ดื่มน้ำมากไป..ตายไว (ตอน ๒)
ตามที่ผมได้เขียนบันทึกเรื่องคนไทยอาจดื่มน้ำมากเกินไปมาก เพราะไปยึดคติฝรั่งว่ากินน้ำวันละ 8-10 แก้ว ซึ่งอาจเกิดโรคร้ายตามมาได้เช่น ไตเสื่อมเร็วก่อนเวลาอันควร (เพราะไตทำงานหนักกว่าปกติในการขับถ่ายน้ำ) และ ความดันโลหิตสูง (เพราะเลือดใสขึ้น มีปริมาณมากขึ้น หัวใจก็ต้องสูบฉีดมากขึ้น)
บัดนี้ได้เกิดความคิดต่อยอดว่า การกินน้ำมากเกินไปนี้ ทำให้เลือดใสขึ้น อาจนำไปสู่สิ่งเลวร้ายได้อีกหลายประการ เช่น
- 1) ไตฉ่ำน้ำมากขึ้น อาจดูดซับของเสียจากเลือดยากขึ้น อุปมาดั้งผ้าขี้ริ้วเช็ดโต๊ะ ถ้าผ้าแห้งไปหรือเปียกไปก็เช็ดโต๊ะได้ไม่ค่อยสะอาด ต้องหมาดๆ กำลังดีจึงจะดีที่สุด
- 2) เลือดที่ใสเกินไปนี้น่าคิดว่าจะทำให้เลือดยึดจับของเสียจากเซลได้ดีขึ้นหรือเลวลง ผมเดาว่าเลวลงนะครับ (แต่นักสุขภาพส่วนใหญ่ว่าดีขึ้น เช่น มักบอกกันว่าให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้อายุยืน) ทั้งนี้เพราะว่าเลือดเรานี้มีลักษณะเป็น dipole คือมีขั้วไฟฟ้านั่นเอง ขั้วไฟฟ้านี้สำคัญมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดจับออกซิเจนในปอด และ (ผมเดาว่า) ดูดจับสารพิษออกจากเซลร่างกายด้วย ดังนั้นถ้าเลือดใสเกินไป ความเข้มข้นของ dipole ก็ต่ำลง การดูดจับทั้ง อ็อกซิเจนและสารพิษอาจ “ต่ำลง” สารพิษ หรือสารตกค้าง ก็สะสมในร่างกายมากขึ้น อาจเป็นต้นเหตุของ “เบาหวาน” ก็เป็นได้นะ
- 3) เลือดที่ใสเกินไปก็ทำให้มีปริมาณมากขึ้น ถ้าท่อหลอดเลือดมีขนาดเท่าเดิมก็จะทำให้ความเร็วในการไหลสูงขึ้น หัวใจทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องสูบส่งปริมาณเลือดที่มากขึ้น อีกทั้งความเร็วที่สูงขึ้นก็ยิ่งเกิดแรงต้านทานการไหลสูงขึ้น (แม้ว่าความหนืดเลือดจะลดลงก็ตาม เพราะความหนืดเลือดลดลงเป็นเชิงเส้นกับความใส แต่แรงต้านเพิ่มเป็นยกกำลังสอง) กำลังที่หัวใจต้องทำงานคือ อัตราการไหลเลือด คูณด้วย แรงดันต้าน ก็โดนสองเด้งเลยนะครับ คือ อัตราการไหลเลือดก็เพิ่ม แรงดันต้านก็เพิ่ม ดังนั้นนอกจากไตวายแล้ว หัวใจจะวายด้วย
- 4) ส่วนแรงดันที่เพิ่ม ก็คือ แรงดันโลหิต แหละครับ ก็ทำให้เกิดโรคความดันอีกด้วย (หมอฝรั่งบางคนสอนว่าเลือดใสขึ้นทำให้ลดความดันโลหิต ซึ่งผมได้วิเคราะห์แล้วว่าไม่จริง (ถ้าหลอดเลือดมีขนาดเท่าเดิม) …แต่มีความเป็นไปได้ว่ากินน้ำมากอาจทำให้ tissue ฉ่ำน้ำ หลอดเลือดอาจมีความหยุ่นตัวสูงขึ้น และมีการขยายหลอดเลือดตามแรงดันที่สูงขึ้น ก็ช่วยลดความเร็วและลดแรงดันลงได้หน่อย..เรื่องนี้ต้องมีงานวิจัยรองรับ แต่ผมคิดว่าหลอดเลือดมันขยายตามไม่ทันหรอกครับ
