ศาสนาและความรุนแรง

โดย withwit เมื่อ 11 January 2012 เวลา 9:11 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1831

ศาสนาพุทธต่างจากศาสนาอื่นตรงที่….

 

หลายพุทธปราชญ์ได้นำเสนอความต่างของศาสนาพุทธจากศาสนาอื่น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่พุทธไม่มี “พระเจ้า”   (แต่เราชาวพุทธก็ยังพยายามจะยกให้ พระพุทธ เป็น พระพุทธ”เจ้า” อยู่นั่นแหละ  ….ไม่พ้นเลียนแบบฝรั่งและแขกไปได้สักที)

 

ที่ผมคิดได้ในวันนี้อีกเรื่องคือ การแพร่ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยเกิดความรุนแรง (เลือดตกยางออก) ทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังจากนั้น

 

ในสมัยพุทธกาลนั้นไม่มีการเสียเลือดโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจากเรากระทำเขาหรือเขากระทำเรา ทั้งนี้ เดาว่าคงมาจากบารมีของพระพุทธนั่นเอง ที่ท่านพูดทำแต่สิ่งที่เต็มไปด้วยปัญญา จนฝ่ายตรงข้ามต้องยอมรับโดยไม่อาจโต้เถียงได้ (ยอมจำนนทางปัญญา)

 

แต่พอสิ้นพระพุทธ (หลังพุทธกาล) ชาวพุทธขาดพุทธบารมี มันก็ลดระดับลงมา  ทำให้เราทำได้เพียงแค่ไม่รุกรานหรือข่มเหงผู้อื่น ส่วนผู้อื่นนั้นข่มเหง เข่นฆ่าเราเป็นผักเบือ ก็ทำได้เสมอ ดังที่ได้มีบันทึกเรื่องนี้ไว้มากหลายในประวัติศาสตร์

 

ศาสนาพุทธนั้นนอกจากจะไม่เข่นฆ่าผู้อื่นแล้ว ยังช่วยยุติการเข่นฆ่าได้อีกด้วย เช่น กรณีของกษัติรย์อโศกมหาราช ที่ยุติการเข่นฆ่าหลังจากหันมานับถือศาสนาพุทธเป็นต้น

 

ลองหันไปมองศาสนาอื่นทุกศาสนา จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งที่ถูกกระทำ และไปกระทำต่อผู้อื่น (ล้างแค้น) แม้ในช่วงเวลาที่เจ้าศาสดายังดำรงชีวิตอยู่ …… ในการถูกกระทำนั้นนับว่าน่าเห็นใจมาก แต่ถามลึกๆว่าแล้วเจ้าศาสดาของท่านไปทำอะไรเล่าจึงได้ถูกกระทำเช่นนั้น   ก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าศาสดาของพวกเรา “ฉลาดเกินไป” ทำให้พวก “โง่และป่าเถื่อน” คิดไม่ออกและยอมรับไม่ได้ พวกมันจึงได้กระทำการโหดร้ายทารุณต่อพวกเรา

 

 …..แต่ผมขอท้วงว่า ไม่ใช่หรอก เพราะถ้าศาสดาของพวกท่านฉลาดพอ ท่านต้องสอนให้คนโง่ คนโหดร้าย กลายเป็นคนใจดี มีเมตตาได้สิ ..นี่อาจแสดงว่าศาสดาเหล่านั้นไม่ได้ฉลาดล้ำเพียงพอก็เป็นได้

 

เท่าที่นึกออกในขณะที่เขียนนี้  มี”ศาสนาอื่น”เพียงศาสนาเดียวที่ไม่มีความโหดร้ายมาเกี่ยวข้องคล้ายพุทธศาสนา คือ ศาสนาเชน ศาสนานี้มีอะไรคล้ายศาสนาพุทธมาก (กำเนิดก็ร่วมสมัยกันด้วย) แต่ว่าแนวปฏิบัติค่อนข้างไปทางสุดโต่ง (เช่น ชีเปลือย เดินไปกวาดถนนไปล่วงหน้าเพราะกลัวจะไปเหยียบแมลงตาย)

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้สังเกตคือ ศาสนาพุทธต่างจากศาสนาอื่นตรงที่ไม่มีแนวคิดหลักในเรื่อง “การเสียสละ” ซึ่งแนวคิดนี้มักเป็นหลักสำคัญในศาสนาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละเพื่อพระเจ้า จริงอยู่ศาสนาพุทธมีแนวคิดเรื่องการบริจาค (สละทรัพย์) อยู่บ้าง แต่เป็นเพียงหลักการย่อยเท่านั้น

