้นราคาแบบนี้ รัฐบาลไม่ได้พิจารณารายละเอียดของธุรกิจและพื้นที่ บางครอบครัวบอกว่าเมื่อไม่สามารถแบกรับค่าจ้างได้อาจจะต้องปิดโฮมสเตย์ลงไป

นี่คือเสียงสะท้อนจากชุมชนในป่า…ถึงรัฐบาล


น่ารัก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 20, 2012 เวลา 0:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1127

ทดสอบ


ได้ยินแต่ไม่สำเหนียก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 3, 2012 เวลา 8:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1274

 

ผมนั้นเกิดอาการเครียดหลายครั้งที่น้องๆมาเชิญให้เป็นพิธีกร หรือผู้ดำเนินการ “การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย…” เพราะงานนี้จะเผชิญกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาคัดค้านกิจกรรมนั้นๆหรือไม่ หนอ ผมเคยร้องขอหน่วยวานไปครั้งหนึ่งว่าขออนุญาตไม่รับทำหน้าที่นี้ เพราะผมรู้จักกลุ่มต่อต้าน คัดค้านนั้นเป็นอย่างดี เขาเหล่านั้นก็รู้จัก “พี่บู๊ด” ดีถึงดีมาก ซึ่งผมเคยถูกกระซิบว่า ห้ามมาทำหน้าที่นี้ในเรื่องนี้…. แต่ส่วนใหญ่รับหมด ด้วยความจริงใจที่มาทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น…

ฝ่ายคัดค้านจะเหมารวมว่า ผู้มาดำเนินการนี้เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าของกิจการที่ว่าจ้างมาเท่านั้น เนื้อในก็เป็นพวกเดียวกัน…. ยากครับที่จะอธิบายให้เข้าใจว่า เราเป็นคนกลางที่มารับฟังปัญหา อุปสรรค ความคิดเห็น ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ข้อกังวลต่างๆของประชาชนต่อกิจการนั้นๆ บางครั้งวิทยากรต้องหลบสิ่งของที่ถูกขว้างปามาจากฝ่ายต่อต้าน คัดค้านอย่างไม่สมควร …. ประสบการณ์เหล่านี้เองที่ผู้ดำเนินการประชุมเรื่องสำคัญ เรื่องร้อนๆจึงยากที่ใครจะรับมาดำเนินการ ผมต้องมารับหน้าที่นี้ ด้วยหัวใจตุ้มๆต่อมๆ อิอิ

ผมบอกตัวเองว่ามีเจตนาดี และ มีคำที่พยายามจะอธิบายว่าผมมาทำหน้าที่อะไร เราใช้ลู่ทางที่ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมพึงพอใจที่สุดว่า ทุกคำพูดของเขานั้นเรารับฟังและถูกบันทึกไว้ทั้งหมด โดยการ บันทึกเทป มีคนทำหน้าที่จดบันทึก และมีพนักงานพิมพ์ทันทีขึ้นจอ Power point ให้เห็นกันจะๆว่าทุกคนพูดอะไร พร้อมทั้งพิธีกรและพิธีกรร่วมยังกล่าวสรุปให้อีกครั้ง ที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นที่พึงพอใจต่อที่ประชุม..

กรณีต่อเนื่องจากครั้งหลังสุดที่ทำหน้าที่นี้มา เราพัฒนากระบวนการแสดงความเห็นของชาวบ้านโดยมีเจ้าหน้าที่เราไปจัดคิวให้ ตามลำดับการเสนอตัวมาแสดงความเห็น พบว่า แย่งกันเลยครับ ทั้งหมดเป็น “หน้าเดิมๆ” และ ร้อยละเก้าสิบผมเคยไปสัมภาษณ์ส่วนตัวมาแล้วจึงพอเข้าใจพื้นฐานเขา ซึ่งมีตั้งแต่ชาวบ้านจบเพียง ป. 4 จนถึงผู้นำชุมชน และผู้ที่จบปริญญาโทและเป็นผู้นำในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ละคนมีลีลา ดุดัน เข้มแข็ง ชัดเจน หลายคนมองว่าเป็นการหาเสียงเพื่อการครองใจประชาชน แต่ผมให้น้ำหนังเรื่องนี้น้อยกว่าการที่เขาพยายามแสดงถึงความคิดเห็นของชุมชน ชาวบ้าน ผ่านตัวเขาซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ในชุมชนนั้น

คนหนึ่งที่จบเพียง ป.4 และไม่มีตำแหน่งในชุมชุม ดุดันครับ เขาอธิบายว่าชุมชนเขานั้นเดือดร้อนอะไรบ้าง ลำดับให้ฟัง แล้ววกมาที่หน่วยงาน ที่เพิ่งลงทุนสร้างภาพท้องเที่ยวแม่….จ้างดารามาโชว์ตัวและแสดงต่างๆมากมาย หมดเงินไปเท่าไหร่ทั่วประเทศมาเที่ยวและชื่นชมการจัดงาน ความสวยงามและความประทับใจ ทั้งที่คนในพื้นที่ต้องการเยียวยาปัญหาที่คาราคาซังมาเนิ่นนานแล้ว จะให้ชาวบ้านเข้าใจว่าอย่างไร จะให้คนท้องถิ่นรู้สึกอย่างไร สนุกไปกับงานสร้างภาพนี้หรือ ชื่นชม ไปกับภาพเช่นนี้หรือ…อีกมากมาย….

ชาวบ้านที่จบ ป 4 ท่านนั้น น้ำตาตกมานานแล้ว เขาเรียกร้องมานานแล้ว ครับ ท่านผู้รับผิดชอบได้ยินทั้งสองหูแต่สำเหนียกหรือไม่เท่านั้น การกระทำ การปฏิบัติ เป็นคำตอบ


ความจริงใจที่ทดแทนไม่ได้ด้วยเงิน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2012 เวลา 23:00 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1205

การทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ EHIA หรือการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ นั้นเป็นเรื่อง ที่ต้องกระทำหากกิจกรรมใดๆคาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ เป็นความก้าวหน้าของการจัดการของสังคมที่เป็นมาตรฐานโลก การศึกษาดังกล่าวต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สอบผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมาแล้ว และการศึกษาดังกล่าวมีขั้นตอนที่กำกับ ควบคุมโดยสำนักนโยบายและแผน หรือที่เรียก สผ.