- 5) ผมมีทฤษฎีของผมเองว่า บุคคลย่อมมีโควตาการเต้นหัวใจที่แน่นอนอันหนึ่ง (ซึ่งจำนวนที่ว่านี้ต่างกันไปแต่ละคน) และนั่นคือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมพระป่าอีสานจึงอายุยืน ทั้งที่ฉันอาหารที่มีธาตุอาหารต่ำเป็นนิจ นั่นก็เพราะว่าหัวใจท่านเต้นช้านั่นเอง เพราะท่านทำสมาธิมาก เวลาเข้าสมาธิหัวใจจะเต้นช้าลงมาก
- 6) อวัยวะทุกชิ้นในร่างกาย (อย่าว่าแต่ไต) ก็จะทำงานกันเร็วขึ้นตามจังหวะเต้นของหัวใจและความเร็วของกระแสเลือด ก็ย่อมเกิดการเสื่อมเร็วขึ้นเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทั้งระบบ และอวัยวะทุกชิ้นล้วนมีโควตาสูงสุดของตน หากชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นจุดอ่อนของร่างกาย โควตาของมันก็อาจหมดก่อนโควตาของหัวใจก็เป็นได้
สุดท้ายผมคิดว่า มันมีจุดดื่มน้ำที่ดีที่สุดอยู่ โดยเราต้องมาทำบัญชีน้ำกันหน่อย แล้วทำวิจัยเพิ่มอีกนิด ก็น่าจะได้คำตอบ เอาง่ายๆ ก็เช่น เวลาตรวจโรคคนไข้แล้วมีการเจาะเลือด ก็ให้วิเคราะห์หาความใสข้นของเลือดด้วย ได้ข้อมูลทั่วประเทศแล้วลองเอามาหาความสัมพันธ์ระหว่างความใสเลือดกับโรคต่างๆดูซิ แค่นี้ก็น่าพอเห็นแนวโน้มนะครับ
นี่ผมคิดแบบวิศวะ ฝากคุณหมอและนักสุขภาพทั้งหลายลองเอาไปคิดต่อยอดกันดูนะครับ ทำวิจัยดีๆ อาจได้รางวัลโนเบลเป็นคนแรกของประเทศไทยก็เป็นได้นะครับ (ได้แล้วแบ่งผมสักเสี้ยวด้วยนะ อิอิ)
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔)
« « Prev : แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย “นักการธนาคาร”..กับดักรัฐบาลไทยทุกยุค
Next : ตถาคตเป็นเพียงกูรูผู้ชี้ทาง » »
1 ความคิดเห็น
ที่ทราบแน่ๆเวลาดื่มน้ำมากๆโอกาสที่ต้องเทียวเข้าห้องน้ำจะบ่อยกว่าปกติค่ะอาจารย์
เมื่อราวเดือนหนึ่งที่ผ่านมา มีโอกาสได้คุยกับสาวญวนนางหนึ่ง ผิวพรรณเธอผ่องใสเต่งตึงทั้งๆที่อายุมากแล้ว ก็เลยถามว่า ทำอย่างไร
เธอบอกว่า ให้ดื่มน้ำเยอะๆ ฉันตื่นขี้นมาก็ดื่มไปแล้ว 2 ลิตร แล้วตลอดวันไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน ฉันก็ไม่เคยลืมคอยดื่มน้ำ
สงสัยจะทำไม่ได้ค่ะ ฮา