 

ลองนึกดูสิครับ คำสอน 84000 พระธรรมขันธ์นั้นมีสักกี่ข้อที่พูดถึงการเสียสละ และที่พูดนั้นในบริบทที่สำคัญเพียงใด

 

ผมเห็นว่า “การเสียสละ” นี่แหละคือต้นเหตุสำคัญของความรุนแรง  เพราะการที่คิดว่าตนเองเสียสละนั้นคือ “การยึดติด” พอยึดติดก็ยิ่งเห็นความสำคัญของตน (กว่าคนอื่น) ดังนั้น ตัวตนก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นหน่อเนื้อแห่งความรุนแรงนั่นเอง

 

หลักการของศาสนาพุทธคือ การฝึกตนจนหมดทิฐิแห่งตัวตน จนกระทั่งมีสมาธิและปัญญาในการทำหน้าที่แห่งตนได้อย่าง “เต็มที่” โดยไม่ต้องมาคิดว่าเป็นการเสียสละแห่งตนแต่อย่างใด (เพราะหมดตัวตนแล้ว) มันก็เลยหมดปัญหาไปได้หลายประการ….ดังนี้แล

 

…คนถางทาง (๑๑ มกราคม ๒๕๕๕)

« « Prev : ถนนห่วยๆ (ขับไปบ่นไป ๘)

Next : ศาสนาและความรุนแรง(๒) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 January 2012 เวลา 7:08 pm

    อืม เอาเป็นว่าพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนนะคะ

    ตอนเด็กๆเคยสงสัยว่า “ทำไมเรียกพระพุทธเจ้า”
    แม่ตอบว่าลูกไปค้นดูซิว่าแต่ละคำมีความหมายยังไง แล้วมาคุยกัน
    เลยค้นความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทีละคำเพื่อไปคุยกับแม่ ได้ความเท่าที่จำได้คือ

    พระ = นอกจากหมายถึงภิกษุสงฆ์แล้ว ยังใช้เป็นคำนำหน้าเพื่อยกย่อง ในของที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ว่าสูง
    พุทธะ = ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว
    เจ้า = เชื้อสายกษัตริย์ ผู้ชำนาญ ผู้เป็นเจ้าของ หรือมักใช้เติมท้ายคำเรียกผู้นับถือ เช่น เทพเจ้า พระพุทธเจ้า เช่น เจ้ากู = ท่าน (เรียกพระที่นับถือ)

    พอเอาความหมายมาคุยกับแม่ แม่บอกก็ชัดแล้วนี่ว่าทำไมเรียกพระ+พุทธะ+เจ้า เพราะท่านตรัสรู้แจ้งด้วยพระองค์เอง ซึ่งท่านเป็นทั้งเชื้อสายกษัตริย์ และได้รับความนับถืออย่างยิ่ง แต่คนละความหมายกับพระ+เจ้า ในศาสนาอื่น เพราะ”ท่านรู้แจ้งแนวทางแก้ปัญหาด้วยความเพียรของตัวเอง” …ไม่ใช่คำสั่งให้ทำตาม ถ้าไม่ทำมีการลงโทษ เหมือนศาสนาหลายๆศาสนา

    ส่วนคำว่าเจ้าก็ไม่คิดว่ามาจากภาษาอื่นนะคะเพราะเข้าลักษณะของคำไทยแท้เหมือนกัน เป็นคำโดดมีพยางค์เดียว ตรงรูปวรรณยุกต์ ไม่มีตัวการันต์ ไม่ใช่คำควบกล้ำ

    และศาสนาพุทธก็มีปราชญ์ที่พูดว่าเรามี”พระเจ้า”ในความหมายของผู้สร้างเหมือนกันนะคะ ท่านพุทธทาสไง แต่พระเจ้าของเราคือ”ธรรมะ=ธรรมชาติ” ไม่ใช่ God …หนังสือของท่านเคยพูดถึงค่ะ

    โดยส่วนตัวเห็นคล้ายๆกันว่าพุทธศาสนา เป็นศาสนาสันติภาพ ที่เผยแผ่ด้วยความสงบ ไม่บังคับให้ใครเชื่อ แต่ให้ไตร่ตรองหาเหตุผลก่อน แล้วจึงพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ ทำให้ชาวพุทธมีนิสัยรักความสงบ มีเหตุผล ไม่ชอบความรุนแรง (ส่วนใหญ่น่า)

