Children Damaged by Materialism (2)

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 14, 2009 เวลา 14:25 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4007

เด็กในโลกปัจจุบันเป็นผู้ที่ถูกครอบงำด้วย ลัทธิวัตถุนิยม มากกว่าเด็กในสมัยก่อนมาก

พวกเด็กๆควรได้รับการสนับสนุนให้มองตัวเองอย่างมีคุณค่าในความเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ มากกว่าวัดกันด้วยทรัพย์สินสมบัติต่างๆที่ตนมี จนหมดความเป็นคนไป นอกจากนี้บรรดานักธุรกิจที่มุ่งแต่จะขายของและบริการทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการมีวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์นิยมวัตถุอย่างรุนแรงอย่างในปัจจุบันที่วัดกันแต่ความเจริญทางวัตถุ ทำให้เกิดความโลภเข้าครอบครองวัตถุให้มากๆ และมีอัตตาแยกตัวเองเป็นเอกเทศ หรือเป็นปัจเจกมากขึ้น ทั้งๆที่ชีวิตจริงควรจะอยู่กันแบบชุมชนและร่วมมือร่วมใจกันในชุมชน

ผมขออนุญาตลอกข้อความที่สำคัญมาสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าวเพิ่มเติมอีกคือ

_________________

สมาชิกท่านหนึ่งในคณะผู้สำรวจศึกษากล่าวว่า วงการค้าพาณิชย์ของสังคมและชุมชนเริ่มเข้ามาครอบงำสังคมเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และควรเรียนรู้วัฒนธรรมให้ตกอยู่ในกำมือของพ่อค้าพาณิชย์ ซึ่งมีผลกระทบจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กหลงอยู่ในด้านวัตถุจนไม่สามารถพัฒนาจิตใจให้เจริญตามควร..

ศาสตราจารย์กิตติคุณฟิลลิป เกรเฮม วิชาจิตเวชเด็ก ที่สถาบันสุขภาพเด็กกรุงลอนดอนกล่าวว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นในขณะนี้คือการที่เด็กๆและวัยรุ่นใช้ชีวิตทุกจังหวะหมกมุ่นอยู่กับความโลภที่จะครอบครองวัตถุต่างๆให้มากเข้าไว้ ล่าสุดคือการแข่งขันกันใช้เครื่องนุ่งห่มที่ตามสมัย แฟชั่นของโลกและความอวดมั่งอวดมีที่จะครอบครองเครื่องมืออุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นสินค้าที่พ่อค้าแข่งกันผลิตออกมาล่อใจ

และยังกล่าวอีกว่า หลักฐานต่างๆที่สนับสนุนเรื่องนี้จะเห็นได้จากในประเทศอเมริกา อังกฤษ เด็กและวัยรุ่นถูกพ่อค้าวาณิชย์ครอบงำโดยสิ้นเชิงด้วย แรงผลักดันทางการค้า (Commercial Pressures) เป็นปัจจัยหลักที่ทำลายสุขภาพจิตของเด็ก

ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ในอังกฤษประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 90 คิดเหมือนกันว่า โฆษณาสินค้าระหว่างเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส มักจะโน้มน้าวให้ผู้ปกครองของเด็กอยากจะทุ่มเทเงินทองให้แก่ลูกหลานจนเกินกำลังของตน

ผลการสำรวจพบว่า สตรีมากกว่าร้อยละ 60 คิดว่าสื่อทั้งหลายเป็นตัวการผลักดันให้เกิดความนิยมในวัตถุซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคม ส่วนบุรุษคิดเช่นนั้นร้อยละ 56

ส่วนใหญ่ของประชากรผู้ใหญ่ในการสำรวจ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรห้ามปรามไม่ให้สื่อโฆษณาก่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชน และทุกคนควรจะรับภาระร่วมกันที่จะสั่งสอนบุตรหลานของตนให้ตั้งตัวรับการไหลบ่าของ วัตถุนิยมในโลกอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย (คุณรจนโรจน์ อ้างอิงข้อมูล ข่าวอินเตอร์เนท บีบีซี)

____________________

เรื่องทั้งหมดนี้ ท่านอาจจะกล่าวว่า ก็รู้ๆกันอยู่ ผมก็ว่าเป็นความจริง แต่ในฐานะที่ผมมีส่วนหนึ่งในการนำความรู้ความคิดเห็นที่เหมาะสมเข้าสู่การปฏิบัติในชนบท จึงต้องตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้มากๆ เพราะเราอาจจะเป็นตัวกรองส่วนหนึ่งที่วิภาค และคัดสรรค์สิ่งเหล่านี้ให้แก่ชุมชนที่เขาห่างไกลระบบข้อมูล ที่ผ่านมาผมเองก็บันทึกเรื่องในทำนองนี้ไว้บ้างแล้ว เช่นที่นี่

http://gotoknow.org/blog/dongluang/190479 http://gotoknow.org/blog/dongluang/127459 http://gotoknow.org/blog/dongluang/120483 http://gotoknow.org/blog/dongluang/95980

