จดหมายด่วนถึงลมอันเป็นที่รัก

โดย withwit เมื่อ 4 June 2011 เวลา 12:08 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1444

เรื่อง  นโยบายกังหันลมในประเทศไทย

กราบเรียนท่านอาจารย์…ที่เคารพ

 

ผมต้องกราบขอโทษ ที่เขียนถึงอาจารย์ช้า หลังจากที่สัญญาว่าจะเขียนมาถึงอาจารย์ เนื่องเพราะผมติดภารกิจเดินทางไกล 3 ครั้งติดต่อกันครับ

 

ผมมีประเด็นเกี่ยวกับกังหันลมดังนี้ครับ

 

  • 1) การสำรวจหาช่องลมแรงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ที่ต้องเร่งทำ เพราะลมไม่เหมือนแดดตรงที่กำลังงานแปรผันกับความเร็วยกกำลังสาม ในusa แสนกว้างใหญ่ มีช่องลมอยู่ไม่กี่ช่องเท่านั้นเอง ถ้าเป็นในทะเลสามารถใช้ดาวเทียมช่วยได้ โดยวัดคลื่นผิวน้ำ แต่บนบกยากกว่ามาก ผมเห็นว่าวิธีดีที่สุดคือ ส่งจดหมายออกไป 80,000 ฉบับ ถามผู้ใหญ่บ้าน พร้อมออกแบบเครื่องวัดลมอย่างง่ายให้ด้วย เช่น เอาลูกปิงปองผูกเชือกห้อยไม้ไผ่ จาก 80,000 อาจได้หมู่บ้านลมแรง 2000 หมู่บ้าน เราก็ลงไปสำรวจด้วยตนเองอย่างหยาบ แล้วกรองให้เหลือสัก 500 หมู่บ้านเพื่อทำการวัดลมอย่างละเอียด วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกที่สุด และ แม่นที่สุดครับ ผมพยายามบอกผู้เกี่ยวข้องหลายคนในเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจทำ เร็วๆนี้พพ. ให้ทุนโครงการไปทำ ใช้ CFD ทำนายลม ซึ่งผมขอไม่เชื่อถือข้อมูลนี้

 

  • 2) ผมเห็นว่าขณะนี้เราประเมินศักยภาพกำลังลมในประเทศไทย ต่ำกว่าความจริงไป 4 เท่า เช่น เราบอกว่าความลมเร็วเฉลี่ย 5 m/s แต่เราลืมไปว่าลมของประเทศไทยเป็นลมมรสุมที่กลับทิศทางปีละ 1 ครั้ง มันแรง 3 เดือน แล้วหยุด 3 เดือน แล้งแรงสลับทิศ เป็นอยู่อย่างนี้ ดังนั้นลม 5 m/s แสดงว่าในช่วงมรสุม เฉลี่ย 10 m/s เมื่อยกกำลังสามแล้วแสดงว่าได้พลังงานเพิ่ม 8 เท่า แต่เมื่อคิดเป็นงานรายปีแล้วจะได้งานเพิ่ม 4 เท่า ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันทำให้เราต้องปรับขนาดเจนเนอร์เรเตอร์ให้ใหญ่ขึ้น 8 เท่า ในขณะที่ใช้ใบกังหันเท่าเดิม การออกแบบต้องทำใหม่หมด เราต้องลงทุนเพิ่มขึ้น (เฉพาะเจนฯ) ถึง 8 เท่า แต่ค่าเสาเพิ่มนิดหน่อย ค่าใบกังหันเท่าเดิม อาจต้องเพิ่มค่าเฟืองเกียร์ ดูคร่าวๆ เหมือนว่าเราต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า ในขณะที่ขายไฟได้มากขึ้น 4 เท่า คุ้มสุดคุ้มครับ แต่ตอนนี้เราได้แค่ เท่าเดียว

 

  • 3) การหากราฟสถิติลมก็สำคัญมาก เพราะที่ลมเฉลี่ยความเร็วเท่ากัน หากราฟสถิติลม เบ้ต่างกัน (ค่าตัวเลข weibul ต่างกัน) จะมีผลต่อกำลังงานที่ได้ต่างกันมาก การเลือกกังหันลมก็ต่างกัน ซึ่งอาจหมายถึงกำไรที่ต่างกันมาก ขนาดว่าทำให้บริษัทหนึ่งขาดทุน และบริษัทหนึ่งกำไรได้ทีเดียว เรื่องนี้กลุ่มวิจัยของผมได้ทำการวิจัยออกมาให้เห็นผลแล้วด้วย ครับ แต่ส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่มีใครทราบ และเราก็ได้สำรวจแล้วด้วยว่า ลมภูเก็ตมีweibul 1.7 ในขณะที่ดอยม่อนล้าน เชียงใหม่มี 2.7 ซึ่งต่างกันมาก

 

  • 4) ยุทธศาสตร์เรื่องแรงงานก็ต้องคำนึ่งครับ เพราะของเราลมนิ่งปีละ 6 เดือน (อาจยกเว้นช่องลมแรงบางแห่ง) ซึ่งมันต้องจอดอยู่เฉยๆ เราอาจต้องมียุทธศาสตร์ในการให้คนงานที่ว่างงานช่วงนี้ไปทำงานในโรงงานไฟฟ้าอื่นที่ทำงานสลับกับกังหันลม เช่น พลังชีวมวล

 

 

พร้อมนี้ผมใคร่ขอเรียนให้ทราบถึงการวิจัยในกลุ่มวิจัยกังหันลมของผม  ขณะนี้ มีโพสดอค 1 คน นศ. ปริญญาเอก 3 คน ช่วยผมทำงาน เราเน้นไปที่ aerodynamic ศักยภาพเราตอนนี้คือ เราสามารถออกแบบใบกังหันลมให้มีปสภ. สูงสุดเท่าเทียมฝรั่ง คือ 50% และมีระบบทดสอบด้วย CFD ที่แม่นยำ (ทุกวันนี้การรัน CFD ทำได้ไม่ยากครับ แต่การให้ผลแม่นยำทำได้ยากที่สุด บางทีผลผิดไป 100% )  เราทำทั้งแกนนอนและแกนตั้ง รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสถิติลม ขณะนี้ผมเองมีนวัตกรรมที่ปลายปีกกังหันลม สามารถทำปสภ. จาก 15% ขึ้นเป็น 27%  (ทดลองกังหันขนาด 1 ม. ปสภ. เลยต่ำครับ) ผมเชื่อว่าถ้าเอาไปใช้กับกังหันตัวใหญ่ ปสภ.อาจเพิ่มจาก 50% เป็น 70% ได้ (สูงเกินค่าสูงสุด หรือ Betz limit)  ซึ่งผมกำลังหาเวลาจดสิทธิบัตรทั่วโลกอยู่ครับ

 

ท่านอาจารย์มีอะไรให้ผมรับใช้ทางด้านนี้ก็ยินดีครับ

 

ด้วยความเคารพ

ทวิช จิตรสมบูรณ์

« « Prev : ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย (๑๖) (สำนึกในหน้าที่)

Next : ขยะ ณ เฉียงเหนือ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "จดหมายด่วนถึงลมอันเป็นที่รัก"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.043642044067383 sec
Sidebar: 0.011178970336914 sec