    ทำให้เราไม่มีสงครามศาสนา (แต่ใต้ก็กำลังปริ่มๆ ถ้าก้าวพลาดกลายเป็นสงครามศาสนาล่ะยุ่ง)

    ลักษณะเด่นอีกอันหนึ่งคือ”คำสอน” ที่ให้เรากำจัดกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ด้วย”ทาน ศีล ภาวนา” จึงตงิดๆกับคำพูดของอาจารย์ที่ว่าเราไม่เน้นเสียสละ จึงขอเรียนถามว่าเสียสละในความหมายของอาจารย์ใช่”ทาน”หรือเปล่า ถ้ไม่ใช่อะไรคือความหมายที่อาจารย์พูดถึงน่ะค่ะ

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 January 2012 เวลา 4:39 pm

    หลักสำคัญของศาสนาพุทธในมุมมองต่างๆ เช่น อริยสัจสี่ มรรคแปด ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท หรืออื่นๆ ไม่ปรากฎมีเรื่องการเสียสละเลยครับ เรื่องการเสียสละ (เป็นส่วนหนึ่งของการบริจาค หรือ จาคะ) นั้น ถือได้ว่าเป็น ศีลธรรมข้อย่อยๆ ของศาสนาพุทธเท่านั้น

    เรื่อง ทาน ศีล ภาวนา ก็เชนกัน ผมเชื่อว่าเป็นการประมวลขึ้นใหม่ของอาจารย์ชั้นหลัง ส่วนพพจ. นั้นท่านสอนเน้นไปที่ภาวนาเสีย ๙๙ % ได้กระมัง แต่อาจารย์ชั้นหลังๆมาบอกว่าทานศีลภาวนานั้น ราวกับว่าเราต้องทำอย่างละ ๓๓.๓๓% ให้สมดุลว่างั้นเถอะ

    ท่านพุทธทาสก็สอนภาวนาเสีย ๙๙ เหมือนก้นนะผมว่า

    ส่วนคำว่าพระพุทธเจ้านั้น ผมยังขอเดาว่าเราเลียนแบบฝรั่ง คือเราเรียกบุคคลสูงสุดของศาสนาฝรั่งว่า “พระเจ้า” (ทั้งที้ท่านไม่ได้มีเชื้อเจ้าสักหน่อย) ดังนั้นถ้าจะเรียก ท่านสิทธัตถะให้ดูสูงส่งทัดเทียมก็ต้องเรียกให้คล้ายๆ กัน

    ผมจำได้ว่าภาษาในประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้เรียกว่าพระพุทธเจ้า เช่น เรีกว่า พระสัพพัญญู พระโคดม บ้างหรืออะไรบ้างทำนองนั้น แสดงว่าคำว่าพระพุทธเจ้านั้นมาตั้งกันทีหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า พระเจ้า ของพวกบาดหลวงฝรั่งที่เข้ามาแผ่ศาสนาหรือเปล่า

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 January 2012 เวลา 6:12 pm

    ท่านพุทธทาส ท่านเลิศด้วยปัญญา วัตรปฏิบัติของท่านจึงเน้นปัญญา และรวบรัด ไม่มีพิธีมากมายและไม่เน้นขั้นตอน เช่น ถือหลักว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ทำงานด้วยจิตว่าง กินอาหารของความว่าง เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว มีชีวิตเื่พื่อคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆ มากกว่าการนั่งทำสมาธิแบบตอไม้ หรือวิปัสสนาเต็มรูปแบบตามที่สอนกันนะคะ แบบนั้นท่านเรียกว่าวิปัสสนาตามแบบของตัวกูด้วยซ้ำไป

    ถ้าอ่านตามที่อาจารย์พูด ก็น่าหาคำตอบว่าคำว่าพระพุทธเจ้าปรากฎครั้งแรกที่ไหน เมื่อไร เพื่อจะได้รู้กันว่าใครเป็นผู้เรียก แต่เท่าที่เห็นในหลักศิลาจารึกก็ไม่มีพูดถึง และถ้าดูว่าพุทธศาสนาเข้ามาในแถบนี้เมื่อไรก็น่าจะตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกที่ส่งพระไปเผยแผ่ศาสนาในที่ต่างๆนั่นแหละมั้งคะ แต่ก็ยังมีข้อแย้งในเรื่องรอยพระบาท รวมทั้งแท่นหินศักดิ์สิทธิ์ในหลายๆที่ ที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาด้วยองค์เอง แถมในยุคต้นๆแบบนั้นดูเหมือนเราจะไม่มีตัวอักษรไทยด้วยซ้ำไป หึหึหึ

    ส่วนเรื่องทานที่อาจารย์ให้ความหมาย ก็น่าสนใจว่าสิ่งที่เข้าข่ายคือ จาคะอันมีความหมายว่าบริจาคใช่มั้ยคะ…แล้วทำไมถึงมี ทศชาติของพระองค์ท่านที่บำเพ็ญทานบารมีด้วยล่ะคะ ถ้าไม่ใช่หนึ่งในฐานสำคัญของการบำเพ็ญเพียร?