ผมพยายามค้นหาอีกตัวอย่างหนึ่งที่อิทธิพลการโฆษณา และค่านิยมส่งผมกระทบอย่างแรงต่อจิตใจของครอบครัวผม ขออนุญาตเล่าให้ฟังอีกครั้ง

ตอนที่ลูกสาวเพิ่งเดินทางไปเรียนไฮสคูลที่ NZ ใหม่ๆ มีเพื่อนของเธอคนหนึ่งโทรมาหาคนข้างกายว่า เขาเป็นเพื่อนสนิทกับลูกสาว ซึ่งเราก็จำได้เพราะลูกสาวเล่าให้ฟังบ่อยๆ เธอคนนี้สมมุติชื่อ ขาว เธออ้างว่าหนูกำลังจะเรียนต่อแต่ไม่มีเงินค่าเทอม เพราะแม่เอาเงินทั้งหมดไปรักษาคุณยายที่กำลังป่วยอยู่ที่กรุงเทพฯ คุณพ่อก็หางานอยู่ จึงขอพึ่งพาขอยืมเงินไปเสียค่าเทอมและค่าหนังสือเสื้อผ้าจำนวน 1 หมื่นบาท ….??

เราสอบถามลูกว่าครอบครัวเขาเป็นสภาพเช่นนี้ไหม ลูกตอบว่าใช่ แต่ไม่รู้ว่าคุณยายเขาป่วย แต่ก็น่าเชื่อถือเพราะครอบครัวเขาก็ไม่ค่อยมี..และเขาก็ไม่เคยโกหก… เราตัดสินใจโอนเงินไปเข้าบัญชีคุณแม่เขา ซึ่งเขารับปากว่าจะทยอยส่งคืนให้หลังจากเดือนที่สองไปแล้ว

หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้รับการติดต่อมาอย่างผิดปกติ เราก็คิดในแง่ดีว่าเขาคงยุ่งกับการป่วยของคุณยาย…

จนปลายเดือนที่สองเราลองติดต่อกลับไป พบความจริงว่า คุณแม่ของน้องขาวไม่รู้เรื่องนี้เลย..?? ไม่รู้ว่าลูกสาวมาขอยืมเงินค่าเรียน… แต่เป็นความจริงว่าคุณยายป่วย และเราก็ไม่ค่อยมีเงิน แต่การเรียนของลูกขาวนั้นก็หาเงินมาให้เรียนจนได้…. คุณแม่ไปตรวจสอบบัญชีการเงินก็พบว่าเงินเข้าบัญชีจริง.. คุณแม่เพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นว่าลูกกำลังทำการโกหก หลอกลวงคุณป้าเพื่อเอาเงินมาทำอะไรสักอย่างตั้ง 1 หมื่นบาท…

หลังจากการสืบเสาะก็พบว่าลูกสาวเอาเงินไปซื้อมือถือรุ่นใหม่ล่าสุดที่เธอหมายปองไว้…. โอ้พระเจ้า……เธอทำได้…เด็กทำได้ขนาดนี้..

คุณแม่น้องขาวรับปากว่าจะหาทางเอาเงินคืนให้โดยการผ่อนส่ง แต่เลยมาเป็นเกือบสิบปีแล้วครับเราไม่ได้เงินคืนเลย…แต่เราก็อุทิศให้แล้ว เข้าใจดีว่าคุณแม่เขาก็อยู่ในฐานะที่ลำบาก เรานึกเพียงว่าขอให้ลูกขาวกลับตัวกลับใจได้เถอะ…..

เรื่องจริงผ่านคอมฯเรื่องนี้สอนให้เข้าใจว่า…

  • อิทธิพลของระบบโฆษณานั้นเข้าไปโน้มน้าวจิตใจเด็กให้เกิด ความอยากอย่างล้นพ้น จนก้าวข้ามศีลธรรมอย่างกล้าหาญ จนเราตกใจว่าทำได้ถึงเพียงนี้แล้วหรือ….

  • ตัวอย่างทำนองนี้มีมากมาย เด็กนักศึกษาหญิงขายตัวเพราะต้องการกระเป๋าถือยี่ห้อดัง…และ.. กล้าที่จะเสนอตัวด้วย..

