ตถาคตเป็นเพียงกูรูผู้ชี้ทาง

โดย withwit เมื่อ 20 August 2011 เวลา 3:31 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1590

ผมได้ทิ้งงานวิศวกรวิจัยกับองค์กรอวกาศในมหาประเทศที่ทำมาสิบกว่าปี (จนถึงพศ. ๒๕๓๘)  มาเป็นครูบ้านนอกในประเทศไทย  เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ทำงานที่ใฝ่ฝันเสียที

 

แต่นั้นมา ผมได้ครุ่นคิดหาวิธีการสอนที่ดีที่สุด สำหรับนักเรียนไทย และนักเรียนโลกด้วย  ผมว่าผมคิดออกเมื่อสักประมาณพศ. ๒๕๔๕ จึงอยากขอฝากไว้ให้ประดาครูผู้เป็นเพื่อนร่วมอาชีวะทั้งหลายโปรดช่วยกันนำไปรำพึงต่อด้วยครับ

 

ผมเห็นว่าการสอนแบบ นร.เป็นศูนย์กลางนั้น (นรศ.)  (ตามพรบ.การศึกษา ๒๕๔๒)  เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับบางช่วงอายุเท่านั้น แต่ถ้านำมาใช้แบบหว่านแห จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่สังคม  เหมือนดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งผมได้แจงแสดงหลักฐานไว้มากหลาย แต่ไม่มีใครสนใจสักคน

 

ผมเห็นว่าวัยที่เหมาะกับ นรศ.  คือ อนุบาล ป 1-2  และ ป.โท-เอก  กล่าวคือ ที่ต้นน้ำและปลายน้ำ เท่านั้น

 

ส่วนตรงกลางน้ำ คือ ประถมปลาย มัธยม และ ป ตรี ต้องปรับมาใช้ครูเป็นศูนย์กลาง  เรื่องนี้ยาว…ผมได้เขียนไว้มากหลายแล้วในอดีต ว่างๆมีเวลา จะเก็บเอามาร่อนตะแกรง แถลงใหม่ เป็นรอบที่สามสิบ  

 

แต่โดยคร่าวๆ คือ แรกเพาะเมล็ดพันธุ์นั้น เราต้องการปลูกฝังความกล้าคิด กล้าฝัน กล้าแสดงออก ไว้ในดวงจิตบริสุทธิ์ของเขา …ถ้าเรายัดความรู้มากไป จิตเขาก็เต็มเสียแต่เนิ่นๆ แล้ว  

 

เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ผู้โปรแกรมอัดข้อมูลใน ROM ไว้หมดแล้ว RAM ก็แทบไม่เหลือพื้นที่ เพราะ rom+ram = constant

 

ส่วนตรงกลางๆ เราต้อง “ป้อนความรู้”  เพราะทุกวันนี้ต่างจากสมัยก่อนที่ความรู้ได้สะสมไว้จนมีหลายเล่มเกวียน ขืนปล่อยให้แต่ละคนไปลองผิดลองถูกเอาเอง เรียนรู้แบบลูกวัวควาย  โดยครูเป็นเพียงผู้ช่วย (facilitator) มันจะไม่มีแรงพอ ไม่ทันกาล ไม่มีปสภ.  

 

แต่การป้อนความรู้นั้นต้องป้อนแบบวิธีอันมีปสภ. ยิ่ง ของครูผู้ยิ่งใหญ่ (ไพศาลคุรุ = พระพุทธเจ้า)  ที่ทรงสอนว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง เธอคือผู้เดินทาง …ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการ พบกันครึ่งทาง” ระหว่างครูศูนย์กลาง หรือ นักเรียนศูนย์กลาง

 

ครูต้องฝึกตนให้มีความรู้พอที่จะชี้ทางได้ถูก เพราะได้เคยคลำหาทางและทดลองเดินทางนั้นมาจนช่ำชองแล้ว   จากนั้นก็มาชี้ช่องและแนะให้เด็กเดิน โดยเด็กต้องเดินทางด้วยตนเอง

 

เด็กทดลองเดินทางไป..ก็สะดุดตอไม้ หกล้มปากแตก หรือชมดอกไม้ไปพลาง.. ก็ไม่ว่ากัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ด้วยกันทังนั้น

 

แต่ถ้าครูพาเข้าทาง พาเดินทางชี้ชมดอกไม้ ผีเสื้อทุกตัว ไปเสียหมดทุกอย่าง เด็กก็ไม่สนุก เบื่อ เป็นการเรียนรู้แบบเดินตามครูเซื่องๆ ไปอย่างนั้นเอง  เห็นดอกไม้สวยที่ตัวเองชอบเป็นพิเศษ (แต่ครูไม่ชอบ) จะขอหยุดชมก็ไม่ได้ ต้องเดินตามขบวนที่ครูนำ

 

พอหยุดดูชมในสิ่งที่ตนรักเสียเพลินนาน    อ้าว ..ครูและหมู่หายไปไหนแล้ว … จะคลำหาทางออกป่าก็ไม่เจอ ก็หลงป่าไปเตลิดเถิดเทิง  ทั้งนี้เพราะครูไม่ได้ ชี้” แนวทางไว้แต่แรก

