แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย “นักการธนาคาร”..กับดักรัฐบาลไทยทุกยุค

โดย withwit เมื่อ 10 August 2011 เวลา 11:06 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1830

ถ้าเปรียบประเทศเป็นรถยนต์ ระบบเศรษฐกิจก็คงเปรียบได้ดังเครื่องยนต์ และเงินก็เปรียบได้กับน้ำมันเครื่อง..ที่คอยหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้เดินได้อย่างคล่องตัว

 เครื่องยนต์เป็นหัวใจแห่งรถยนต์ฉันใด ระบบเศรษฐกิจก็คือหัวใจของชาติฉันนั้น หากเมื่อเครื่องยนต์เกิดเสียหาย แล้วเอาผู้ชำนาญการน้ำมันเครื่องมาซ่อม ผู้คนก็คงจะหาว่าเจ้าของรถมันเพี้ยนไปแล้ว

  แต่น่าประหลาดว่า ประเทศไทยเรานี้กลับถือเป็นเรื่องปกติที่พอระบบเศรษฐกิจเสียหายก็มักจะเอานักการเงินมาซ่อมทุกคราไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมยิ่งซ่อมก็ยิ่งทรุด

 

ลองคิดดู ที่ผ่านมาหลายยุคสมัย ..เสนาบดีใหญ่ที่เปลี่ยนหน้ากันมาเป็นนายช่างใหญ่ในการซ่อมเศรษฐกิจชาติในแต่ละช่วงนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ชำนาญการด้านน้ำมันเครื่องทั้งนั้น (ส่วนใหญ่เป็น นายแบ็งค์)  ไม่มีใครสักคนที่ชำนาญด้าน “เครื่องยนต์”

 ความเชี่ยวชาญของนายแบ็งค์ก็คือการทำให้เงินงอกเงยด้วยกลวิธีต่างๆ ซึ่งก็ต้องการความรู้เกี่ยวกับการเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ต้องการรู้อย่างลึกซึ้งนัก เช่นเดียวกันกับผู้ชำนาญการระบบหล่อลื่นก็ต้องการรู้เรื่องการทำงานของเครื่องยนต์บ้างตามสมควร

 ระบบเศรษฐกิจของชาตินั้นพอสรุปได้ว่าเป็นระบบการผลิต การบริการ และการบริโภคผลผลิตและบริการนั้น โดยมีระบบการเงินคอยหล่อลื่นให้เป็นไปอย่างคล่องตัว

 การเปรียบเงินกับน้ำมันเครื่องนั้น ว่าไปแล้วเป็นการให้ความสำคัญกับการเงินมากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะเครื่องยนต์ไม่สามารถจะทำงานได้หากไม่มีน้ำมันเครื่องคอยหล่อลื่น แต่ระบบเศรษฐกิจยังสามารถทำงานได้แม้ไม่มีเงินคอยหล่อลื่นก็ตาม เพราะอย่างน้อยที่สุดก็สามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลาง เช่น การเอาข้าวไปแลกเครื่องบินแบบจีทูจี (G to Gees)

 ความเลวร้ายของการใช้นักการเงิน (นักการธนาคาร) มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติก็คือ การที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการเงินมากกว่าการเศรษฐกิจไปโดยอัตโนมัติ หรือเห็นน้ำมันสำคัญกว่าเครื่องยนต์นั่นเอง

 คนพวกนี้พอเขาเห็นวิกฤตว่าเครื่องยนต์จะพัง เขาก็จะฉวยเป็นโอกาส ออกกฎให้น้ำมันเครื่องสามารถขึ้นราคาได้  เพราะคิดว่ายังไงเสียสังคมก็ต้องยอมซื้อด้วยราคาอันแสนแพงกว่าเป็นจริง สุดท้ายก็พังกันทั้งหมด เพราะ ฝุ่นผงในสมองของคนพวกนี้ ที่มองเห็นแต่ฝุ่น แต่หามองเห็นลมที่หอบฝุ่นมาไม่

 ที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนก็คือในระหว่างช่วงเศรษฐกิจถดถอยของปีพศ. ๒๕๔๐ ที่รัฐบาลก็มุ่งแก้ที่สถาบันการเงินเป็นหลักใหญ่  แต่กลับให้ความสำคัญน้อยมากต่อระบบเศรษฐกิจที่สร้างผลผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ..เพราะพวกนี้เขาคิดกันได้แต่เพียงว่า เงินสร้างอุตสาหกรรม แทนที่จะคิดตรงข้ามว่า อุตสาหกรรม(ต่างหากเล่า) ที่สร้างเงิน

