ความเจริญแต่ด้อยพัฒนาของหนังสือพิมพ์ไทย
อ่าน: 1042ความห่วยแตกบางประการของหนังสือพิมพ์ไทย คือ หนังสือพิมพ์ไทยเราเจริญเทียมเท่าอารยประเทศ เพราะรูปเล่มสอดสีสวยงามตายิ่งนัก แต่…
ความห่วยแตกประการหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับที่พบบ่อยมากที่สุดคือ การใช้ชื่อย่อของหน่วยงาน แล้วไม่บอกว่าย่อมาจากอะไร โดยคิดเอาเองว่าเป็นชื่อย่อที่ผู้อ่านรู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น อสมท. อาร์เคเค (RKK) นปก. คมช. สนช. GDP เป็นต้น
โดยเฉพาะ RKK ผมอ่านเจอมาเป็นร้อยครั้งแล้ว ในหนังสือพิมพ์ (นสพ.) หลายฉบับ แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามันย่อมาจากวลีใด
ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งนะครับ ไม่ว่าคำย่อจะเป็นที่รู้จักกันดีอย่างไรก็ตามเขาจะต้องเอ่ยคำเต็มก่อนเสมอ แล้ววงเล็บคำย่อไว้ข้างท้าย จากนั้นไปเขาถึงจะใช้คำย่อ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาฉลาด คือมีสามัญสำนึกมากกว่าเรา (และดังนั้นประะเทศเขาจึงเจริญ)
ความห่วยแตกของนสพ.ไทยอีกประการที่ผมสุดแสนขัดใจมานาน คือ ทำไมเวลาเขียนข่าวมันช่างเยิ่นเย้อเหลือเกิน โดยมักเกริ่นนำข่าวด้วยข้อมูลไร้สาระยาวยืดที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับผู้อ่าน เช่น ไปเกริ่นว่า ร.ต.อ คนไหนได้รับการแจ้งความจากใคร จึงนำความแจ้งผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น (พร้อมระบุยศ ชื่อ ตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาเหล่านั้นให้เราอ่านครบหมดทุกคน) จากนั้น ผบ. ก็สั่งการลงไปตามลำดับชั้นให้นำกำลังเท่านั้นเท่านี้ไปยังที่เกิดเหตุ
ยัง…ยังไม่หนำใจคนเขียนข่าวท่าน จากนั้นท่านจะต้องแจ้งให้เรารู้ก่อนว่าเหตุเกิดที่บ้านเลขที่เท่าไร หมู่ไหน ตำบลใด เสียก่อน หน้าบ้านมีต้นตาลสองต้น หรือสามต้น ก็ต้องบอกด้วย ท่านก็พร่ำพรรณนาไปเรื่อย จนถึงกลางๆเรื่องนั่นแหละ ถึงจะได้รู้ว่า อ้อ..เกิดไอ้โน่นไอ้นี่ขึ้น ซึ่งก็มักไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก เนื้อข่าวจริงๆประมาณสัก หนึ่งในสามของอารัมภบทเท่านั้นเอง
ลองไปอ่านข่าวนสพ. ฝรั่งดูสิ ไม่ต้องไปไกล เอาฝรั่งในไทยนี่แหละ จะเห็นว่ามันคนละเรื่องเลย
ความห่วยแตกประการที่สามของหนังสือพิมพ์ไทยคือ จริยธรรม ของกองบรรณาธิการ (บก.)
