วิจารณ์คณะรัฐมนตรีชุดใหม่
อ่าน: 1353ครม. = คนรอเหมือบ?
สมการที่เป็นคำถามของหัวข้อบทความนี้จะถูกต้องหรือไม่ก็อีกเรื่อง แต่ที่แน่ๆ วันนี้รายชื่อ ครม.ใหม่ออกมาแล้ว ซึ่งทำให้ผมวิจารณ์ไม่เป็น เนื่องเพราะไม่รู้จักใครเลยว่ามีหัวนอนปลายทรีนมาจากไหน
ที่พอเคยได้ยินชื่อบ้างก็นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง ก็พลอยยินดีกะท่านด้วยนะที่ทำงานเข้าตาจนได้ดี แต่ก็ยังงงอยู่ว่าท่านมีวุฒิ ประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญใด จึงไปนั่งเป็น รมช. เกษตร ซึ่งเป็นกระทรวง”เทคนิค” เสียด้วย
ส่วนรมต.ท่านอื่นๆ ส่วนใหญ่ผมไม่รู้จักแม้แต่ชื่อ (อย่าว่าแต่ผลงาน) พยายามไปค้นหาประวัติท่านเหล่านี้ก็หาไม่เจอในสื่อต่าง ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สื่อบ้านเรา มันตื้นเขินกันจริงๆ เรื่องสำคัญที่สุดของประเทศชาติ กลับเสนอข่าวกันแบบสั้นๆ ตื้นๆ แบบนี้เองหรือ ไม่มีการวิเคราะห์เจาะลึกอะไรเลย นอกจากว่าใครเป็นเด็กเส้นของใคร โควตาของส่วนไหน ..(เรื่องแบบนี้สื่อไทยเราเก่งมาก)
ในระบบการเมืองไทยเรานั้น นายใหญ่ (คนจ่ายเงินบำรุงพรรค) ต้องการตั้งใครเข้าไปบริหารกระทรวงใดก็ทำกันได้ง่ายๆ เพียงแต่ตะโกนสั่งลงไป แบบว่าประเทศนี้เป็นของฉันคนเดียว
แล้วระบบ “คานอำนาจ” ที่เป็นหัวใจของปชต. หายไปไหน???
ที่ usa ก่อนที่ ปธด. จะส่งใครไปเป็น รมต. หรือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ต้องผ่านการเห็นชอบของสภาสูงด้วย สภาสูงเขาจะซักประวัติ ความรู้ความสามารถกันนาน บางทีนานเป็นเดือน มีการถ่ายทอดการซักถามให้ปชช. ชมด้วยในช่อง PBS เขาขุดคุ้ยไปหมด ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวในอดีต สมัยเป็นหนุ่มชอบกินเหล้า เคยสูบกัญชา ถูกแฉหมด
ผมถึงได้เคยเขียนบทความเสนอมาแล้วว่า ของไทยเราน่าจะ “ลอก” ระบบนี้ของเขามาใช้ เพียงแต่ว่าก่อนอื่นต้องทำระบบสภาสูงของเราให้เป็นกลางด้วย ไม่งั้น “นายใหญ่” ก็สั่งสภาสูงหันซ้ายขวาได้อีกตามระบบแบบไทยๆ เรา
ผมได้เสนอว่า สมาชิกสภาสูง ต้อง”ไม่มา” จากการเลือกตั้ง แต่มาจากการกำหนดโดยตำแน่งในองค์กรทางสังคม เช่น องคมนตรี นายกสมาคมวิชาชีพต่างๆ อธิการบดีม.ของรัฐเลือกกันมา 5 คน เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเป็น ปชต. ที่แน่นอนกว่าการเลือกตั้งทางตรงเสียอีก
ถ้า “คานอำนาจ” กันระหว่างการเลือกตั้งทางตรงกับเลือกตั้งธรรมชาติ แบบนี้ เราจะมีรมต. ที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเราเจริญกว่านี้ได้อีกมาก เพราะนักการเมืองคือต้นธารแห่งการพัฒนาสังคม
…คนถางทาง (๑๙ มกราคม ๒๕๕๕)