 ที่คิดแคบได้เพียงนั้นเป็นเพราะว่าพวกเขาถูกตำราฝรั่งผูกโยงแบบสนตะพายแล้วว่าเงินคือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะบันดาลเศรษฐกิจให้ไปโรจน์

 ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมแบบไทยๆเราที่นายแบงค์ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นการส่วนตัว   ดังนั้นการเอานายแบงค์ขึ้นเป็นนายช่างใหญ่จึงเป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรุนแรง 

 ถามว่า…ระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และผลประโยชน์ของเพื่อนนายแบงค์ที่สนิทชิดเชื้อกัน เขาผู้นั้นจะเห็นแก่ใครมากกว่ากัน

 อย่าลืมว่าอย่างน้อยเพื่อนนายแบงค์นั้นมีสายตรงที่จะลอบบี้”เขา”ได้ทุกเมื่อ ส่วนประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่มีช่องทางให้เสนอความเห็น..อย่าว่าแต่บ่นหรือด่า  

 ฝีมือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของนายแบงค์เหล่านี้ร้ายกาจหนักหนา สองปีผ่านมา (หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง)  ผมยังจำได้ว่า ในตอนแรก พวกเขาสั่งให้เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงลิ่วกว่าปกติ จาก 8 เป็น 15% ชั่วข้ามวัน..ซึ่งผมเอง ในตอนนั้นวิจารณ์ลั่นว่ามัน “เหมือนหนอนหากินกินกับศพเน่า “   โดยผมวิเคราะห์ว่าต้อง ลดดอกเบี้ยต่างหาก  …ไม่ใช่เพิ่ม

 หนอนมันโง่ก็คิดจะกินแต่ของเหม็น แต่ไม่นานเศรษฐกิจกลับยิ่งทรุดหนัก ไอ้พวกนักชำนาญน้ำมันเครื่องก็กลับลำ แล้วฟันธงออกมาใหม่ว่า…ให้ทำตรงข้าม (กลืนน้ำเน่า) ด้วยการลดดอกเบี้ยเงินฝากลงให้ต่ำมากๆ  ดังนั้นดอกเบี้ยเงินกู้จึงตกจาก 15 เป็น 7% ภายในข้ามคืน  ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากของคนจนๆ ก็”จำเป็น”ต้องลดจาก 8 มาเหลือ  1% ในข้ามคืนเช่นเดียวกัน

 จาก 15 เหลือ 1 ในชั่วข้ามคืน ..โห..ไอ้พวกนี้มันเก่งจริง ผ่าเถอะ  (นี่มันสร้างแรงกระตุกมหาศาลในระบบ ที่ถ้าเป็นในมหาประเทศรับรองว่าพังแน่ แต่ตายแลนด์เรา ..มปร .ไม่เป็นไร ทนได้ฉะเหมอ

 ช่วงนั้น..ผม (นายโนเนม) ได้เขียนจดหมายไปหารัฐบาลหลายฉบับ แต่ไม่เป็นผลแต่ประการใด (โห..น่าประหลาดมากเลยนะ)

 ผมเสนอไปว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด ดอกเบี้ยเงินฝากจะต้องไม่ต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อ คือประมาณ 4% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าเงินฝากประมาณ 3 คือเป็น 7% นี่เป็นการช่วยคนจนและคนรวยพร้อมกันไป

 แต่นี่พวกเขา “นายช่าง” กลับช่วยกันแต่พวกคนรวยให้กู้ได้ต่ำ (จะได้กู้ลงทุนกันมากๆ) ส่วนคนจนช่างแม่มปะไร เพราะอย่างไรเสียก็ต้องมาฝาก คงไม่ขุดหลุมฝังไหเหมือนก่อน  ในขณะที่นายแบงค์ พวกเขา รวยเท่าเดิม เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เท่าเดิม กล่าวคือพอฝากให้ 0.5%  แต่พอกู้ก็คิดเขา 6.5% ในขณะที่เมื่อก่อนวิกฤตฝากได้ 8% กู้ก็ 14%