ขั้นตอนที่สำคัญหนึ่งของทั้งหมดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย หรือกลุ่มประชาชนที่อยู่ในบริเวณรัศมี 5 กม.ของที่ตั้งกิจการนั้นๆ ประชาชนที่อยู่ในรัศมีนี้ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ผู้รับจ้างทำการศึกษาจะต้องทำตามกระบวนการ เช่น สื่อสารให้ทราบแผนงานต่างๆที่จะทำ ข่าวสารข้อมูลต่างๆที่จะดำเนินการของผู้ลงทุน และฯลฯ และจะถูกสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามในเรื่องต่างๆตามระเบียบกฎหมายกำหนด

ที่สุดของขั้นตอนคือการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มี 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เรียกการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ แล้วให้ประชาชนเป้าหมายแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ แสดงข้อกังวล ให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้คณะที่จะทำการศึกษารับรู้รับทราบแล้วนำข้อคิดเห็นทั้งหมดนั้นไปปรับปรุงพัฒนากระบวนการศึกษาให้รอบคอบครอบคลุมตามข้อเสนอนั้นๆ ผู้เข้าร่วมการประชุมจะรวมไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชนกลุ่มต่างๆ ฯลฯ… การประชุมครั้งที่ 1 นี้เรียกสั้นๆว่า ค1

การประชุมครั้งที่สองเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องผลการศึกษา EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ โดยจะลงไปประชุมย่อยในแต่ละพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ระดับตำบล เพื่อใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด รับฟังความเห็นถึงมาตรการต่างๆที่ถูกกำหนดตามหลักวิชาการที่นำมาจัดการกับข้อกังวลต่างๆที่ประชาชนตั้งประเด็นไว้ และที่นักวิชาการเฉพาะด้านคาดการว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรคด้านนั้นๆ มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามหลักตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้ เป็นอย่างต่ำ อาจจะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากกว่ามาตรฐานก็ย่อมได้ เรียกการประชุม ค2

การประชุมครั้งที่สามเรียกการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องรายงานผลการศึกษาศึกษาและวิเคราะห์ EIA และ EHIA และมาตรการต่างๆ ก่อนที่จะทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่จะส่งให้ สผ.พิจารณาต่อไป ก็เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เรียกการประชุม ค3

ทั้งหมดนี้ผมย่อๆสั้นๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายตามกฎหมายกำหนด ที่อยากจะกล่าวถึงจากประสบการณ์ที่ผมทำหน้าที่ดำเนินการประชุมมาหลายโครงการ หลายพื้นที่มาแล้ว พบว่า

  • ประชาชนไม่มีความเข้าใจต่อกรับวนการตามกฎหมายเหล่านี้ แม้ว่าจะพยายามอธิบาย หรือใช้สื่อสารต่างๆก็ตาม
  • ประชาชนที่มาร่วมจะพูด หรือแสดงความเห็นในเรื่องที่ตนเองเดือดร้อนเท่านั้น หลายเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุม หรือไม่อยู่ในกรอบเนื้อหาการประชุม เช่น หัวข้อเรื่องเหมืองแร่ลิกไนต์ ก็เอาเรื่องโรงไฟฟ้ามาพูด
  • ประชาชนจะพูดตามแบบฉบับของเขา ที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีภาษา สำเนียง สำนวนเฉพาะถิ่น หากผู้รับฟังไม่มีพื้นฐานก็อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
  • ประชาชนเอาปรากฏการณ์ ประสบการณ์ ความรู้สึก การคาดการณ์มาพูดมากกว่า สถิติ ตัวเลข ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ซึ่ง เป็นเรื่องปกติ
  • ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการนั้นต้องพิสูจน์ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนว่าเกิดมาจากเหตุใด จึงจะสรุปชี้ชัดลงไป ซึ่งปัจจัยการเกิดมีมากมาย แต่ชาวบ้านมีจำเลยในสายตาอยู่แล้วจึงมักชี้นิ้วมาที่ผู้ประกอบการที่สร้างกิจการนั้นๆขึ้นมา
  • ฯลฯ

แต่ทั้งนี้จุดบกพร่องของฝ่ายเจ้าของกิจการก็มีมากมาย แต่มักเป็นผู้ “ถือไผ่เหนือกว่า” อยู่เสมอ และชาวบ้านเองก็ไม่รู้จักช่องทางในการต่อสู้ให้เข้าถึงความจริงที่สุด ผมพบว่า คำกล่าวของประชาชนที่ซ้ำกันมากที่สุดคือ เจ้าของกิจการไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้จะตั้งฝ่ายCSR ที่ใช้งบประมาณเพื่อกิจกรรมของฝ่ายนี้ไปมากมาย แต่หากไม่มีความจริงใจ ปัญหาพื้นฐานนี้ก็ไม่ได้แก้ไข ความจริงใจนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่า การตั้งงบประมาณหลายล้านเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่เอาไปกองในชุมชนให้ชุมชนมีอิสระในการใช้จ่ายก็ตาม

ชาวบ้านระยองท่านหนึ่งกล่าวว่า คุณคะ…เงินล้านนั้นซื้อใจฉันไม่ได้ แม้ฉันจะต้องการเงินก็ตาม หากไม่มีความจริงใจเสียแล้ว ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข….

น่าเสียดายที่ฝ่าย CSR ของหน่วยงานที่มีมูลค่านับแสนล้านนั้น เข้าไม่ถึงจิตใจชุมชน..


Public Review

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2012 เวลา 13:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1528

ด้วยวัยวุฒิ และประสบการณ์ จึงถูกกำหนดให้เป็นผู้ดำเนินรายการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 67 (วรรค 2) และกฎหมายอื่นๆ ที่สอดคล้องกัน จริงๆในกลุ่มเพื่อนร่วมงานก็สามารถทำหน้าที่ บทบาทนี้ได้ แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นเขาเหล่านั้นอาจจะผ่านมาน้อยกว่า ระหว่างการดำเนินการอาจเกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรง เขาอาจจะไม่เชื่อใจตนเองว่าจะควบคุมได้อย่างไร เขาเลยมอบความไว้วางใจให้เรามาทำหน้าที่นี้

เราเรียก “การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเรื่อง….” กฎหมายปัจจุบันให้สิทธิประชาชนมาก ที่หน่วยงานที่มีกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงจะต้องทำการประชุมรับฟังความคิดเห็น… หากไม่ทำกิจกรรมนั้นๆก็ไม่ผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ.. ก็ไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการนั้นๆได้

