ห้าบาท
สมัยเด็กๆนั้นเงินหนึ่งบาทมีค่ามาก เหรียญบาทที่ตรงกลางเป็นรู หายไปตั้งเมื่อไหร่ไม่รู้ตัวเลย แต่นานมากแล้ว รู้ตัวอีกทีมีแต่เหรียญห้าบาทเต็มกระเป๋า
เคยได้ยินมาว่าการที่เหรียญบาทหายไปในท้องตลาด ทำให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการซื้อขายและการบริการในตลาดมากทีเดียว รถเมล์จะขึ้นราคาทีก็ขึ้น 5 บาทไม่ขึ้น 50 สตางค์ หรือ 1 บาท 2 บาท พรวดทีเดียว 5 บาท ประชาชนก็แบกภาระหนัก อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับ ท่านที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าก็คงมีเหตุผลมากมายมาอธิบายโต้แย้งความคิดผม เช่น ก็น้ำมันมันขึ้นราคาทุกวัน สินค้านานๆขึ้นทีก็ขึ้นซะทีเดียวไปเลย อย่างนี้แม่ค้าก็อธิบายได้
ผมเองมักเป็นเด็กหิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาดสดให้คนข้างกายบ่อยๆ ชอบไปด้วยเพราะตลาดเป็นตัวชี้วัดหลายๆอย่างของสังคม เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกินตามฤดูกาล เป็นตัวบ่งบอกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลอะไร ผักหวานป่าออก ก็หมายถึงเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว เป็นต้น ตลาดบ่งบอกสภาวะเศรษฐกิจในสังคม ประเทศ สินค้าที่เราซื้อหามาทุกวันทุกวันนั้นราคามันเปลี่ยนแปลงเสมอ คุณภาพสินค้า ขนาด ปริมาณสินค้า แหล่งที่มาของสินค้า ล้วนบอกอะไรเรามากมาย
อยู่ขอนแก่น แต่กินส้มเชียงราย กินผักเพชรบูรณ์ กินมะละกอดำเนินสะดวก กินผักดองเชียงใหม่ อยู่มุกดาหาร กินอาหารป่าจากฝั่งลาว กินผักจากสกลนคร กินพริกจากหัวเรืออะไรทำนองนี้… ไปเที่ยวแม่สอดจังหวัดตากกินแอปเปิ้ลที่มาจากแม่สาย เชียงราย
สมัยเรียน มช. ที่ข้างตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ใกล้หอพักชายอาคารหนึ่ง มีชาวบ้านมาขายข้าวราดแกงจานละ 1 บาท (พ.ศ. 2512-2515) ซึ่งสมัยนั้น ทั่วไปก็ห้าบาทหรือสิบบาท (ในมหาวิทยาลัยจะขายถูกกว่าข้างนอกอยู่แล้ว) นักศึกษาแต่ละคนกินมากกว่า 1 จานแน่นอน อาหารราคาถูกทำให้นักศึกษาคนจนๆก็มีแหล่งฝากท้อง พออิ่มได้
บันทึกวันนี้ที่พูดเรื่อง 5 บาท ก็เพราะไปจ่ายตลาดทุกวันนี้อะไรอะไรก็ 5 บาท แม่ค้าจะมัดผักเกือบทุกชนิดขายมัดละ 5 บาท ผักดองถุงละห้าบาท น้ำพริกสารพัดชนิดถุงละ 5 บาท ผักลวกจิ้มน้ำพริก 5 บาท พริกกองละ 5 บาท เหรียญ 5 บาทเป็นพระเอกไปเลย ไปตลาดต้องเตรียมเหรียญ 5 บาทไปเยอะๆ
การขายสินค้าที่กำหนดโดยแนวคิดเช่นนี้จะว่าดีก็ดี เพราะสะดวก ง่าย แต่จะว่าไม่ดีก็ได้ เพราะสินค้าบางอย่างเราไม่ต้องการจำนวนมากถึง 5 บาท แค่ต้องการเพียง 2 หรือ 3 บาท เขาก็ไม่ขาย ต้อง 5 บาท อันนี้ไม่ดี ส่วนเกินบางอย่างก็เก็บไว้ได้ แต่บางอย่างก็ไม่ได้ เสียหายไปเปล่าๆ
อย่างที่มุกดาหารอาหารค่ำของผมก็ไปที่ตลาดราตรี มีอาหารมื้อนี้มากมายมาวางขาย ผมเองเป็นเจ้าประจำน้ำพริกหนุ่ม ผักลวกและข้าวเหนียว หลายปีก่อนนั้นผมซื้อข้าวเหนียว 5 บาทก็พอดีท้อง มาปีสองปีนี้ 5 บาทไม่พอกินต้องเพิ่ม แต่แม่ค้าจะขาย 10 บาท ซึ่งก็มากเกินพอดี หากจะพอดีควรจะเป็น สัก 7 บาท ข้าวส่วนเกินประมาณ 3 บาทนั้นผมต้องทิ้งไปทุกวัน คิดจะเก็บเอาไว้ให้เจ้าคุ้กกี้หมาที่รักที่บ้านขอนแก่น ซึ่งเขาชอบข้าวเหนียวมากก็เก็บหลายวันไม่ได้ ในที่สุดก็ทิ้งไปโดยเสียดายที่สุด
นี่คือเรื่องของการซื้อขายในปัจจุบันที่เอาหลักการ 5 บาทเป็นตัวตั้ง เอาแม่ค้าเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง ผมว่าน่าจะเกิดส่วนเสียหายมากเหมือนกันนะครับ หากนับรวมกันทั่วประเทศต่อมื้อต่อวันน่าจะมหาศาลนะครับ..
