ตามลม(๔๑) : รู้จักคลอรีนมากขึ้นอีกหน่อยก็ดีนะ
หลังจากบอกตัวเองว่า การแก้ปัญหาของตึกเจ้าปัญหาให้สะเด็ดน้ำ จะผลีผลามทำไม่ได้ ตราบใดที่มีข้อมูลไม่พอเกี่ยวกับท่อและทางไหลของน้ำ ความสามารถรับน้ำเสียของบ่อรวมน้ำใช้และคุณภาพน้ำที่บำบัดก็เป็นอะไรที่ไม่ควรเชื่อมั่นว่าดีแล้ว
ไปๆมาๆค้นหาข้อมูลอยู่หลายรอบ วันหนึ่งจึงรู้ว่ายังมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ คำถามนั้นคือ ณ วันนี้น้ำที่ลงไปสู่คูโหลดแค่ไหน โหลดที่สุดเวลาไหน บ่อรวมน้ำทิ้งตรงปลายน้ำก็เช่นกัน โหลดที่สุดอย่างไร เวลาไหน รับโหลดได้มั๊ย
อืม น้ำเสียมีคุณลักษณะอย่างไรก็รู้แล้ว คุณภาพน้ำหลังบำบัดก็รู้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆยังไม่รู้อีกมั๊ย ลองรวบรวมดูทีรึ อย่างนี้ข้อมูลน้ำทิ้งก็จำเป็นแล้วละ
น้ำเสียจากอาคารทั้ง 2 ชั้น น้ำฝน น้ำที่ไหลซึมเข้าท่อ และน้ำที่มาจากระบบต่อพ่วงอื่นๆที่เป็นน้ำทิ้งในคูแห่งนี้ เหล่านี้เป็นข้อมูลของน้ำทิ้งที่ต้องใช้ประมวลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำทั้งนั้นเลย
ตึกเจ้าปัญหามีน้ำจากแหล่งเหล่านี้ลงมาในคูทั้งหมดเลยนี่นา ถ้ารู้ก็พอจะบอกได้ว่า การจัดการขั้นต่อไปเกี่ยวกับการระบายน้ำทิ้งตรงนี้ควรจะเลือกไม่ทำอะไร และควรทำอะไรต่อไป จะเลือกใช้วิธีไหนบำบัดได้เร็วและต่อเนื่อง ทำงานง่าย และเชื่อได้ในความปลอดภัย ระหว่างทางที่ไหลลงไปยังปลายน้ำ
น้ำมาจากไหนพอจะบอกได้บ้างแล้ว ที่ยังไม่รู้คือ น้ำที่ปล่อยลงมาในคูมีทั้งหมดมีเท่าไร การใช้น้ำสูงสุดเป็นอย่างไรต่อวัน ฯลฯ
ถ้าเป็นบ้านพักอาศัย เขามีวิธีคำนวณหาน้ำเสียต่อหลังด้วยสูตร ปริมาณการใช้น้ำต่อวัน x จำนวนคน ซึ่งทั่วไปประมาณว่า บ้านหนึ่งหลังมี 4 คน ใช้น้ำคนละ 250 ลิตรต่อวัน แล้วนำไปคำนวณต่อร่วมกับ ปริมาณการใช้สูงสุดต่อหลังที่เป็นอัตราของการใช้ตลอดวันและเวลาใช้ต่อเนื่อง
สำหรับตึกผู้ป่วยดูเหมือนว่าเขาจะใช้จำนวนเตียง แต่รพ.เป็นรพ.ชนบท ที่ญาติพากันมาเยี่ยมคนไข้และอยู่รอเฝ้าไม่รู้เว้นว่าง คำนวณแค่การใช้จากจำนวนเตียงจะไหวมั๊ยน่อ
ความเป็นพื้นที่จัดบริการสาธารณะทำให้เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการค้นหาและรวบรวมจำนวนน้ำทิ้ง ปริมาณการใช้น้ำสูงสุดคำนวณยังไงทำไม่เป็น รู้แล้วจับมาสัมพันธ์กันยังไงไม่มีความรู้ ใครรู้ช่วยมาบอกกันหน่อยดิ ว่าเรื่องเหล่านี้มีวิธีหาให้ง่ายได้ยังไงบ้าง
เรื่องการคำนวณน้ำฝน อืม พอจะมีทางเป็นไปได้ที่จะหามา คนเขาแนะมาว่าให้ใช้ค่าความเข้มข้นสูงสุดของฝนที่ตกในพื้นที่เมื่อ 5 ปีก่อน x พื้นที่ที่จะใช้รับน้ำ x 0.7 (เป็นคงที่ตัวหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องฝนตกหรืออะไรนี่แหละ ไม่เข้าใจที่มาเหมือนกัน) ผลที่ได้จะเป็นน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้ามาในพื้นที่ต่อชั่วโมงต่อตารางเมตร
น้ำที่ไหลซึมจากท่อ เขาแนะว่าให้คำนวณจากความยาวท่อ x น้ำที่ซึมเข้าท่อทุกวัน ยอมให้ซึมได้ไม่เกิน 70 ลบ.เมตร ต่อวัน อืม ตรงนี้ก็ต้องกลับไปดูและค้นหาว่ามีแอบอยู่ตรงไหนหรือเปล่า
