บริษัทประเทศไทยจำกัด
บริษัทประเทศไทยจำกัด
คนจำนวนมากอยากให้บริหารประเทศไทยแบบบริษัท ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย แต่เอาเถอะวันนี้ผมจะลองสวมวิญญาณทุนนิยมดูที ที่ต้องยอมสวมเพราะเห็นว่าในบางโอกาสและเวลาวิธีการบางอย่างของทุนนิยมก็อาจเหมาะสมก็เป็นได้ โดยเฉพาะเอามาใช้แก้ปัญหาการซื้อเสียงเลือกตั้ง ที่ผมและใครๆก็แสนหดหู่
วิธีหนึ่งที่จะแก้การซื้อเสียงคือ คือใช้ระบบปชต.แบบทุนนิยม โดยเลียนแบบการบริหารบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบอร์ดบริหาร โดยบอร์ดต้องลงมติเสียงข้างมากในการกำหนดนโยบายบริษัท แล้ว CEO นำไปปฏิบัติ
แต่เสียงข้างมากของบอร์ดนั้นไม่ใช่ระบบวันแมนวันโหวต แต่ถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการเป็นเจ้าของหรือสัดส่วนการถือหุ้นนั่นเอง แต่ทำไมบริษัทประเทศไทยเราจึงโหวตแบบวันแมนวันโหวตล่ะ ทำไมไม่โหวตกันตามสัดส่วนการเป็นเจ้าของ
ก็คงถามกันว่าจะเอาอะไรมาวัดสัดส่วนการเป็นเจ้าของประเทศ ผมขอเสนอว่าให้เอาปริมาณการเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเป็นหลัก โดยอาจใช้หลักการดังนี้
- 1) คนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 18 ปีมีสิทธิลงคะแนนเสียง 1 เสียง (เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน)
- 2) ผู้ที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มอีก 1 คะแนนเสียงทุก 10,000 บาทที่เสียภาษี ทั้งนี้คะแนนเสียงรวมต้องไม่เกิน 10
(ว้า..แบบนี้ใครมีรายได้ 76,000 ล้านแต่ไม่เสียภาษีก็ได้คะแนนเสียงเพียง 1 น่ะซี่…:-)))
ข้อดีของระบบนี้คือ จะลดการซื้อเสียงลงไปได้มาก เพราะการซื้อเสียงเกิดในหมู่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ซึ่งพวกนี้ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว ซี้อไปก็ได้แค่ 1 แต้ม ส่วนพวกคนชั้นกลางแม้มีน้อย 20% แต่ถ้าเสียภาษีตีเสียว่าเฉลี่ย 50,000 ก็ได้คนละ 6 แต้ม ก็สามารถถ่วงดุลการซื้อเสียงรากหญ้าได้ทีเดียว ความสำคัญของการซื้อเสียงก็จะลดหรือหมดไปเลย
วิธีนี้แม้จะดูทุนนิยมแต่ก็ดูมีเหตุผลอยู่นะครับ เพราะภาษีทีเสียมากเกิดจากการทำงานหนักมากกว่า (ยกเว้นพวกทำนาบนหลังคนและพวกขี้โกงส่วนน้อย) ก็ย่อมหมายความว่าเขาเป็นเจ้าของประเทศมากกว่าเพราะส่งเงินเข้าไปช่วยพัฒนาประเทศมากกว่า และเงินจำนวนนี้ส่วนใหญ่ก็เอาไปเกื้อกูลคนจนที่ขายเสียงนั่นเองในรูปของการสร้างถนน การประกันราคาพืชผลเกษตรกร การรักษาพยาบาลฟรี ดังนั้นการให้สิทธิเท่ากันในการโหวตดูๆไปก็คล้ายระบบคอมมิวนิสต์นะครับ
จริงอยู่คนรวย มีเงินเสียภาษีมากก็ใช่ว่าจะมีความฉลาดทางการเมืองไปเสียหมด หรือมีคุณธรรมไปเสียหมด (ประเด็นหลังนี้อาจเป็นตรงข้ามด้วยซ้ำ) แต่ต้องยอมรับว่าพวกเขาโดยเฉลี่ยมีความรู้สูงกว่า มีความสนใจทางการเมืองสูงกว่าพวกคนรายได้น้อยโดยเฉลี่ย ก็น่าเชื่อว่าจะมีวิจารณญาณในการเลือกมากกว่า ได้ผู้แทนที่ดี มีความรู้มากกว่า
ส่วนพวกรายได้น้อย แม้คะแนนเลือกตั้งจะน้อย แต่ก็ยังมีเสียงจริงมากอยู่ ก็แสดงพลังได้มากมายตามระบอบปชต. เช่น การเข้าชื่อร้องเรียน ร้องทุกข์ ซึ่งคงนับตามหัวคน ไม่นับตามคะแนนเสียงเลือกตั้ง
วิธีโหวตตามภาษีนี้เคยมีบางประเทศในยุโรปเอามาใช้ด้วยนะ
« « Prev : ผักบุ้ง…พืชมหัศจรรย์ที่เรามักมองข้าม
Next : บริษัทประเทศไทย (๒)…วันบาทวันโหวต » »
ความคิดเห็นสำหรับ "บริษัทประเทศไทยจำกัด"