หรือว่าผมคิดมากไปเอง อิอิ..
Next : ผีพาย » »
5 ความคิดเห็น
น่าคิดค่ะพี่บางทราย เพราะสงสัยมานานว่าทำไมเวลาขึ้นราคาอะไรก็ตามมักจะขึ้นทีละ5บาทเสมอ อย่างข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวเหนียวของพี่บางทราย แม้จะมีเหรียญบาท สองบาท สลึง ห้าสิบสตางค์แต่ก็จะยืนพื้นที่ 5 บาท!!!!!!!
รัฐบาลในอดีตก็เคยพยายามที่จะให้ขึ้นทีละบาทสองบาทใช่มั้ยคะ ถ้าจำไม่ผิดสมัยท่านบรรหารหรือเปล่าเอ่ย แต่ก็ไม่สำเร็จ เราชินกับการยอมรับ?
น้องแก้มแดง เคยพูดกันอยู่แล้วก็หายเงียบไป เราผู้บริโภครู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไป การขึ้นราคาสิ่งของทีละ 5 บาทนี้มากนะครับ บังเอิญว่าช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันแพงขึ้นทึกวัน เลยดูเหมือนว่าการขึ้นราคาสินค้าพอเข้าใจได้ แต่เมื่อราคาน้ำมันลงมาราคาสินค้าไม่ยักกะลงมา อิอิ..
เดินทางเข้าหมู่บ้าน ผักหญ้าไม่ต้องซื้อกิน เพราะชาวบ้านหอบให้เรามาจนต้องแจกเพื่อนบ้าน พอเข้ามาตัวอำเถอได้ซื้อกินแต่ก็รู้สึกได้ว่าราคาไม่แพงเท่าไหร่
ที่ตัวจังหวัดมุกดาหารก็ยัง โอเค พี่เป็นลูกค้าประจำร้านขายของชำแห่งหนึ่ง มีผู้ชายคนหนุ่มเป็นชาวเวียตขายของชำ พี่มักไปซื้อมะนาว และผักสดมาใส่บะหมี่กินเมื่อยามอยากเปลี่ยนอาหารบ้าง ก็ 5 บาททุกอย่าง ผักที่ได้มาก็มากเกินพอที่เราจะกินมื้อเดียว ต้องเก็บใส่ตู้เย็นไว้
แต่ที่ขอนแก่นราคาแม้จะ 5 บาทเหมือนกันแต่ปริมาณน้อยกว่าที่มุกดาหาร
ดูดู 5 บาทจะกลายเป็นมาตรฐานการซื้อขายแทนการชั่ง ตวง วัดไปซะแล้ว อิอิ น้องแก้มแดง…
แม่ค้าเขาเคยบอกว่า ที่ใช้เบ็ดเสร็จ 5 บาท 10 บาทนะ เพราะว่าหาเหรียญย่อยๆ 1-2 บาทมาทอนยาก ไม่รู้หายไปไหนหมด อยากจะใช้ก็ต้องใช้เวลาไปแลกที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่ใคร่มีให้แลก บอกให้ไปที่คลังจังหวัด ฟังธนาคารแล้วเขาบอกว่า ไปคลังเหรอ ไม่ไปดีกว่า
ขั้นตอนกว่าจะได้เหรียญบาท-สองบาทมาใช้ของเขายุ่งยาก หลายขั้นตอน ขาดความสะดวกในระบบค่ะพี่
คนที่ออมเงินเหรียญบาท สองบาท ไปแลกธนาคาร เขาก็บอกว่าลำบากในการไปขอฝาก เพราะว่าไปถึงธนาคารแล้วดูเหมือนไม่เต็มใจจะรับ เพราะว่าต้องนับกันนาน ใช้เวลามาก ทำให้งานบริการช่องเงินฝากแออัดเพิ่มด้วยเพราะว่าช้ากว่าคนอื่น
นี่คือภาพที่เกิดขึ้นจากการหมุนระบบที่มีจุดโหว่ตรงการเชื่อมต่อไม่ดี ไม่มีใครคอยจัดการตรงรอยเชื่อมต่อให้หมุนได้คล่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการแท้จริงค่ะพี่ รับมาแล้วต่างคนต่างทำแบบแยกส่วน แล้วไม่มีใครรับผิดชอบดูภาพรวมที่เชื่อมเข้าด้วยกัน มันเลยส่งผลให้แม่ค้า เขาเลือกทำอะไรที่ง่ายสำหรับเขาค่ะ
แท้จริงแล้วน้องมองว่าเขาเป็นคนรับผลนะค่ะ และเขายินดีที่จะไม่แก้ เพราะว่าเขาเป็นคน win ค่ะพี่
น้องหมอตาครับ น่าจะเป็นเหตุผลที่มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ 5 บาท รัฐบาลต้องคิดและหาทางแก้ไข
ไปต่างประเทศเขายังใช้เหรียญเซนต์ อันเล็กๆเลย..
