ถ้าเปรียบประเทศเป็นรถยนต์ ระบบเศรษฐกิจก็คงเปรียบได้ดังเครื่องยนต์ และเงินก็เปรียบได้กับน้ำมันเครื่อง..ที่คอยหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้เดินได้อย่างคล่องตัว
เครื่องยนต์เป็นหัวใจแห่งรถยนต์ฉันใด ระบบเศรษฐกิจก็คือหัวใจของชาติฉันนั้น หากเมื่อเครื่องยนต์เกิดเสียหาย แล้วเอาผู้ชำนาญการน้ำมันเครื่องมาซ่อม ผู้คนก็คงจะหาว่าเจ้าของรถมันเพี้ยนไปแล้ว
แต่น่าประหลาดว่า ประเทศไทยเรานี้กลับถือเป็นเรื่องปกติที่พอระบบเศรษฐกิจเสียหายก็มักจะเอานักการเงินมาซ่อมทุกคราไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมยิ่งซ่อมก็ยิ่งทรุด
ลองคิดดู ที่ผ่านมาหลายยุคสมัย ..เสนาบดีใหญ่ที่เปลี่ยนหน้ากันมาเป็นนายช่างใหญ่ในการซ่อมเศรษฐกิจชาติในแต่ละช่วงนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ชำนาญการด้านน้ำมันเครื่องทั้งนั้น (ส่วนใหญ่เป็น นายแบ็งค์) ไม่มีใครสักคนที่ชำนาญด้าน “เครื่องยนต์”
ความเชี่ยวชาญของนายแบ็งค์ก็คือการทำให้เงินงอกเงยด้วยกลวิธีต่างๆ ซึ่งก็ต้องการความรู้เกี่ยวกับการเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ต้องการรู้อย่างลึกซึ้งนัก เช่นเดียวกันกับผู้ชำนาญการระบบหล่อลื่นก็ต้องการรู้เรื่องการทำงานของเครื่องยนต์บ้างตามสมควร
ระบบเศรษฐกิจของชาตินั้นพอสรุปได้ว่าเป็นระบบการผลิต การบริการ และการบริโภคผลผลิตและบริการนั้น โดยมีระบบการเงินคอยหล่อลื่นให้เป็นไปอย่างคล่องตัว
การเปรียบเงินกับน้ำมันเครื่องนั้น ว่าไปแล้วเป็นการให้ความสำคัญกับการเงินมากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะเครื่องยนต์ไม่สามารถจะทำงานได้หากไม่มีน้ำมันเครื่องคอยหล่อลื่น แต่ระบบเศรษฐกิจยังสามารถทำงานได้แม้ไม่มีเงินคอยหล่อลื่นก็ตาม เพราะอย่างน้อยที่สุดก็สามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลาง เช่น การเอาข้าวไปแลกเครื่องบินแบบจีทูจี (G to Gees)
ความเลวร้ายของการใช้นักการเงิน (นักการธนาคาร) มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติก็คือ การที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการเงินมากกว่าการเศรษฐกิจไปโดยอัตโนมัติ หรือเห็นน้ำมันสำคัญกว่าเครื่องยนต์นั่นเอง
คนพวกนี้พอเขาเห็นวิกฤตว่าเครื่องยนต์จะพัง เขาก็จะฉวยเป็นโอกาส ออกกฎให้น้ำมันเครื่องสามารถขึ้นราคาได้ เพราะคิดว่ายังไงเสียสังคมก็ต้องยอมซื้อด้วยราคาอันแสนแพงกว่าเป็นจริง สุดท้ายก็พังกันทั้งหมด เพราะ ฝุ่นผงในสมองของคนพวกนี้ ที่มองเห็นแต่ฝุ่น แต่หามองเห็นลมที่หอบฝุ่นมาไม่
ที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนก็คือในระหว่างช่วงเศรษฐกิจถดถอยของปีพศ. ๒๕๔๐ ที่รัฐบาลก็มุ่งแก้ที่สถาบันการเงินเป็นหลักใหญ่ แต่กลับให้ความสำคัญน้อยมากต่อระบบเศรษฐกิจที่สร้างผลผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ..เพราะพวกนี้เขาคิดกันได้แต่เพียงว่า เงินสร้างอุตสาหกรรม แทนที่จะคิดตรงข้ามว่า อุตสาหกรรม(ต่างหากเล่า) ที่สร้างเงิน
ที่คิดแคบได้เพียงนั้นเป็นเพราะว่าพวกเขาถูกตำราฝรั่งผูกโยงแบบสนตะพายแล้วว่าเงินคือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะบันดาลเศรษฐกิจให้ไปโรจน์
ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมแบบไทยๆเราที่นายแบงค์ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นการส่วนตัว ดังนั้นการเอานายแบงค์ขึ้นเป็นนายช่างใหญ่จึงเป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรุนแรง
ถามว่า…ระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และผลประโยชน์ของเพื่อนนายแบงค์ที่สนิทชิดเชื้อกัน เขาผู้นั้นจะเห็นแก่ใครมากกว่ากัน
อย่าลืมว่าอย่างน้อยเพื่อนนายแบงค์นั้นมีสายตรงที่จะลอบบี้”เขา”ได้ทุกเมื่อ ส่วนประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่มีช่องทางให้เสนอความเห็น..อย่าว่าแต่บ่นหรือด่า
ฝีมือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของนายแบงค์เหล่านี้ร้ายกาจหนักหนา สองปีผ่านมา (หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง) ผมยังจำได้ว่า ในตอนแรก พวกเขาสั่งให้เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงลิ่วกว่าปกติ จาก 8 เป็น 15% ชั่วข้ามวัน..ซึ่งผมเอง ในตอนนั้นวิจารณ์ลั่นว่ามัน “เหมือนหนอนหากินกินกับศพเน่า “ โดยผมวิเคราะห์ว่าต้อง ลดดอกเบี้ยต่างหาก …ไม่ใช่เพิ่ม
หนอนมันโง่ก็คิดจะกินแต่ของเหม็น แต่ไม่นานเศรษฐกิจกลับยิ่งทรุดหนัก ไอ้พวกนักชำนาญน้ำมันเครื่องก็กลับลำ แล้วฟันธงออกมาใหม่ว่า…ให้ทำตรงข้าม (กลืนน้ำเน่า) ด้วยการลดดอกเบี้ยเงินฝากลงให้ต่ำมากๆ ดังนั้นดอกเบี้ยเงินกู้จึงตกจาก 15 เป็น 7% ภายในข้ามคืน ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากของคนจนๆ ก็”จำเป็น”ต้องลดจาก 8 มาเหลือ 1% ในข้ามคืนเช่นเดียวกัน
จาก 15 เหลือ 1 ในชั่วข้ามคืน ..โห..ไอ้พวกนี้มันเก่งจริง ผ่าเถอะ (นี่มันสร้างแรงกระตุกมหาศาลในระบบ ที่ถ้าเป็นในมหาประเทศรับรองว่าพังแน่ แต่ตายแลนด์เรา ..มปร .ไม่เป็นไร ทนได้ฉะเหมอ
ช่วงนั้น..ผม (นายโนเนม) ได้เขียนจดหมายไปหารัฐบาลหลายฉบับ แต่ไม่เป็นผลแต่ประการใด (โห..น่าประหลาดมากเลยนะ)
ผมเสนอไปว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด ดอกเบี้ยเงินฝากจะต้องไม่ต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อ คือประมาณ 4% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าเงินฝากประมาณ 3 คือเป็น 7% นี่เป็นการช่วยคนจนและคนรวยพร้อมกันไป
แต่นี่พวกเขา “นายช่าง” กลับช่วยกันแต่พวกคนรวยให้กู้ได้ต่ำ (จะได้กู้ลงทุนกันมากๆ) ส่วนคนจนช่างแม่มปะไร เพราะอย่างไรเสียก็ต้องมาฝาก คงไม่ขุดหลุมฝังไหเหมือนก่อน ในขณะที่นายแบงค์ พวกเขา รวยเท่าเดิม เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เท่าเดิม กล่าวคือพอฝากให้ 0.5% แต่พอกู้ก็คิดเขา 6.5% ในขณะที่เมื่อก่อนวิกฤตฝากได้ 8% กู้ก็ 14%
ดังนั้นวิกฤตหรือไม่วิกฤต ธนาคาร “ต้อง” รวยเท่าเดิม พวกเขาจึงร่วมกันลงขันส่ง ตัวแทนของพวกเขาให้เข้ามาบริหาร “เศรษฐกิจ” ของประเทศไทย
นี่แหละมันเป็นระบบสามานย์ที่ดร.ในมหาลัยไทยสมคบกับนักการเมือง นายเงิน หากินกับคนจนมาโดยตลอด
ไม่แต่การลองผิดลองถูกด้านดอกเบี้ย คงยังจำกันได้ว่า ในตอนแรกเขาบอกว่าต้องขึ้นภาษี แล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มก็เพิ่มจาก 7 เป็น 10 ในบัดดล แต่พอไม่เวิ๊ก (เวิร์ค) ก็ให้ลองในทิศตรงกันข้ามบ้างคือให้ลดภาษีลงมา
อนิจจา…อนาคตของชาติไทยเรา ขึ้นอยู่กับการลองเดาสุ่มของนักการเงินที่อิงนักการเมือง (และที่ปรึกษาระดับด๊อกแด๊ก) ไปตามยถากรรมเช่นนี้แหละหรือ