จึงเป็นเวทีที่บังคับจะต้องทำซึ่งมีรายละเอียดมากที่จะต้องปฏิบัติตามมิให้บกพร่อง หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดนั้น แม้จะมีการประชุม.. และการประชุมเสร็จสิ้น แต่ไม่ครบเงื่อนไข ก็ไม่ผ่าน จะต้องจัดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งการจัดแต่ละครั้งนั้นใช้งบประมาณจำนวนมาก ใช้กำลังคนมาก เพราะต้องใช้แสงสีเสียง และกำลังคนรับผิดชอบทุกส่วนมิให้ขาดตกบกพร่อง

ผมไม่ใช่ “แม่งาน” แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานเป็นคนควบคุมเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด หากเกิดความรุนแรงขึ้นมาก็มีมาตรการจัดการที่เหมาะสม และใช้วิจารญาณจากประสบการณ์ตัดสินใจควบคุมให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย จึงเป็นบทบาทที่สำคัญที่เขามอบให้ผม เพราะมีหลายงานที่ฝ่ายข่าววิเคราะห์ว่าจะมีการประท้วง จะมีการต่อต้าน อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ ซึ่งก็มีจริงจากประสบการณ์ของกลุ่มงาน…

งานที่เพิ่งผ่านมาหยกๆนี้ เป็นหน่วยงานใหญ่มากๆ มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก และเป็นเป้าหมายของฝ่ายคัดค้าน เพราะประชาชนเคยได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมมาแล้ว และคาราคาซังกันมานาน เป็นคดีในศาลก็มี การจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย..จึงเป็นโอกาสตามกฎหมายที่ประชาชนเหล่านั้นจะเข้ามาพูด และแสดงออกซึ่งความเห็นของเขา จากบทเรียนของเขา จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของเขา

การประชุมเตรียมการเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้รัดกุมที่สุด เพื่อให้ดีที่สุดกับทุกฝ่ายโดยคาดการณ์ว่าจะมีชาวบ้านมาร่วม ประมาณ 2000 คน เพราะครั้งก่อนคาดการณ์ว่าจะมา 1000 แต่มาจริง 1800 กว่าคน เกิดปัญหากระทบมากมายต่อการเตรียมการที่ไม่พร้อม เช่นเอกสารแจกไม่พอ อาหารว่าง เครื่องดื่มไม่พอ อาหารกลางวันไม่พอ ขลุกขลัก ที่นั่งไม่พอ ซึ่งหน่วยงานที่ว่าจ้างไม่ชอบที่จะให้เกิดความไม่เพียงพอเช่นนั้น แบบ “เหลือได้แต่ห้ามขาด” การเตรียมการครั้งนี้จึงมโหฬารบานตะไท จ่ายไม่อั้น

โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือกับความรุนแรง ใช้กำลังมากมายทั้งตำรวจ และ รปภ. อปภร. และฝ่ายต่างๆระดมกันมาในรูปแบบต่างๆพร้อมที่จะปกป้องให้การดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดี การตรวจสอบ การเชค การทดสอบ ล้วนใช้งบประมาณ ใช้เวลา ใช้กำลังคนมากมาย

เราก็พลอยตื่นเต้นตูมตามไปด้วย เพราะ ….ตรู..กำลังเผชิญหน้ากับอะไรหนอ…. และเราเป็นคนนอกที่ไม่รู้รายละเอียดเชิงลึกของพื้นที่ ของคน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของผู้ดำเนินการที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมด้วย เราจึงต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดทั้งเอกสาร ตัวบุคคลเท่าที่จะหาได้

หกโมงเช้าทุกคนมาพร้อมที่สถานที่ดำเนินงาน พระออกบิณฑบาต หมอกจางๆกระจายไปทั่ว นกออกหากิน น้ำค้างบางๆรวมตัวกันเป็นหยดบนผิวใบไม้ริมถนน แม้ถนนก็ถูกจัดการทุกอย่างตามแผนงาน ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายตรวจสอบสิ่งที่เขารับผิดชอบ เครื่องมือ อุปกรณ์ทำงานไหม สิ่งของต่างๆวางในสถานที่ถูกต้องไหม work ไหม ระบบสื่อสารถูกเชค ฯลฯ

ตะวันแดงเริ่มโผล่ขอบฟ้าโน้น หมอกเมฆบดบังแล้วเคลื่อนตัวจางหายไป เสียงเรียกให้มากินข้าวห่อที่ตระเตรียมมาพร้อม เอาน้ำมาเสริฟแล้ว ต่างเชค ตรวจสอบในเรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบกัน ผู้ว่าจ้างทยอยมาในรูปแบบต่างๆ กับต่างมองหน้ากันว่า เวลามาถึงแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหนอ…วิตกจริตจริงๆ

แปดโมงเศษ การลงทะเบียนเริ่มขึ้นแล้ว มีพนักงานของหน่วยงานผู้ว่าจ้าวทยอยมาลงทะเบียนแล้วกระจายไปนั่งในสถานที่ต่างๆในห้องเปิดที่มีเก้าอี้สองพันกว่าตัววางจัดระเบียบอย่างดี มีชาวบ้านสองสามคนมา เราเองเดินไปพิจารณามุมโน้นมุมนี้ของห้องเพื่อประเมินข้อบกพร่องที่อาจมี หรือมองแล้วเห็นแง่มุมอะไรบ้าง ก็ปรึกษาหารือกัน

แปดโมงครึ่ง ชาวบ้านมากันหนาตามากขึ้น ลงทะเบียน รับเอกสาร รับของว่าง น้ำดื่มติดมือมานั่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่พาไปนั่งตามบทบาทหน้าที่ที่เตรียมกันไว้

ผ่านเวลาทำพิธีเปิดไปแล้ว ประธานมาแล้ว แต่ชาวบ้านยังมาน้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะมีผลบังคับเรื่องเวลา จึงต้องทำการเปิดการประชุม มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อจำนวนเวลาประชุมตามกฎหมายกำหนด ประธานพูดมากตามที่พวกเราเป็นห่วง เพราะคราวที่แล้วประธานพูดยาวเกินไป เกินเหตุ ชาวบ้านจึงลุกมาต่อต้านชี้หน้ากันกลางห้องประชุม ประธานแบบนี้แม้ว่าจะร้องขอท่าน ท่านก็ไม่สนใจ