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 January 2012 เวลา 6:40 pm

    ทศชาติ เป็น ” นิทาน” ชาดก นะครับ คำสอนของพพจ. เน้น ปัจจุบัน เป็นหลัก ๙๙%

    อ่านนิทานพวกนี้แล้วบางทีก็น่าคิดนะครับ ว่า นิทานเหล่านี้ระบุว่าเหตุเกิดนานนับกัลป์ (หลายล้านล้านปีกระมัง) แต่นักวิทยาศาสตร์เขาว่าจักรวาลนี้อายุน้อยกว่านั้น และ มนุษย์เราอุบัติมาไม่เกินล้านปีนี่เอง ชาดกบางเรื่องมีกำเนิดเมื่อล้านๆปีก่อน ในท้องเรืองกลับมีการแต่งกายด้วยผ้าทอเนื้อละเอียด ห้อยสร้อยคอทองคำประณีต ท้งที่มนุษย์เพิ่งรู้จักทอผ้าและหล่อทองคำเมื่อสัก 4000 ปีนี่เอง

    อีกสิ่งที่น่าสังเกตคือ “ยศ” ของพระสมณโคดมนั้น ยาว ขึ้นเรื่อย จากพระพุทธเจ้า วันนี้ ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปแล้ว ยังสั้นกว่า “สมเด็จพระมหาเสนาบดีเตโชฮุนเซ็น” ไปหน่อยเดียว อิอิ

  • #5 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 January 2012 เวลา 7:56 pm

    เอ เท่าที่ทราบ”ชาดก”ต่างจากนิทานนะคะ แม้จะมีคนเรียกว่านิทานชาดกก็ตาม เพราะชาดกเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้สาวกหรือยกมาบรรยายประกอบการแสดงธรรมถึงการเวียนว่ายตายเกิด และทศชาติชาดกนี่เรียกว่าเรื่องจริงก็คงได้ เพียงแต่อาจมีการเสริมแต่งภายหลังให้วิจิตรพิสดารไปตามจินตนาการของผู้ฟังบ้าง(กระมัง)

    ส่วนเรื่องหลายกัปป์กัลป์นั้นมีเราจักรวาลเดียวหรือคะ และเรื่องราวเหล่านี้จำเป็นต้องเกิดในจักรวาลที่มีเรายืนอยู่เท่านั้น? ถามเพื่อชวนคิดว่า กำเนิดจักรวาลเคยมีตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดก่อนหน้าเราได้มั้ย ถ้าทุกสิ่งคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

    ยศของพระพุทธเจ้า หรือพระนามของท่าน ถ้าอ่านดูมีมากกว่า 30 ชื่ออีกมั้งคะ ซึ่งดูๆแล้ว บางทีก็ขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาให้สละสลวย และหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำๆ และทำให้ชวนคิดว่าแท้ที่จริงพระนามที่เราเรียกขานนั้นอาจมีที่มาจากคุณสมบัติของตัวท่านเอง ที่ต่างคนต่างมองเห็นและพึงพอใจเรียกขานอย่างไรก็ได้กระมัง เพราะภาษานอกจากจะสื่อความหมายแล้ว ยังสื่อถึงอารมณ์จากการใช้คำได้ด้วยนะคะ เราจึงเห็นภาษาหลายระดับชั้น สละสลวยบ้าง ยืดยาวจนพร่ำพิไรบ้าง จะว่าไปถ้ามองมุมนี้ก็เป็นเรื่องปกติของภาษานะคะ หุหุหุ

    แถมอีกอย่างทำไมถึงไม่คิดกลับว่าพระเจ้าบัญญัติหลังคำว่าพระพุทธเจ้าล่ะคะ แทนที่เราจะตามก็จะกลายเป็นคนละเรื่องไปเลย เพราะพระเยซูเกิดหลังพระพุทธเจ้านา


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.63422393798828 sec
Sidebar: 0.12037992477417 sec