ดูมันช่างไร้ระบบ ด้อยพัฒนา และไม่สมเลยกับการที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่จบด๊อกจากยูดัง ต่างด้าว นับไม่ถ้วน โดยที่พวกเราเสียเงินภาษีส่งไปเรียนใน ม. ดังราคาแพง ของต่างประเทศ จนกลับมาแล้วยังทำเป็นเย่อหยิ่งจองหอง เชิดคอ จนไม่เคยมองเห็นขี้ไก่สักกอง อย่าว่าแต่จะไปเหยียบมันให้ไม่ฝ่อเลย อย่างงี้เอาไปขังคุกขี้ไก่ที่ U of Mahwor สักสามปีดีไหม จะได้มีสติคิดอะไรออกแบบไทยๆ ที่ไม่ต้องอิงตำราฝรั่งบ้าง
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าไม่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบไฮโล” ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร เพราะช่างซ่อมรถจบปอสี่ที่อู่ข้างถนนแถวบ้านนอกข้างบ้านผมก็ทำได้ดีพอกันแหละ คือถ้าแทงไฮโลเลขสูงไม่ถูก ก็ลองแทงต่ำดูบ้าง ..ลองผิดลองถูกมันไปเรื่อยๆ เงินพนันที่เสียไปก็ช่างมันเพราะหามาได้ง่ายๆด้วยการโก่งค่าซ่อมรถเอากับพวกผู้หญิงแก่ๆที่ไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์
ประชาชนไทยเสียภาษีส่งคนไปเรียนนอกจนจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์เกลื่อนเมือง แต่อนิจจา พอประเทศชาติประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ เราก็แทบจะหันหน้าไปปรึกษาใครไม่ได้ เพราะพวกที่เรายกย่องให้เป็น”นักวิชาการ”เหล่านั้นไม่ได้มีสภาพเป็นคลังแห่งปัญญาและความรู้พอที่จะให้คำปรึกษาได้ เพราะเวลาส่วนใหญ่ในชีวิต เอาไปหาลำไพ่ง่ายๆ รวมทั้งเลียนักการเมือง จนสมองและวิชาการมันทู่ไปหมด
ความเจ็บปวดครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนอันสำคัญต่อผู้คนในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย เชื่อว่านักวิชาการบริสุทธิ์ที่ไม่เห็นแก่อามิสยังพอมีอยู่ ที่จะทำอะไรเพื่อสังคมได้ นักวิชาการเหล่านี้จะต้องรวมตัวกันแสวงหา สรรค์สร้าง ประยุกต์วิชาการ เพื่อเตรียมพร้อมไว้รับมือกับวิกฤติระลอกใหม่ที่จะต้องถาโถมเข้ามาอีกหลายระลอกอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้
ควรรวมตัวกันเสนอรัฐบาลให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาวิกฤติเศรษฐกิจอิสระที่ไม่อิงการเมือง” เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ทำนายเหตุการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปัญหาเศรษฐกิจตลอดเวลา หน่วยงานเช่นนี้น่าจะทำงานคล้ายหน่วยทหาร เช่นมีการจำลองสถานการณ์ว่าเกิดวิกฤตินานาประการขึ้น เหมือนอย่างที่ทหารจำลองสงคราม แล้วทำการ “ซ้อมรบ” ….ฝึกปรือวิทยาการให้คมกริบ พร้อมรับมือกับวิกฤติทุกเมื่อ ให้ทันกาล จะได้ไม่ต้องพึ่งนักการเงินเฉพาะหน้าที่เลียนักการเมืองอีกต่อไป
คิดไปแล้วก็ให้เห็นใจรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะไม่มี “ระบบ” ให้พึ่งพิงแล้ว ก็ยังมองไม่ค่อยเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่โดดเด่นพอที่จะให้มาช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้
อันว่าคนกำลังจะจมน้ำตายนั้น เหลียวไปรอบๆ ก็มืดมิด มองไม่เห็นอะไรเลย ดังนั้น พอเห็นก้อนอะไรลอยมาก็ต้องคว้าไว้ก่อนแหละ แม้แต่ว่าเป็นก้อนขี้หมาที่ลอยน้ำมาก็ตามที ..กำขี้ดีกว่ากำตด
………..ทวิช จิตรสมบูรณ์
( หมายเหตุ บทความนี้เขียนไว้แต่ประมาณ พศ. ๒๕๔๒ ๒ ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจแห่งต้มยำกุ้ง ..ปรับแก้การใช้ภาษาเล็กน้อย… แต่ผมว่ามันยังใช้ได้เสมอแม้ในพศ. ๒๕๕๓ นี้)