เมื่อถึงเวลาบรรยายข้อมูลให้ที่ประชุมเพื่อประกอบความเห็นที่เขาอาจจะมีเกิดขึ้นก่อนเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นเห็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาแบบนัดหมายกันมา ถือป้ายต่อต้านมาด้วย แต่ตำรวจร้องขอให้เอาป้ายไว้ด้านนอก ไม่อนุญาตเอาเข้ามาในห้องประชุม

แล้วช่วงเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็มาถึง เราจัดระเบียบการพูดไว้โดยให้คิวตามลำดับ เราเป็นคนเชิญให้พูด โดยไม่จำกัดเวลาแต่ร้องขอให้กระชับ แล้วการแสดงความคิดเห็นก็พัฒนาความร้อนแรงขึ้นตามประเด็นที่ชาวบ้านมาพูด ตามน้ำเสียงและวิธีการพูด….มีเสียบปรบมือตอบรับบ้างเป็นครั้งคราว

แต่ชาวบ้านไม่ได้มามากตามที่คาดการณ์……….

คิวการพูดผ่านไปเรื่อยๆ เราเดินไปสังเกตมุมโน้นมุมนี้ แล้วก็ไปถามคุณยายคู่หนึ่งที่ท่านมาร่วมการประชุมนี้ด้วย

ไพศาล คุณยายครับพี่น้องชาวบ้านมากันน้อยจัง…

คุณยาย เออ..คุณ.. เมื่อสองวันก่อนฝนมันตก(เรานึกว่าแล้วเกี่ยวอย่างไร) วันนี้แดดออกดีเชียว ชาวบ้านก็รีบลงนาเกี่ยวข้าวน่ะซีคุณ…..

เท่านั้นเอง อ๋อ………..


 


ตัวตนไทโซ่ที่ Pullman กลางกรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 27, 2012 เวลา 22:57 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1673

เมื่อวันที่ 26 ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power Hotel มีการประชุมนำเสนอบทเรียนที่เรียกว่า Rural Development Model based on Sufficiency Economy for Asia Rural Community in the Future ซึ่งจัดโดย JICA และ สปก. และทีมงานเก่าโครงการ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฎิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรผสมผสาน หรือ คฟป. ที่ผมเคยประจำที่ อ.ดงหลวง มุกดาหารมาเกือบ สิบปี


เป็นเรื่องน่าสนใจมากเพราะเป็นการสรุปบทเรียนการทำงานมาทั้งหมดโดยทีมงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัย Chubu แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะมุมมองของ Prof. Masato Noda หยิบเอาเรื่องพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ไปเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ที่ญี่ปุ่นสนใจเอาไปเป็นทางเลือกทางรอดของสังคมของเขา รายละเอียดค่อยเจาะกันต่อไป

ผมมีประเด็นเล็กๆที่จะหยิบมาสะท้อน กล่าวคือ การประชุมครั้งนี้ทางผู้จัดมิได้เปิดกว้างทั่วไปจะเชิญวงในเฉพาะส่วนที่เคยเกี่ยวข้องกับโครงการ คฟป. มาก่อน เช่น ตัวแทนผู้นำเกษตรกร ข้าราชการที่เคยร่วมงาน หน่วยงานราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวง ฯลฯ

ฝ่ายต่างประเทศนั้นผมเห็นคนญี่ปุ่นมากันเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ JICA และสถานทูตญี่ปุ่น และบริษัทที่ปรึกษา

บรรยากาศในงานเป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยทั้งของนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น มุมแสดงกิจกรรมที่สำคัญ เช่นตลาดชุมชน กลุ่มข้าวพื้นบ้านและผักปลอดสารพิษ การเกษตรผสมผสาน และอื่นๆ


 

ตลอดงานช่วงเช้าที่ผมอยู่ร่วมงาน เสียดายที่ตอนบ่ายผมต้องเดินทางไปนครชัยศรี นครปฐมจึงไม่ได้ร่วมงานช่วงบ่าย ตลอดช่วงเช้ามีการนำเสนอผลการวิจัยของคุณ Noda ที่ผมสนใจมากๆ

ตลอดการสัมมนาครั้งนี้ ตัวแทนชาสบ้านจากจังหวัดที่มีโครงการ คฟป.นั้น นั่งกระจายกันอยู่ แต่ที่เดาออกโดยไม่ต้องหันไปดูคือ เกษตรกรจาก ดงหลวง มุกดาหารนั้นจะนั่งหลังสุด ติดฝาห้องเลย นี่หากแทรกฝาได้คงแทรกเข้าไปแล้ว อิอิ (ผมก็กล่าวให้เว่อร์ไป) ทั้งนี้ในฐานะที่ผมคลุกคลีกับดงหลวงมานานจึงรู้ดีว่า นี่คือตัวตนของกลุ่มคนไทโซ่ ดงหลวง

ไทโซ่จะถ่อมตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนต่ำ ล้าหลัง เป็นน้อง เป็นผู้ด้อยกว่า….. ทุกครั้งที่เราจัดประชุมสัมมนาร่วมกับเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ภาพทำนองนี้ในลักษณะต่างๆจะปรากฏ หากเราเป็นคนช่างสังเกต ทำไมเป็นเช่นนี้ ก็ต้องเข้าในรากเหง้าของไทโซ่ ใครสนใจก็ไปศึกษาได้จาก เรื่องเล่าจากดงหลวง ที่ผมรวบรวมไว้นั่นแหละครับ

พฤติกรรมเหล่านี้ นักพัฒนาสังคมต้องเข้าใจ เรียนรู้ และอ่านรหัสนัยนี้ให้ออกเพื่อการเดินกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มไทโซ่ที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับตัวตนของเขา

นักการศึกษา หากเอา Pattern การศึกษาที่ใช้กันทั่วไปมาใช้ก็จะไม่ได้ผลเต็มที่

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ดูจะเป็นคำที่มีความหมายมากกว่าการท่องบ่น และพูดอ้างกันทั่วๆไป…..