 ดังนั้นวิกฤตหรือไม่วิกฤต ธนาคาร “ต้อง” รวยเท่าเดิม พวกเขาจึงร่วมกันลงขันส่ง ตัวแทนของพวกเขาให้เข้ามาบริหาร “เศรษฐกิจ” ของประเทศไทย

 นี่แหละมันเป็นระบบสามานย์ที่ดร.ในมหาลัยไทยสมคบกับนักการเมือง นายเงิน หากินกับคนจนมาโดยตลอด

 ไม่แต่การลองผิดลองถูกด้านดอกเบี้ย  คงยังจำกันได้ว่า ในตอนแรกเขาบอกว่าต้องขึ้นภาษี แล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มก็เพิ่มจาก 7 เป็น 10 ในบัดดล แต่พอไม่เวิ๊ก (เวิร์ค) ก็ให้ลองในทิศตรงกันข้ามบ้างคือให้ลดภาษีลงมา

 อนิจจา…อนาคตของชาติไทยเรา ขึ้นอยู่กับการลองเดาสุ่มของนักการเงินที่อิงนักการเมือง (และที่ปรึกษาระดับด๊อกแด๊ก) ไปตามยถากรรมเช่นนี้แหละหรือ  

 ดูมันช่างไร้ระบบ ด้อยพัฒนา  และไม่สมเลยกับการที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่จบด๊อกจากยูดัง  ต่างด้าว นับไม่ถ้วน  โดยที่พวกเราเสียเงินภาษีส่งไปเรียนใน ม. ดังราคาแพง ของต่างประเทศ จนกลับมาแล้วยังทำเป็นเย่อหยิ่งจองหอง เชิดคอ จนไม่เคยมองเห็นขี้ไก่สักกอง อย่าว่าแต่จะไปเหยียบมันให้ไม่ฝ่อเลย  อย่างงี้เอาไปขังคุกขี้ไก่ที่ U of Mahwor  สักสามปีดีไหม จะได้มีสติคิดอะไรออกแบบไทยๆ ที่ไม่ต้องอิงตำราฝรั่งบ้าง

 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าไม่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบไฮโล” ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร เพราะช่างซ่อมรถจบปอสี่ที่อู่ข้างถนนแถวบ้านนอกข้างบ้านผมก็ทำได้ดีพอกันแหละ คือถ้าแทงไฮโลเลขสูงไม่ถูก ก็ลองแทงต่ำดูบ้าง ..ลองผิดลองถูกมันไปเรื่อยๆ เงินพนันที่เสียไปก็ช่างมันเพราะหามาได้ง่ายๆด้วยการโก่งค่าซ่อมรถเอากับพวกผู้หญิงแก่ๆที่ไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์

 ประชาชนไทยเสียภาษีส่งคนไปเรียนนอกจนจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์เกลื่อนเมือง แต่อนิจจา พอประเทศชาติประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ เราก็แทบจะหันหน้าไปปรึกษาใครไม่ได้ เพราะพวกที่เรายกย่องให้เป็น”นักวิชาการ”เหล่านั้นไม่ได้มีสภาพเป็นคลังแห่งปัญญาและความรู้พอที่จะให้คำปรึกษาได้ เพราะเวลาส่วนใหญ่ในชีวิต เอาไปหาลำไพ่ง่ายๆ รวมทั้งเลียนักการเมือง จนสมองและวิชาการมันทู่ไปหมด

 ความเจ็บปวดครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนอันสำคัญต่อผู้คนในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย เชื่อว่านักวิชาการบริสุทธิ์ที่ไม่เห็นแก่อามิสยังพอมีอยู่ ที่จะทำอะไรเพื่อสังคมได้ นักวิชาการเหล่านี้จะต้องรวมตัวกันแสวงหา สรรค์สร้าง ประยุกต์วิชาการ เพื่อเตรียมพร้อมไว้รับมือกับวิกฤติระลอกใหม่ที่จะต้องถาโถมเข้ามาอีกหลายระลอกอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

 ควรรวมตัวกันเสนอรัฐบาลให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาวิกฤติเศรษฐกิจอิสระที่ไม่อิงการเมือง”   เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ทำนายเหตุการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปัญหาเศรษฐกิจตลอดเวลา หน่วยงานเช่นนี้น่าจะทำงานคล้ายหน่วยทหาร เช่นมีการจำลองสถานการณ์ว่าเกิดวิกฤตินานาประการขึ้น เหมือนอย่างที่ทหารจำลองสงคราม แล้วทำการ “ซ้อมรบ”  ….ฝึกปรือวิทยาการให้คมกริบ พร้อมรับมือกับวิกฤติทุกเมื่อ ให้ทันกาล จะได้ไม่ต้องพึ่งนักการเงินเฉพาะหน้าที่เลียนักการเมืองอีกต่อไป