ลองส่งเรื่องของท่านไปถึงเขาสิ เขาจะเงียบหายต๋อมเหมือนกันทุกฉบับ ไม่ตอบไม่อะไรทั้งนั้น (คงหยิ่งยะโสว่า นสพ./วารสาร ของฉันเนี่ย ระดับแนวหน้านะ ไม่มีเวลาตอบนักเขียนกระจอกอย่างเจ้าหรอก) บางทีเขาก็ลงให้นะ แต่ก็ไม่แจ้งไม่บอกตามเคย เจ้าไปหาอ่านเรื่องของเจ้าเอาเอง เงินทองค่าเรื่องก็ไม่ให้ (ไม่ได้เงินแล้วยังต้องเสียงเงินไปซื้อหามาอ่านเรื่องของตัวหรือเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีก) เขาคงถือเป็นบุญคุณเสียอีกที่หนังสือดังอย่างเขาอุตส่าห์ลงเรื่องให้นักเขียนกระจอกๆอย่างเรา
ผมเคยส่งเรื่องสั้นๆทางอีเมล์ ไปยังนิตยสาร Times นิตยสารฝรั่งระดับโลก ภายในสองชม. เขาตอบกลับมาว่าได้รับเรื่องแล้ว กอง บก. จะพิจารณา ได้ผลอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ แล้วภายใน 2 วันก็ตอบกลับมาว่า รับ หรือไม่รับ เมื่อรับก็จะแจ้งให้เราปรับแก้ตรงโน้นตรงนี้ พร้อมบอกว่าจะให้หรือไม่ให้ค่าเรื่องเท่าไร และถ้าไม่ให้ ด้วยเหตุผลใด
ไม่น่าแปลกทำไมประเทศเราจึงยังด้อยพัฒนาอยู่จนบัดนี้
ความห่วยแตก (ประการที่ 4) ของหนังสือพิมพ์ไทย
คือเวลาเขาเขียนข่าวที่เป็นข่าวสืบเนื่องจากข่าววันก่อนๆ เขามักต่างพากันสรุปว่าผู้อ่านทุกคนต้องได้อ่านข่าวในประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้น เขาก็จะไม่ท้าวหรือทวนความเดิมแต่ประการใด ทำยังกะเขียนไดอารีให้ตัวเองอ่านยังงั้นแหละ
ส่วนนสพ. ฝรั่ง (แม้แต่ฝรั่งในบ้านเรา) ถ้าเป็นข่าวต่อเนื่อง ย่อหน้าสุดท้ายของข่าว จะเป็นย่อหน้าที่เขาทวนความเก่าให้ฟ้งพอสังเขป เอาเฉพาะหลักการสำคัญของข่าว ที่เขาไม่เอาไปไว้ข้างหน้า เดาว่าคงกลัวว่าจะไปทำความรำคาญให้กับผู้อ่าน”ส่วนใหญ่” ที่ติดตามเรื่องนี้มาแต่ต้น แต่วันก่อนๆ แต่เขาก็ไม่ลืมคนส่วนน้อยที่ไม่ได้ตามมาแต่ต้น เลยเอาไปขมวดไว้ด้านหลัง
ส่วนสไตล์การเขียนบทความในวารสารรายสัปดาห์ก็คล้ายๆกัน ของไทยเรามักไม่ปูพื้น ท้าวความเป็นมา มาถึงก็วิจารณ์กันแหลกลาญไปเลย เพราะสมมติกันว่าผู้อ่านมีพื้นความรู้ในเรื่องนั้นๆดีอยู่แล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นความจริง) แต่บทความฝรั่งจะปูพื้นให้พอสมควร แม้เราไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในประเด็นนั้น ไปอ่านเข้าก็พอจับความได้ที่เดียว การเขียนแบบนี้ยังเป็นผลดีด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย ใครจะรู้อีก 100-200 หรือ แม้แต่ 1000-2000 ปีจากนี้ไปนักประวัติศาสตร์เขามาค้นคว้า เขาจะได้อ่านได้เข้าใจว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร
คนไทยเรามักคิดกันสั้นๆ ใกล้ๆ แบบนี้เสมอ นี่ขนาดสื่อนะ ซึ่งถือว่าเป็นชนระดับปัญญาของประเทศ
แล้วรากหญ้าที่อำมาตย์กำลังกลัวกันเหลือเกินล่ะ..
…สองเกิด ใจเต็ม (๒๕๕๒)