  • แล้วอิทธิพลของระบบนี้มีอีกมากมายที่ท่านทั้งหลายก็คงประสบมาแล้วไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น

แต่…เอ..เราจะเพียงแค่มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นหรือ….ครับ..

« « Prev : Children Damaged by Materialism (1)

Next : ช้างแดง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มกราคม 2009 เวลา 19:21

    อ่านแล้วทำให้คำถาม “ใครทำร้ายเด็ก” ผุดพรายขึ้นในใจอีกครั้งค่ะพี่บู๊ท

    คำถามที่เกิดขึ้นมีทั้งคำตอบว่าผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กและเด็กทำร้ายเด็ก สรุปสั้นๆก็คือทุกคนเนาะคะ เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน

    ยอมรับว่าสะท้อนใจทุกครั้งค่ะที่เห็นการทำงานเล็กๆของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ย่ำอยู่กับเอกสารการประชุม อบรม สัมมนา เป็นงานนโยบายธุรการที่ซ้ำซาก ขาดการส่งเสริมติดตาม เกิดเรื่องครั้งหนึ่งก็รุกเป็นไฟไหม้ฟางกันทีหนึ่ง

    จะเกิดประโยชน์อะไรถ้าความร่ำรวยกระจุกอยู่ข้างบนแต่ กว่า ๗๐ เปอร์เซนต์ยังยากจน ถูกกระตุ้นยั่วยุให้ต้องมี ต้องได้ ต้องยื้อแย่งแต่ขาดโอกาสและไม่พึงพอใจ?

    มองเพื่อหาปัญหาพบว่า
    หนึ่ง มีสิ่งเร้าอันตรายรอบตัวเด็ก ไล่ตั้งแต่การตั้งครรภ์ในสภาวะไม่พร้อม เครียดกดดันต่อสิ่งรอบข้างผลก็ลงที่ตัวเด็ก เลี้ยงดูตามใจทุกอย่าง เด็กก็เอาแต่ใจ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ..พ่อแม่ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่มีเวลา อดทนต่ำ เด็กพังทั้งนั้น ไม่นับสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือการ์ตูน โฆษณา เกมส์ อินเทอร์เน็ตที่ตกเป็นจำเลยตลอดมาแต่ก็ไม่มีการปรับปรุงเพื่อหนีข้อกล่าวหาเหล่านั้นอย่างจริงจังเสียที

    สอง โครงสร้างและระบบ ตั้งแต่ทุนนิยม ตลาดเสรีแข่งขัน การศึกษาแบบแพ้คัดออกทำให้เด็กที่เรียนไม่ได้ไหลมารวมกัน ไม่มีทางไป ไม่มีงานทำ รวมกลุ่มกันติดยา มั่วสุม ใช้ความรุนแรง ฯลฯ การกำหนดมูลค่าให้กับสิ่งของตามราคามากกว่าคุณค่า

    สาม สถาบัน หน่วย องค์กรทางสังคมอ่อนแอ ครอบครัวก็สร้างพลเมืองที่ดีไม่ได้มากนักเพราะผู้สร้างเองก็ตกในวังวนเป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของผู้ปกครองนะคะแต่มักจะลืมเสมอๆ

    สี่ นโยบายที่เน้นเศรษฐกิจนำสังคม คงถึงเวลาที่ต้องกลับหลังหันเพื่อคิดใหม่ ทำใหม่กันได้แล้วนะคะพี่บู๊ท

    เด็กๆเป็นอย่างไร เค้าก็เกิดจากสังคมเรานี่แหละที่เป็นผู้สร้างขึ้นมา ต่างหล่อหลอมและเร่งเร้าให้เด็กๆเดินเข้าสู่กับดักอันยิ่งใหญ่ เด็กๆยิ่งเติบโตก็ยิ่งถูกทำลายและทำร้ายมากยิ่งขึ้น คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนต่อปัญหาวิกฤตนี้กันได้แล้วแบบที่พี่บู๊ทตั้งคำถาม่นั่นแหละค่ะ

    รวมทั้งตัวเบิร์ดเองด้วย ี่เมื่อวานได้รื้อห้องทำงานและพบว่ามีคู่มือมากมายเป็นร้อยเรื่องทั้งจากกรมสุขภาพจิต ทั้งจากกรมอนามัย หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการจัดรูปแบบหรือจัดการปัญหาต่างๆของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน หรือสังคม ที่เห็นแล้วก็สงสัยว่าเจ้าคู่มือต่างๆที่รังสรรค์กันขึ้นมามากมายนี้ ถ้ามันได้ผลก็คงไม่มีปัญหาอย่างที่เราเห็นๆกันอยู่กระมัง และคงจะแก้ไปได้ตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