 คิดไปแล้วก็ให้เห็นใจรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะไม่มี “ระบบ” ให้พึ่งพิงแล้ว ก็ยังมองไม่ค่อยเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่โดดเด่นพอที่จะให้มาช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้

 อันว่าคนกำลังจะจมน้ำตายนั้น เหลียวไปรอบๆ ก็มืดมิด มองไม่เห็นอะไรเลย ดังนั้น พอเห็นก้อนอะไรลอยมาก็ต้องคว้าไว้ก่อนแหละ  แม้แต่ว่าเป็นก้อนขี้หมาที่ลอยน้ำมาก็ตามที   ..กำขี้ดีกว่ากำตด

………..ทวิช จิตรสมบูรณ์

( หมายเหตุ บทความนี้เขียนไว้แต่ประมาณ พศ. ๒๕๔๒ ๒ ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจแห่งต้มยำกุ้ง ..ปรับแก้การใช้ภาษาเล็กน้อย… แต่ผมว่ามันยังใช้ได้เสมอแม้ในพศ. ๒๕๕๓ นี้)  

« « Prev : ไพร่ฟ้าหน้าแดง (แกมเหลือง)

Next : ดื่มน้ำมากไป..ตายไว (ตอน ๒) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 August 2011 เวลา 11:11 pm

    รมว. คลังไทยคนใหม่ ก็นายธนาคารเก่า และ ผอ. ตลาดหุ้น

    ทั้งสองสถาบันไม่ทำอะไร นอกจาก หาเงินจากเงิน ..กลั่นเงินให้เป็นเงิน

    พวกนี้เขาสนใจเศรษฐกิจหรือ หรือว่าเขาสนแต่ว่า ขอให้ได้เงินมากที่สุดเป็นพอแล้ว

    วงจรเงินของคนพวกนี้มันแสนสั้น 2-3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง

    แต่วงจรเศรษฐศาสตร์ (ไม่เท่ากับเศรษฐกิจ) มันยาวกว่านั้น 100 เท่า

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 August 2011 เวลา 12:29 am

    โอ้เรา..
    ได้แต่ เว้าวอนฝาก ลมไป
    คนผู้ใด จะเห็น ว่าเป็นดี
    เกิดมาแล้ว ไม่แคล้ว ทำหน้าที่
    ป้องปฐพี ตามที่ พอมีเพียงฯ

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 August 2011 เวลา 6:13 am

    มีเงินเขานับเป็นน้อง
    มีทองเขานับเป็นพี่
    ตอนนี้ทองขึ้นๆๆๆๆ เขานับ เ ป็ น คุ ณ พี่

    คนรวยเสียงดัง คนจนเสียงแหบ
    จะทำยังไงได้ละ
    นอกจากตั้งธนาคารคนจน
    มีสลึงพึงบรรจบให้ครบล้าน ๆๆๆ
    ปลูกต้นไม้ดีกว่า โตทุกวันมันก็เหมือนดอกเบี้ยธนาคารนั่นแหละ
    อย่างอื่นสู้เขายาก เพราะเงินอยู่ในกำมือใครคนนั้นก็มีอำนาจวาสนา

    แต่เทวดา ก็มองเห็นนะ
    ตอนนี้อเมริกาที่ว่าแน่ๆ ก็หงายเก๋ง
    นายธนาคารไทยที่ว่าแน่ๆ ตอนต้มยำกุ้งก็ขายหุ้นให้สิงคโปร์แทบหมดหน้าตัก
    ธนาคารไทย ภายในกลวง ไม่ได้ร่ำรวยจริงหรอก
    เถือกแถไปวันๆเหมือนกัน

    นายธนาคารระดับบิ๊ก ถูกจองจำอยู่ในตารางก็มี
    เป็นอาจารย์นั้นดีแล้ว
    บ่นๆๆยังไงก็ไม่ผิดกฏหมาย
    มีคนอ่านประดับความคิดความรู้ดีอ๊อกกกกกกกกกกกก
    55555


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.057427167892456 sec
Sidebar: 0.0081310272216797 sec