ครูเสือ ถึงป้าหวาน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 14, 2012 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1272

เมื่อวาน มีเสียงโทรศัพท์มาถึง บอกว่า เสือ ครับจะมาเยี่ยมที่บ้าน

เอ มันเสือไหนกันล่ะ เสือ ดำ เสือโคร่ง เสือฝ้าย เสือมเหศวร…. สักพักเล็กๆก็นึกออก ครูเสือสมาชิกเฮฮาศาสตร์ของเรานี่เอง ลูกชายมาเรียนเทคนิค ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ปีสองแล้ว มาเยี่ยมลูกก็อยากมาเยี่ยมพี่บู๊ด นานแล้วไม่ได้พบปะกัน

เอ้า..มาซิวันนี้อยู่บ้าน พรุ่งนี้อยู่ระยอง มาเลย มาเลย

รถเก๋งเก่าๆ สัมภาระในรถเต็มไปหมด ตามประสาคนง่ายๆ สบายๆ ไม่ใช่ประเภท เมโทร…ที่ต้องเนียบไปหมดทุกอย่าง

เราแลกเปลี่ยนกันนานสมควรเพราะไม่ได้พบปะกันนาน แม้ในลานในเฟสก็ไม่ได้คุยกัน ผ่านแวบๆบ้าง ครูเสือบอกว่า ยังสอนเด็กอยู่ ภรรยาคนเก่งไปทำงานเชียงใหม่ ลูกชายคนเดียวเรียนที่เทคนิคนี่แหละ หากหมดภาระอีกสัก 5 ปี ตั้งเป้าในใจไว้ว่าอยากเดินสู่อิสรภาพเหมือน ดร.ประมวลเพ็งจันทร์ แห่ง มช.ที่ลาออกจากราชการแล้วเดินจากเชียงใหม่ลงไปบ้านบ้านเกิดที่เกาะสมุย จนโด่งดัง

ผมหยิบเอา อาจารย์ประมวลมาคุยกับเสือเพราะผมรู้ว่า เสือเป็นคนหนึ่งที่สนใจด้านลึกของชีวิต และพอดีที่ อ.ประมวลให้สัมภาษณ์ใน สกุลไทย ฉบับล่าสุด ที่บ้านผมรับประจำ จึงได้อ่านคำสัมภาษณ์ท่าน ยังเฉียบ คม ลุ่มลึกเหลือเกิน ทำให้ผมต้องไปค้น เดินสู่อิสรภาพ หนังสือที่ท่านเขียนหลังเดินทางไกลด้วยเท้าเปล่าและไม่มีเงินติดตัวสักบาทเดียว เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ใครไม่เคยอ่านไปหามาอ่านซะ แนะนำครับ

ผมสนใจและชอบมุมมองชีวิตของ อ.ประมวลมาก จนต้องมาเขียนถึงท่านอีกและอยากแนะนำให้ใครๆอ่านหนังสือของท่านครับ

การเดินของท่าน แน่นอน ผ่านประสบการณ์สุดๆทั้งในแง่บวกและลบ คนข้างทางมองท่านเป็นคนบ้า คนเข้าใจท่านมองท่านคือเทวดา ผู้แน่วแน่ในการค้นหาตัวเองที่ยากใครจะทำจริงๆได้ เพราะคนเราติดสุขกันทั้งนั้น ที่ก้มหน้าทำงานกันงกงกนี่ก็เพื่อความสุข แม้ทางกายก็ตาม….รวมทั้งผมด้วย

แต่บ่อยครั้งที่ผมวกกลับมาสำนึกถึงเรื่องด้านในของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เหนี่ยวรั้ง หรือกระตุ้นจิต ด้านในไว้คือ การเดินเข้าสู่สภาวะความตายจากไป อันเป็นเรื่องปกติของชีวิต ทำอะไรได้บ้างเล่า รีบทำเสีย คิดมาคิดไปยังไม่ได้ทำอีกมากมาย…

ขอบคุณครูเสือที่เป็นกัลยาณมิตรมาเสวนาเรื่องราวด้านในแก่กันแบบสบายๆ คุยกันนานมากประมาณ 6-7 ชั่วโมง

ในระหว่างนั้น ครูเสือยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเอาไฟล์ เรื่องเล่าจากดงหลวง ขึ้นไปแปะไว้ เพื่อให้ท่านที่สนใจดาวน์โหลดไป เพราะตัวหนังสือไม่มีแจก อยากจะแจกแต่ไม่มีจะแจกน่ะซีครับ ครูเสือสอนไว้ ทำให้ดู ให้ผมมาทำต่อ ก็ยังคลำอยู่เลยครับ จนคอมแฮงค์ไปเมื่อเช้าต้องหิ้วเข้าโรงซ่อมที่ it city หลักสี่ ช่างเขาเคาะสองสามทีบอกลุงเอาไปใช้ต่อได้แล้ว ไม่เอาตังค์ด้วย ขอบอกขอบใจแล้วก็หิ้วกลับบ้าน เสียค่าแท็กซี่ไปเกือบสองร้อยบาท แต่ไม่เสียค่าซ่อมคอมพ์ เดี๋ยวนี้ก็มานอนห้องหรูที่ระยองแล้ว พรุ่งนี้จะปฏิบัติภารกิจต่อไป

ขอบคุณครูเสือมากๆครับ จริงๆป้าหวานอาสาช่วยผมในเรื่องเอาไฟล์แปะไว้ที่ไหนสักที่ ก็เกรงใจป้าจริงๆ ครูเสือมาช่วยและมอบให้ผมทำต่อ ก็ยังเปะปะอยู่ครับเนี่ย… ช่วยกันเน๊าะป้าหวานเน๊าะ


บัณฑิตชนบท..

อ่าน: 1897

ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งรับนักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนมาฝึกงาน อาจารย์ก็มอบงานให้ทั้ง 5 คนไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสนามตามแผนงานที่มีอยู่แล้ว

ก่อนลงสนามก็ต้องมาคุยกันก่อนว่ามี วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร กระบวนวิธีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนเมื่อจะเก็บข้อมูลก็ต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะสาระของข้อมูลที่จะต้องเก็บ อย่างละเอียดยิบ เพราะประเด็นคำถามนั้นมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจด้วยภาษาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีบ่อยครั้งที่ผู้ไปซักถาม ตีความหมายผิด ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ออกแบบสอบถาม ยิ่งไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สำนวนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของท้องถิ่น ก็จะยิ่ง สื่อสารให้ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจ ผู้ตอบก็จะให้ข้อมูลที่ไปคนละทิศละทาง สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กลายเป็นขยะไป

มีเรื่องเก่าที่ขอยกตัวอย่างอีกครั้ง นักศึกษาปริญญาโทมาเก็บข้อมูลสนาม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจของชาวชนบทต่อหลักศาสนาบางประการ

นักศึกษา: คุณยายนับถือศาสนาอะไรครับ

คุณยาย: ศาสนาพุทธซิไอ้หนู

นักศึกษา: คุณยายช่วยอธิบายเรื่อง เมตตา หน่อยซิครับว่าหมายความว่าอย่างไร

คุณยาย: ห้วย…. จะให้ยายอธิบายจั๊งใด๋ ยายบ่อจั๊กแหล่ว…

ระหว่างคุยกันนั้น ยายก็เอาน้ำมาให้นักศึกษาดื่มกิน เมื่อเวลามาถึงเที่ยง ก็เตรียมอาหารมาให้กิน… เมื่อสิ้นสุดการซักถามนักศึกษาก็ลากลับไป แล้วก็ไปสรุปว่า คุณยายไม่เข้าใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องความมีเมตตา แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น…?