    ดังนั้นจึงคิดได้ว่าเก็บไว้ทำไม(วะ) ควรเลิกคิดแบบเดิมๆที่เอาเอกสารเป็นตัวตั้ง มาเป็นคนและเชื่อมโยงคนที่ทำดีอยู่แล้วเป็นภาพจิ๊กซอร์ที่ต่อกันทีละชิ้นๆๆๆน่าจะดีกว่าโดยไม่ต้องไปสนใจกับ”คู่มือ” หรือคำนิยามประหลาดๆ ศัพท์เทคนิคมากมายจนปวดหัวอีกต่อไป

    เคยเสียเวลาสามชม.ในการประชุมกับการเถียงกันว่าเรื่องที่จะทำนั้นควรมีชื่อ่อย่างไรค่ะพี่บู๊ท ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญมากๆ แต่มักเป็นสิ่งที่พบเสมอๆในการประชุม แล้วเราจะมีเวลาในการ”ทำ” มากแค่ไหน ถ้ายังย่ำความคิด ย่ำวิธีการกันแบบนี้ ….แง่งๆๆๆงั่มๆๆๆ %$)*#@&%

  • #2 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มกราคม 2009 เวลา 19:48

    พี่กลับเห็นข้อดีของการโฆษณา สามารถมีอิทธิพลต่อสังคมโลกปััจจุบันมากมาย ความจริงแล้วระบบโฆษณามีมาช้านานแล้วเพียงแต่ จะเอาไปใช้ทางด้านไหน ทางด้านการเมือง ทางด้านลัทธิความเชื่อถือต่างๆ แต่พอเข้ามาใช้ทางด้านธุรกิจ ทุนนิยมทั้งหลายมันได้ผลเกินคาด ธุรกิจระดับโลกก็มีการโฆษณาชวนเชื่อน่าเลื่อมใส ทำให้ผู้คนหลงเป็นแมลงเม้าบินเข้ากองไฟ เสียกันทั่วโลก ไม่ว่าผู้ใหญ่และเด็ก ก็เป็นคน ย่อมทนต่อสิ่งเล้ากระตุ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ได้ ย่อมเสียศูนย์เป็นธรรมดา เป็นเพราะขาดสติ เชื่อได้แม้ว่าจะรู้ว่าเป็นการโฆษณา เพราะสังคมอ่อนแอน่าเป็นห่วง ขาดภูมิต้านทาน ทั้งที่เราชาวพุทธ ทำไมต้องเชื่อทุกอย่างที่เห็น ทำไมต้องเชื่อทุกอย่างที่ได้ยิน ทั้งๆที่พุทธศาสนาสอนให้เชื่อด้วยเหตุและผล เนื่องจากสังคมเรามองอะไรผิวเผิน มองมิติเดียว เชื่อในสิ่งที่เย้ายวนทางโสตประสาท ฯลฯ ขาดการฝึกทักษะความอดทน ความอดกลั้น ความรู้สึกสำนึกในความเป็นจริง โลกของความเป็นจริงเป็นปัจจุบัน หากเรานำเครื่องมือการโฆษณามาใช้ในเรื่องการสร้างระเบียบวินัย สร้างคุณธรรมจริยธรรม สร้างความถูกต้อง สร้างการยอมรับและยกย่องคนดี ให้การสนับสนุนการทำดี ทำทุกวันต่อเนื่องดูผลจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มกราคม 2009 เวลา 21:10

    น้องแก้มป่องน่าหยิก

    พี่ทราบดีว่าระบบราชการเป็นเช่นไร เห็นด้วยอย่างที่กล่าว เพราะคนข้างกายพี่ก็เป็นข้าราชการแม้ว่าเป็นจ้าราชการมหาวิทยาลัยที่อิสระมากขึ้นกว่ากระทรวง ทะบวง กรม ต่างๆ อิสระถึงขนาดที่ไม่ต้องลงเวลาเข้าออกเพราะลักษณะงานทำเช่นนั้นไม่ได้ ยืดหยุ่นเอาศักดิ์ศรีความเป็นคนรับผิดชอบเข้ามาประกัน แต่ระบบก็ขวางกั้นการรื่นไหลการทำงานมากทีเดียวจนคนข้างกายยื่นใบลาออกจากราชการมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ีถูกยับยั้งไว้หมด..