เมื่อพูดถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าเคยได้ยินคนของกรมกษาปณ์(ถ้าผิดขออภัยด้วย) กล่าวว่าเหรียญบาทที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาใหม่เพราะว่าต้นทุนมันมีค่ามากกว่า 1 บาท จริงหรือไม่ไม่ทราบ หากจริงก็น่าจะมีทางออก เช่น ทำขนาดให้เล็กลง ใช้โลหะราคาถูกผสมเยอะๆ อะไรทำนองนี้
หากไม่ผลิตออกมาก็จะเกิดปรากฏการณ์ 5 บาท ซึ่งกลายเป็นผลดีแก่แม่ค้าอย่างน้องหมอตาว่า…
มีอาชีพเกิดใหม่ค่ะเคยเห็นจากทีวี คือบริการแลกเหรีญบาท มาขายให้แม่ค้าในตลาดสด แถวฝั่งธนฯ และแถวเมืองนนท์ โดยจัดเป็นมัดและ 10 บาทติดด้วยสก็อตเทป ขาย 100 ละ 110 บาท โดยจะรับออร์เดอร์จากแม่ค้าในตลาด เป็นวันต่อวันค่ะ สร้างความพอใจให้ทั้งแม่ค้า และผู้บริการแลกเหรีญ
ข้อเสียของหา้บาทที่ เจอเหมือนกันค่ะ ของทุกอย่างจัดไว้เป็นราคาเดียว 5 บาท แต่เราต้องการอย่างละนิออย่างละหน่อย แต่ต้องซื้อมาทิ้งเสียส่วนใหญ่ จนสนิทกับแม่ค้า เลยเริ่มคุยและถามว่าจะใช้นิดหน่อยขอนิดหน่อยขายได้ไหมจ๊ะ แม่ค้าได้ยินยิ้มและบอกว่าหยิบไปเลยไม่ต้องซื้อ ดูซิน้ำใจแม่ค้า มองคนละมุมเลย จึงบอกว่าอยากจะซื้ออย่างละนิดอย่างละหน่อยหลายๆ อย่างรวมกันใส่ถุงเดียวได้ไหม แม่ค้าคนเดิมบอกว่าได้ ตั้งแต่นั้นมาก็จะซื้อผักเจ้านี้เป็นประจำ จากนั้นไม่นานเห็นแม่ค้า ขายผักจัดแตงกวามะเขือเปาะถั่วพลูใส่รวมในถุง ราคา 5 บาท ใช่เลยการเรียนรู้เร็วมาก จากนั้นจะเห็นผักหลายชนิดรวมในถุงเดียวราคา 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง การแลกเปรียนเรียนรู้นั้นทำได้เสมอ เมื่อคนเราเริ่มต้นด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี มีการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาเล่าเรื่องความต้องการของลูกค้า แม่ค้าที่ฉลาดจะรับลูกทันที ใครปักธงเป็นคนแรกเดี๋ยวก็จะมีรายอื่นๆเลียนแบบตามมา สิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์และซื่อตรงของแม่ค้าเองค่ะ พี่จะถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพราะแม่ค้าที่ซื่อตรงย่อมได้รับความไว้วางใจจากพี่เสมอ พี่จึงมีเจ้าประจำเสมอทุกตลาดค่ะ