น้ำจากระบบต่อพ่วงอื่นๆก็พอมองเห็นว่ามี เช่น น้ำที่ใช้รดต้นไม้ที่ไหลจากสนามลงมา น้ำจากอาคารของคูใกล้เคียงที่ปล่อยต่อลงมาในคูแห่งนี้ยามฝนตกหรือทิ้งลงมาอิงอาศัยให้ไหลพาทิ้งเพราะเป็นทางผ่าน
น้ำทิ้งทั้งหมดนี้เมื่อรวบรวมได้จะช่วยให้มองเห็นทางเลือกเพื่อตัดสินใจทางเลือกเกี่ยวกับการเติมคลอรีนลงไปเพื่อการฆ่าเชื้อก่อนปล่อยให้ไหลผ่านลงไปหาปลายน้ำ
มีความรู้เกี่ยวกับคลอรีนที่ได้มาแบบบังเอิญ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน คนที่ทำฟาร์มสัตว์น้ำหรือทำประมง เขาใช้คลอรีนกำจัดแอมโมเนียในน้ำและใช้แอมโมเนียจัดการคลอรีนที่คงค้างในน้ำ เพื่อลดพิษน้ำ
ฤทธิ์ของคลอรีนที่ใช้จัดการน้ำ ก็มีระยะที่ต้องทำความเข้าใจและสังเกตเพื่อความปลอดภัยของคนเติม เติมแบบไม่ระวังตัว ไม่ป้องกันตัว มีสิทธิเป็นมะเร็งได้ ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่รู้แล้วสะดุ้ง
ในน้ำดิบซึ่งมีแอมโมเนียและอินทรีย์ไนโตรเจนสูง เมื่อเติมคลอรีนลงไป เขาบอกว่าจะเกิดสารที่เรียกว่า “Trihalomethane” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งขึ้น
ขั้นตอนของคลอรีนที่ฆ่าเชื้อโรคได้ ต้องเข้าใจว่าคลอรีนทำงานได้ตามลำดับอย่างไร และจำให้แม่นไว้
ขั้นแรก คลอรีนเริ่มจัดการกับซัลไฟด์ เฟอรัส ไนเตรท ก่อน ต่อมาก็จัดการกับแอมโมเนีย และกรดอะมิโนที่อยู่ในน้ำ ขั้นตอนนี้แหละที่เกิดสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้
ขั้นต่อมาคลอรีนจัดการกับไนตรัสออกไซด์และไนโตรเจน ตรงนี้แหละที่จะมีสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น ซึ่งจะรู้ว่าคลอรีนทำงานมาถึงขั้นตอนนี้แล้วก็ตรงที่มีกลิ่นคลอรีนฟุ้งนั่นแหละ กลิ่นฟุ้งนั้นเป็นคลอรีนอิสระที่เกิดขึ้นมาในปลายขั้นตอน
คลอรีนใช้เวลาจัดการกับกรดอะมิโนย่อยยากที่ยังเหลืออยู่ได้อีกหลายชั่วโมงถึงหลายวัน สารก่อมะเร็งนี้จึงเพิ่มขึ้นได้อีกในกระบวนงานบำบัดน้ำที่มีของเสียที่มีกรดอะมิโนย่อยยากอยู่
ผลเรื่องสารก่อมะเร็งนี้ มีทางควบคุมไม่ให้เสี่ยงได้โดย “เคร่งครัดกับจำนวนคลอรีนที่จะใช้กำจัดแอมโมเนีย” และมีระบบกำกับดูแลไม่ให้คลอรีนอิสระในน้ำค้างอยู่เกินเกณฑ์
มีคำแนะนำว่าให้ใช้คลอรีนเติมในขนาดเพียง 7.6 เท่าของแอมโมเนีย (หน่วยเป็น มิลลิกรัม) ก็จะปลอดภัย
ความปลอดภัยของน้ำที่มีคลอรีนค้างสำหรับสิ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 มก./ลิตร (อ้างอิงข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก) หลังเวลาที่ผ่านคลอรีนแล้ว 30 นาที
รับรู้เรื่องราวตรงนี้แล้ว ก็เข้าใจขึ้นว่าี ความปลอดภัยที่สำคัญเกี่ยวกับน้ำมีอยู่หลายเรื่อง แต่ละเรื่องต้องการคนที่มีความรู้และเข้าใจกับการจัดการ ทำงานด้วยขั้นตอนแบบมั่วซั่วเมื่อไร คนนั้นได้เรื่องเสียๆเข้าตัวได้เลย
« « Prev : ตามลม(๔๐) : อะไรทำให้ปลาตายนะ….แอมโมเนีย?????
Next : ตามลม(๔๒) : รู้ไว้หน่อย…เรื่องปริมาณน้ำใช้ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๔๑) : รู้จักคลอรีนมากขึ้นอีกหน่อยก็ดีนะ"