    เห็นใจ เข้าใจ และสงสารข้าราชการดีดีมากมายที่จมอยู่ในระบบนี้ ได้ยินเสียงขลุกขลักเมื่อเดินไปใกล้ๆ เพราะเขาดิ้นรนเพื่อการทำงานที่ดีกว่าน่ะซี อิอิ..

    นี่เป็นส่วนหนึ่งที่พี่ไม่เข้ารับราชการ แต่ก็หนีไม่พ้นที่แม่จะทำงานบริษัทที่ปรึกษา ก็ยังข้องมาทำงานกับระบบราชการอยู่ดี อิอิ..

    ในระบบงานบริษํทเรามีคำกล่าวกันว่าภายใต้ข้อจำกัดต่างๆนั้น “เราจงหาทางทำการงานให้ดีที่สุดได้อย่างไร” คงเหมือนกับทพ่อครูบาที่กล่าวว่า “ทำงานภายใต้ความไม่พร้อม” เพราะไปรอความพร้อมไม่ได้ ไปรอเงื่อนไขที่ดีที่สุดไม่ได้..รอไม่ได้….

    ห้า ห้า ห้า…น้องสาว เจอะเรื่องการประชุมยาวๆเพียงเพื่อหาชื่อเรื่อง…พี่เองก็ผ่านมาแล้ว..มีข้อสังเกตว่าทำงานกับวิศวกรนั้น พูดสั้นมาก ไม่มียืดยาด สามชั่วโมง สี่ชั่วโมงยังสรุปไม่ได้เลย แต่การประชุมกับพวกวิศวะนั้น ผั๊วะผะ ผั๊วะผะ สรุปแล้ว จบแล้ว บางทีสั้นจุ๊ดจู๋….แต่ขอโทษทีกับนักสังคมเหรอ วิศวกรกินข้าวอิ่มไปนานแล้ว นักสังคมยังสรุปไม่ลงเลย..อิอิ.. (ลูกอีช่างคุย)

    พวกนักการศึกษาก็ย่อยซะเมื่อไหร่ ตีสำนวนโวหารกันลั่นห้อง ชอบตีความหมาย ตีกันอยู่นั่นแหละ..ไม่ลงซะที จนมีเรื่องโจ๊๊กเล่าสูกันฟังถึงเรื่องว่านักการศึกษาต้องตีความหมายกันก่อน ว่า

    นักการศึกษาสองคนคุยกัน

    นักการศึกษาคนที่หนึ่ง: นี่คุณครับ เคยได้ยินใครต่อใครคุยกันบ้างไหมว่า พวกเรานี้น่ะเสียเวลานั่งตีความหมายกันมากมายกว่าจะลงเอยได้ กว่าจะขยับลงเนื้อหาได้ ตีความหมายอยู่นั่นแหละ..

    นักการศึกษาคนที่สอง: เหรอ…แล้วที่พูดมาทั้งหมดนั่นน่ะหมายความว่าอย่างไรกันครับ..????!!!!!! ฮา ฮิ้ววววววว

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มกราคม 2009 เวลา 21:20

    พี่หลินครับ

    ใช่เลย เห็นด้วยครับ ผมเองก็มองมุมนี้อยู่เช่นกัน

    ระบบโฆษณามีประโยชน์ มีคุณค่า ก็เพราะระบบนี้ที่ทำให้เกิดโกลวหลขึ้นมาเพราะเขาทำงานได้ผล ถ้าเช่นนั้นก็เอามุมที่ได้ผลนั้นสร้างให้เกิดประโยชน์กับสังคมในอีกมุมหนึ่งก็ได้ ใช่เลยครับพี่

    ผมเคยติงนักนิเทศศาสตร์ หรือนักอะไรก็แล้วแต่ีที่ใช้หลักการประชาสัมพันธ์โน้มน้าวใจคนให้เกิดการตัดสินใจบริโภคสินค้านั้น ปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้หลักการนั้นมาสร้างระบบประชาสัมพันธ์ให้เกิดความสำนึกทางทุนทางสังคมต่างๆ เช่นการเสียสละ การเอื้ออาทร การให้ การช่วยเหลือกัน การจับมือ สามัคคีกันรว่มมือกันสร้างสังคมดีดี…ฯลฯ ก็ทำได้ แต่มันไม่ได้เงิน ไม่ได้ค่าตอบแทน…หรือได้น้อย

    ก็มีการทำอยู่เหมือนกัน แต่น้อยไม่มีพลังมากเพียงพอ ครับพี่หลิน


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.93096899986267 sec
Sidebar: 0.26933884620667 sec