ระบบบันทึกและการสื่อสารของโบราณ
ผมชอบกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนมงคลวิทยาจัดทำ ผมชอบค่ายเยาวชนรักป่าที่เครือข่ายอินแปงจัดให้กับเด็กดงหลวง และอื่นๆ องค์ประกอบที่คล้ายๆกันคือ เอาเด็กเดินป่า โดยมีผู้รู้เรื่องป่าที่เป็นชาวบ้านนำพาไป บางที่ก็มีผู้รู้มากกว่า 1 คน อาจแบ่งเป็นกลุ่ม เดินป่าไปก็เรียนรู้ไปโดผู้รู้จะสอนเด็ก บอกเด็กถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆที่เดินผ่าน ไปทุกย่างก้าว บางทีก็หยุดเป็นนานสองนานเพื่อเรียนรู้กับพืชต้นนั้น
ความรู้จากท่านผู้รู้ซึ่งเป็นชาวบ้านนั้นมากมายมหาศาลแทบไม่น่าเชื่อทีเดียว เพราะทั้งชีวิตเขาอยู่กับป่า และความรู้ต่างๆก็ถูกส่งต่อมาจากรุ่นก่อนๆ เขาเหล่านั้นเผชิญปัญหา อุปสรรคต่างๆจากการเดินป่า นั่นคือบทเรียนแห่งชีวิต ที่จดจำไปนานแสนนาน และความรู้ต่างๆก็นำไปใช้ในวิถีของเขา ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้าง แต่ไม่มาก
ตอนอยู่ดงหลวงผมมีโอกาสเดินป่ากับชาวบ้าน เป็นประสบการณ์ที่วิเศษสุดจริงๆ ในยังอยากทำเช่นนั้นอีกแล้วบันทึกสิ่งที่พบเห็น หรือบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในป่ามีสิ่งที่เราไม่รู้มากมาย แต่ชาวบ้านรู้
ใบไม้ในรูปข้างบนนั้น ชาวบ้านเรียกใบส่องฟ้า มันไม่ใช่สมุนไพรตัวเอก แต่เป็นใบไม้ที่เด็กๆเอามาเล่นสนุกๆ เพราะที่ใบมีรูพรุนเต็มไปหมด หากเอามาส่องกับไฟก็จะเห็นรูพรุนนั้น ชาวบ้านเปรียบว่าสามารถส่องเห็นฟ้าได้
ส่วนใบข้างล่างนี้ จำชื่อไม่ได้ว่าเรียกอะไร แต่มันเป็นนวัตกรรมการบันทึกสั้นๆ การสื่อสารของคนโบราณ เพราะเราสามารถเขียนอักษรลงบนใบไม้ชนิดนี้ได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน
ชาวบ้านบอกว่าสมัยก่อนนั้นไม่มีกระดาษสมุดสำหรับเขียน ก็ใช้ใบไม้นี้เขียนข้อความสั้นๆเพื่อเตือนความจำได้ หรือใช้สื่อสารจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ กันลืม ก็เขียนบันทึกลงไปแล้วเอาไปส่งให้ต่างหมู่บ้านกัน ที่ห่างไกลออกไป
ชาวบ้านเล่าว่า บ่อยครั้งที่ไปอำเภอติดต่อราชการ เจ้าหน้าที่มักถามข้อมูลต่างๆ ชาวบ้านก็จะบันทึกข้อมูลจากบ้านลงที่ใบไม้นี้ แล้วเอาติดตัวไปอำเภอด้วย จำอะไรไม่ได้ก็ควักเอาใบไม้บันทึกนี้มาดู แล้วตอบเจ้าหน้าที่
ใครจะไปนึก…เด็กในเมืองรู้แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เราพึ่งพาระบบธุรกิจที่พึ่งตัวเองไม่ได้ สมุดเล็กๆมีขายมากมาย ดินสอ ปากกามีมากมายก็ไม่บันทึกแล้ว ล้าสมัย ต้องมันทึกในเครื่องอีเลคโทรนิคต่างๆนั้น….ช่องว่างนี้ถ่างออกมากขึ้น คนเมืองห่างไกลธรรมชาติมากขึ้น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และที่ร้ายคือไม่สนใจเสียด้วยซี
เรื่องราวและความรู้นี้ผมได้มาจากคนข้างกายไปร่วมการเดินป่าของชาวบ้านและพาเด็กไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับป่าที่มหาสารคาม ……
นี่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนขององค์ความรู้ทั้งหมด ก็เก็บตกความรู้มาบันทึกหยาบๆไว้เผื่อใครจะคิดต่อ เอาไปใช้ประโยชน์ใดๆก็น่าจะดี
ยุคสมัยกำลังผันผ่านไป ความรู้เหล่านี้กำลังจางหายไปกับผู้เฒ่าในชนบทที่ทุกวันกำลังล้มหายตายจากไป…..
สถาบันการศึกษาของชนบทน่าจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้นะ …. เราสามารถตั้งเป็นโจทย์ต่างๆสำหรับกระบวนการเรียนรู้ได้มากมาย…..และเป็นความรู้แห่งสำนึกต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และอื่นๆ
หวังสถาบันการศึกษาก็อาจสิ้นหวัง ชุมชนที่ตั้งเป้าว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งนั้น จัดกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ขึ้นมาเองได้ไหม บันทึกเองได้ไหม ….ไม่ต้องไปคอยนักวิชาการจากสถาบันใดๆหรอก
เพราะมัวแต่ตั้งท่าอยู่นั่นแหละ….
ความคิดเห็นสำหรับ "ระบบบันทึกและการสื่อสารของโบราณ"