 

วิธีการสอนแบบ ชี้ทาง”  ที่ว่านี้คือ…ครูสอน หลักการ”  และ “วิธีการอย่างคร่าว” เท่านั้น อย่าลงรายละเอียดของวิธีการ ส่วนรายละเอียด ให้นร. นศ. ไปศึกษาหาเรียนรู้กันเอาด้วยตนเอง

 

แต่ทุกวันนี้การศึกษาเราเสียเวลามากในการนำเด็กเดินทาง ซึ่งครูเองก็เหนื่อยและเบื่อ ส่วนเด็กเองก็ไม่ได้อะไรนอกจากเดินตามครูต้อยๆ  แถวก็ยาว คนหลังๆ ก็ฟังไม่ได้ยิน และไม่ค่อยเห็นอะไรที่ครูชี้ให้ดูระหว่างทาง

 

การสอนแบบวิธี “ชี้ทาง” นี้ พอจบป.ตรี ถือได้ว่าพวกเขาเดินคลำทางออกจากป่าใหญ่ผืนแรกมาได้แล้ว มีความชำนาญการเดินป่าพอสมควร

 

สำหรับนศ. ป.โทเอกนั้น จากนี้ไปเขาต้องบุกเบิกหาเส้นทางใหม่ในป่าอันกว้างใหญ่ลึกเพื่อแสวงหา “สมุนไพร” หรือ “เครื่องเทศ” ตัวใหม่ๆ มาให้สังคม

 

ซึ่งครูเองก็เคยไปด้อมมองหามาบ้างแล้ว แต่ครูก็ยังไม่มั่นใจนัก ประกอบกับครูก็มีภาระมากที่ต้องไปหาช่องทางอื่นๆ อีกหลายทาง  ก็ต้องบอกใบ้ให้ข้อมูลเขา เพื่อให้เขาไปเดินแสวงหาข้อมูลเชิงลึกมาให้ครู ซึ่งเขาก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยในตัวเองระหว่างการแสวงหาเส้นทางนั้น

 

ซึ่งต่อไปเขาก็คงได้สะสมความรู้ความคิดจนกลายเป็น “ครูผู้ชี้ทาง” ได้อีกคนหนึ่ง

 

…คนถางทาง (๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔)

« « Prev : ดื่มน้ำมากไป..ตายไว (ตอน ๒)

Next : สุดเสียวกุ๊ยเตี๋ยวไทย (อาหารอุบาทว์…รสชาติแสนกร่อย ตอน ๓) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 August 2011 เวลา 6:29 pm

    เห็นด้วยค่ะ มีความเห็นเพิ่มว่า ระดับ ป ตรี นั้น ต้องให้เขาชัดเจนว่า อะไรคือแก่น อะไรคือกระพี้ในวิชาการ
    ทุกวันนี้จะสอนเขาว่า มีสามอย่างที่เขาต้องแยกและเข้าใจคือ เรื่องต้องรู้ เรื่องควรรู้ และเรื่องน่ารู้
    เรื่องต้องรู้ ครูต้องสอนหลัก จับให้ได้
    เรื่องควรรู้ นำทางให้รู้วิธี ไม่ต้องสอนให้ไปหาคำตอบเอง มีแบบฝึกหัดให้บ้าง
    ส่วนเรื่องน่าสนใจก็เชิญตามกำลังเวลาความสนใจและโอกาส

    ทางวิชาชีพที่ความรู้พัฒนาเร็วไม่สามารถสอนทุกเรื่องค่ะ แต่ควรสอนหลักการจนเข้าใจจะเลกเชอร์ก็ต้องทำ

    นี่คือความคิดและที่ปฏิบัติทวนกระแสบ้างช่างมันค่ะ

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 August 2011 เวลา 8:45 pm

    แม่อุ๋ยจ๊ะ อย่าลืมว่า ปลา “เป็น” เท่านั้นที่ว่าย “ทวน” กระแส

  • #3 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 August 2011 เวลา 5:50 pm

    เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับบทความนี้ และขอต่อของอุ๊ยสร้อย นิดหนึ่งนะคะ มีเรื่องน่ารู้ ควรรู้ ต้องรู้แล้ว เปิดโอกาสให้เด็กไม่ว่าระดับไหน เรียน “เรื่องอยากรู้” ด้วยค่ะ เพราะเรื่องสุดท้ายนี่แหละ ทีมันจำเป็นทีเดียว ถ้าไม่มีใครสอนใครแนะ ใครช่วยหาคำตอบ เด็กก็จะไปหาเรียนเอง บางทีก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่นาน หรือไม่ก็รู้ไม่จริง

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 August 2011 เวลา 2:16 am

    อยากรู้ เป็นช่องเปิด ระบาย ลดแรงกดดัน เห็นด้วยกะแม่หยั่ย มั่กมาก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.05998682975769 sec
Sidebar: 0.0080649852752686 sec