หารู้ไม่ว่า ยายนั้นไม่สามารถอธิบายความหมายเป็นภาษาได้ แต่ยายปฏิบัติ ก็ยายมีเมตตาต่อนักศึกษาไงถึงได้เอาน้ำเย็นมาให้ดื่มกิน เอาข้าวปลามาเลี้ยงดูปูเสื่อ นักศึกษาเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจหลักศาสนาภาคปฏิบัติ…

นักศึกษาคุ้นเคยแต่ท่องจำแล้วไปสอบเอาคะแนน ตามหลักการวัดผลการศึกษาไงเล่า การวัดผลวัดแค่การท่องจำและขีดเขียนออกมาได้ แต่การเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติวัดไม่เป็น หรือไม่ได้วัด หรือไม่อยากไปวัดมันยาก…

กลับมาที่นักศึกษาที่มาฝึกงานที่สถาบันวิจัยฯ อาจารย์บอกว่า เธอทุกคนต้องจดบันทึกการสัมภาษณ์ว่าชาวบ้านตอบอะไรบ้าง จดมาให้ละเอียดเลย นักศึกษาสาวคนหนึ่งไม่สนใจการทำความเข้าใจเตรียมตัวลงสนาม กลับบอกอาจารย์ว่า หนูไม่จดหรอกค่ะ หนูมีเทปบันทึก ..?

วันแรกที่ลงสนามจริงๆ เธอแต่งตัวอย่างกับไปช็อปปิ้ง ทาปากแดง สวยเชียว แล้วก็ทำเช่นนั้นจริงๆให้รุ่นพี่สัมภาษณ์แล้วเธอก็เอาเทปมาบันทึก เธอไม่สนใจการสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลของรุ่นพี่กับชาวบ้าน เธอเล่นผมยาวๆของเพื่อน นั่งถักเปียกัน…และ….

วันรุ่งขึ้นเธอมาบอกอาจารย์ว่าหนูไม่ไปฝึกงานแล้ว มันลำบาก หนูขอลาออกจะไปฝึกงานที่สำนักงานเทศบาลเมืองดีกว่านั่งแต่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายกว่า…???

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยนั้น ก็อนุญาตให้ลาออกไปฝึกงานที่อื่น..พร้อมส่ายหัวว่า นี่นักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนนะเนี่ยะ เข้าเรียนผิดคณะหรือเปล่า…

ไม่ระบุสถาบันนะครับ เสียหาย ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะแต่เขียนไม่ได้….

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยท่านนั้น บอกว่า ให้เด็กพัฒนาชุมชนไปทำ Seasonal calendar ของครอบครัวชาวบ้านหน่อย เขาบอกว่าทำไม่เป็น อาจารย์ถามว่าท่านไหนสอนเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน” นักศึกษาตอบว่า ก็อาจารย์ ดร. …………..เป็นผู้สอน พอเดาออกครับว่า กระบวนการเรียนการสอนนั้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ แค่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ก็พูดปาวๆพร้อมกับเทคโนโลยีทางการสอน เช่น Power point รูปภาพ รายงานที่วางไว้หน้าชั้น ….. แต่ไม่เคยพานักศึกษาออกปฏิบัติจริง จึงทำไม่เป็น

นักศึกษาทั้ง 5 คนลาออกไปฝึกงานกับเทศบาลที่นั่งแต่ในห้องเย็นๆ ต่อมาอีกสองวัน มีเด็กสองคนในห้าคนนั้นกลับมากราบอาจารย์ที่สถาบันวิจัย ขอกลับมาฝึกงานที่นี่ใหม่ แต่สามคนไม่มา สองคนนี้บอกว่า หากไปฝึกงานที่เทศบาลจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องชนบทเลย ขอกลับมาและกราบขออภัยคราวที่แล้ว…

ที่บริษัทที่ปรึกษาก็เอาเด็กปริญญาโทออกไป แม้ปริญญาเอกก็เอาออกไปก็มีเพราะทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ได้ไม่มีคุณภาพ ห่วยแตกว่างั้นเถอะ….

เป็นเรื่องหนักใจของหน่วยงานจริงๆที่บัณฑิตไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น…. ก็ดูการฝึกงานเป็นกรณีตัวอย่างซิ

สรุปว่า.. เป็นห่วงบัณฑิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้เชิงปฏิบัติ เราเป็นห่วงคุณภาพของความเป็นบัณฑิต ไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของความรู้ ไม่ใช่ของจริง แค่ฉาบฉวย ล่องลอยไปกับกระแสสังคมที่เป็นสังคมบริโภค โอยจะสาธยายอย่างไรถึงจะหมดเนี่ยะ

ครับไม่ใช่ทุกสถาบันนะครับ ไม่ใช่บัณฑิตทุกคนนะครับ แต่ดูจะมีเรื่องราวดังกล่าวมานี้มากเหมือนกันครับ

จริงๆนักศึกษาที่มาสนใจทำงานพัฒนาชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัว เซอ เซอ มอมๆ หล่อได้ สวยได้ครับ แต่ต้องไม่สักแต่หล่อ แต่สวยแต่ไม่มีกึ๋น หากสนใจอย่างนั้นไปเป็นพริตตี้ดีกว่านะจ๊ะคนสวย….


ปากกาของบัณฑิตคืนถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 9, 2012 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1426

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปงานศพพี่จำลอง พันธุ์ไม้ท่านเป็นบัณฑิตอาสาของโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่มี ดร.ป๋วย เป็นผู้ริเริ่ม ในงานศพที่ขอนแก่นครั้งนั้นมีเพื่อนบัณฑิตร่วมรุ่น ต่างรุ่น ร่วมสถาบัน ต่างสถาบันไปร่วมมากมาย รวมทั้งยาหยีของผม เพราะเธอเป็นบัณฑิตอาสารุ่น 8 ของ มธ. แม้ว่าเธอจะเรียนจบจากจุฬาฯ

ผมกล่าวได้ว่า ความเป็นบัณฑิตอาสาของ มธ.นั้นมีแรงเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นมากๆ ไม่ว่าแต่ละคนจะไปประกอบอาชีพอะไร ฐานะทางสังคมเป็นเช่นไร ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เกาะเกี่ยวกันแน่นมากแม้ยามร่วงโรยลาจากกันไป

เป็นเพียงปรากฏการณ์ด้านหนึ่งเท่านั้นในสังคมที่มีคนกลุ่มหนึ่งผ่านกระบวนการฝึก ในหลักสูตรเพียงปีเดียวก็มีเยื่อใยกันขนาดนี้ เป็นสิ่งที่ดีครับ

คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ผ่านกระบวนการบัณฑิตอาสา(ส่วนใหญ่) แต่มีสำนึกต่อบ้านเมืองสูงมาก คนกลุ่มนี้เอาบ้านเอาเมืองเป็นโจทย์ใหญ่ และกระโดดเข้าแบก อุ้ม ดัน ผลัก ลาก จูง คือกลุ่มคนที่เป็นผลผลิตทางอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมเข้ามาเป็นสำนึกอย่างสูง คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย กัดไม่ปล่อย ทำในทุกบทบาทที่เขาสังกัดอยู่ อาจจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มที่มีอิทธิพลเดือนตุลาเป็นพลัง หลายคนก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงใดๆได้พอสมควรทีเดียว หลายคนยังจมดิ่งอยู่กับกระบวนการชาวไร่ชาวนา แม้ว่าหลายคนบ่ายหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจ นักวิชาการ แต่ก็ไม่ทิ้งการร่วมด้วยช่วยกัน ยามใดที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ร้องขอ เขาก็พร้อมจะเทกระเป๋าให้ แม้ว่าจะเอาสีมาสาดใส่เสื้อเป็นนั้นเป็นนี่ แต่ความเข้มข้นนั้นปรอทวัดไม่ได้

บัณฑิตจะก้าวลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งบัณฑิตรุ่นใหม่ที่ฝันนี้ แน่นอนทุกท่านคาดคิดว่า “ต้องเปลี่ยนด้านใน” คือสำนึก ที่ตกผลึกมาจากระบบคิด ความใฝ่ฝัน เจตนา ประสงค์ ต้องการ ที่มาจากด้านใน เราจะสร้างสำนึกได้อย่างไร เราจะวัดมันได้อย่างไร เราจะประคับประคองให้สำนึกมันเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น มิใช่ฝ่อไปในบั้นปลาย เพราะแรงโน้มน้าวของค่านิยมแห่งยุคสมัยมันมาแรงจัดมากๆ

โปรแกรมด้านนี้ เชื่อว่าคณาจารย์ทุกท่านตระหนักดี และมีรูปธรรมหลายประการรองรับอยู่ แต่ต้องตรวจสอบบ่อยๆนะครับ เพราะจิตใจคนนั้นตอบสนองต่อสิ่งเร้า ตามหลักทั่วไปที่เราเข้าใจ ตราบใดที่สำนึกไม่ได้ตกผลึก มันก็พร้อมที่จะรื่นไหล เลี้ยวออกไปทิศทางอื่นๆ ผมเชื่อว่าการคืนถิ่นนั้นมิใช่ เอาทุนไปซื้อจอบซื้อเสียมแจก เอาที่ดินไปแล้วเจ้าไปทำมาหากินให้อยู่ได้ แต่สมัยนี้นอกจากจอบเสียมแล้ว เกษตรกรสมัยใหม่ต้องพก “ปากกา” ด้วย ปากกา เป็นตัวแทนการก้าวทันเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ๆ และการรู้จักดัดแปลงเอาไปใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม เงื่อนไข แห่งนั้นๆ วิชาดัดแปลงมีเรียนมีสอนไหมล่ะ

หลายอย่างบัณฑิตต้องใช้ความรู้ไปสร้างความรู้ใหม่ๆ สถาบัน คณาจารย์ไม่สามารถป้อนได้หมดหรอก ดังนั้น เมื่อดัดแปลงได้เธอก็ก้าวไปอีกขั้นของการเป็นบัณฑิต อาจจะสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยใช้เทคโนโลยี่ปัจจุบันที่มันพัฒนาการไปไกลมากแล้วนั้นให้เป็นประโยชน์แก่เส้นทางของเราเถิด

เขียนบันทึกไว้เผื่อฟ้าดินจะสื่อสารไปถึงบัณฑิตที่เป็นอนาคตของสังคมของเรา…


สำนึก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 5, 2012 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1477

วันก่อนผมเขียนถึงบัณฑิตคืนถิ่น โครงการของสมเด็จพระเทพฯ ที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดูแล และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาไปจัดค่ายหรือเสวนากันที่น่าน วิทยากรท่านหนึ่งให้ผมโฟนอินเข้าไปร่วมด้วย ตอนหนึ่งผมกล่าวว่า “…ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก..” ผมเอามาโพสต์ในนี้ นักวิชาการศึกษาที่ผมนับถือยิ่งท่านหนึ่งกล่าวเห็นด้วย และจะไปพิจารณาต่อไป

ผมนำประเด็นนี้มาทบทวน เห็นว่าคำกล่าวของผมนั้นยังไม่ถูกต้อง ที่กล่าวว่า “ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก” ผมมีความเห็นว่า..ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้..นั้นเป็นความจริง แต่การกล่าวว่า..ไม่ได้ให้สำนึกนั้น ไม่ถูกต้อง เพาะสำนึกนั้นให้ไม่ได้ แต่ควรใช้คำว่า “สร้างสำนึก” เพราะสำนึกนั้นมันเป็น “เรื่องภายใน” เป็นเรื่องจิต สภาวะหยั่งรู้ของจิตถึงความดี ความชอบ สิ่งที่ควรทำสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งควรเคารพ ควรประพฤติ ควรปฏิบัติ มันเป็นเรื่องที่บอกกันได้ เรียนรู้กันได้ รับรู้ได้ แต่รู้แต่ไม่สำนึก รับรู้แต่ไม่เกิดสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องสภาวะด้านในของจิต น่าจะใช้คำว่า “สร้างสำนึก” มากกว่า

