บริษัทประเทศไทย (๒)…วันบาทวันโหวต
อ่าน: 1074คนกรุงและคนเมืองหาเงิน 95% ไปให้พรรคการเมืองที่เขาไม่ได้เลือกใช้ในการสร้างโครงการซื้อเสียง
ลองวิเคราะห์เล่นๆว่าผลการเลือกตั้ง 23 ธค. 50 ที่ผ่านมามีนัยยะเชิงเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชนอย่างไรบ้าง
ภาพกว้างที่เราเห็นชัดคือ ประชาธิปัตย์ได้เสียงจากคนรวยกว่า คือ กทม. ตะวันออก และใต้ ส่วนพลังประชาชนกุมเสียงคนจนกว่าคืออีสานและเหนือ แม้พปช.จะได้ สส. มากกว่า แต่ถ้าเอาเงินภาษีของคนที่ลงคะแนนเลือกพรรคแต่ละพรรคมารวมกันผมเชื่อเหลือเกินว่า ปชป. จะชนะ พปช. แบบ 5 ต่อ 1
เคยได้อ่านพบมาว่า คนกทม. มีเพียงประมาณ 10% ของประเทศ แต่กลับเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาคิดเป็น 80% ของประเทศ ถ้านับรวมตะวันออกและใต้เข้าไปด้วยคงจะเป็น 95% เพราะเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ของภาคเหนือและอีสานไม่เสียภาษีรายได้ เนื่องจากรายได้ไม่ถึงเพดานภาษี พวกส่วนน้อยที่เสียภาษีก็เป็นพวกคนเมืองในเขตเทศบาล ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกปชป. อีกนั่นแหละ (ตามแนวโน้มปรากฏการณ์เขตหนึ่งคราวออกเสียงโนโหวตในการเลือกตั้งครั้งก่อน)
ผมไม่ได้นิยมชมชื่นอะไรกับปชป. และใช่ว่าผมนิยมคนรวยมากกว่าคนจน เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นแนวโน้มของข้อเท็จจริงนี้ ที่เท่ากับว่าคนกรุงและคนเมืองที่เสียภาษีมากมายเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังหาเงินให้รัฐบาลที่พวกเขาไม่ได้เลือก เพื่อให้รัฐบาลนี้เอาไปหาหว่านหาเสียงกับคนจนๆ ตามโครงการประชานิยม เพื่อให้พวกเขากลับมาจัดตั้งรัฐบาลแบบเดิมๆต่อไปอีกชั่วกาลปวสานอย่างนั้นหรือ
มันยุติธรรมไหมสำหรับระบบวันแมนวันโหวต (วันแมนวันโหวตบายอิ้ง หรือควรปรับมาเป็นวันบาทวันโหวต (เอากันแบบภาษีนิยมสุดๆกันไปเลย)
ว่าไปแล้วเรื่องคะแนนเสียงตามจำนวนภาษีนี้ผมได้เสนอไว้นานหลายปีแล้ว (ประมาณ 5 ปีแล้วเห็นจะได้) คือ ทุกคนมีสิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันในฐานะคนไทย แต่คนเสียภาษีมากกว่า ควรได้สัดส่วนเพิ่มตามจำนวนภาษีที่เสีย (เพราะเขามีส่วนลงขันสร้างประเทศมากกว่า) โดยให้มีคะแนนสูงสุดได้สัก 3 คะแนน เช่น ทุกๆ 2 หมื่นบาทที่เสียภาษีได้เพิ่มอีก 1 คะแนน เป็นต้น ที่ผมให้คะแนนสูงสุดแค่ 3 เพราะไม่อยากให้คะแนนคนรวยมากไป กลัวว่าจะไปหาเสียงเอาใจคนรวยจนลืมเสียงคนจน
ถ้าทำได้แบบนี้เชื่อว่าการซื้อเสียงจะหมดไปโดยปริยาย เพราะคุณซื้ออย่างไรก็ได้เสียงจากคนจนไม่กี่เสียง แต่เสียงจากคนที่เสียภาษี (ซึ่งอาจไม่รวย) มีน้ำหนักมากขึ้น และไปซื้อเขาก็ไม่ได้ ซึ่งจะคอยถ่วงดุลกันได้เป็นอย่างดี
..สองเกิด ใจเต็ม (พศ. ประมาณ ๒๕๕๑)