รูปธรรมในเรื่องนี้มีมากมายในแต่ละวันของสังคมไทย

การจราจรทุกวันในเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯนั้น มีพฤติกรรมมากมายที่บ่งบอกทั้ง ว่าผู้ขับขี่รถยนต์นั้นมีความรู้เรื่องกฎ กติกาจราจร แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งในท้องถนนที่มีสำนึกสูงมาก เขาหยุดรถ ตรงเครื่องหมายที่เว้นช่องว่าไม่ควรหยุดรถตรงนี้ มีผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อยที่ยอมให้รถอีกเส้นทางหนึ่งไปก่อน ที่เราเรียก “น้ำใจ” ที่มีให้ต่อกัน เห็นป้ายจราจรหลายแห่งบอกให้มีน้ำใจต่อกัน ซึ่งก็ดีที่เป็นป้ายเตือนสติให้คนเราไตร่ตรองเรื่องนี้มากขึ้น แต่ป้ายนี้ไม่สามารถสร้างคนให้มีน้ำใจได้

นานๆเราจะได้ยินว่าคนขับแท็กซี่เก็บกระเป๋าเงิน หรือสิ่งของมีค่าที่ผู้โดยสารลืมไว้ในรถแล้วเอาไปให้สื่อมวลชนประกาศหาเจ้าของ…นี่คือ “น้ำใจ” และนี่คือ “สำนึก” ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องมีใครบอก แต่มันเกิดขึ้นมาภายในจิตใจว่า สิ่งที่ถูกต้องที่สังคมควรพึงปฏิบัติต่อกันนั้นคือการเอาสิ่งของมีค่านั้นๆคืนให้เจ้าของเขาเสีย

บังเอิญผมดูรายการไทยพีบีเอส เกี่ยวกับรัฐสภา ซึ่งวิทยากรเชิญคุณดำรง พุฒตาลมาคุยกันถึงเรื่อง AEC ตอนหนึ่งวิทยากรพูดถึงว่า ประเทศที่ไม่มีคอรัปชั่น โปร่งใสที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด ประชาชนเคารพกติกาสังคมมากที่สุด คือ ประเทศนิวซีแลนด์ วิทยากรเล่าว่า เขาได้รับฟังเรื่องเล่าจากสตรีไทยที่มีสามีเป็นชาวนิวซีแลนด์ เล่าว่า วันหนึ่งสามีไปตกปลา ก็นำปลากลับมาบ้าน แล้วบอกภรรยาที่เป็นคนไทยว่า …วันนี้ตกปลาได้ 10 ตัว…

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมภรรยาไปเอาปลามาเพื่อประกอบอาหาร พบว่ามีปลาแค่ 4 ตัว จึงไปถามสามีว่า ที่บอกว่าตกปลาได้ 10 ตัวทำไมมีปลาเพียง 4 ตัว สามีกล่าวว่า ตกปลาได้ สิบตัวจริง แต่ 6 ตัวนั้นปล่อยกลับคืนทะเลไป ภรรยาคนไทยงงมากๆ ทำไมเป็นเช่นนั้น สามีอธิบายว่า ปลา 6 ตัวนั้น 3 ตัวเป็นปลาขนาดเล็ก กฎหมายห้ามจับปลาเล็กจึงปล่อยไป อีก 3 ตัวเป็นปลาขนาดใหญ่มาก กฎหมายก็ระบุว่า ปลาขนาดใหญ่นั้นเขาจะเป็นพ่อพันธ์แม่พันธ์ต่อไป ควรปล่อยให้เขาขยายพันธ์ต่อไป จึงปล่อยลงทะเลไป..

ภรรยางงใหญ่ บอกสามีว่า ก็เอาปลาใหญ่มาบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยไปทั้งหมด สามีบอกว่า ทำเข่นนั้นไม่ได้ พร้อมทั้งกำมือมาทุบที่ดวงใจพร้อมกล่าวว่า หากทำเช่นนั้น “..จะเป็นความรู้สึกผิดข้างใน..” ไม่มีคำอธิบายใดๆอีกแล้ว มันแจ่มแจ้งแทงใจจริงๆ นี่คือ “สำนึก” ที่มันเกิดขึ้นมาข้างใน แม้เขาจะมีโอกาสละเมิดกฏิกา โดยที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่ “ตัวเขาเองรู้” และนั่นคือรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด ไม่ถูกต้อง สำนึกข้างในบอกว่า ไม่ควรทำ.. กฏิกามีไว้ดีแล้ว เหมาะสมแล้ว ทุกคนควรเคารพ และปฏิบัติตามเพื่อวัตถุประสงค์ของกติกานั้นๆ….

ผมนึกถึงช่วงที่ผมมีโอกาสไปลงชุมชนชนบทในประเทศลาว ผมพบว่า ในหมู่บ้านมีครอบครัวที่มีแต่คนแก่ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้เฒ่า อยู่อย่างโดดเดี่ยว ผมนึกว่าหากเป็นเมืองไทย เขาอาจจะไปเป็นขอทานตามถนนในเมือง หรือดีหน่อยก็สังคมสงเคราะห์ก็เอาไปพักที่สถานที่พกคนชรา หรือมีเงินช่วยเหลือให้ แต่ที่ชนบทลาวแห่งนี้ คนแก่ คนเฒ่า ผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนตามปกติได้ แม้จะไม่มีลูกหลานมาดูแลเพราะ “…..ชุมชนเขาช่วยกันดูแล…” คนโน้นคนนี้เอาข้าวมาให้ บ้านซ้ายบ้านขวาเอาเสื้อผ้า หยูกยามาให้…นี่คือน้ำใจ นี่คือสำนึก..

ในสังคมไทยเราก็มีเรื่องราวแห่งสำนึกนี้มากมาย โดยเฉพาะในชนบท… แต่หายากยิ่งกว่าหาทองในฝาเครื่องดื่มชนิดหนึ่งเสียอีก….

แล้วสังคมเราจะช่วยกันได้อย่างไร การศึกษาจะมีส่วนสร้าง “สำนึก” นี้ให้แก่คนหนุ่ม สาว ที่เป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร..

เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบครับ



Main: 0.086962938308716 sec
Sidebar: 0.036452054977417 sec